Skip to main content
sharethis

ตัวบ่งชี้ใหม่ที่พัฒนาโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) พบว่าสำหรับผู้หญิง การเข้าถึงการจ้างงาน สภาพการทำงาน และช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ แทบจะไม่ดีขึ้นเลยในช่วงปี 2548-2565 ที่ผ่านมา


ที่มาภาพ: creativeart (Free license)

17 มี.ค. 2566 ความเหลื่อมล้ำทางเพศในการเข้าถึงการจ้างงานและสภาพการทำงานมีมากกว่าที่เคยคิดไว้ และความคืบหน้าในการลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าวก็เป็นไปอย่างเชื่องช้าในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ตามรายงานฉบับใหม่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

Jobs Gap คือตัวบ่งชี้ใหม่ที่พัฒนาโดย ILO แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงยังคงหางานได้ยากกว่าผู้ชายเป็นอย่างมาก - จากรายงาน New data shine light on gender gaps in the labour market   ชี้ให้เห็นช่องว่างระหว่างเพศในตลาดแรงงาน โดย ร้อยละ 15 ของผู้หญิงวัยทำงานทั่วโลกที่ต้องการทำงานกลับไม่มีงานให้ทำ เทียบกับ ร้อยละ 10.5 ของผู้ชาย 

ช่องว่างระหว่างเพศนี้แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลา 2 ทศวรรษ (ปี 2548-2565) ในทางตรงกันข้าม อัตราการว่างงานทั่วโลกที่บันทึกไว้ผู้หญิงและผู้ชายกลับมีสัดส่วนใกล้เคียงกันมาก เนื่องจากเกณฑ์ที่ใช้กำหนดอัตราการว่างงาน มีแนวโน้มที่จะพิจารณาการว่างงานของผู้หญิงอย่างไม่ครอบคลุม

ช่องว่างการเข้าถึงตลาดแรงงานมีความเหลื่อมล้ำอย่างยิ่งโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา สัดส่วนผู้หญิงที่ไม่สามารถหางานทำได้ในกลุ่มประเทศรายได้น้อยอยู่ที่ ร้อยละ 24.9 ส่วนกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างอยู่ที่ ร้อยละ 17.4

บทสรุปของรายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่าความรับผิดชอบต่อครอบครัวรวมถึงงานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้างส่งผลกระทบต่อผู้หญิง กิจกรรมเหล่านี้ได้กีดกันผู้หญิงในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทั้งการทำงานประจำและไม่ประจำ แต่เกณฑ์การพิจารณาว่าเป็นผู้ว่างงานกลับไม่ครอบคลุมกิจกรรมดังที่กล่าวไป ดังนั้นจึงมีผู้หญิงจำนวนมากที่ไม่ปรากฎตัวอยู่ในตัวเลขการว่างงาน* 

*อนึ่งในนิยามของ 'ผู้มีงานทำ' ข้อหนึ่งระบุไว้ว่า "ทำงานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง โดยไม่ได้รับค่าจ้างในวิสาหกิจหรือไร่นาของหัวหน้าครัวเรือนหรือสมาชิกในครัวเรือน" ดังนั้นผู้หญิงจำนวนมากที่ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างให้แก่ครอบครัว จึงยังถือว่าเป็นผู้มีงานทำอยู่

ช่องว่างระหว่างเพศที่เกี่ยวกับการจ้างงาน ไม่ได้เป็นอุปสรรคแค่การเข้าถึงตลาดแรงงานสำหรับผู้หญิงเท่านั้น แม้ว่าการจ้างงานที่มีความเปราะบางจะมีอยู่อย่างแพร่หลาย แต่ผู้หญิงมักจะตกอยู่ในความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะช่วยงานในบ้านหรือในธุรกิจของญาติมากกว่าที่จะทำงานเพื่อหารายได้โดยตรงให้กับตนเอง

ความเปราะบางนี้ประกอบกับอัตราการจ้างงานที่ลดลงทำให้รายได้ของผู้หญิงลดลง ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างเพศ โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงมีรายได้เพียง 51 เซ็นต์ต่อ 1 ดอลลาร์ฯ ที่ผู้ชายได้รับ

ในกลุ่มประเทศรายได้น้อย และกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างเพศมีอยู่สูงมาก โดยผู้หญิงมีรายได้ 33 เซนต์และ 29 เซนต์ต่อ 1 ดอลลาร์ฯ ที่ผู้ชายได้รับตามลำดับ ส่วนในกลุ่มประเทศรายได้สูงและรายได้ปานกลางระดับบน ผู้หญิงมีรายได้ 58 และ 56 เซนต์ต่อ 1 ดอลลาร์ฯ ที่ผู้ชายได้รับตามลำดับ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่เด่นชัดนี้เกิดจากระดับการจ้างงานและค่าจ้างที่ต่ำกว่าของผู้หญิง 

การประมาณการใหม่นี้ชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางเพศในตลาดแรงงาน ซึ่ง ILO ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปรับปรุงการมีส่วนร่วมในการจ้างงานของผู้หญิง การขยายการเข้าถึงการจ้างงานข้ามสาขาอาชีพ เพื่อจัดการกับความเหลื่อมล้ำที่ผู้หญิงต้องเผชิญอยู่.


ที่มา:
Employment-related gender gaps greater than previously thought, ILO report finds (ILO, 6 March 2023)
New data shine light on gender gaps in the labour market (ILO, 6 March 2023)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net