Skip to main content
sharethis

ผลสำรวจผู้หญิง 4,710 คน จาก 103 ประเทศ โดย Women of Influence+ พบส่วนใหญ่เกือบ 90% ระบุว่าพวกเธอเผชิญกับภาวะ 'Tall poppy syndrome' ต้องอดทนไม่ทำตัวเด่น-ถูกมองข้ามความสามารถในที่ทำงาน

12 มี.ค. 2566 แม้กระแสการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในที่ทำงานถือเป็นอีกหนึ่งวาระที่ภาคธุรกิจทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญ แต่ผู้หญิงก็ยังเผชิญกับอุปสรรคในที่ทำงาน ทั้งการก้าวหน้าทางอาชีพ ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ หรือการถูกประเมินความสามารถต่ำกว่าผู้ชายอยู่

จากรายงาน The Tallest Poppy: How the workforce is cutting ambitious women down โดย Women of Influence+ ที่ได้ทำการสอบถามผู้หญิง 4,710 คน จาก 103 ประเทศ ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2566 เกี่ยวกับประสบการณ์ในที่ทำงานและผลกระทบต่อพวกเธอ โดยในการสำรวจครั้งนี้นอกจากจะเน้นย้ำถึงช่องว่างระหว่างเพศในที่ทำงาน ก็ยังได้เปิดประเด็น ‘Tall Poppy Syndrome’ (TPS) ที่ผู้หญิงทั่วโลกกำลังเผชิญในที่ทำงาน

Tall Poppy Syndrome คือ ค่านิยมที่แพร่หลายในประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่เปรียบเปรยถึง 'ดอกป๊อปปี้' ในสวนกว้างโดยเปรียบเทียบว่า ดอกป๊อปปี้ในสวน ควรเติบโตด้วยความสูงและความเร็วเท่าๆ กัน หากมีดอกไหนที่สูงกว่าดอกอื่นๆ หรือโตเร็วกว่าดอกอื่นๆ ก็จะถูกตัดให้สั้นลง เพื่อรักษาความสูงของดอกไม้ทั้งหมด ให้สม่ำเสมอกันเมื่อเวลาผ่านไป คำนี้ก็กลายเป็นคำแสลงที่นำไปใช้กับผู้คน

คำว่า Tall Poppy Syndrome จึงหมายถึงการ “ตัด” หรือ “กำจัด” ผู้ที่ประสบความสำเร็จหรือโดดเด่นกว่าคนอื่น ให้ออกไปจากคนที่ร้อนรนทนไม่ได้เมื่อเห็นคนอื่นเก่งกว่า ดีกว่า หรือเด่นกว่าตัวเองซึ่งวิธีการกำจัดคนที่โดดเด่นกว่าคนอื่นก็มีหลายวิธี เช่น การใช้คำพูดที่ไม่ดีเกี่ยวกับพวกเขา การไม่คบค้าสมาคมด้วย หรือกรณีร้ายแรงก็คือ การทำลายผลงาน และใส่ร้ายป้ายสีความผิดให้เขา

ที่มา: BrandCase

จากผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.8 ระบุว่าพวกเธอเคยมีประสบการณ์แย่ๆ ในที่ทำงาน ทั้งถูกมองเป็นปรปักษ์ ถูกคุกคาม และถูกเหยียดหยาม เพราะความสำเร็จจากการทำงานของพวกเธอ โดยประสบการณ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นในทุกช่วงเวลาของอาชีพ เกิดขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรม และเกิดขึ้นกับคนทำงานหญิงเกือบทุกระดับตั้งแต่พนักงานระดับเริ่มต้นจนถึงผู้บริหารในองค์กร

สำหรับประสบการณ์แย่ๆ ในที่ทำงานที่ผู้ตอบแบบสอบถามระบุ ได้แก่ ร้อยละ 77 ระบุว่าถูกประเมินความสำเร็จต่ำกว่าความเป็นจริง ร้อยละ 72.4 ระบุว่าไม่อยู่ในการประชุมและการอภิปรายหรือถูกเพิกเฉยในที่ทำงาน และ ร้อยละ 66.1 ระบุว่าคนอื่นได้เครดิตจากงานที่พวกเธอทำ

“เจ้านายของฉันบอกฉันว่าฉันต้องลดความโดดเด่นลงมาหน่อย เพราะฉันทำให้คนอื่นไม่สบายใจ” พนักงานหญิงนิรนามรายหนึ่งระบุไว้กับแบบสำรวจ

เมื่อถูกถามว่าภาวะ TPS นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ผู้ตอบแบบสอบถามระบุถึงปัจจัยหลายประการทั้งความอิจฉาริษยา (ร้อยละ 77.5) การกีดกันทางเพศและอคติการเหมารวมทางเพศ (ร้อยละ 74) การขาดความมั่นใจและความไม่มั่นคง (ร้อยละ 72.7) วัฒนธรรมองค์กร (ร้อยละ 62.8) การแข่งขันกันในที่ทำงาน (ร้อยละ 55.8) การเหยียดเชื้อชาติ (ร้อยละ 32.2) รวมถึงปัจจัยอื่นๆ อีกเช่น อายุ ระบบการให้รางวัลในที่ทำงาน อาการหลงตัวเอง และความโลภ เป็นต้น

ผู้ตอบแบบสอบถามยังระบุถึงผลกระทบต่อสุขภาพจิตจากการเผชิญกับประสบการณ์แย่ๆ นี้ โดยมากกว่าร้อยละ 85 ชี้ว่าพวกเธอมีความเครียดเพิ่มขึ้น และร้อยละ 66 รู้สึกสูญเสียความมั่นใจในการทำงาน

“มีความคิดเห็นมากมายจากผู้ตอบแบบสอบถาม พวกเธอบอกว่า ... ฉันไม่รู้มาก่อนว่าประสบการณ์ที่ฉันได้รับนั้นมีชื่อเรียก ... ” รูมีท บิลลาน ผู้เขียนรายงานการศึกษาฉบับนี้และ CEO ของ Women of Influence+ กล่าวกับสื่อ CTV


ที่มา:
The Tallest Poppy: How the workforce is cutting ambitious women down (Women of Influence+, March 2023)
Tall poppy syndrome: New study says 90 per cent of women belittled, cut down in the workplace (Heidi Petracek, CTV News Atlantic, 3 March 2023)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net