Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลของโจทก์ทั้ง 832 คน ที่ยื่นฟ้องบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) คดีน้ำมันรั่วลงสู่ทะเลระยอง เมื่อ ม.ค.ปีที่แล้ว โดยไม่ต้องไต่ส่วน เหตุน่าเชื่อได้ว่าโจทก์ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอ หรือหากไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม จะเสียหายเกินสมควร

15 มี.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Rising Sun Law' ของบริษัท กฎหมาย ไรซิ่ง ซัน จำกัด โพสต์ข้อความรายงานว่า 14 มี.ค.ที่ผ่ามา ศาลจังหวัดระยอง โจทก์ทั้ง 832 คน พร้อมทนายความจาก Rising Sun Law ฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ในเรื่องที่โจทก์ทั้ง 832 คน ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในคดีที่สมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง ชาวประมง พ่อค้าแม่ค้า และผู้ประกอบกิจการ ได้ยื่นฟ้องบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (จำเลยที่ 1) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (จำเลยที่ 2) จากเหตุที่จำเลยทั้งสองก่อให้เกิดเหตุน้ำมันรั่วลงสู่ทะเลระยอง เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565

 

ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งโดยสรุปว่า โจทก์ทั้ง 832 คน เป็นชาวประมง พ่อค้าแม่ค้า และผู้ประกอบอาชีพให้บริการในท่องเที่ยงในจังหวัดระยอง และคำขอของโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาจัดตั้ง “กองทุนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” ในจำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อมอบให้แก่หน่วยงานราชการที่มีหน้าที่กำจัดมลพิษ และฟื้นฟูความสมบูรณ์ทรัพยากรทางทะเลร่วมกับโจทก์และชุมชนชายฝั่งนั้น มุ่งเน้นเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล คำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมของโจทก์มีเหตุควรเชื่อได้ว่า โจทก์ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระค่าธรรมเนียมศาล หรือหากไม่ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ก็จะเดือดร้อนเกินสมควร ศาลจึงมีคำสั่งยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด โดยไม่ต้องไต่สวน ส่วนค่าธรรมเนียมศาลของโจทก์ 160 คนที่ได้วางต่อศาลไว้ก่อนหน้านี้ ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลแก่โจทก์ ศาลจังหวัดระยองจึงมีคำสั่งประทับรับฟ้องของโจทก์ทั้ง 832 คน นัดไกล่เกลี่ยในวันที่ 8 พ.ค.นี้ และนัดชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์ในวันที่ 15 พ.ค. 2566

ศาลอุทธรณ์มีคำสั่ง สืบเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2566 โจทก์ทั้ง 832 คน อุทธรณ์คำสั่งยกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียม ระบุว่า ค่าสินไหมทดแทนมูลค่าความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจำนวน 5,000 ล้านบาท ซึ่งโจทก์ได้ขอให้จัดตั้งเป็น “กองทุนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” เป็นค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 96 และมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ 2535 และเป็นค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้ง 832 คน ในฐานะที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์ มีหน้าที่บำรุงรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และเป็นชุมชน ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 ในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โจทก์ทั้ง 832 คน ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวได้ ไม่จำกัดแต่เพียงหน่วยงานรัฐเท่านั้น อีกทั้ง หน่วยงานราชการที่เป็นผู้กระทำละเมิดโดยละเลยหน้าที่ตามกฎหมายในการกำกับดูแลกิจการน้ำมันและบริหารจัดการน้ำมันรั่ว ก็มีข้อจำกัดในการเรียกค่าสินไหมทดแทน โจทก์ทั้ง 832 คนจึงจำเป็นต้องเรียกให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว เมื่อการเรียกร้องของโจทก์ก็เป็นการเรียกร้องเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสังคม จึงสมควรได้รับการผ่อนปรนภาระค่าธรรมเนียมศาลในส่วนนี้ ส่วนเรื่องค่าเสียหายส่วนบุคคลนั้น โจทก์ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่ว ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอ มีหนี้สินเพิ่มขึ้น และมีทรัพย์สินเฉพาะเท่าที่ใช้ในการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตประจำวันเท่านั้น การที่โจทก์ต้องรับภาระค่าธรรมเนียมศาล ก็จะเป็นการยากที่โจทก์จะจัดหามาภายในเวลาที่ศาลกำหนดอีกด้วย

.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net