Skip to main content
sharethis

ผลการศึกษาโดยสภาสหภาพแรงงานแห่งสหราชอาณาจักร (TUC) พบผู้มีปัญหาสุขภาพเกินกว่าจะทำงานได้เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ชี้ต้องปฏิรูปตลาดแรงงาน-ประกันสังคม สร้างทักษะและรูปแบบของงานที่หลากหลาย เอื้อให้ผู้สูงอายุมีงานทำ 


ที่มาภาพ: Neil Moralee (CC BY-NC-ND 2.0)

13 มี.ค. 2566 ปัจจุบันหลายประเทศกำลังเผชิญกับภาวะที่ประชากรจำนวนหนึ่งไม่ได้ทำงานและไม่มีความต้องการที่จะทำงานในช่วงเวลาที่สามารถทำงานได้ (Economic inactivity) โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งสหราชอาณาจักรก็เป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้อยู่

Economic inactivity หมายถึงสถานภาพที่บุคคลไม่ได้ทำงานและไม่มีความต้องการที่จะทำงานในช่วงเวลาที่สามารถทำงานได้ เช่น ผู้สูงอายุที่เกษียณงานแล้วและไม่ต้องการทำงานอีกต่อไป ผู้ที่มีอาการป่วยหรือพิการที่ไม่สามารถทำงานได้ หรือผู้ที่เลือกจะเลี้ยงลูกและทำงานบ้านแทนการออกไปทำงานที่ได้รับค่าตอบแทนนอกบ้าน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ไม่นับเป็นจำนวนแรงงานในประเทศ โดยทั่วไปแล้ว Economic inactivity จะถูกใช้เพื่ออธิบายอัตราการว่างงานในประเทศโดยรวม

จากรายงาน 'Creating a healthy labour market: Tackling the root causes of growing economic inactivity among older people' โดยสภาสหภาพแรงงานแห่งสหราชอาณาจักร (TUC) ชี้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจำนวนผู้คนที่ไม่ได้ทำงานและไม่มีความต้องการที่จะทำงานในช่วงเวลาที่สามารถทำงานได้ในสหราชอาณาจักรได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากสถิติพบว่ามีคนกลุ่มนี้อยู่ประมาณ 440,000 คน ก่อนที่การระบาดของโควิด-19 จะเริ่มต้นขึ้น

รายงานของ TUC ระบุว่าแม้การเกษียณก่อนกำหนด ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนออกจากตลาดแรงงานก่อนวัยอันควร แต่ก็มีข้อมูลที่บ่งชี้ไปอีกทางว่าผู้มีปัญหาทางสุขภาพเกินกว่าจะทำงานได้ก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ในขณะที่จำนวนผู้เกษียณก่อนกำหนดลดลงในปี 2562 แต่ก็พบว่าจำนวนของผู้ที่ต้องออกจากงานเนื่องจากเจ็บป่วยระยะยาวมีเกือบ 340,000 คน 

การเพิ่มขึ้นของผู้มีปัญหาสุขภาพเกินกว่าจะทำงานได้นี้พบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่พบมากที่สุดในกลุ่มผู้สูงอายุ ในสหราชอาณาจักรมีชายและหญิงประมาณ 1.5 ล้านคน ที่มีอายุระหว่าง 50 ปีขึ้นไป ต้องออกจากงานเนื่องจากอาการเจ็บป่วยระยะยาวของพวกเขา นอกจากนี้ยังพบแนวโน้มการบังคับให้ออกจากงานก่อนที่จะเริ่มเบิกเงินบำนาญจากรัฐ กับผู้ที่สามารถทำงานได้นานขึ้นหรือมีเงินพอที่จะเกษียณก่อนกำหนดอีกด้วย

TUC ชี้ว่าความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในตลาดแรงงาน ในบรรดาผู้สูงอายุที่ทำงานไม่ได้แล้วนั้น สาเหตุก็เนื่องมาจากเกิดความเจ็บป่วยจากงานที่พวกเขาเคยทำมาก่อน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมาจาก 5 กลุ่มอาชีพที่ได้รับค่าจ้างต่ำที่สุด ทั้งนี้คนทำอาชีพค่าแรงต่ำเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 3 ใน 4 ของผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพเกินกว่าจะทำงานได้ทั้งหมด

นอกจากนี้ผู้หญิงสูงวัยมาก ก็มีแนวโน้มที่จะสูญเสียงานมากกว่าผู้ชายผู้ชายสูงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงสูงวัยที่มีปัญหาสุขภาพในกลุ่มเบาหวาน, ความดันโลหิตสูงและความอ้วน (BME Syndrome) มีสถิติชี้ว่ากลุ่มผู้หญิงที่มีภาวะ BME นั้นมีโอกาสเป็นผู้มีปัญหาทางสุขภาพเกินกว่าจะทำงานได้มากกว่า 4 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ชายผิวขาว

TUC ระบุว่าการช่วยเหลือผู้ที่เต็มใจและสามารถทำงานจนถึงอายุ 50-60 ปี นั้นจะช่วยแบ่งเบาภาระครองชีพของผู้คนจำนวนมาก เพราะการออกจากงานก่อนวัยเกษียณนั้นอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ และทำให้รายได้ลดลงทั้งก่อนและหลังวัยเกษียณ

แต่การเพิ่มระดับของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะต้องใช้นโยบายที่หลากหลาย และการเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้นของคนทำงานในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ การฟื้นฟูระบบสาธารณสุขก็เป็นสิ่งจำเป็น

นอกจากนี้ยังมีการปฏิรูปตลาดแรงงาน ปฏิรูประบบประกันสังคม สร้างทักษะและรูปแบบของงานที่หลากหลาย ก็จะทำให้คนสูงวัยมีงานทำมากขึ้นเช่นกัน โดย TUC มีข้อเสนอดังนี้:

  • ผู้ว่างงานสูงอายุต้องได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษเพื่อให้สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ เนื่องจากต้องเผชิญกับอุปสรรคเพิ่มเติมในตลาดงาน แต่อัตราการว่างงานในระดับต่ำและการไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุนั้น หมายความว่านโยบายตลาดแรงงานควรมุ่งตรงไปยังผู้ที่ไม่ได้หางานผ่านศูนย์จัดหางาน
  • แทนที่จะพยายามบังคับให้ผู้สูงอายุกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยวิธีการตัดสวัสดิการหรือตัดเงินบำนาญ ภาครัฐควรมุ่งไปที่การจัดหางานที่มีคุณภาพดีและมีความยืดหยุ่นสำหรับคนทำงานสูงวัย
  • คนทำงานสูงวัยในองค์กร ควรได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้ทักษะของพวกเขาทันสมัยอยู่เสมอ หรือเพิ่มทักษะและบทบาทใหม่ในที่ทำงาน เพื่อเพิ่มระยะเวลาในการจ้างงานพวกเขา
  • จากความจริงที่ว่ามีผู้สูงอายุจำนวนมากที่มีปัญหาสุขภาพเกินกว่าจะทำงานได้ จึงจำเป็นต้องมีการสร้างเครือข่ายด้านความปลอดภัยในที่ทำงานที่เข้มแข็งไว้คอยรับมือ รวมทั้งเพิ่มระดับการออมเงินบำนาญ เพื่อให้คนทำงานมีทรัพยากรทางการเงินมากพอ หลังจากที่พวกเขาไม่สามารถทำงานหาเงินได้อีกต่อไป


ที่มา:
Creating a healthy labour market (TUC, 1 March 2023)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net