ผู้ชุมนุมอิสราเอล เรียกร้องอียูแทรกแซง หลังรัฐบาลขวาจัดมุ่งปฏิรูปตุลาการ ให้อำนาจตัวเองไม่จำกัด

รัฐบาลขวาจัดของอิสราเอลประกาศจะมีการปฏิรูปตุลาการ ทำให้มีการประท้วงเกิดขึ้นเกือบทุกวัน เนื่องจากประชาชนกังวลว่าจะเป็นการจำกัดบทบาทของศาลสูงสุด และให้อำนาจฝ่ายบริหารแบบไม่มีขีดจำกัด ล่าสุดมีการชุมนุมเรียกร้องให้สหภาพยุโรปแทรกแซงอิสราเอลก่อนที่จะสายเกินไป
 

17 มี.ค. 2566 ในการชุมนุมที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม ซึ่งเป็นที่ตั้งของสหภาพยุโรป มีสถาปนิกอายุ 33 ปี ชื่อ อัมนอน ที่เกิดในเมืองเทลอะวีฟ ประเทศอิสราเอล บอกว่า การปฏิรูปตุลาการของรัฐบาลขวาจัดอิสราเอลนั้นนับเป็นเรื่องที่ "น่ากลัวมาก" และมองว่าพวกเขากำลังอยู่ช่วงเวลาที่สำคัญในการ "กอบกู้ประชาธิปไตย"

อัมนอนถือป้ายในการประท้วงระบุว่า "การรัฐประหารทางกฎหมาย" ที่สื่อถึงการปฏิรูปตุลาการดังกล่าว โดยที่นักวิจารณ์มองว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะทำลายบทบาทของศาลสูงสุดในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลและทำให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจแบบไร้ขีดจำกัด

กลุ่มผู้ที่ออกมาประท้วงมีทั้งนักวิชาการ, นักเรียน-นักศึกษา, เจ้าของกิจการ, นักลงทุนด้านเทคโนโลยี รวมถึงกองทัพอิสราเอล พวกเขาแสดงความไม่พอใจต่อการแก้ไขกฎหมายให้อำนาจมากขึ้นแก่รัฐบาลของ เบนจามิน เนทันยาฮู ในการแต่งตั้งศาลสูงสุด นอกจากนี้ยังประกาศว่าจะมีมาตรการ "ยกเลิกกฎหมายบางมาตรา" ซึ่งจะอนุญาตให้รัฐสภาล้มล้างการตัดสินของศาลสูงสุดได้

การประท้วงในเรื่องนี้เสียงดังไปถึงสหภาพยุโรป หลังจากที่มีการประท้วงหน้าสภายุโรปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจนทำให้มีการส่งจดหมายไปถึงกลุ่มผู้นำสถาบันอียูหลายแห่งเรียกร้องให้มีการแทรกแซงการอภิปรายในเรื่องนี้มากขึ้น

ท่าทีของสหภาพยุโรป

จนถึงสัปดาห์ที่แล้วทางอียูยังไม่ได้แสดงท่าทีอะไรมากต่อเรื่องการปฏิรูปตุลาการในอิสราเอล อีกทั้งโฆษกของคณะกรรมาธิการยุโรปยังเคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่าพวกเขาไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือประเมินเรื่องนี้เอาไว้ล่วงหน้าได้ในขณะที่ยังคงมีการหารือเรื่องนี้อยู่ในสภาของอิสราเอล

เรื่องนี้ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์ความล่าช้าของอียูในการตอบสนองต่อเรื่องนี้ และแสดงความกังวลว่าประชาธิปไตยในอิสราเอลจะล่มสลายไปเสียก่อนหรือกลายเป็นประเทศอำนาจนิยมขวาจัดแบบเดียวกับฮังการีและโปแลนด์

แดน โซโบวิตซ์ ผู้จัดให้มีการประท้วงกล่าวว่า "พวกเราไม่ได้เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตร พวกเราไม่ได้เรียกร้องให้สหภาพยุโรปทำร้ายอิสราเอล พวกเรามาที่นี่เพราะว่าพวกเรารักอิสราเอล และพวกเราต้องการรักษาอิสราเอลในแบบที่เป็นประชาธิปไตยเอาไว้"

