Skip to main content
sharethis

วันสตรีสากล66 แรงงานหลายกลุ่มรวมตัวใกล้ทำเนียบฯ เรียกร้องสวัสดิการถ้วนหน้าที่ครอบคลุมทุกเพศ We Fair ปราศรัยเสนอสวัสดิการสำหรับวันสตรีสากล 4 ข้อ กลุ่มสหภาพแรงงาน ย่านรังสิตและใกล้เคียง จี้โยบายเรียนฟรี ต้องฟรีจริง 'กลุ่มทำทาง' ระบุทำแท้งปลอดภัยที่ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึง และงบฯส่งเสริมป้องกันโรคกำลังจะหายไป

8 มี.ค.2566 เนื่องในวันสตรีสากล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ 9.00 น. วันนี้ (8 มี.ค.) เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนและองค์กรเครือข่ายอื่นๆ หลายกลุ่มนัดรวมตัวใกล้ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องรัฐจัดสวัสดิการครอบคลุมทุกเพศถ้วนหน้า อาทิ สิทธิลาคลอด 180 วัน ผ้าอนามัยฟรี สิทธิทำแท้งปลอดภัย สมรสเท่าเทียม สิทธิประกันตัวผู้ต้องหาการเมือง

เวลา 10.00 น. กลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนเคลื่อนขบวนมาฝั่งทำเนียบรัฐบาล  ติดสะพานชมัยมรุเชฐ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้นำรถเครื่องเสียงข้ามสะพานมา และมีการเข้าแถวเรียงเดี่ยวชูป้ายรณรงค์ หันหน้าเข้าหาถนน

We Fair ปราศรัยเสนอสวัสดิการสำหรับวันสตรีสากล 4 ข้อ

ไผ่’ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair ปราศรัยเสนอสวัสดิการสำหรับวันสตรีสากล 4 ข้อ ประกอบด้วย 

ข้อที่ 1 การจัดสวัสดิการอุดหนุนมารดาช่วงตั้งครรภ์ 9 เดือน เดือนละ 3,000 บาท โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจนของไทย ซึ่งอยู่ที่ 2,803 บาท เพื่อให้สตรีมีรายได้ดูแลบุตรตั้งแต่อยู่ในครรภ์

สมาชิก We Fair เสนอต่อว่า ข้อที่ 2 รัฐบาลควรเพิ่มวันลาคลอดสำหรับสตรีเป็น 180 วัน และผู้ชาย หรือผู้เลี้ยงดู สามารถลาในการเลี้ยงดูบุตรได้ 90 วัน จากเดิม สามารถลาคลอดบุตรได้ 98 วัน และได้รับค่าจ้างของวันลาเพียง 90 วัน ข้อ 3 สวัสดิการผ้าอนามัย 200 บาทต่อเดือน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และข้อ 4 สนับสนุนการทำแท้งปลอดภัย และดูแลผู้ที่ท้องไม่พร้อม 

บำนาญประชาชน 3 พันบาทต่อเดือน ต้องเป็นระบบถ้วนหน้า

นิติรัตน์ กล่าวถึงประเด็นนโยบายบำนาญประชาชนของพรรคการเมืองต่างๆ ต้องพิจารณา 3 ข้อหลัก ประกอบด้วย 

หนึ่งคือนโยบายบำนาญ ต้องอยู่บนเกณฑ์เส้นความยากจน หรือไม่ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน 

สองต้องเป็นระบบถ้วนหน้า เพราะถ้าไม่ใช่นโยบายถ้วนหน้า แต่ให้เฉพาะความยากจนเท่านั้น จะเป็นซ้ำรอยระบบที่ไม่มองว่าสิทธิของทุกคนเสมอกัน ต้องพิสูจน์ความยากจนก่อน และทำให้มีผู้ตกหล่นได้ง่าย ซึ่งช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา สะท้อนปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี

สาม ต้องไม่มาจากมุมมองแบบสงเคราะห์ เพราะถ้าเกิดจากระบบสงเคราะห์จะทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ ดูอย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บางพรรคบอก 700-1,000 บาท แต่นั่นไม่ได้สร้างหลักประกันรายได้ให้เกิดขึ้นกับคนในประเทศของเรา 

นอกจากนี้ ไผ่ ระบุว่า บำนาญประชาชน เดือนละ 3,000 บาทเป็นจริงได้ โดยใช้งบฯ ใกล้เคียงกับบำนาญข้าราชการเกษียณ 

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนประชากรอายุ 60 ขึ้นไป จำนวน 12 ล้านคน มีจำนวนผู้ได้รับเบี้ยยังชีพ ประมาณ 11 ล้านคน ถ้าบำนาญประชาชนเพิ่มเป็น 3,000 บาทต่อเดือน จะใช้งบฯ 4 แสนล้านบาท ซึ่งงบฯ ตัวนี้ไม่แตกต่างจากงบฯ บำนาญข้าราชการจำนวน 9 แสนคน อยู่ที่ 3.2 แสนล้านบาท 

“เรื่องบำนาญประชาชน ถือเป็นนโยบายสำคัญสำหรับรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่า จะเป็นรัฐบาลฝากประชาธิปไตย จะต้องเอานโยบายบำนาญถ้วนหน้าจัดให้กับประชาชนทุกคน โดยเป็นสิทธิเสมอกัน” 

“ขอสดุดีการต่อสู้ของขบวนการสตรี ในโอกาส 115 ปี วันสตรีสากล ณ ทำเนียบรัฐบาล” นิติรัตน์ ทิ้งท้าย

โยบายเรียนฟรี ต้องฟรีจริง

‘เอ็กซ์’ กลุ่มสหภาพแรงงาน ย่านรังสิตและใกล้เคียง ปราศรัยหน้ทำเนียบฯ ฝากถึงรัฐบาลที่จะมาบริหารประเทศต่อไปว่านโยบายเรียนฟรีต้องฟรีจริง ไม่ใช่เรียนฟรี แต่ยังต้องจ่ายเงินบำรุงการศึกษาหรืออื่นๆ 

เอ็กซ์ เสนอว่านโยบายเรียนฟรีต้องเริ่มตั้งแต่ อนุบาล-ป.ตรี ซึ่งเขามองว่าถ้าอยากให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้า ทุกคนต้องมีการศึกษาที่ดี และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ สามารถเข้าถึงได้ทุกคนไม่ว่าจะคนชั้นกลาง หรือคนจน คนชั้นกลางบางคนยังต้องกู้หนี้ยืมสินมาเรียน หรือคนจนจะได้เข้าถึงการศึกษาง่ายขึ้น 

สมาชิกสหภาพฯ ระบุต่อว่า เขาอยากเสนอให้ยกเลิกหนี้ กยศ.ทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมอย่างแท้จริงในการเรียนฟรีตั้งแต่อดีตและปัจจุบัน และมองปัญหาด้วยว่า คนที่เรียนจบแต่ไม่มีงานทำ ไม่มีเงินจ่ายหนี้ กยศ. ทำให้ถูกยึดทรัพย์ กลายเป็นบุคคลล้มละลาย แม้เรียนจบมา ก็ไม่มีสิทธิลืมตาอ้าปาก 

เอ็กซ์ ระบุต่อว่า เวลาเรียนฟรีต้องฟรีทุกอย่าง ไม่ว่าจะค่าไปโรงเรียน ชุดนักเรียนฟรี ค่าเล่าเรืยนฟรี ค่าอาหารกลางวันฟรี สนับสนุนให้ประชาชนในประเทศมีการศึกษาที่ดี ประเทศจะได้พัฒนาขึ้น ไม่ใช่รวยกระจุก จนกระจายทั่วประเทศไทย 

“อยากฝากถึงรัฐบาลหน้า ทำให้นโยบายเรียนฟรี เป็นจริง เพื่อลดภาระของแม่และของลูกที่จะต้องส่งเสริมลูกตัวเองให้มีการศึกษาที่ดี” เอ็กซ์ ทิ้งท้าย

ทำแท้งปลอดภัยที่ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึง และงบฯส่งเสริมป้องกันโรคที่กำลังจะหายไป

‘เนี๊ยบ’ ชลฐิตา ไกรศรีกุล สมาชิกกลุ่มทำทาง ขึ้นปราศรัยบนรถเครื่องเสียงหน้าทำเนียบรัฐบาล ในประเด็กการทำแท้งปลอดภัยที่ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึง และผลกระทบจากการชะลอการลงนามจัดสรรงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคสำหรับประชาชนที่อยู่นอกสิทธิบัตรทอง ที่ทำให้สิทธิด้านสุขภาพของประชาชนไกลห่างออกไป

เนี๊ยบ เปิดปราศรัยเชิญชวนประชาชนทั้งคำถามว่า การทำแท้งเป็นผู้หญิงไม่ดีหรือไม่ ไม่ป้องกัน หรือไม่รับผิดชอบหรือไม่ เรื่องนี้ถูกแค่บางส่วน แต่ไม่มีการป้องกันเพศสัมพันธ์วิธีไหนที่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีวิธีไหนที่ทำให้ไม่มีลูกร้อยเปอร์เซ็นต์ ยกเว้นจะไม่มีเซ็กซ์

ในยุคที่ค่าแรงสูงสุดได้วันละ 354 กว่าบาท ไม่มีใครอยากมีลูกเพิ่ม หลายคนที่ติดต่อมาที่กลุ่มทำทาง เป็นคนที่มีลูกอยู่แล้ว บางคนเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว บางคนตกงานตั้งแต่โควิด-19 แต่ไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ นโยบายมารดาประชารัฐ นโยบายขึ้นค่าแรง 425 บาท ไม่เคยเกิดขึ้น แล้วแบบนี้จะโทษเขาได้อย่างไร ในเมื่อเขากำลังตัดสินใจในสิ่งที่ยากลำบากที่สุด สิ่งที่เจ็บปวดที่สุด เพื่อครอบครัว หรือเพื่อตัวของเขาเอง นี่ไม่ใช่เรื่องปัจเจก แต่นี่เป็นเรื่องของรัฐบาล

