ภาคเหนือจับตา 'เลือกตั้ง 66' จัดเวทีสำรวจความเห็น จำลองสถานการณ์ก่อนเลือกตั้งจริง

ประชาชนภาคเหนือจับตาสถานการณ์เลือกตั้ง จัดเวทีจับตาเลือกตั้ง’66 สำรวจความเห็น จำลองสถานการณ์ก่อนเลือกตั้งจริง คาดว่าในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ยังคงมีปัญหาเรื่องความเป็นธรรม ความเป็นอิสระ และความไม่โปร่งใส

20 มี.ค. 2566 เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 66 ที่ผ่านมา คณะก่อการล้านนาใหม่และสำนักข่าว LANNER จัดเวทีประชาชนภาคเหนือสังเกตการณ์เลือกตั้ง ณ ลานประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ โดยมีเครือข่ายประชาชนภาคเหนือร่วมงาน ภายในงานมีการจัดกิจกรรมจำลองการเลือกตั้ง’66 ซึ่งอิงจากกติกาการเลือกตั้งใหม่ที่มีการปรับเปลี่ยนและจะถูกนำมาใช้สำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ จากนั้นเป็นเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘ทำไมประชาชนต้องจับตาเลือกตั้ง’66’ โดยตัวแทนจากภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ได้แก่ คณะก่อการล้านนาใหม่, We Watch ภาคเหนือ, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, ทะลุฟ้า และ Vote 62

ภายในงานมีบูธกิจกรรมของเครือข่ายประชาชนภาคเหนือ ได้แก่ Crew bar Multitude, สื่อเพื่อการขอสัญชาติ (facebook page ตี่ตาง), ห้องสมุดการเมืองสังคมนิยม" โดย Multitude และสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และในช่วงสุดท้ายของงานมีการอ่านแถลงการณ์เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566 ภาคเหนือ

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ได้จัดนิทรรศการภาพถ่ายวิถีชีวิตและการเคลื่อนไหวของประชาชน นำหนังสือและวารสารภาคประชาชนเกี่ยวกับปัญหาป่าไม้-ที่ดิน แจกจ่ายให้กับผู้เข้าร่วม จำหน่ายสินค้าจากกลุ่มสตรีนักปกป้องสิทธิบ้านใหม่ล้านนา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และจัดทำโพลสำรวจความเห็นการทวงถามสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากร และความเห็นของประชาชนถึงพรรคการเมืองต่อนโยบายเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสรุปผลการสำรวจความเห็นได้ดังนี้

ผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่เห็นว่า ‘ชุมชนท้องถิ่น’ ควรมีอำนาจหลักในการดูแลจัดการที่ดิน-ป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติ

ผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่เห็นว่า ‘รัฐ – นายทุนเจ้าสัว - เผ่ามังกรฟ้า (ปรสิต)’ มีส่วนเกี่ยวข้องกับสาเหตุวิกฤตด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่เห็นว่า ‘นายทุนอุตสาหกรรม - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ’ ได้ประโยชน์จากกลไกคาร์บอนเครดิตและโมเดลเศรษฐกิจ BCG

ในช่วงสุดท้ายของงานมีการอ่านแถลงการณ์เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566 ภาคเหนือ มีเนื้อหาดังนี้

แม้คณะรัฐประหารจะเปิดให้มีการเลือกตั้งในครั้งปี 2562 ที่ผ่านมา แต่การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของกองทัพและระบอบอำนาจนิยมในการสืบทอดอำนาจ และสร้างความชอบธรรมให้การให้กลับเข้ามาใช้อำนาจรัฐต่อไป ผลดังกล่าวเกิดขึ้นจากความซับซ้อน ในการใช้กลไกการเลือกตั้งเอื้อประโยชน์ให้ฝักฝ่ายของตนเองดังที่กล่าวถึงข้างต้น

ทั้งองค์กรอย่างคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ควรมีบทบาททำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใส ก็เกิดคำถามความน่าเชื่อถือจากประชาชน ขณะที่กลไกการติดตามจับตาของภาคประชาชนยังเป็นไปอย่างจำกัด การเท่าทันสถานการณ์และความเป็นไม่ธรรมที่เกิดขึ้นยังเป็นไปอย่างจำกัด การรณรงค์ให้เห็นประเด็นปัญหายังเป็นไปอย่างยากลำบาก การร่วมกันสร้างเครือข่ายการติดตามจับตาการเลือกตั้ง และสภาวะทางการเมืองหลังการเลือกตั้งให้กว้างขวางและเข้มแข็งขึ้นจึงมีความสำคัญต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าในช่วงปี 2566

จากบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมาในปี 2562 ที่กลายเป็นกระบวนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ตรวจพบความผิดปกติหลายประการที่ทำให้ข้อสงสัยจากสังคม อาทิ ปรากฏการณ์ “บัตรเขย่ง” คือ จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ไปไม่ตรงกับยอดผู้มาแสดงตนของใช้สิทธิ, ระบบรายงานคะแนนที่ล่มและช้าผิดปกติ ระหว่างที่มีการนับคะแนน ข้อฉงนถึงบัตรเสียกว่าสองล้านใบ, รูปแบบการนับคะแนนของ กกต. ที่ให้พรรคเล็กพรรคน้อยได้ที่นั่งในสภา เพื่อเข้ามาเอื้อต่อผู้มีอำนาจ, การแจกใบแดง-ใบเหลือง, การใช้อำนาจรัฐเข้ามาหนุนเสริมให้ได้เปรียบในการเลือกตั้ง หรือกระทั่งการทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง อย่างการยุบพรรคการเมืองที่สนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ดังนั้นการทำให้กระบวนการเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมที่สุดมีความสำคัญต่อกระบวนการนี้

จากการประเมินของ "เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งภาคเหนือปี 2566" คาดว่าในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ปัญหาเรื่องความเป็นธรรม ความเป็นอิสระ และความไม่โปร่งใสจะยังคงเกิดขึ้นอีก การให้อำนาจ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งคณะรัฐประหารสามารถเลือกรัฐมนตรีนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. ได้ จะคงสร้างความ ไม่เป็นธรรมในการแข่งขันของพรรคการเมืองอีกเช่นเคย อีกทั้ง การมี กกต. ชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่ อาจมีความ ผิดปกติเช่นเดิมหรือความผิดปกติใหม่เกิดขึ้นอีก

ถึงเวลาแล้วที่การสังเกตการณ์การเลือกตั้งโดยประชาชนต้องขยายตัวอย่างกว้างขวาง เพื่อรับรองว่า การเลือกตั้งจะเป็นไปตามหลักสากลและเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่เป็นอิสระของประชาชน “เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งภาคเหนือปี 2566" จึงขอเป็นจุดตั้งต้นในการชวนประชาชนทั้งประเทศ เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นการประสานความร่วมมือกันของเครือข่ายภาคประชาชนที่มีความหลากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่มีหน้าที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งอย่างเป็นกลางโดยเฉพาะ และกลุ่มที่มีความตื่นตัวทางการเมืองต่างๆ โดยมีวิสัยทัศน์แห่งความสำเร็จ คือ หนึ่ง ป้องกัน การโกงการเลือกตั้งและทำให้การเลือกตั้งเป็นไปตามหลักสากล สอง เพิ่มความไว้วางใจในกระบวนการการเลือกตั้งในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำคัญของการเลือกผู้แทนของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย พร้อมทั้ง ปฏิเสธเครื่องมืออื่นที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน และสาม ส่งเสริมการพัฒนาการเลือกตั้งเพื่อหลีกเลี่ยงความคิดเเละความรุนแรง ที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่พอใจในการเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล

ทั้งนี้ “เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งภาคเหนือปี 2566” มีข้อเรียกร้องต่อประชาชนและฝ่าย ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

1. ขอให้ กกต. ทำหน้าที่อย่างโปร่งใส เป็นธรรม เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งต่อสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแบ่งเขตเลือกตั้ง การเปิดเผยผลคะแนนรายหน่วยผ่านระบบออนไลน์ สนับสนุน ให้ความสำคัญ และร่วมมือกับประชาชนทุกฝ่ายที่ต้องการเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง และร่วมมือกับประชาชนทุกฝ่ายที่ต้องการมีส่วนร่วมในการรณรงค์เลือกตั้ง ประชาธิปไตยและเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง

2. กกต. จะต้องจัดทำคู่มือแสดงข้อมูลและรายละเอียดการเลือกตั้งเป็นภาษาถิ่นให้ครอบคลุมกับทุกกลุ่มชาติพันธ์ ชนเผ่าพื้นเมือง ชนกลุ่มน้อยที่มี 23 ชนเผ่าพื้นเมืองเป็นอย่างน้อยในประเทศไทย โดยใช้ภาษาที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจถึงขั้นตอนและวิธีการเลือกตั้งของผู้คนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติภายในประเทศ

3. ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐสร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยในช่วงก่อนวันเลือกตั้งนับต่อจากนี้ไป เช่น คุ้มครองให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่โดยไม่ถูกคุกคาม ให้พรรคการเมืองใช้พื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในการดูแลของรัฐเพื่อรณรงค์การเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมและควบคุมมิให้หน้ารัฐให้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใด ๆ เพื่อเป็นคุณ หรือ โทษ แก่ผู้สมัครพรรคการเมือง

4. ขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนในทุกเขตการเลือกตั้งเข้าร่วมการสังเกตการณ์เลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึงโดยลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครฯ หรือส่งข้อมูลความผิดปกติหรือสถานการณ์การเลือกตั้งในเขตของตนเองทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังวันเลือกตั้ง แก่เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์เลือกตั้งปี 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ Vote62.com

การเลือกตั้งต้องเป็นของประชาชน ต้องไม่เป็นเพียงพิธีกรรมทางการเมืองที่ไร้ความหมายต่อประชาชนอีกต่อไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท