Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางปัญหาเรื่องที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมและสื่อหลายแห่งในประเทศตะวันตกพยายามจุดกระแสต่อต้าน 'ผู้หญิงข้ามเพศ' บรรยากาศเช่นนี้ทำให้ 'วันสตรีสากล' ที่เพิ่งผ่านมามีข้อเรียกร้องให้คำนึงถึงและนับรวมผู้หญิงข้ามเพศอยู่ในขบวนการด้วย แทนที่จะเป็นเพียง 'Token Minority' หรือชนกลุ่มน้อยที่เอาไว้สร้างภาพ เพราะพวกเธอก็กำลังเสี่ยงเผชิญกับความรุนแรง ทั้งโดยตรงและในเชิงโครงสร้าง

วันสตรีสากลเพิ่งจะผ่านพ้นไปเมื่อไม่นานนี้ มีการเดินขบวนในหลายประเทศทั่วโลกในการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมเพื่อผู้หญิงทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์, ผู้หญิงพิการ รวมถึง ผู้หญิงข้ามเพศ *ที่ในประเทศไทยบางส่วนยังมักจะเรียกว่า "สาวประเภทสอง" หรือ "สาวสอง" ที่ผู้เขียนมองว่าเป็นคำที่ล้าหลังและควรจะหันมาเรียกว่า "หญิงข้ามเพศ" แทนได้แล้ว*

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่ากลุ่มคนข้ามเพศกำลังเผชิญกับความเสี่ยงและการถูกกดขี่ข่มเหงมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะจากกรณีฆาตกรรมผู้หญิงข้ามเพศที่เป็นวัยรุ่นอายุ 16 ปีชื่อ บริอันนา เกย์ ในสหราชอาณาจักร ซึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องที่สื่อมีส่วนในการสุมไฟความเกลียดชังอย่างไร้เหตุผลต่อคนข้ามเพศ หรืออีกกรณีหนึ่งคือการที่มีกลุ่มอนุรักษ์นิยมต่อต้านคนข้ามเพศพยายามบอยคอตต์ช็อกโกแล็ตยี่ห้อเฮอร์ชี หลังจากที่ช็อกโกแล็ตยี่ห้อนี้มีโฆษณาที่ผู้หญิงข้ามเพศร่วมแสดงและส่งสารในทางบวกเกี่ยวกับบุคคลข้ามเพศและผู้หญิงทุกคน

วันสตรีสากลควรนับรวม 'ผู้หญิงข้ามเพศ' ไม่ใช่แต่ 'ผู้หญิงตามเพศกำเนิด'

พอลล่า เกอร์เบอร์ ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโมแนช ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายสิทธิมนุษยชน และ ริกิ เลน นักวิจัยผู้ทีประสบการณ์ด้านสุขภาวะของคนข้ามเพศ ร่วมกันเขียนบทความผ่านทางหน้าเว็บไซต์สถาบันออสเตรเลียเพื่อกิจการระหว่างประเทศ (Australian Institute of International Affairs) ระบุเรียกร้องให้วันสตรีสากลควรจะเป็นวันที่เรียกร้องเพื่อสิทธิสตรีสำหรับผู้หญิงทุกคน ไม่เพียงแค่ผู้หญิงตามเพศกำเนิด (cisgender women) เท่านั้น

วันสตรีสากลถือกำเนิดขึ้นในช่วงต้นยุคคริสตศตวรรษที่ 1900s ซึ่งผู้หญิงใช้วันที่ 8 มี.ค. ของทุกปีในการเรียกร้องความเสมอภาคเท่าเทียม การได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียมกับชาย และการที่มีสภาพการจ้างงานที่ดีขึ้น รวมถึงถ้าเป็นในยุคสมัยก่อนหน้านี้ก็มีการเรียกร้องสิทธิในการที่จะสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้แบบเดียวกับผู้ชายในยุคนั้นด้วย

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมามีกระแสเรื่องที่บริษัทช็อกโกแล็ต เฮอร์ชีย์ ใช้ผู้หญิงช้ามเพศชื่อ เฟย์ จอห์นสโตน เป็นพรีเซนเตอร์ในโฆษณา ที่มีเนื้อหาเรียกร้องสังคมที่จะทำให้ผู้หญิงทุกคนสามารถเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริงได้ ในเรื่องนี้อาจจะมีข้อวิจารณ์ได้ว่าเป็นการนำผู้หญิงข้ามเพศมาใช้แบบ "Token minority" หรือก็คือการใข้คนกลุ่มน้อยที่เป็นตัวแทนสร้างภาพให้บริษัทหรือองค์กรหรือขบวนการเคลื่อนไหวให้ดูหลากหลายแบบเปลือกๆ เท่านั้น โดยเฉพาะถ้าหากว่าบริษัทหรือขบวนการเหล่านั้นไม่ได้มีนโยบายภายในที่ให้สิทธิให้เสียงหรือความเสมอภาคแก่คนกลุ่มน้อย (ซึ่งในที่นี้คือคนข้ามเพศ) เหล่านั้นอย่างแท้จริง