ชลฐิตา ระบุว่า รัฐบาลต้องช่วยเหลือให้คนที่อยากจะตั้งครรภ์ได้มีชีวิตที่ดี ได้ตั้งครรภ์ ได้มีสวัสดิการที่รองรับลูกที่กำลังจะออกมา และให้คนที่ไม่พร้อมจะเป็นแม่ ได้มีชีวิตที่ดีของเขาเช่นกัน 

การทำแท้งถูกกฎหมายมา 2 ปีแล้ว แต่สถานการณ์ก็ยังคงเหมือนเดิม ยังมีผู้หญิงจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย มีผู้หญิงไปซื้อยาเถื่อนจากอินเทอร์เน็ตมาทาน โดยไม่ทราบว่าทานอะไรเข้าไป เรามีกระทรวงสาธารณสุข ทั้งที่มีกรมอนามัย มีหน่วยงานที่ลั่นปฏิญาณว่าจะช่วยเหลือ แต่ทำไมมันยังมีปัญหาอยู่ 

‘เนี๊ยบ’ ชี้ว่าการเข้าถึงมันยังคงยากเย็นเหลือเกิน สมมติ คนที่อยู่ใน กทม. การเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัย ต้องมีเงินอย่างต่ำ 5 พันบาท หรือจะต้องทำงานด้วยค่าแรงขั้นต่ำ โดยไม่ใช้เงินเลยครึ่งเดือน มีใครบ้างที่ทำได้

เราไม่ได้อยากให้เรื่องการทำแท้งปลอดภัยเป็นเรื่องของคนที่มีเงินเท่านั้น ต้องมีเงิน 5 พันบาทถึง 2 หมื่นบาท ถึงจะเข้าถึงบริการที่ปลอดภัย กลุ่มทำทาง ระบุมาตลอดว่า ใน 1 จังหวัดควรจะมีสถานบริการของรัฐที่เราสามารถที่จะเดินเข้าไปได้ และพูดว่าเราต้องการยุติการตั้งครรภ์ หลายคนไม่สามารถกู้ยืมเงินไม่ทันเวลา เขาจะถูกบังคับให้ตั้งครรภ์ต่อ 

“นี่ไม่ใช่ความภาคภูมิใจที่ผู้หญิงคนหนึ่งไม่สามารถทำแท้งได้ เพราะว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ นี่เป็นการบังคับตั้งครรภ์ นี่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราต้องพูดเรื่องนี้ให้มากในวันสตรีสากล” ชลฐิตา กล่าว 

อาจจะมีบางจังหวัดที่โชคดีที่มี รพ.รัฐที่ให้บริการ แต่ใน กทม.ไม่มี และคุณต้องเดินทางไปที่จังหวัดสิงห์บุรี เพื่อไปถึงตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อขอรับการบริการ

ชลฐิตา ระบุต่อว่า แม้ว่า สปสช.สนับสนุนงบฯ 3 พันบาทใน รพ.รัฐบางแห่งที่ยินดีให้บริการทำแท้ง ซึ่งถือว่าช่วยทุ่นแรงและค่าใช้จ่ายของคนบางส่วน 

อย่างไรก็ตาม สมาชิกกลุ่มทำทาง ระบุว่า ตอนนี้มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงสิทธิสุขภาพมากขึ้นหลัง อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ชะลอลงนามการจัดสรรส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคสำหรับประชาชนที่อยู่นอกสิทธิบัตรทอง (งบการส่งเสริมป้องกันโรค) จำนวน 5,146.05 ล้านบาท ทำให้ผู้อยู่นอกสิทธิบัตรทองเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุขหลายอย่าง 

สมาชิกกลุ่มทำทาง ระบุว่า งบการส่งเสริมป้องกันโรคที่กำลังจะหายไปจะทำให้ประชาชนนอกสิทธิบัตรทองเข้าไม่ถึง ยาคุมกำเนิด การทำแท้งปลอดภัย การฝากครรภ์ การตรวจมะเร็ง การให้วัคซีนเด็กอย่างโปลิโอ บาดทะยัก หรืออื่นๆ 

กลุ่มทำทาง ระบุว่า วันนี้เธอไม่ได้มาสะท้อนปัญหาเพียงอย่างเดียว การต่อสู้ยังไม่จบและพรุ่งนี้ (9 มี.ค.) จะมีการเดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และพรรคภูมิใจไทยของอนุทิน เพื่อทวงงบฯ ส่วนนี้คืนมา และขอเชิญชวนประชาชนสามารถเข้าร่วมการเรียกร้องวันพรุ่งนี้ได้

นอกจากนี้ เนี๊ยบ ระบุว่า ก่อนหน้านี้นักกิจกรรมกลุ่มทำทางถูกตำรวจคุกคามที่สำนักงาน ซึ่งเธอแนะนำว่า ถ้าตำรวจต้องการรับทราบข้อมูลหรือการเข้ารับบริการการทำแท้งปลอดภัย ไม่จำเป็นต้องเข้าไปที่สำนักงาน แต่ให้ใช้วิธีแอด LINE หรือ Facebook แทน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net