Skip to main content
sharethis

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ประกาศจะใช้อำนาจพิเศษจาก รธน. เดินหน้าผลักดันร่างปฏิรูปบำนาญ เพิ่มอายุวัยเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี ท่ามกลางเสียงคัดค้านและการประท้วงอย่างหนัก


ที่มาภาพ: Antoine Oury (CC BY-SA 4.0)

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2566 ว่าประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสประกาศว่าจะบังคับใช้อำนาจพิเศษจากรัฐธรรมนูญในการออกกฎหมายปฏิรูปบำนาญ ที่จะทำให้มีการเพิ่มเกณฑ์อายุวัยเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี ซึ่งอำนาจพิเศษดังกล่าวนี้จะทำให้รัฐบาลผ่านร่างกฎหมายได้โดยข้ามขั้นตอนการลงมติในสภาแห่งชาติ

โดยที่นายกรัฐมนตรี เอลิซาเบธ บอร์น ประกาศเมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมาว่าทางสภาแห่งชาติฝรั่งเศสยังไม่ได้ลงมติเกี่ยวกับเรื่องนี้

กลุ่มผู้นำแรงงานของฝรั่งเศสประกาศให้มีการประท้วงครั้งใหม่หลังจากที่บอร์นประกาศในเรื่องนี้ โดยมีผู้คนหลายพันคนชุมนุมกันที่จัตุรัสปลัสเดอลาคองคอร์ด และในเมืองอื่นๆ อีกหลายเมืองของฝรั่งเศสในช่วงเย็นวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา อีกทั้งการประท้วงยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา

โลรองต์ เบจีร์ ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตยแรงงานฝรั่งเศส (CFDT) ซึ่งเป็นหนึ่งในสหภาพแรงงานที่นำการประท้วงในครั้งนี้กล่าวว่า "การที่รัฐบาลจะใช้มาตรา 49.3 (ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส) เป็นการที่รัฐบาลแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่มีเสียงข้างมากในการที่จะลงมติสนับสนุนการเลื่อนเกณฑ์อายุเกษียณออกไปอีก 2 ปี"

ฟิลิปเป มาร์ติเนซ ประธานสมาพันธ์แรงงานฝรั่งเศส (CGT) เรียกร้องให้มีการขยายเวลาการนัดหยุดงานประท้วงต่อไปอีก

ในฝรั่งเศสมีการประท้วงใหญ่ในหลายแห่งของประเทศเพื่อต่อต้านร่างกฎหมายเพิ่มเกณฑ์อายุเกษียณมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ม.ค. 2566 มีผู้คนเข้าร่วมหลายล้านคนแสดงการต่อต้านแผนการของรัฐบาล มีการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส ทำให้เกิดผลกระทบต่อภาคส่วนการขนส่งมวลชนและภาคส่วนการศึกษา ในขณะที่กรุงปารีสมีขยะที่ไม่มีคนเก็บกวาดกองสุมบนท้องถนนมากขึ้นเรื่อยๆ

ฝ่ายรัฐบาลโต้แย้งว่าการปฏิรูปบำนาญเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อที่จะทำให้ดุลการเงินในระบบบำนาญไม่ขาดดุล ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โฆษกของรัฐบาลฝรั่งเศส โอลิเวีย เวราน เคยกล่าวไว้เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาว่า "เป้าหมายคือการรักษาดุลบัญชีโดยไม่ต้องขึ้นภาษีหรือปรับลดเงินบำนาญ มีทางเลือกหลายอย่างสำหรับเรื่องนี้แต่ทุกทางเลือกมีแต่ต้องเพิ่มเกณฑ์อายุเกษียณทั้งนั้น"

ก่อนหน้านี้ฝรั่งเศสเพิ่งจะมีการผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปบำนาญในขั้นวุฒิสภา แต่ก็มีคนประเมินว่าไม่น่าจะมีการผ่านร่างในขั้นตอนสภาแห่งชาติของฝรั่งเศสได้สำเร็จ จนกระทั่งมาครงประกาศจะใช้อำนาจพิเศษดังกล่าว