*กระนั้นก็ตาม ผู้เขียนก็ที่เติบโตมากับช่วงที่คนข้ามเพศขาดแคลนการเป็นที่รับรู้เข้าใจในสังคมอย่างมากก็คิดว่า โฆษณาแบบเฮอร์ชีย์ มันก็มีผลบวกอยู่บ้างในแง่ของการที่ทำให้คนข้ามเพศเป็นที่รับรู้ตัวตน และกระตุ้นให้คนเรียนรู้เข้าใจการมีอยู่ของคนข้ามเพศมากขึ้น*

เฮอร์ชีย์ ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกที่มีการนำเสนอภาพลักษณ์โดยอาศัยคนข้ามเพศ ก่อนหน้านี้ก็เคยมีโฆษณาของผลิตภัณฑ์วิคส์ในอินเดียเมื่อราว 6 ปีที่แล้ว ที่นำเสนอภาพของผู้หญิงข้ามเพศที่เป็นแม่ที่ปฏิสัมพันธ์กับลูกสาวของตัวเองอย่างอบอุ่น ทำให้กลายเป็นกระแสไวรัล

ขณะเดียวกันก็มีกระแสต่อต้านจากกลุ่มเกลียดกลัวคนข้ามเพศ ที่พยายามใช้แฮชแท็ก #BoycottHersheys ในการบอยคอตต์ช็อกโกแล็ตยี่ห้อนี้ จากที่ในสหรัฐฯ มีกระแสที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมที่เคลื่อนไหวต่อต้านคนข้ามเพศ และนักการเมืองในหลายรัฐก็เสนอและผ่านร่างกฎหมายต่อต้านคนข้ามเพศมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้

เรื่องนี้ทำให้นักวิชาการจากออสเตรเลียมองว่า ถ้าหากวันสตรีสากลกีดกันคนข้ามเพศออกไปจากพื้นที่เฉลิมฉลองหรือพื้นที่เคลื่อนไหวตรงนี้ มันก็จะกลายเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์และหลักการที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงทุกรูปแบบรวมถึงผู้หญิงข้ามเพศได้ร่วมต่อสู้เพื่อสิทธิความเสมอภาค

เกอร์เบอร์ และเลน ระบุว่า "วันสตรีสากลไม่ใช่แค่เรื่องของผู้หญิงตามเพศกำเนิดอย่างเดียวตั้งแต่แรกแล้ว แล้วมันก็ไม่เคยเป็นการเคลื่อนไหวนแบบที่จงใจให้เกิดการแบ่งแยก แทนที่จะเป็นเช่นนั้น วันสตรีสากลนับเป็นโอกาสที่ดีในการที่จะเน้นย้ำให้เกิดการยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงทุกคน ซึ่งต้องมีการเน้นทั้งกลุ่มผู้หญิงชนชั้นแรงงาน, ผู้หญิงชายขอบ, ผู้หญิงที่มีเชื้อชาติศาสนาต่างๆ, ผู้หญิงพิการ, ผู้หญิงชนพื้นเมืองดั้งเดิม, ผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศวิถี ทางเพศสภาพ และเพศสรีระ"

บทความของนักวิชาการออสเตรเลียระบุอีกว่า การที่ขบวนการสตรีมีแต่ผู้หญิงตามเพศกำเนิดเป็นชนชั้นกลางแต่อย่างเดียวนั้นจะไม่สามารถเข้มแข็งได้เลย ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์อย่างสิทธิทางเลือกในการทำแท้งหรือการเข้าถึงการคุมกำเนิด ที่ฟังดูเผินๆ เหมือนเป็นเรื่องของผู้มีเพศสรีระหญิงโดยกำเนิดอย่างเดียวก็ตาม แต่ก็มีตัวอย่างของขบวนการในอาร์เจนตินา ที่ขบวนการสตรีนิยมผนึกกำลังร่วมกับกลุ่มนักกิจกรรมคนข้ามเพศจนสามารถรณรงค์ให้สิทธิทางเลือกในการทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมายได้ในที่สุด

