ถึงแม้ว่ารัฐบาลบางแห่งในอาเซียนจะแสดงท่าทีเหมือนให้ความสำคัญกับวันสตรีสากล แต่กลุ่มนักกิจกรรม นักสหภาพแรงงาน หรือนักการเมืองที่เป็นผู้หญิงในพื้นที่นี้ยังคงเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ ถูกจับกุม คุกคาม ดำเนินคดีไปจนถึงใช้ความรุนแรงจากรัฐบาลของพวกเธอเอง
ในช่วงวันสตรีสากลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กัมพูชาและลาวได้ประกาศให้วันสตรีสากลเป็นวันหยุดราชการเนื่องจากกลุ่มผู้นำสองประเทศนี้ต้องการเน้นย้ำในเรื่องการพัฒนาสถานภาพของผู้หญิง แต่ทว่ากลุ่มนักกิจกรรมในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บอกว่ายังต้องมีการพัฒนาอีกมากในเรื่องการคุ้มครองผู้หญิงในภูมิภาคนี้ที่ยังคงเผชิญกับการกีดกันเลือกปฏิบัติและภัยคุกคามจากความรุนแรง
Chak Sopheap ผู้อำนวยการของศูนย์กัมพูชาเพื่อสิทธิมนุษยชนบอกว่าถึงแม้ว่ากระทรวงกิจการสตรีของกัมพูชาจะส่งเสริมให้เหยื่อที่เป็นผู้หญิงขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ทางการในท้องที่พวกเธออาศัยอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้วคำร้องของพวกเธอมักจะถูกละเลย
Chak ยังได้ยกตัวอย่างกรณีที่นักกิจกรรมผู้หญิงเผชิญกับความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในขณะที่พวกเธอต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง เช่น กรณีการนัดหยุดงานประท้วงเพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่ดีขึ้นและเรียกร้องสภาพการจ้างงานที่ดีขึ้นที่นากาแลนด์รีสอร์ทแอนด์คาสิโนในกรุงพนมเปญ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมักจะปะทะกับผู้ประท้วงโดยใช้ความรุนแรง ทำให้มีผู้ประท้วงซึ่งผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิง ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
นอกจากนี้ Mu Sochua รักษาการรองประธานของพรรคสงเคราะห์ชาติหรือ CNRP ของกัมพูชาซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ถูกแบนจากรัฐบาลฮุนเซน ได้เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้หญิงทุกคนที่ถูกคุมขังอยู่เพื่อส่งเสริมสิทธิของพวกเธอ ไม่ว่าจะเป็นทนายความชาวกัมพูชา-อเมริกัน Theary Seng, ผู้นำสหภาพแรงงานนากาเวิร์ลด์ Chhim Sithar และ นักกิจกรรมของพรรค CNRP York Neang
นักข่าวหญิงยังคงอยู่ในเรือนจำ
องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ซึ่งเป็นองค์กรด้านเสรีภาพสื่อ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักข่าวหญิงทั่วโลกโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยมีการยกตัวอย่างนักข่าวสองคนจากเวียดนามและจากพม่า
นักข่าวคนแรกคือ Pham Doan Trang นักข่าวเวียดนามที่ได้รับรางวัลฟรีดอมไพรซ์อิมแพคเมื่อปี 2562 เธอถูกย้ายไปอยู่ในเรือนจำที่ห่างออกไปทางใต้ของฮานอย 1,000 กม. เพื่อพยายามปิดบังเรื่องสุขภาพของเธอ โดยที่สุขภาพของเธอกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต Trang ถูกจับกุมในข้อหา "โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐ" เมื่อเดือน ต.ค. 2563 และถูกสั่งลงโทษจำคุกเป็นเวลา 9 ปีเมื่อเดือน ธ.ค. 2564 เธอถูกกล่าวหาว่าได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศเพื่อกล่าวหมิ่นรัฐบาลในสิ่งที่รัฐบาลอ้างว่าเป็น "ข่าวปลอม"