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปก็เริ่มขยับเกี่ยวกับอิสราเอล โดยที่ โจเซป บอร์เรล ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง ได้แถลงต่อสภายุโรปในการประชุมวิสามัญว่าด้วยเรื่อง "การเสื่อมถอยของประชาธิปไตยในอิสราเอลและผลกระทบต่อดินแดนที่อิสราเอลยึดครองจากปาเลสไตน์" โดยมีการแสดงความกังวลต่อการแก้กฎหมายปฏิรูปตุลาการของอิสราเอล

ในวันเดียวกันก่อนที่จะมีการประชุม อีไล โคเฮน รัฐมนตรีต่างประเทศของอิสราเอลได้แถลงต่อว่าอียู บอกให้อียู "เลิกแทรกแซงการเมืองภายในของอิสราเอล"

บอร์เรลล์ได้เรียกโคเฮนร่วมประชุมในฐานะที่โคเฮนเป็นผู้แทนระดับสูงด้านกิจการต่างประเทศ อีกทั้งยังโต้แย้งคำกล่าวหาของโคเฮนโดยบอกว่า "ด้วยความเคารพต่อพลวัติทางการเมืองภายในของอิสราเอล ... ที่ประชุมนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการหารือเกี่ยวกับพลวัติเหล่านี้ และทำความเข้าใจว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่นั่นโดยอาศัยมุมมองค่านิยมของพวกเราและผลประโยชน์ของภูมิภาคดังกล่าวเป็นที่ตั้ง"

บอร์เรลล์กล่าวอีกว่าเรื่องนี้ไม่สามารถมองว่าเป็นการแทรกแซงได้ แต่มันนับเป็นการที่ทางอียูแสดงความใส่ใจและเห็นคุณค่าต่อประชาธิปไตยของอิสราเอล บอร์เรลล์กล่าวอีกว่าสภายุโรปนั้น "มีเสรีที่จะหารือในทุกเรื่องที่พวกเขามองว่ามีความสำคัญ" และจะมีการอธิบายต่อรัฐมนตรีของอิสราเอลอย่างเป็นมิตร และพูดถึงกรณีที่อียูกังวลเรื่องการใช้ความรุนแรงหนักขึ้นในพื้นที่ชาวปาเลสไตน์ด้วย โดยมีการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายลดระดับสถานการณ์ความรุนแรงลง

นอกจากนี้โคเฮนยังต่อว่าบอร์เรลล์ในเรื่องที่บอร์เรลล์เปรียบเทียบปฏิบัติการของกองทัพอิสราเอลกับการก่อการร้ายของกลุ่มติดอาวุธสนับสนุนปาเลสไตน์ ซึ่งก่อนหน้านี้บอร์เรลล์เคยเขียนบทความให้เว็บไซต์โปรเจกต์ซินดิเคทระบุว่า ความรุนแรงของอิสราเอลต่อเขตเวสต์แบงค์นั้นกระทบกับชีวิตผู้คนชาวปาเลสไตน์โดยที่แทบจะก่อเหตุได้โดยลอยนวลไม่ต้องรับผิด อีกทั้งปฏิบัติการของกองทัพอิสราเอลมักจะก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตของพลเรือนปาเลสไตน์โดยไม่มีกระบวนการทำให้ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ทำลงไป

ถ้าปฏิรูปตุลาการแล้ว การเมืองอิสราเอลจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง

กรณีการปฏิรูปตุลาการอิสราเอลนี้กลายเป็นประเด็นโต้เถียงนับตั้งแต่ที่รัฐบาลเนทันยาฮูเสนอร่างแล้ว โดยที่รัฐบาลของเนทันยาฮูชุดปัจจุบันถูกมองว่าเป็นรัฐบาลที่ขวาจัดที่สุดและมีความอนุรักษ์นิยมทางศาสนาหนักที่สุดในประวัติศาสตร์อิสราเอล