'ผู้หญิงข้ามเพศก็คือผู้หญิง'

เรื่องดีๆ อีกเรื่องหนึ่งสำหรับผู้หญิงข้ามเพศในช่วงวันสตรีสากลคือ การที่กลุ่มองค์กรต่างๆ ในแคนาดา ประกาศในเชิงสนับสนุนผู้หญิงข้ามเพศอย่างชัดเจน โดยบอกว่า "ผู้หญิงข้ามเพศก็คือผู้หญิง" โดยที่กลุ่มองค์กรเหล่านี้หลายร้อยองค์กรลงนามในแถลงการณ์ของศูนย์แคนาดาเพื่อความหลากหลายทางเพศสภาพและเพศวิถี (CCGSD) ซึ่งในแถลงการณ์ระบุว่า ความเท่าเทียมเรื่องเพศสภาพไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ ถ้าหากไม่มีการสนับสนุน ส่งเสริม และยกระดับผู้หญิงข้ามเพศ

เจมี แซดกรูฟ ผู้จัดการฝ่ายการสื่อสารและการรณรงค์ของ CCGSD ตั้งข้อสังเกตว่ามีการใช้โวหารแบบเกลียดกลัวคนข้ามเพศและโวหารในเชิงโจมตีคนข้ามเพศมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอาจจะชวนให้เกิดความรู้สึกคิดไปเองว่าในพื้นที่ของผู้หญิงนั้นไม่มีการสนับสนุนให้ยอมรับผู้หญิงข้ามเพศ แต่ความรู้สึกที่ว่านี้ไม่เป็นความจริง ไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่คิด

แซดกรูฟชี้ว่า ผลโพลต่างๆ ออกมาในตรงกันข้ามกับเสียงต่อต้านคนข้ามเพศ คนส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่สนับสนุนให้คนข้ามเพศสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพช่วยเหลือการข้ามเพศได้ รวมถึงสนับสนุนปัจจัยจำเป็นสำหรับคนข้ามเพศ และเห็นด้วยว่าผู้หญิงข้ามเพศก็เป็นผู้หญิงที่มีสิทธิในการได้รับการนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการสตรีนิยมด้วย

สื่อมีส่วนในการกระตุ้นความเกลียดชัง ก่อความรุนแรงต่อคนข้ามเพศ

แต่ในช่วงใกล้ถึงวันสตรีสากลของปีนี้กลับมีเรื่องน่าเศร้าที่เกิดกับผู้หญิงข้ามเพศวัยรุ่นที่กลายเป็นข่าวพูดถึงในหลายสื่อ นั่นก็คือกรณีการสังหารผู้หญิงข้ามเพศชาวอังกฤษ บริอานา เกย์ โดยที่ผู้ก่อเหตุเป็นวัยรุ่นหญิงและชายอายุ 15 ปีเท่านั้น

มีคนพบร่างไร้ชีวิตของบริอานา เกย์ ที่สวนสาธารณะลีเนียร์พาร์คในเมืองวอร์ริงตันเมื่อช่วงบ่ายวันเสาร์ที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา เธอมีแผลถูกแทงจนเสียชีวิต ในเบื้องต้นนั้นตำรวจเปิดเผยว่ายังไม่มีหลักฐานที่จะสรุปได้ว่าการฆาตกรรมบริอานานั้นนับเป็นอาชญากรรมจากความเกลียดชังทางอัตลักษณ์หรือ "เฮทไครม" ได้หรือไม่ แต่ก็จะมีการสืบสวนเพื่อพิสูจน์ในเรื่องนี้ต่อไป

ครอบครัวของบริอานาบอกว่าเธอเป็นลูกสาว หลานสาว และพี่เลี้ยงเด็ก ที่พวกเขารักมาก บริอานาเป็นคนที่มีบุคลิกโดดเด่นจนสร้างความประทับใจให้ผู้คนที่ได้พบเจอเธอ เธอเป็นคนที่งดงาม มีไหวพริบ และมีอารมณ์ขัน เธอเป็นคนที่เข้มแข็ง ไม่เกรงกลัวสิ่งใด และมีลักษณะเฉพาะตัว

สื่อเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ QueerAF ตั้งข้อสังเกตว่าสื่อเองก็มีส่วนในการแพร่กระจายความเกลียดชังต่อคนข้ามเพศเช่นเดียวกัน ซึ่งแม้แต่สื่อกระแสหลักหัวสีอย่าง เดอะ มิร์เรอร์ ก็ยอมรับว่า "เมื่อดูจากโวหารที่สื่อและรัฐบาลอังกฤษเร่ขายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแล้ว เหตุเลวร้ายเช่นนี้จะเกิดขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ" นอกจากนี้ยังระบุถึงการที่พรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษกำลังเสนอและพิจารณาว่าจะเอาเรื่อง "สงครามวัฒนธรรมและการถกเถียงเรื่องคนข้ามเพศ" มาเป็นตัวหาเสียงการเลือกตั้งครั้งถัดไปหรือไม่

บริอานานั้นเหมือนกับคนวัยเดียวกันกับเธอที่มีชื่อเสียงบน TikTok และถูกข่มเหงรังแกในโรงเรียน ซึ่งเพื่อนของบริอานาบอกว่าสาเหตุที่เธอถูกรังแกเป็นเพราะเธอเป็นคนข้ามเพศ จนบริอานาเคยบอกว่าเธอรู้สึกเจ็บปวดอยู่เสมอเวลาที่อยู่โรงเรียนเพราะการข่มเหงรังแกเหล่านี้

นอกจากนี้ QueerAF ยังมองว่าสื่อบางแห่งยังคงแสดงความเกลียดกลัวหรือเลือกปฏิบัติต่อคนรักเพศเดียวกันอย่างโจ่งแจ้ง เช่น การยืนยันจะเรียกชื่อที่คนข้ามเพศคนนั้นๆ ไม่ใช้แล้วที่เรียกว่า "เดดเนม" (deadname) หรือการไม่ยอมเรียกบุคคลข้ามเพศนั้นด้วยเพศสภาพที่พวกเขาหรือพวกเธอเป็น เช่นสื่อเดอะไทม์ ตัดคำว่า "ผู้หญิง" ออกจากการเรียกเพศของบริอานา จนกระทั่งพวกเขายอมเติมกลับมาอีกครั้งหลังจากที่ผู้คนในโซเชียลมีเดียไม่พอใจ

เจมี แวร์แฮม ผู้เขียนบทวามเกี่ยวกับเรื่องนี้ใน QueerAF ระบุว่า ในอังกฤษนั้นมีการโหมประโคมข้อความเชิงเกลียดชังคนข้ามเพศมาเป็นเวลา 5 ปีจนสร้างวัฒนธรรมทารุณขึ้นมา ทำให้เกิดอาชญากรรมจากความเกลียดชังคนข้ามเพศเพิ่มขึ้นมาก มีการข่มเหงรังแกและการสอบสวนตั้งข้อสงสัยต่อเยาวชนที่เป็นคนข้ามเพศและผู้มีความหลากหลายทางเพศอื่นๆ ในโรงเรียนและในบ้านเพิ่มมากขึ้น คนข้ามเพศถูกกลั่นแกล้งให้เป็นตัวตลก ความเกลียดกลัวอย่างไม่มีเหตุผลต่อคนข้ามเพศหลั่งไหลลลงสู่ท้องถนน ทำให้แวร์แฮมเรียกร้องให้สื่อมีความใส่ใจมากขึ้นเวลาที่พูดถึงเรื่องคนข้ามเพศ

"เมื่อนักข่าวหรือนักวิจารณ์พูดเกี่ยวกับชีวิตของคนข้ามเพศหรือประเด็นที่ไม่ได้กระทบต่อพวกเขาโดยตรง มันเป็นเรื่องง่ายที่จะตีตัวออกห่างจากเรื่องนั้น ... นั่นคือเหตุผลว่าทำไมมันถึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายสำหรับนักข่าวบางคนที่ลืมไปว่าทุกๆ คำที่ใช้ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สนับสนุนหรือโต้แย้งในการยอมรับตัวตน การมีอยู่จริง และชีวิตความเป็นอยู่ของคนข้ามเพศ มันเป็นสิ่งที่ส่งผลสะเทือนต่อชีวิตของคนข้ามเพศทั้งสิ้น" แวร์แฮมระบุไว้ในบทความ


เรียบเรียงจาก
International Women’s Day Must be Inclusive of ALL Women, Australia Institute of International Affairs, 08-03-2023
Grab the Tissues: Vicks Ad Featuring Transgender Mom Goes Viral in India, Human Rights Campaign, 20-04-2017
'Trans women are women': Canadian orgs declare support on International Women's Day, Yahoo! Sports, 09-03-2023
Brianna Ghey: Boy and girl charged with murder of trans teen in English park, CNN, 15-02-2023
Brianna Ghey: Media must recognise its part in rising transphobia, QueerAF, 18-02-2023


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Tokenism

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net