นักข่าวคนที่สอง คือ Htet Htet Khine นักข่าวอิสระของพม่าผู้ที่ถูกคุมขังตั้งแต่เดือน ส.ค. 2564 อยู่ในเรือนจำอินเส่งในกรุงย่างกุ้ง เรือนจำแห่งนี้เป็นที่อื้อฉาวจากการใช้คุมขังนักโทษการเมือง เธอถูกลงโทษจำคุก 2-3 ปีและบังคับใช้แรงงานหนักจากข้อกล่าวหา "ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังและความรุนแรงต่อกองทัพ" จากการที่เธอรายงานเรื่องความรุนแรงที่กองทัพใช้ในการรัฐประหารยึดอำนาจในเดือน ก.พ. 2564
ในรายงานเสรีภาพสื่อโลกของผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนในปี 2565 เวียดนามถูกจัดด้านเสรีภาพสื่อให้อยูอันดับที่ 174 จากทั้งหมด 180 อันดับ และเป็นประเทศที่คุมขังนักข่าวมากที่สุดรองจากจีน, อิหร่าน และเบลารุส ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนรายงานอีกว่าในจำนวนผู้สื่อข่าวและคนทำงานสื่อ 550 รายที่ถูกคุมขังทั่วโลกตอนนี้มีอยู่ 73 ราย ที่เป็นผู้หญิง คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 13 ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ข้อเรียกร้อง "หยุดยั้งการค้ามนุษย์โดยทันที"
ในประเทศลาว เจ้าหน้าที่ทางการที่ทำงานในประเด็นสตรีกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเรดิโอฟรีเอเชียว่าสิทธิสตรีเป็น "ประเด็นสำคัญอันดับต้นๆ" ของรัฐบาล
เจ้าหน้าที่ทางการลาวผู้ไม่ประสงค์เอ่ยนามกล่าวว่า "ต้องหยุดยั้งการค้ามนุษย์และความรุนแรงต่อผู้หญิงโดยทันที และคนที่ก่อเหตุจะต้องเข้าคุก ... จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ที่คุ้มครองผู้หญิงอย่างจริงจังมากกว่านี้"
ถึงแม้ว่าจะมีการเคารพในบทบาทและคุ้มครองสิทธิสตรีของลาวมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังคงมีผู้หญิงลาวจำนวนมากโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ยังคงประสบภาวะยากจน, เข้าไม่ถึงการศึกษา, และมักจะตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์เพื่อการค้ากามและการบังคับใช้แรงงานในประเทศไทยและจีน
ในขณะที่โครงการพัฒนาของสหประชาชาติชื่นชมลาวที่มีสัดส่วนนักการเมืองหญิงในสภามากที่สุดในโลก แต่ยูเอ็นก็ระบุว่ามีจำนวนผู้หญิงที่มีอำนาจอยู่ในสถาบันของรัฐบาลสถาบันอื่นๆ อยู่น้อยมาก รวมถึงมีความไม่เท่าเทียมในบางพื้นที่ของลาวที่ผู้หญิงถูกปฏิเสธไม่ให้มีสิทธิทำงานรูปแบบเดียวกับผู้ชาย นอกจากนี้ยูเอ็นยังระบุอีกว่าในลาวมีอุปสรรคขวางกั้นต่อผู้หญิงคือ ความรุนแรงทางเพศหรือการกดขี่หาประโยชน์ทางเพศ การแบ่งงานแบบไม่เท่าเทียมกันเกี่ยวกับงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างอย่างงานบ้าน และการถูกกีดกันเลือกปฏิบัติในสำนักงานราชการ
ประท้วงเทสีแดง
สื่อเรดิโอฟรีเอเชียยังรายงานเมื่อวันสตรีสากล (8 มี.ค.) ที่ผ่านมาอีกว่า มีนักกิจกรรมเยาวชนประมาณ 20 รายชุมนุมที่หน้าสถานทูตไทยในกรุงพนมเฟญเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกข้อกล่าวหาต่อ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ "ตะวัน" กับ อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ "แบม" สองนักกิจกรรมที่ถูกทางการไทยแจ้งข้อหาด้วยมาตรา 112 และ 116 จากการประท้วงอย่างสันติที่ฝั่งตรงกันข้ามกับสำนักงานใหญ่สหประชาชาติก่อนหน้าที่จะมีขบวนเสด็จ
Youth protest in Phnom Penh to mark International Women’s Day. They gathered at the Thai Embassy in Cambodia’s capital, calling for the release of jailed Thai and Cambodian women activists. pic.twitter.com/9DduaEMgQl
— Radio Free Asia (@RadioFreeAsia) March 8, 2023
นอกจากนี้กลุ่มนักกิจกรรมในกัมพูชายังเรียกร้องให้มีการปล้อยตัวนักกิจกรรมปกป้องสิทธิสตรีในกัมพูชารายอื่นๆ ด้วย พวกเขาทำการประท้วงโดยการนั่งสมาธิ และเทสีแดงรดตัวแบบเดียวกับที่ตะวัน-แบม เคยใช้ประท้วง เพื่อต้องการให้ผู้คนสนใจประเด็นนี้
Kim Chilinshe หนึ่งในนักกิจกรรมที่กัมพูชากล่าวว่า "เนื่องในวันสตรีสากล รัฐบาลควรจะต้องส่งเสริมผู้หญิงที่เป็นนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม, นักการเมือง หรือนักสหภาพแรงงาน ... พวกเธอถูกจับกุมด้วยข้อหาที่พวกเธอไม่ได้ก่อ"
ในพม่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่เป็นรัฐบาลเงาจากกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการทหาร นำเสนอสถิติที่เผยให้เห็นว่านับตั้งแต่ที่เผด็จการทหารนำโดยมินอ่องหล่ายรัฐประหารยึดอำนาจมาเป็นเวลา 25 เดือน ก็มีผู้หญิงในพม่าถูกสังหารทั่วประเทศรวมแล้ว 483 ราย
กระทรวงกิจการสตรี เยาวชน และเด็ก ของรัฐบาลเงา NUG ร่วมออกแถลงการณ์กับคณะกรรมการประสานงานด้านนโยบายเพศสภาพ ในสังกัดสภาที่ปรึกษาหารือเพื่อเอกภาพแห่งชาติ (NUCC) ระบุว่า เผด็จการทหารพม่าได้คุมขังผู้หญิงในพม่ารวมแล้ว 3,125 ราย มีอยู่ 11 รายที่ต้องโทษประหารชีวิต และมี 15 รายที่ถูกสั่งลงโทษจำคุกตลอดชีวิต
"ขอให้ช่วยเหลือกัน แทนที่จะทำร้ายกัน"
Am Sam Ath จากองค์กรสิทธิมนุษยชน Licadho กล่าวว่า ในกัมพูชา มีผู้หญิงที่เป็นนักกิจกรรมและนักการเมืองจำนวนหนึ่งถูกจับกุมเนื่องจากกิจกรรมของพวกเธอ Am บอกว่า แทนที่จะจับกุมพวกเธอ ควรจะมีการส่งเสริมผู้หญิงเหล่านี้เพราะพวกเธอได้ทำงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและช่วยเหลือสังคม Am เรียกร้องให้มีการลดโทษหรืออภัยโทษผู้หญิงเหล่านี้เพื่อให้พวกเธอสามารถกลับบ้านไปหาครอบครัวและช่วยเหลือพัฒนาประเทศได้
Lim Mony คณะทำงานอาวุโสขององค์กรสิทธิมนุษยชน AdHoc ที่ทำงานส่งเสริมสิทธิสตรีกล่าวว่า รัฐบาลควรจะส่งเสริมให้ผู้หญิงทำงานได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้เลิกกีดกันเลือกปฏิบัติทางการเมืองต่อผู้หญิงด้วย Mony กล่าวว่า ผู้หญิงเป็นกลุ่มคนที่ช่วยสร้างสังคมและสร้างประโยชน์ให้ประเทศ พวกเธอไม่ได้ทำอะไรต่อต้านรัฐบาล
เรียบเรียงจาก