Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ฯ ออกรายงานร่วมกับมูลนิธิโอเมกาชี้ปัญหาการใช้อาวุธกระสุนยางและแก๊ซน้ำตาของหน่วยงานรัฐทั่วโลกผิดมาตรการทำผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เร่งนานาชาติออกมาตรการควบคุมการซื้อขายอาวุธประเภทนี้

14 มี.ค.2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยรายงานว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ร่วมกับ มูลนิธิโอเมกา เปิดตัวรายงานฉบับใหม่ชื่อ “ลูกตาเราแตก” (My Eye Exploded) ระบุ กองกำลังความมั่นคงทั่วโลกมักนำกระสุนยางและพลาสติกมาใช้โดยไม่ได้เป็นไปตามข้อกำหนดการใช้ รวมทั้งการใช้อาวุธเพื่อการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ เพื่อใช้ปราบปรามอย่างรุนแรงต่อการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างโหดร้าย และเรียกร้องให้มีการควบคุมอย่างเข้มงวดต่อการใช้งาน และให้มีสนธิสัญญาระดับโลกเพื่อควบคุมการค้าอาวุธที่เกี่ยวข้อง

รายงานฉบับใหม่นี้เก็บรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยในกว่า 30 ประเทศในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเก็บบันทึกข้อมูลจากผู้ชุมนุมประท้วงและผู้อยู่โดยรอบหลายพันคนที่ได้รับบาดเจ็บ และอีกหลายสิบคนที่เสียชีวิตจากการใช้อาวุธเพื่อบังคับใช้กฎหมายที่มีความร้ายแรงต่ำ อย่างไม่บันยะบันยังและไม่ได้สัดส่วน รวมทั้งการใช้กระสุนวิธีโค้งที่มีแรงกระแทกหรือกระสุนจลนศาสตร์ (Kinetic Impact Projectiles - KIPs) เช่น กระสุนยาง และการยิงกระสุนลูกปรายใหญ่หุ้มยาง (rubberized buckshot) และระเบิดแก๊สน้ำตาที่เล็งและยิงใส่ผู้ชุมนุมประท้วงโดยตรง  

แพทริก วิลเคน นักวิจัยด้านการทหาร ความมั่นคงและการควบคุมมวลชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า “เราเชื่อว่า มาตรการควบคุมระดับโลกที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อการผลิตและการค้าอาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำ รวมทั้งกระสุนจลนศาสตร์ และแนวปฏิบัติที่เป็นผลในการใช้กำลัง เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาการปฏิบัติมิชอบที่เกิดเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ”  

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และ มูลนิธิโอเมกา เป็นส่วนหนึ่งใน 30 องค์กรที่เรียกร้องให้มีสนธิสัญญาการค้าที่ปลอดจากการทรมานที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ เพื่อห้ามการผลิตและการค้ากระสุนจลนศาสตร์ และอาวุธเพื่อการบังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิโดยพื้นฐาน และให้นำมาตรการควบคุมการค้าตามกรอบสิทธิมนุษยชนมาใช้ เพื่อควบคุมการจัดส่งอุปกรณ์การบังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ รวมทั้งกระสุนยางและพลาสติก  

นายแพทย์ ไมเคิล ครอลีย์ ผู้ช่วยวิจัย มูลนิธิโอเมกา เปิดเผยว่า “สนธิสัญญาการค้าที่ปลอดจากการทรมานจะเป็นข้อห้ามต่อการผลิตและการค้าใดๆ ของอาวุธและอุปกรณ์เพื่อการบังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิโดยพื้นฐาน รวมทั้งกระสุนจลนศาสตร์แบบยิงทีละนัด ที่โดยพื้นฐานมีอันตรายหรือไม่แม่นยำ กระสุนโลหะหุ้มยาง (rubber-coated metal bullets) กระสุนลูกปรายใหญ่หุ้มยาง และเครื่องยิงแบบหลายลำกล้อง (multiple projectiles) ซึ่งทำให้เกิดการตาบอด และอาการบาดเจ็บร้ายแรงและการเสียชีวิตทั่วโลก”  

การใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำอย่างมิชอบทำให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรงทั่วโลก  

อาวุธเหล่านี้ทำให้เกิดความพิการถาวรในหลายร้อยกรณี และทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ดวงตาเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ทั้งอาการลูกตาแตก จอประสาทตาลอก การสูญเสียการมองเห็นอย่างสิ้นเชิง และการร้าวของกระดูกและกะโหลกศีรษะ การบาดเจ็บที่สมอง การฉีกขาดของอวัยวะภายใน และเลือดออกภายในร่างกาย ซี่โครงที่แตกและทิ่มแทงหัวใจและปอด ความเสียหายต่ออวัยวะเพศ และความทุกข์ทรมานด้านจิตใจ   

ด้าน กุสตาโว กาติกา นักศึกษาจิตวิทยาวัย 22 ปี สูญเสียการมองเห็นในตาทั้งสองข้าง เพราะถูกตำรวจยิงด้วยกระสุนโลหะหุ้มด้วยยางที่ใบหน้า ระหว่างการชุมนุมประท้วงความไม่เท่าเทียมในกรุงซานติอาโก เมืองหลวงของชิลี เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีใครต้องรับผิดจากการกระทำนี้ เผยกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ผมรู้สึกเหมือนมีน้ำไหลออกมาจากตา.....แต่ความจริงมันคือเลือด” กาติกาหวังว่าการบาดเจ็บของเขาจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุนี้กับคนอื่นอีก “ผมยอมสละดวงตาเพื่อให้คนอื่นตื่นขึ้นมา”  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net