ตัวเนทันยาฮูเองกำลังมีคดีที่ต้องขึ้นศาลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องการฉ้อโกงและสินบนซึ่งเขาให้การปฏิเสธ ในขณะเดียวกันฝ่ายเดียวกับเนทันยาฮูก็โต้แย้งว่าต้องมีการปฏิรูปเพราะศาลสูงสุดของอิสราเอลมีอำนาจมากเกินไป พวกเขาต้องการถ่ายโอนอำนาจนี้ไปให้กับรัฐสภาแทน โดยการปฏิรูปจะทำให้รัฐสภาอิสราเอลมีอำนาจลบล้างคำตัดสินของศาลสูงสุดได้ด้วยการโหวตเสียงข้างมากในสภา 61 เสียงขึ้นไป นั่นหมายความว่าถ้าหากศาลสูงสุดสั่งยกเลิกร่างกฎหมายใหม่ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอิสราเอล รัฐสภาก็มีโอกาสที่จะใช้การโหวตนี้ดันกฎหมายให่ผ่านใหม่ได้

ในระบบปัจจุบันของอิสราเอลยังมีคณะกรรมการสรรหาตุลาการซึ่งเป็นองค์กรที่เสนอชื่อแต่งตั้งและถอดถอนผู้พิพากษาได้ ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาศาลสูงสุด 3 ราย, รัฐมนตรี 2 ราย, ส.ส. 2 ราย และ ผู้แทนจากสมาคมทนายความอิสราเอล 2 ราย แต่การปฏิรูปจะเปลี่ยนให้คณะกรรมการส่วนใหญ่มาจากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ทำให้พรรครัฐบาลแต่งตั้งถอดถอนตุลาการทั่วประเทศได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้การปฏิรูปใหม่ของอิสราเอลจะมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุดและที่ปรึกษาด้านกฎหมายของคณะรัฐมนตรี รวมถึงมีการจำกัดศาลสูงสุดในการพิจารณาคำสั่งทางปกครองด้วย

กาย ลูรี นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่ชื่อ "สถาบันประชาธิปไตยอิสราเอล" กล่าวว่า การปฏิรูปนี้จะทำให้ศาลสูงสุดไม่สามารถทำหน้าที่ในฐานะผู้ตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพที่สุดได้อีกต่อไป และจะทำให้อิสราเอลมีรัฐสภาแบบสภาเดี่ยว มีประธานาธิบดีแค่เป็นพิธีกรรมเท่านั้น และทำให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เขียนไว้เป้นลายลักษณ์อักษร

ลูรีกล่าวอีกว่า การปฏิรูปตุลาการจะกลายเป็นการลดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในอิสราเอลลงอย่างมากด้วย และจะทำให้ศาลสูงสุดกลายเป็นศาลการเมืองที่รัฐบาลชักใย จำกัดการปกป้องหลักนิติธรรมและสิทธิพลเมืองในอิสราเอล จะไม่มีใครที่คอยตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลและรัฐบาลจะผ่านร่างกฎหมายอะไรก็ได้ตามใจชอบ

ถึงแม้ว่าผลโพลจะออกมาว่าประชาชนอิสราเอลส่วนใหญ่ต่อต้านร่างการปฏิรูปตุลาการนี้ แต่ก็ดูเหมือนว่าฝ่ายรัฐบาลเนทันยาฮูจะพยายามเร่งผ่านร่าง ลูรีกล่าวว่า การผ่านร่างจะไม่เกิดขึ้นหรืออย่างน้อยก็มีการแก้ไขร่างอย่างละเอียดมาก แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลฝ่ายเดียวในสภาจะสนับสนุนมันโดยไม่สนใจมติมหาชนแต่อย่างใด

 

เรียบเรียงจาก

Israel blocks EU’s foreign chief from visiting over critical comments - report, i24, 15-03-2023

https://www.i24news.tv/en/news/israel/diplomacy/1678878266-israel-blocks-eu-s-foreign-chief-from-visiting-over-critical-comments-report

European Parliament debates ‘deterioration of democracy’ in Israel, JNS, 15-03-2023

https://www.jns.org/european-parliament-debates-deterioration-of-democracy-in-israel/

Protesters plead for EU intervention over Israel's judicial reforms 'before it is too late' , Euro News, 09-03-2023

https://www.euronews.com/my-europe/2023/03/08/protesters-plead-for-eu-intervention-over-israels-judicial-reforms-before-it-is-too-late

EU Summons Special Session on ‘The Deterioration of Democracy in Israel,’ Inspects Shared Values, Haaretz, 14-03-2023

https://www.haaretz.com/israel-news/2023-03-14/ty-article/.premium/eu-summons-session-on-the-deterioration-of-democracy-in-israel-inspects-shared-values/00000186-e14f-d8aa-a996-f7efdcb50000

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท