Skip to main content
sharethis

ชาวชุมชนอ่อนนุชขอกรมโรงงานฯ สั่งปิดโรงงานกำจัดขยะอ่อนนุชเหตุยังส่งกลิ่นเหม็นรบกวน กระทบสุขภาพคน อธิบดีแจงสั่งแก้หลายครั้งแล้วแต่จะลงตรวจสอบพร้อม กทม.อีกว่าโรงงานแก้ได้ครบหรือไม่ แต่จะสั่งปิดเป็นเรื่องยาก ทนายชี้ปัญหาเริ่มมาจาก คำสั่งหัวหน้า คสช.มายกเว้นผังเมืองจนปล่อยมาตั้งโรงงานใกล้ชุมชนได้ 

เมื่อวานนี้ (14 มี.ค. 66 ) เวลา10.00 น. ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (ถ.พระรามที่ 6) ตัวแทนชุมชนจากชุมชนอ่อนนุชกว่า 10 กว่าคน จากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ กรุงเทพฯ ของบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีกรมโรงงานฯ

ผู้ที่มาออกมารับหนังสือและร่วมพูดคุยกับตัวแทนชุมชนจากรมโรงงานได้แก่ จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม จินดา เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ภัทรพล ลิัมภักดี ผู้อำนวยการกองบริหารงานโรงงาน 2 อัญชลี ยิ่งทวีสิทธิกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ออกมารับหนังสือและพูดคุยกับตัวแทนชุมชนที่มายื่นหนังสือ

1 ในตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบกล่าวว่า เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นที่มาจากกองขยะของโรงงานเกือบ 4 ปีแล้วนับตั้งแต่ปี 2562 – 2566 กลิ่นที่ลอยเข้ามาถึงในบ้านทำให้มีคนในครอบครัวป่วยและมีสุขภาพไม่ดี แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการปรับปรุงและแก้ไขไปหลายครั้งแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้

ทางตัวแทนชุมชนได้เรียกร้องให้อธิบดีฯ ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ภายใต้โครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงานขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตันต่อวัน ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช และสั่งปิดโรงงานเป็นการถาวร เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นปกติสุขในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชนในชุมชน

จุลพงษ์ ทวีศรี

ด้านอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้กล่าวว่า เรื่องการร้องเรียน 3 โรงงานของบริษัทกรุงเทพธนาคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับขยะกทม. โดยทั้ง 3 โรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยโรงงานส่วนที่ 1 เป็นส่วนของกระบวนอัดแห้งขยะและนำน้ำที่ชะล้างส่งต่อไปยังโรงงานส่วนที่ 2 เพื่อผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ จากนั้นก๊าซที่ผลิตได้จะส่งต่อไปที่โรงงานส่วนที่ 3 เพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า โรงงานได้เริ่มประกอบการหลังจากได้รับใบอนุญาตแล้วเมื่อปี 2562 หลังจากนั้นก็มีเรื่องร้องเรียนเนื่องจากตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อ่อนนุช มีชุมชนรายล้อมอยู่ใกล้กับโรงงานที่ 1

จุลพงษ์ลำดับเหตุการณ์การสั่งให้แก้ไขตลอด 4 ปีที่ผ่านมาว่า หลังโรงงานตั้งขึ้นมาในเดือนธันวาคม 2562 เริ่มมีการร้องเรียนถึงโรงงานส่วนที่ 1 ก่อน จึงมีการสั่งให้โรงงานหยุดดำเนินงานและแก้ไขในปี 2563

อธิบดีกล่าวต่อว่าในปี 2564 มีเรื่องร้องเรียนอีกครั้ง จึงมีการสั่งให้มีการแก้ไขทั้ง 3 โรงงาน จนมาในปี 2565 ได้สั่งให้หยุดโรงงานและสั่งให้แก้ไขอีกโดยให้โรงงานส่วนที่ 1 หยุดดำเนินงานและสั่งให้โรงงานส่วนที่ 2 และ 3 ปรับปรุงแก้ไข แต่มาจนถึงปี 2566 ยังคงมีปัญหาอยู่และคำสั่งให้แก้ไขจะครบกำหนดในเดือนเมษายน 2566 นี้

