Skip to main content
sharethis

คณะก้าวหน้าร่วมเทศบาลหนองแคน จ.มุกดาหาร พัฒนาระบบการแพทย์ทางไกลในระดับตำบล 'ธนาธร' ชี้นี่คืออนาคตระบบสาธารณสุขของไทย ย้ำนโยบาย งก้าวไกล พร้อมดันให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ลดโหลดงานบุคลากรสาธารณสุข สร้างอุตสาหกรรม-งานใหม่ให้ประเทศ

20 มี.ค.2566 เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานต่อสื่อมวลชนว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อมด้วย พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า และ ไกลก้อง ไวทยการ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายคณะก้าวหน้า ร่วมเยี่ยมชมระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และเครื่องวัดสัญญาณชีพ (Vital Sign) ที่มีการติดตั้งและดำเนินการแล้ว ที่เทศบาลตำบลหนองแคน อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในเทศบาลที่ทำงานร่วมกับคณะก้าวหน้า โดยได้ บริษัท เบดเดอลี่ จำกัด เข้ามาเป็นผู้พัฒนาระบบให้ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

โดยระบบดังกล่าว ต้องการมุ่งแก้ปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาลและปริมาณบุคลากรสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอ ด้วยการให้คนไข้สามารถตรวจวัดสัญญาณชีพที่สำคัญ อาทิ ค่าน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจ โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลด้วยตนเอง แต่สามารถเข้ามารับการตรวจได้ที่หน่วยบริการที่มีอยู่ในทุกหมู่บ้าน ซึ่งระบบจะส่งค่าสัญญาณชีพต่างๆ ไปถึงแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยตรง ให้สามารถดำเนินการวินิจฉัยโรคและให้คำปรึกษาทางไกลได้ โดยเฉพาะต่อกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้มีความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ

ระบบดังกล่าว เริ่มมีการติดตั้งพัฒนามาตั้งแต่กลางปี 2565 ผ่านการทดสอบระบบ เก็บข้อมูล และการแก้ไขปัญหาทางเทคนิค จนระบบมีความเสถียรในระดับหนึ่งและมีการเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบในระดับตำบลไปแล้ว จนบัดนี้เทศบาลตำบลหนองแคน ได้กลายเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับตำบลแห่งแรก ที่มีการนำระบบการแพทย์ทางไกลมาใช้โดยเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และในขั้นต่อไปจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับสถานบริการสาธารณสุขในระดับที่สูงขึ้น ในอำเภอและจังหวัดต่อไปในอนาคต

ธนาธรกล่าวว่า สิ่งที่เราเห็นกันมาช้านาน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล คือการที่ประชาชนต้องเดินทางมาโรงพยาบาลแต่เช้าตรู่ ถอดรองเท้าจองคิว บางคนต้องนั่งรอตั้งแต่เช้ามืดจนถึงเที่ยงหรือบ่าย เพียงเพื่อได้พบแพทย์ 5 นาที ส่วนหมอและพยาบาลก็ต้องทำงานหนักมาก บางคนต้องทำงานอาทิตย์ละ 100 ชั่วโมง 

ดังนั้น เพื่อลดภาระของระบบสาธารณสุขทั้งประเทศ จำเป็นที่จะต้องมีการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน เริ่มตั้งแต่ในระดับชุมชนขึ้นไป ซึ่งระบบการแพทย์ทางไกลคือคำตอบหนึ่งที่จะมาช่วยแบ่งเบาภาระตรงนี้ได้ การมีข้อมูลด้านสุขภาพที่สามารถดูย้อนหลังได้ จะทำให้การวินิจฉัยและการสั่งจ่ายยาของแพทย์สามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วย โดยผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไกลอีก

นอกจากนี้ ระบบการแพทย์ทางไกลคือคำตอบในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้แก่ประเทศ ด้วยการเปลี่ยนปัญหาของประเทศและประชาชนให้เป็นความต้องการ หากสามารถพัฒนาการบริหารสาธารณสุขให้เป็นแบบทางไกลได้ทั่วประเทศ เราจะมีความต้องการทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และระบบเพื่อรับรองข้อมูล เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยสามารถพัฒนาให้ทุกอย่างผลิตขึ้นภายในประเทศไทยเองได้โดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หากมีความต้องการมากพอ และนั่นย่อมหมายถึงตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก นี่จะนำไปสู่ทั้งการสร้างงานและการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศ

ธนาธรยังกล่าวต่อไป ว่านี่คือรูปธรรมหนึ่งของนโยบายพรรคก้าวไกลด้านสาธารณสุข เมื่อพูดถึงการลดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งไม่ใช่การทำให้ผู้รับบริการได้รับบริการทางการแพทย์ที่ด้อยลงหรือน้อยลง แต่คือการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากร ให้ไม่ต้องทำงานหนักเท่าเดิมแต่ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

“การสาธารณสุขของโลกทั้งโลกต้องเดินไปในทิศทางนี้ นี่คืออนาคตที่หนีไม่พ้นของการแพทย์และสาธารณสุขทั่วโลก รวมทั้งระบบสาธารณสุขของประเทศไทยด้วย ไม่ช้าก็เร็ว อย่างไรมันก็ต้องมาถึง นี่คือสิ่งที่จะนำไปสู่บิ๊กดาต้าข้อมูลสุขภาพของคนไทย และยิ่งข้อมูลมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะสามารถทำให้ประชาชนแข็งแรงมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะนำไปสู่การลดงบประมาณของรัฐ ทำให้ประชาชนใช้ชีวิตแข็งแรงมีคุณภาพ ที่ทุกคนจะได้ประโยชน์ร่วมกัน” ธนาธรกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net