Skip to main content
sharethis

เผยไทยเริ่มศึกษาการคุมกำเนิดช้างแล้ว เตรียมฉีดวัคซีนคุมกำเนิดนำร่องป่าอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา คาดปลายปี 2566 นี้ หลังประชากรช้างล้นป่าขัดแย้งชาวบ้านหนัก สถิติปี 2565 ช้างป่าตาย 10 ตัว ส่วนคนตาย 12 ราย


ที่มาภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

11 มี.ค. 2566 มติชนออนไลน์ รายงานว่านายอรรถพล เจริญชันษา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ระบุถึงแนวทางการแก้ปัญหาช้างป่าไว้ว่าเรื่องของช้างป่าที่เริ่มมีปัญหากระทบกระเทือนกับประชาชนเป็นวงกว้างมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสนใจและมีการตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง หรือคณะกรรมการช้างแห่งชาติขึ้นมาโดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อจัดระเบียบทั้งในเรื่องของช้างป่าและช้างบ้าน รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากช้าง โดยเฉพาะช้างป่า

คณะกรรมการชุดนี้เป็นคณะกรรมการในเชิงนโยบายที่จะกำหนดมาตรการและแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร ขณะนี้มีทั้งหมด 16 กลุ่มป่าที่เกิดผลกระทบเรื่องช้าง โดยมี 5 กลุ่มป่าที่มีผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด กลุ่มป่าภูกระดึง ภูค้อ ภูกระแต ภูหลวง เป็นต้น ที่ปัจจุบันได้รับการร้องเรียนมาค่อนข้างมาก

นายอรรถพลกล่าวว่าล่าสุดเลยมีประชาชนพื้นที่ ภูต้อ ภูกระแต จ.เลย ในกลุ่มป่าภูกระดึง ได้ร้องเรียนมาว่า ช้างป่า ราว 40-50 ตัว ออกจากป่ามาทำลายพื้ชไร่ โดยออกมาแล้ว ปักหลักกับที่ไม่ยอมกลับเข้าป่าไปอีก นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของปัญหาช้างล้นป่า ซึ่งเราพบว่าพื้นที่ป่าที่ช้างล้นออกมามี 1.กลุ่มป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ระยอง สระแก้ว ชลบุรี และ จันทบุรี กลุ่มนี้มีช้างประมาณ 500 ตัว 2.กลุ่มป่า ภูเขียว 3. กลุ่มป่าน้ำหนาว 4.กลุ่มป่าภูกระดึง กลุ่มป่าเหล่านี้พบว่ามีช้างเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 8% 

สำหรับคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส.เป็นประธาน จะมีการประชุมในเร็วนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 5 เม.ย. 2566 นี้ โดยจะมีการกำหนดให้การแก้ปัญหาช้างเป็นวาระแห่งชาติ มีการกำหนดแผนในการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เริ่มจากในเรื่องของการปรับพื้นที่กลุ่มป่าให้มีความพร้อมในเรื่องของแหล่งน้ำและแหล่งอาหารและต่อไปหัวหน้าอุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องเข้าใจในมิติของการจัดการพื้นที่เพื่อสัตว์ป่าด้วย มีการบริหารจัดการแหล่งน้ำและอาหาร เพื่อไม่ให้ช้างป่าออกมานอกพื้นที่ก็ต้องเร่งดำเนินการ เป็นแผนที่ทุกหน่วยต้องรับไปปฏิบัติ และต้องเขียนแผนในการของบประมาณ

นายอรรถพล ระบุว่าในกรณีที่ช้างออกมาแล้ว ต้องมีระบบการแจ้งเตือน ควบคุม และระบบการผลักดันอย่างไร ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้พิจารณาเงินรายได้ของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า และสำนักอุทยานฯ ไปช่วยเหลือในการจัดชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังและผลักดันช้าง ซึ่งในเบื้องต้น 15 ชุดในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และจะมีการปล่อยกำลังหลังการฝึกอบรมในวันที่ 16 มี.ค. 2566 นี้ ซึ่งจะเป็นหน่วยสกัดกั้นและแจ้งเตือนประชาชนก่อนที่ช้างจะออกมาทำลายพืชผลและสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้จะมีการของบกลางหรืองบสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อให้มีชุดปฏิบัติการดังกล่าวให้ครบทั้ง 16 กลุ่มป่า ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้กว่า 100 ชุด เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายต่อไป