“ประเด็นคือการที่สั่งให้แก้ไขปัญหาที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนครบถ้วนหรือไม่ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว และคำสั่งรอบนี้เราต้องพิจารณาแล้วว่ามาตรการครั้งต่อไปจะเป็นอย่างไร เชื่อว่าในส่วนของรัฐในฐานะที่ผมเป็นอธิบดี ผมมองปัญหาตรงไหนที่ต้องไปแก้ให้เบ็ดเสร็จเพื่อยุติปัญหาก่อนที่คำสั่งให้แก้ไขจะครบกำหนด การสั่งการที่ผ่านมาอาจจะยังไม่ครบจุด” จุลพงษ์กล่าว

อธิบดีกล่าวว่าเขาจะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบโรงงานอีกครั้งและจะทำหนังสือถึง กทม. ในฐานะที่ดูแลเรื่องใบอนุญาตให้มาลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบและติดตามไปด้วยกันก่อนครบกำหนดคำสั่งให้แก้ไขในวันที่ 16 เม.ย.2566 นี้ เพื่อไปดูว่าทางโรงงานจะแก้ไขได้หรือไม่ได้ ถ้าทำได้เข้าใจว่าปัญหาเรื่องร้องเรียนก็จะยุติได้ เรื่องโรงงานขยะในเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สำหรับโรงงานขยะที่อยู่กลางเมืองที่มีชุมชนรายล้อมมากๆ ซึ่งข้อเรียกร้องให้เพิกถอนใบอนุญาตค่อนข้างเป็นเรื่องที่หนักอยู่ ส่วนจะสามารถปิดได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเหตุและผล และจะต้องนึกถึงผลที่จะตามมา หากทางโรงงานแก้ไขไม่ได้ก็อาจจะต้องมีการเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป

ภายหลังการประชุม ตัวแทนมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) 1 ในทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้กับชุมชนให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2559 ออกมายกเว้นกฎกระทรวงเรื่องผังเมืองรวม เพราะที่ตั้งโรงงานขยะแห่งนี้มีความทับซ้อนกับเขตที่กำหนดเป็นพื้นที่ชุมชน ดังนั้นการตั้งโรงงานขยะหรือโรงไฟฟ้าแบบนี้จึงเป็นปัญหา พอมีคำสั่งดังกล่าวทำให้กฎหมายเรื่องผังเมืองตรงนี้ถูกยกเว้นไป

ที่ปรึกษากฎหมายของชุมชนกล่าวอีกว่า แม้ว่ากฎหมายผังเมืองจะถูกยกเว้นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช. แต่กฎเกณฑ์อื่นๆ ไม่ได้ยกเว้นไปด้วย เช่นกฎกระทรวงฉบับที่ 2 ที่ออกตาม พ.ร.บ.โรงงานที่กำหนดเรื่องที่ตั้งของโรงงานไว้ยังถูกใช้บังคับอยู่และเป็นเกณฑ์สำคัญที่ทางกรมโรงงานต้องนำมาพิจารณาก่อนออกใบอนุญาต โดยกฎกระทรวงกำหนดว่าโรงงานไม่ควรอยู่ในพื้นที่บริเวณหมู่บ้านจัดสรร หรือต้องตั้งอยู่ในบริเวณที่เหมาะสมและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน

ตัวแทนของ EnLaw กล่าวอีกว่า หากอ้างเรื่องคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ไปยกเว้นผังเมือง แล้วไม่ดูเรื่องกฎเกณฑ์หรือมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาพิจารณาเป็นข้อสำคัญ การสั่งปิดปรับปรุงโรงงานซ้ำแล้วซ้ำเล่าแต่ยังคงมีปัญหาอยู่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าการตั้งโรงงานขัดกับเงื่อนไขในการออกใบอนุญาต ถ้าหากยังแก้ไม่ได้ทางกรมโรงงานเองก็จะต้องยกระดับมาตรการเพื่อสั่งปิดโรงงาน การเพิกถอนใบอนุญาตก็เป็นสิ่งที่กรมโรงงานสามารถดำเนินการได้ สุดท้ายแล้วถ้ากรมโรงงานไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หรือยังยืนยันว่าใบอนุญาตออกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประชาชนหรือทางชุมชนก็สามารถฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้มีการตรวจสอบและทบทวนการออกใบอนุญาต รวมถึงว่าทางกรมโรงงานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ด้วยหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net