ทั้งนี้ในวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา ส.ส. พรรคฝ่ายค้านของฝรั่งเศสยังได้ยื่นขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หลังจากที่มีการพยายามผ่านร่างการปฏิรูปบำนาญด้วยอำนาจพิเศษจากรัฐธรรมนูญ เบอร์ทรันด์ ปังเชอร์ ส.ส.ประธานลีอ็อตกรุ๊ปได้ยื่นขออภิปรายไม่ไว้วางใจโดยมีกลุ่ม ส.ส.ฝ่ายซ้าย ที่เรียกว่าแนวร่วม NUPES ร่วมลงนามกับเขา ปังเชอร์บอกว่า "การลงมติไม่ไว้วางใจนี้จะสามารถทำให้พวกเราหลุดพ้นจากวิกฤตการเมืองฝังรากลึกนี้ได้"

นอกจากนี้พรรคขวาจัดอย่างพรรคเนชั่นแนล แรลลี่ (RN) ที่นำโดยมาเรียน เลอ แปน ผู้เคยชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับมาครงในการเลือกตั้งรอบสุดท้ายทั้งสองสมัย ยังทำการยื่นขออภิปรายไม่ไว้วางใจแยกต่างหากอีกวาระหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม ลอเร ลาวาเล็ตต์ ส.ส. ของพรรค RN ก็บอกว่าพรรคของเธอจะโหวตให้กับทุกวาระของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พวกเขาจะทำทุกวิถีทางเพื่อ "ล้มกฎหมายปฏิรูปบำนาญที่ไม่เป็นธรรม" นี้ให้ได้

สื่อดอยช์ เวลเล จากเยอรมนีคาดการณ์ว่าสภาแห่งชาติฝรั่งเศสน่าจะมีการลงมติไม่ไว้วางใจภายในวันที่ 20 มี.ค. นี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมีโอกาสน้อยที่การลงมติไม่ไว้วางใจจะมีคะแนนเสียงมากพอ เว้นแต่ว่าจะมีการจัดตั้งพันธมิตรที่ผิดคาดโดยจากทุกภาคส่วนของฝ่ายค้านคือทั้งจากฝ่ายซ้ายจัดของฝรั่งเศสและฝ่ายขวาจัดของฝรั่งเศส

ในเรื่องของบรรยากาศการประท้วงในวันที่ 17 มี.ค. นั้นมีการเผารถเกิดขึ้นในกรุงปารีสและในเมืองอื่นๆ ช่วงเย็นที่ผ่านมา แต่นอกเหนือจากกรณีดังกล่าวแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจฝรั่งเศสก็บอกว่าการประท้วงโดยส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสันติ รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในฝรั่งเศส เจอราร์ด ดาร์มานิน ระบุว่ามีผู้คนถูกจับกุมประมาณ 310 รายและให้สัญญาว่าจะปราบปรามกลุ่มที่ก่อปัญหา ดาร์มานินให้สัมภาษณ์ต่อสื่อวิทยุ RTL ว่า "การแสดงออกต่อต้านเป็นเรื่องชอบธรรม การประท้วงก็เป็นเรื่องชอบธรรม แต่การสร้างความโกลาหลนั้นไร้ความชอบธรรม"

กลุ่มคนทำงานสุขาภิบาลทำการปิดกั้นโรงเก็บขยะที่มีเตาเผาขยะที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปเพื่อแสดงให้เห็นถึงความแน่วแน่ของพวกเขา นักศึกษามหาวิทยาลัยประท้วงวอลก์เอาท์จากชั้นเรียนเพื่อไปเข้าร่วมการชุมนุม เหล่าผู้นำสหภาพแรงงาน CGT ที่มีอิทธิพลในฝรั่งเศสเรียกร้องให้ประชาชนออกจากสถานศึกษา โรงงาน โรงกลั่น และสถานที่ทำงานอื่นๆ มีกลุ่มนักกิจกรรมหลายกลุ่มเรียกร้องให้มีการเดินขบวนไปยังรัฐสภา โดยรวมถึงกลุ่มแรงงานเสื้อกั๊กสีเหลืองที่เคยทำการประท้วงนโยบายเศรษฐกิจของมาครงในช่วงการดำรงตำแหน่งในสมัยแรกของเขาด้วย


เรียบเรียงจาก
Protests erupt as French government forces through higher retirement age, CNN, 17-03-2023
France: Pension protests, no-confidence motions after decree, DW, 17-03-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net