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว จะต้องมีการเยียวยาที่เหมาะสมและยุติธรรมต่อประชาชน ได้มีการพูดคุยกันว่าเมื่อพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายแล้ว จะต้องเร่งให้การช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว และคุ้มค่าเป็นธรรมกับความเสียหาย โดยอาจจะต้องใช้เงินกองทุนหรือมีกฎหมายเข้ามาประกอบ ซึ่งปัจจุบันเรามองว่ากฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สามารถจะกำหนดเงื่อนไขค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้เข้าไปได้ ถ้าเห็นชอบในหลักการเชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถใช้งบกลางในการไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม

นายอรรถพล ระบุว่านอกจากนั้นยังมีเรื่องของการควบคุมประชากรช้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดที่มีประชากรช้างเกินขีดจำกัดของพื้นที่ ก็มองกันว่าจะทำอย่างไรจึงจะควบคุมประชากรช้างได้ ซึ่งมีวิธีเดียวคือเรื่องของการคุมกำเนิด โดยตอนนี้มีการศึกษาโดยสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้เริ่มวิจัยว่าวัคซีนที่ฉีดไปที่ช้างแล้วสามารถทำให้ลดการกำเนิดของลูกช้าง ก็จะสามารถทำให้ลดประชากรช้างได้ อีกส่วนหนึ่งคือเป็นแนวคิดในการทำพื้นที่ควบคุมพฤติกรรมช้าง หรือเขตกักกันช้างป่า ที่ตรงไหนที่มีช้างเกเรที่ออกไปทำลายพืชผลอาสินของประชาชน เราอาจจะมีการจัดพื้นที่ตรงนี้ เช่น ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เราได้พูดคุยกันแล้วว่าจะมีการกำหนดพื้นที่ 1,000-2,000 ไร่ขึ้นไป ในการกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมช้างเพื่อลดความเสียหายต่อประชาชน

เผยปี 2566 ช้างป่าตาย 10 ตัว ส่วนคนตาย 12 ราย

ด้าน เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่านายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีช้างอาศัยในธรรมชาติ 4,013-4,422 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ อุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์ฯ 91 แห่ง และป่าสงวนแห่งชาติบางพื้นที่ รวมพื้นที่ 52,000 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) โดยปี 2565 ที่ผ่านมา มีช้างป่าตาย 43 ตัว บาดเจ็บ 8 ตาย คนตาย 22 ราย บาดเจ็บ 14 ราย ส่วนปี 2566 มีช้างป่าตายแล้ว 10 ตัว บาดเจ็บ 10 ตัว คนตาย 12 คน และบาดเจ็บ 14 คน  ที่ผ่านมาสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้สนับสนุนงบประมาณให้ชุดผลักดันช้างป่าในชุมชนที่มีปัญหา ปีละ 50,000 บาท ซึ่งยังไม่เพียงพอ จึงต้องมีการสร้างเครือข่ายและอาศัยการมีส่วนร่วมจากชุมชนในการแก้ปัญหาร่วมกัน   

สำหรับประเด็นการคุมกำเนิดช้าง ขณะนี้ในส่วนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ก็มีการทำวิจัยในเรื่องการทำหมันช้าง ซึ่งก็มีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามขณะนี้ กรมอุทยานฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ยื่นขออนุญาตขึ้นทะเบียนวัคซีนคุมกำเนิดช้าง จากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยวัคซีนคุมกำเนิดช้างดังกล่าว นำเข้าจากประเทศเยอรมนี ชื่อวัคซีน Spyvax ซึ่งมีการใช้แล้วในประเทศแถบแอฟริกา ราคาเข็มละประมาณ 10,000 กว่าบาท สามารถคุมกำเนิดได้ 7 ปี ใช้กับช้างเพศเมียที่ผ่านการมีลูกแล้ว 1 ตัวขึ้นไป เมื่อได้รับอนุญาตจะนำวัคซีนมาทดลองกับช้างบ้านในปางช้างทางภาคเหนือ ซึ่งได้คัดเลือกไว้แล้ว เพื่อดูในเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน โดยจะนำไปฉีดนำร่องในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในช่วงปลายปี 2566 ทั้งนี้จะมีการพัฒนาใช้โดรนในการฉีดวัคซีนคุมกำเนิด และผลักดันช้างป่าต่อไปด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net