Skip to main content
sharethis

ผาสุก พงษ์ไพจิตร ชี้ไทยมีศักยภาพที่จะจัดงบสวัสดิการเป็น 20% ของ GDP แนะยกเลิก BOI เก็บภาษีหลักทรัพย์ ที่ดิน ลาภลอยอย่างจริงจัง หารายได้เพิ่มจากรัฐวิสาหกิจและปฏิรูปการถือครองที่ดิน หนุนพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย

13 มี.ค.2566 เฟซบุ๊กแฟจเพจ 'บำนาญแห่งชาติ' รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ปาฐกถาเรื่อง “แนวทางการสร้างระบบภาษีและการปฏิรูประบบงบประมาณเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ” ในงาน“ประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน: ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2” 

โดยมีรายละเอียดที่ เพจ 'บำนาญแห่งชาติ' สรุปไว้ดังนี้

สวัสดิการประชาชนเป็นเรื่อง ‘สิทธิ’ รัฐบาลมีหน้าที่สนองความต้องการของประชาชนด้วยการหารายได้จากรัฐในรูปแบบภาษีและอื่น ๆ มาใช้ เพื่อให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้น และต้องจัดการอย่างโปร่งใสไร้การคอรัปชั่นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน แต่หากกลุ่มที่เข้ามาเป็นรัฐบาลยังมีวิธีคิดแบบโลกสมัยเก่า ย้อนหลังไปเป็นร้อยปีที่ผู้มีอำนาจเข้ามาเป็นรัฐบาลและมีรายได้ที่ยึดโยงกับทรัพย์สินโดยเฉพาะที่ดิน ย่อมทำให้การจัดเก็บภาษีไม่สอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไม่สามารถจัดการบริหารเศรษฐกิจ ระบบภาษี และการใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ไทยตกอยู่ในประเทศระดับล่างที่ตามไม่ทันหลายประเทศที่ก้าวพ้นปัญหาต่าง ๆ ไปเยอะแล้ว

เช่น ตุรกีที่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไม่ต่างจากไทยมากแต่สามารถจัดเก็บภาษีคิดเป็น 23% ของจีดีพีแต่ของไทยจัดเก็บภาษีได้เพียง 14% ของจีดีพี ซึ่งเหตุผลที่ตุรกีทำได้เพราะต้องการเข้าไปเป็นสมาชิกของ OECD (The Organization for Economic Co-operation and Development หรือองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) จึงต้องปรับระบบภายในของตัวเองให้ทัดเทียมกับยุโรป ตุรกีจึงไปขอความช่วยเหลือให้ OECD มาช่วยดูเรื่องระบบภาษีให้ไปในแนวเดียวกับสมาชิกกลุ่ม OECD ทำให้การจัดเก็บภาษีจากเดิม 10% เพิ่มเป็น 23% ของจีดีพี

สำหรับเหตุผลของการเปรียบเทียบรายได้ภาษีกับจีดีพี เพราะจีดีพีเป็นมูลค่าของสินค้าและบริการที่ #ทุกคน ในประเทศผลิตภายใต้สาขาเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น เกษตร อุตสาหกรรม การค้า บริการ ฯลฯ ซึ่งในทางสถิติพบว่าประเทศที่จัดเก็บภาษีได้สูงจะมีระบบสวัสดิการที่ดี หรืออีกนัยหนึ่งการใช้จ่ายในระบบสวัสดิการที่สูงของจีดีพีแสดงให้เห็นถึงความเอื้ออาทรของสังคม

ประเทศไทยใช้ภาษีจ่ายด้านสวัสดิการที่เป็นความคุ้มครองทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินอุดหนุนเด็กเล็กเพียง 3% ของจีดีพี แต่ไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและบัตรทองที่ไปตามกระทรวง/หน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องทำตามภารกิจอยู่แล้ว (บัตรทองมีรายจ่ายคิดเป็น 0.5 - 1% ของจีดีพีเท่านั้นแต่ครอบคลุมประชากรถึง 48 ล้านคน)

แม้เราจะใช้จ่ายงบด้านสวัสดิการเพียง 3% ของจีดีพีซึ่งต่ำกว่าเม็กซิโกที่ใช้จ่ายอยู่ที่ 7% แต่ถือว่าดีกว่าเดิม ปี 2540 เราใช้งบด้านสวัสดิการเพียง 0.8% ของจีดีพี มาปี 2566 เราจ่ายที่ 3% ก้าวหน้าขึ้นมาก ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพสูงที่จะก้าวจากการจัดงบสวัสดิการ 3% ของจีดีพีเป็น 20% ของจีดีพี เพียงแต่ตอนนี้เรายังทำไม่ได้

เนื่องจากการจัดเก็บภาษีของไทยในปัจจุบันยังไม่เป็นธรรม เราเน้นการเก็บภาษีด้านรายจ่ายเป็นหลัก เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีการค้าอื่น ๆ ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้จัดเก็บภาษีจากอสังหาริมทรัพย์ได้ถึง 14% อังกฤษ เก็บได้12% ส่วนนอร์เวย์เก็บได้ 6%

หากเราสามารถเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีก 3% จะทำให้มีรายได้เพิ่มอีกแสนล้านบาท หรือเพิ่มอีก 1% กว่าของจีดีพี ประกอบกับถ้าเราสามารถเก็บภาษีเพิ่มโดยใช้ระบบ Capital Gain Tax (ส่วนต่างของกำไรที่ได้จากการขาย) ทั้งในเรื่องหลักทรัพย์และการขายที่ดิน จะทำให้เรามีรายได้เพิ่มถึง 14% เท่ากับเกาหลีใต้ เพียงแต่เราต้องส่งแรงกดดันให้เกิดขึ้นให้ได้

เราต้องปรับระบบภาษีเงินได้ให้เป็น “ระบบบูรณาการที่ก้าวหน้า” เหมือนยุโรป โดยใช้หลักภาษีเงินได้ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใดก็ตามต้องเสียภาษีในอัตราเดียวกันหมด แต่ตอนนี้ประเทศไทยใช้ระบบภาษีแบ่งแยก คือภาษีเงินเดือนเสียอัตราสูงสุด 35% แต่ภาษีอื่น ๆ ที่มาจากเงินทุน เงินปันผล กำไรต่าง ๆ อัตราสูงสุดจะอยู่ที่ 20% หรือบางทีไม่เสียเลย เช่น ให้เช่าที่ดินแบบนอกระบบอาจเลี่ยงไม่ต้องจ่ายภาษี

ต่อมาเราต้องอุดช่องว่างของระบบภาษี เช่น ยกเลิกอภิสิทธิ์บริษัทในการงดเว้นภาษีเงินได้บีโอไอ ปรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งตอนนี้ไทยมีกฎหมายดังกล่าวอยู่แล้วแต่ถูกล็อบบี้ทำให้เมื่อบังคับใช้จริงเรากลับเก็บได้น้อยลง

ในประเทศอังกฤษพบว่าปี 2562 – 2563 คนรวยที่สุด 400 คนของประเทศหรืออยู่บนยอดสุด 0.1% สามารถทำเงินได้อย่างมหาศาลด้วยการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ หากเขาเสียภาษีสูงสุดในอัตราเดียวกับผู้ใช้แรงงานในอังกฤษซึ่งอยู่ที่ประมาณ 40% รัฐบาลอังกฤษจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 6 แสนล้านบาทจากคนเพียง 400 คน แต่ของไทย ‘ยังไม่มีข้อมูล’ ว่าคนรวยระดับบนสุด 0.1 หรือ 1% ซึ่งมีอยู่ประมาณ 200,000 คน (คิดจากอัตราการเสียภาษี) ระดับทรัพย์สินที่อาจได้มาจากการเล่นหุ้นหรือการเก็งกำไรในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศอยู่ที่เท่าไหร่ เป็นเรื่องที่นักวิจัย นักเศรษฐศาสตร์ต้องไปหาข้อมูล เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีจากคนรวยของไทยว่าจะมีมากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้เราอาจพิจารณาภาษีใหม่ ๆ เช่น ภาษีลาภลอย อย่างเรามีที่ดินติดกับรถไฟฟ้า บางแห่งราคาตาราวาละล้านกว่าบาท เวลาซื้อขายต้องพิจาณาการเก็บภาษีลาภลอยประกอบด้วย ซึ่งในงานศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำให้ยูนิเซฟพบว่าถ้าเราอุดช่องว่างของภาษีเหล่านี้ได้จะช่วยเพิ่มภาษีให้กับรัฐได้อีก 4% ของจีดีพีหรือประมาณ 4 แสนกว่าล้านบาท

อย่างไรก็ตาม รายรับของรัฐไม่ได้มีแต่ภาษีแต่มีเงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจด้วย ขณะนี้ ปตท. ไปลงทุนต่างประเทศมากมายที่สร้างเงินให้ประเทศอย่างมาก รวมถึงการใช้ที่ดินของไทยยังมีใช้ไม่คุ้มกับคุณค่าที่ดิน

รัฐบาลไทยเป็นเจ้าของกำกับที่ดิน 60% ของประเทศ เมื่อเทียบกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าของที่ดินเพียง 28% ที่อังกฤษ 8.5% ที่เหลือเป็นที่ดินของเอกชนที่นำมาสร้างรายได้ ในไทยมีหน่วยงานรัฐบางแห่งถือครองที่ดินมากกว่าล้านไร่ ซึ่ง 3 อันดับแรกประกอบด้วยกระทรงกลาโหม 4.6 ล้านไร่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2.2 ล้านไร่ และกระทรวงการคลัง 1.6 ล้านไร่ตามลำดับ และพบว่าที่ดินส่วนมากไม่ได้ใช้ประโยชน์และไม่สอดคล้องตามความเป็นจริงในสภาพปัจจุบัน

ในงานวิจัยจึงมีข้อสรุปว่าหน่วยงานของรัฐที่ถือครองที่ดินมากเกินจำเป็นและไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ควรส่งมอบคืนกรมธนารักษ์ เพื่อให้ชุมชนในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งรัฐยังไม่สูญเสียอำนาจในการครอบครอง เช่น อาจให้ประชาชนเช่าระยะยาวเพื่อการทำมาหากิน เมื่อประชาชนมีฐานะดีขึ้น รัฐก็เก็บภาษีได้มากขึ้นและสามารถนำเงินมาใช้ในระบบสวัสดิการได้ หรือรัฐเอาที่ดินบางส่วนไปสร้างบ้านที่อยู่อาศัยในระดับมีคุณภาพที่ราคาไม่แพงและให้ประชาชนเช่าอาศัยตามศักยภาพในการจ่ายของแต่ละคนจะเป็นการลดภาระด้านที่อยู่อาศัยของประชาชน ช่วยให้ประชาชนจะมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้เป็นสิ่งที่รัฐบาลเสนอในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ท้ายที่สุดในระบอบประชาธิปไตยเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์เพื่อประชาชนอย่างแท้จริงที่จะเป็นเครื่องมือไปสู่ระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ หากเราสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์เป็นประชาธิปไตยจริง ๆ จะทำให้ความฝันเรื่องการจัดสวัสดิการมีความเป็นไปได้เหมือนประเทศอื่น ๆ แต่ทั้งนี้องค์กรภาคประชาชนก็ต้องเข้มแข็งด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net