Skip to main content
sharethis
  • 'อรรถวิชช์' พรรคชาติพัฒนากล้า ร้องศาลปกครองเพิกถอนประกาศ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งปี'66 เหตุมี 13 เขตเลือกตั้ง กทม.รวมเฉพาะแขวง-ไม่มีเขตหลัก เสี่ยงขัด พ.ร.ป.เลือกตั้ง พ.ศ. 2561 ม.27(1) 
  • ด้าน ‘เพื่อไทย’ โวยลั่น หวั่นเลือกตั้งโมฆะ ถาม กกต.รับผิดชอบไหวหรือ จี้กลับไปใช้แบ่งเขตแบบปี 2554-2557

 

16 มี.ค. 2566 เว็บไซต์ มติชน ออนไลน์ รายงานวันนี้ (16 มี.ค.) อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ยื่นคำร้องศาลปกครองแล้ว ขอให้พิจารณาวิธีการชั่วคราวโดยเร่งด่วน เพื่อขอให้เพิกถอนประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนเขตเลือกตั้ง และท้องที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง​ โดยอรรถวิชช์​ กล่าวว่า พระราชบัญญัติ​ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 27(1) กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งเขตให้ “รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง” ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีอำเภอหลักอยู่ในเขตเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าการแบ่งเขตที่ออกมา มีการรวมเฉพาะแขวงโดยไม่มีเขต (อำเภอ) หลัก มาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ 

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า (ที่มา: เฟซบุ๊ก อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี)

อรรถวิชช์ ยกตัวอย่าง ตัวอย่างเช่น เขตเลือกตั้งที่ 8 ประกอบด้วย แขวงทุ่งสองห้องของเขตหลักสี่ และแขวงลาดยาว แขวงจตุจักร แขวงจอมพล ของเขตจตุจักร, เขตเลือกตั้งที่ 9 ประกอบด้วย แขวงอนุสาวรีย์ของเขตบางเขน และแขวงจันทรเกษม แขวงเสนานิคม ของเขตจตุจักร และแขวงตลาดบางเขนของเขตหลักสี่ และยังมีเขตเลือกตั้งอื่นๆ ที่เป็นการรวมเฉพาะแขวงโดยไม่มีเขตหลักถึง 13 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 8, 9, 12, 13, 17, 18, 19, 21, 26, 27, 28, 29 และ 30 ซึ่งเป็นการรวมแขวงต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง ไม่ได้รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง ขัดต่อหลักเกณฑ์ตามมาตรา 27(1)

พ.ร.ป. การเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 มาตรา 27(1) ระบุว่า ให้รวมอําเภอต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง โดยคํานึงถึงพื้นที่ที่ติดต่อใกล้ชิดกัน ความสะดวกในการคมนาคมระหว่างกัน และการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน ถ้าการรวมอําเภอในลักษณะนี้จะทําให้มีจํานวนราษฎรมากหรือน้อยเกินไป ให้แยกตําบลของอําเภอออก เพื่อให้ได้จํานวนราษฎรพอเพียงสําหรับการเปนเขตเลือกตั้ง แต่จะแยกหรือรวมเฉพาะเพียงบางส่วนของตําบลไม่ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นอกจากพรรคชาติพัฒนากล้าแล้ว พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาโวยเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยเพจเฟซบุ๊ก 'เพื่อไทย' โพสต์ข้อความวันนี้ (16 มี.ค.) เมื่อ 14.58 น. ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขตลาดกระบัง พร้อมด้วย สุรชาติ เทียนทอง ส.ส. กทม. เขตหลักสี่ ร่วมแถลงข่าวคัดค้านการแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม.ปี 2566 ของ กกต.  

