กสม.แถลงยินดี ครม.รับช่วยผู้อยู่นอกบัตรทองเข้าถึงบริการสุขภาพ หลัง สธ.ชะลอจัดสรรงบฯ PP

  • กสม.แถลงยินดี ครม.รับข้อเสนอ แก้ปัญหาผู้มีสิทธินอกบัตรทองเข้าถึงการบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม หลัง รมว.สธ. ชะลอจัดสรรงบฯ ด้านสร้างเสริมสุขภาวะและการป้องกันโรค (PP) นานกว่า 5 เดือน 
  • กสม. เตรียมเสนอกระทรวง พม. แก้ไขกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และ รธน.

17 มี.ค. 2566 ทีมสื่อ กสม. รายงานวานนี้ (16 มี.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ ภาณุวัฒน์  ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย รักษาการตำแหน่งที่ปรึกษา กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 11/2566 โดยมีวาระดังนี้

กสม. ยินดี ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.คุ้มครองสิทธิประชาชนในการรับบริการสาธารณสุขเกี่ยวกับการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรค

วสันต์ ภัยหลีกลี้ เปิดเผยว่า กสม.ติดตามสถานการณ์สิทธิด้านสุขภาพและรับทราบข้อห่วงกังวลจากภาคีเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค อันเนื่องมาจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีมติเมื่อ ธ.ค. 2565 ให้ชะลอการจัดสรรงบประมาณด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (Promotion and Prevention: PP) การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (PP-HIV) การดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น ซึ่งต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นผลให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินจากกองทุนของ สปสช. เป็นค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ สำหรับประชาชนที่อยู่นอกสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ได้แก่ อาชีพข้าราชการ พนักงานของรัฐ และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ของกฎหมายประกันสังคม ราว 18 ล้านคน เช่นที่เคยเป็นมาได้

วสันต์ ภัยหลีกลี้

วสันต์ ระบุต่อว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว กสม. และภาคีเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน จึงได้จัดประชุมเพื่อรับฟังข้อมูลและข้อคิดเห็นต่อกรณีข้างต้นจากผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อ ก.พ.-มี.ค. 2566 พบว่า ปัจจุบัน หน่วยบริการไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายสร้างเสริมสุขภาพฯ จาก สปสช. สำหรับผู้ที่อยู่นอกสิทธิบัตรทองได้ ทำให้หน่วยบริการบางแห่งยุติการให้บริการดังกล่าวแก่ผู้อยู่นอกสิทธิบัตรทอง ส่วนหน่วยบริการที่ยังคงให้บริการต่อเนื่องต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เอง จึงอาจไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ การเข้าไม่ถึงบริการป้องกันโรค เช่น บริการคุมกำเนิด การฝากครรภ์ การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย การให้วัคซีนป้องกันโรคแก่เด็ก และการป้องกันการติดเชื้อ/การดูแลสุขภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวี อาจทำให้ปัญหาสุขภาพสำคัญที่รัฐบาลพยายามแก้ไขและมีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับกลับมาเป็นปัญหาอีก เช่น การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การติดเชื้อและเสียชีวิตจากเอชไอวี/เอดส์ในอัตราที่สูงขึ้น รวมถึงมีผลกระทบต่อบริการสาธารณสุขในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการสำหรับผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การสร้างเสริมสุขภาพช่วยลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ และลดภาระงบประมาณของประเทศในการดูแลรักษาพยาบาลให้แก่ประชาชน ซึ่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐอย่างทั่วถึง การที่หน่วยบริการไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายของผู้ที่อยู่นอกสิทธิบัตรทองจากงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพฯ ของ สปสช. ซึ่งเป็นปัญหาเกิดขึ้นมานานกว่า 5 เดือน และเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนบางกลุ่มที่ต้องได้รับบริการต่อเนื่องนั้น ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 47 และมาตรา 55 รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและรัฐมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้

ด้วยเหตุนี้ กสม. โดย นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธาน กสม. จึงมีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 10 มี.ค. 2566 เรื่อง ข้อเสนอแนะมาตรการคุ้มครองสิทธิรับบริการสาธารณสุขเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขด้านสร้างเสริมสุขภาพฯ สำหรับผู้ที่อยู่นอกสิทธิบัตรทองให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร่งด่วน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา เห็นชอบในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา 4 ฉบับ ที่กำหนดให้ผู้ที่ไม่ได้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และบริการสาธารณสุขอื่นที่จำเป็น ตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ อันสอดคล้องกับข้อเสนอของ กสม.

สำหรับข้อเสนอของ กสม. ประกอบด้วย

1. ขอให้ ครม. เร่งรัดให้ สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้การจัดทำร่าง พ.ร.ก. ตามมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 อันมีสาระให้สิทธิบริการด้านสร้างเสริมสุขภาพฯ ครอบคลุมถึงผู้ที่อยู่นอกสิทธิบัตรทอง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นมีผลใช้บังคับโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนที่อยู่นอกสิทธิบัตรทองทุกกลุ่มมีสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณสุขด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และบริการสาธารณสุขอื่นที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตได้อย่างเท่าเทียม

2. ในระหว่างการจัดทำกฎหมายตามข้อ (1) ให้ ครม.สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ที่อยู่นอกสิทธิบัตรทองสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อคุ้มครองและแก้ไขปัญหาแก่ผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงชดเชยเงินให้แก่หน่วยบริการสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้สำรองค่าใช้จ่ายในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปก่อนแล้ว

"เป็นที่น่ายินดีที่ ครม. ตอบรับข้อเสนอ และลงมาช่วยแก้ปัญหา ซึ่งจะช่วยขจัดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขด้านการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรค อย่างไรก็ตาม อยากฝากเรื่องการเยียวยาและชดเชยเงินให้กับหน่วยบริการสุขภาพที่ได้สำรองเงินไปก่อนด้วย" วสันต์ กล่าว

กสม. จ่อเสนอ พม. ปรับปรุงกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

ภาณุวัฒน์ ทองสุข ผอ.การสำนักกฎหมาย รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษา กสม. เปิดเผยว่า ตามที่ กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อ เม.ย. 2565 เรื่อง สิทธิคนพิการ ระบุว่าพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีรายละเอียดไม่ครอบคลุมสตรีพิการและเด็กพิการ ส่งผลให้ถูกกีดกันจำกัดสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรและแหล่งทุน ขาดโอกาสการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจระดับนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อสตรีและเด็กพิการ ถูกแสวงหาประโยชน์ กระทำความรุนแรงและการล่วงละเมิดในรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนี้บทบัญญัติบางมาตราในกฎหมายดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ

ภาณุวัฒน์ ทองสุข ผอ.การสำนักกฎหมาย

กสม.พิจารณาข้อเท็จจริงบทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน งานวิจัย และความคิดเห็นจากผู้ร้อง หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่ากรณีบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ อาจกระทบต่อหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และอาจไม่เป็นไปตามหลักความเสมอภาคหรือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 และมาตรา 27 ที่กำหนดคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล และกำหนดว่าการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพของบุคคลจะกระทำไม่ได้

ด้วยเหตุดังกล่าว กสม. ในคราวประชุม กสม. ด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ไปยังกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สรุปได้ดังนี้

1. ให้แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 โดยกำหนดให้คำว่า "องค์การคนพิการแต่ละประเภท" หมายความว่าองค์กรสมาชิกระดับชาติตามประเภทความพิการ หรือองค์กรคนพิการที่สมาชิกมีความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ และสถานะของบุคคลที่ได้แจ้งชื่อไว้กับกรมตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

2. ให้แก้ไขปรับปรุง มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดให้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้เชี่ยวชาญในด้านสิทธิคนพิการซึ่งมีประสบการณ์ทำงานหรือมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นสตรีพิการไม่น้อยกว่า 2 คน เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้แทนของสตรีพิการจะสามารถเสนอนโยบายและความเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการต่อคณะรัฐมนตรีได้ รวมถึงคำนึงถึงสัดส่วนผู้พิการชายและหญิง

3. ให้แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยยกเลิกมาตรา 15 วรรคสาม ที่ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติที่มีเหตุผลทางวิชาการ จารีตประเพณี หรือประโยชน์สาธารณะ ต่อคนพิการ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการใช้ดุลพินิจของผู้ใช้กฎหมายในการตีความกฎหมายที่อาจมีผลเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ

4. ให้เพิ่มเติมคุณสมบัติขององค์กรที่ขอแจ้งเป็นองค์การคนพิการใน ข้อ 4 ของระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยการรับแจ้งชื่อองค์การคนพิการแต่ละประเภท พ.ศ. 2554 โดยให้ "มีผู้แทนของกลุ่มคนพิการที่สะท้อนถึงภูมิหลังหรืออัตลักษณ์ที่หลากหลายของแต่ละบุคคล" ด้วย เพื่อให้องค์กรที่จะได้รับแจ้งชื่อเป็นองค์การคนพิการมีคุณสมบัติสอดคล้องกับนิยามองค์การคนพิการแต่ละประเภทตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท