Skip to main content
sharethis

วานนี้ (15 มี.ค.) ที่ประชุม คกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมี ‘ประวิตร’ เป็น ปธ. มีมติให้โครงการกำแพงกันคลื่นทุกขนาด ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 

 

ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการทบทวนให้โครงการกำแพงกันคลื่นทุกขนาดต้องดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยมีกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง “กำหนดโครงการ กิจการ หรือ การดำเนินการซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….” ในส่วนโครงการกำแพงกันคลื่น ระหว่างวันที่ 10-25 ม.ค. 2566 ซึ่งได้ปิดการรับฟังความคิดเห็นประชาชนแล้ว พบว่าผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยให้ “กำแพงกันคลื่นทุกขนาด” ต้องดำเนินการทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อีกทั้งข้อเท็จจริงในเชิงวิชาการปรากฏชัดเจนว่า กำแพงกันคลื่นนั้นเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสภาพชายหาด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงวิถีชีวิตของประชาชนอย่างร้ายแรง

ล่าสุด วานนี้ (15 มี.ค. 2566) คณะกรรมการสิ่งเเวดล้อมเเห่งชาติ โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นชอบให้โครงการหรือกิจการประเภทกำเเพงกันคลื่นทุกขนาดต้องทำ EIA ตามที่สำนักงานนโยบายเเละเเผนทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อมเสนอ ตามข้อเสนอของกลุ่ม "Beach for life" และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด หลังจากที่เรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หลังมีรายงานข่าวดังกล่าวออกมา กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ได้ออกมาแสดงความยินดีต่อมติดังกล่าวบนหน้าเพจเฟซบุ๊กของตัวเอง และระบุว่าขอบคุณกลุ่ม Beach for Life กับเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด ที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและประชาชนครับ 

ก่อนหน้าที่จะมีมติที่ประชุม คกก.สิ่งแวดล้อมฯ กลุ่ม "Beach for Life" และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด 94 องค์กรทั่วภาคใต้ และภาคตะวันออก ที่ปักหลักชุมนุมเรียกร้องให้กำแพงกันคลื่นทุกขนาด ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากนั้น ได้ยกระดับการชุมนุมไปที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6-8 ธ.ค. 2565 โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ

1. ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี ที่ให้กรมโยธาฯ รับผิดชอบโครงการกำแพงกันคลื่น

2. เรียกร้องให้โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ต้องกลับมาทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

3. ฟื้นฟูชายหาดที่เสียหายจากกำแพงกันคลื่น

รัฐบาลได้ยอมรับข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ โดยเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2565 และนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาการเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย มีผู้แทนจากกลุ่ม "Beach for life" และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเพื่อศึกษาแนวทางตามข้อเรียกร้อง ก่อนเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ต่อมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการทบทวนให้ “การก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างบริเวณหรือในทะเล : กรณีกำแพงติดแนวชายฝั่งทะเล” ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... และเปิดรับฟังความคิดของประชาชนต่อร่างดังกล่าวระหว่าง 10-15 ม.ค.ที่ผ่านมา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net