สุรชาติ เทียนทอง กล่าวว่า แม้ว่าจะมีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งไปร้องเรียนศาลปกครองวันนี้ (16 มี.ค.) แล้วทาง กกต.ยืนยันให้การเลือกตั้งในการแบ่งเขตแบบนี้ ถ้าหากศาลปกครองจะตัดสินมาภายหลัง ต้องมีผู้รับผิดชอบ 

สุรชาติ ระบุต่อว่า หลักการการยึดอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง เมื่อมีการเอาเศษเสี้ยวของแต่ละแขวง จะเห็นได้ว่ามีรูปร่างการแบ่งเขตที่บิดเบี้ยว ทั้งที่การแข่งเขตเลือกตั้งควรจะอำนวยความสะดวกให้ประชาชน และประชาชนไม่ได้มีความใกล้ชิดกัน พรรคเพื่อไทยได้เสนอไปแล้วว่าควรจะยึดเขตการเลือกตั้ง ตามแบบให้ใกล้เคียงกับปี 2554 และปี 2557 มากที่สุด

(ซ้าย) สุรชาติ เทียนทอง และ (ขวา) ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ (ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก เพื่อไทย)

ด้านธีรรัตน์ กล่าวว่า ได้เห็นประกาศจากสำนักงาน กกต. ถึง กกต. กทม. ว่าจะมีการเลือกใช้การแบ่งเขตการเลือกตั้งของ กกต. แบบที่ 1  ซึ่งเป็นแบบที่พรรคเพื่อไทยมีความกังวลใจว่าส่อขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง ที่ผ่านมามีความหวังว่า กกต.จะได้ยินเสียงการทักท้วงของพรรคเพื่อไทย จึงไม่ลดละความพยายามที่จะแถลงข่าวให้เสียงดังขึ้น แต่สุดท้าย มีประกาศออกมาเลือกแบบที่ 1  จึงจำเป็นต้องส่งเสียงอีกครั้ง เพราะถือเป็นการแบ่งเขตการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม เรียกว่า 'Gerrymandering' ที่ผู้อำนาจจงใจเปลี่ยนแปลงเส้นเขตเลือกตั้งเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ผู้ที่รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด คือ ภาคประชาชน คืนวานนี้ (15 มี.ค.) ประชาชนร้องเรียนมาว่าได้รับผลกระทบจากการแบ่งเขต  เพราะพวกเขาได้หมายมั่นปั้นมือว่าจะเลือก ส.ส.คนนี้ให้ไปเป็นผู้แทนให้ได้มาทำงานต่อ เพราะที่เคยร่วมงานใกล้ชิดกันมาก่อน 

สำหรับ "Gerrymandering" เว็บไซต์ iLaw อธิบายว่า คือเทคนิคในการแบ่งเขตเลือกที่จงใจแบ่งเพื่อให้พรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคน หรือประชาชนบางกลุ่ม ได้เปรียบการเลือกตั้ง ในขณะที่คนกลุ่มที่เหลือมีโอกาสชนะน้อยลง 

ธีรรัตน์ กล่าวต่อว่า หาก กกต.ยืนยันที่จะใช้การแบ่งเขตแบบที่ 1 ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมาเลือกตั้ง และในท้ายที่สุดอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ  การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะทั้งประเทศ  กกต.ต้องกำหนดเขตเลือกตั้งและจำนวน ส.ส.แต่ละเขตเลือกตั้งกันใหม่ แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่  รวมไปถึงจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศชาติ ความมีเสถียรภาพของประเทศชาติ ความขัดแย้งทางการเมือง และงบประมาณแผ่นดิน หากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป จนกว่าการเลือกตั้งจะเสร็จ ซึ่งนานเท่าใดก็ไม่มีใครรู้ หมายความว่าผู้มีอำนาจนำประเทศชาติและประชาชนเป็นตัวประกันให้กับความเสียหายนี้ใช่หรือไม่ หาก กกต. ไม่ดูดีดูดาย พิจารณาคำท้วงติงของพรรคเพื่อไทย  หากเกิดอันตราย เสียหายขึ้น กกต. จะรับผิดชอบไหวหรือ ถ้าหากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ

"พรรคเพื่อไทยพร้อมสู้ทุกกติกาที่มีความยุติธรรม หรือที่ถูกกำหนดขึ้น พรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าต่อ เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งให้ได้  ให้พี่น้องประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียง ให้นำประชาธิปไตยกลับมา และทำให้ประชาชนเห็นว่ายิ่งพรรคการเมืองที่พวกเขาสนับสนุน ได้ใช้พลังประชาชน  ไม่โอนอ่อนผ่อนตาม ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรมเหล่านั้น" ธีรรัตน์ กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net