Skip to main content
sharethis

กลุ่มสังคมนิยมแรงงาน จัดวงถกประเด็น 'ผู้หญิงกับการต่อสู้เพื่อปลดแอกทางเพศ' ตอบประเด็น 'ขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิสตรีจะมาเป็นปฏิกิริยาที่ชะลอการเคลื่อนไหวเพื่อสู้กับการกดขี่ทางชนชั้น’ พร้อมทั้งพูดคุยถึงที่มาของการกดขี่ผู้หญิง ลัทธิมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ การต่อสู้เพื่อปลดแอกทางชนชั้นของแรงงานหญิง ปัญหาแรงงานหญิงและการขับเคลื่อนสิทธิสตรีของขบวนการแรงงาน

เนื่องในวันสตรีสากล 8 มี.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มสังคมนิยมแรงงาน จัดเสวนาออนไลน์ซึ่งเผยแพร่ผ่าน เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘สังคมนิยมแรงงาน’ ในหัวข้อ “ผู้หญิงกับการต่อสู้เพื่อปลดแอกทางเพศ” โดยมีผู้ร่วมเสวนาที่น่าสนใจ เช่น กรกนก คำตา จากกลุ่มทำทาง  พัชณีย์ คำหนัก และวรัญญู ขจรชีพพันธุ์งาม จากองค์กรสังคมนิยมแรงงาน เป็นต้น

‘ขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิสตรีจะมาเป็นปฏิกิริยาที่ชะลอการเคลื่อนไหวเพื่อสู้กับการกดขี่ทางชนชั้น’

กรกนกกล่าวว่า ผู้หญิงมีการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันทางสังคมมานานแล้ว ตั้งแต่ 6 ตุลา 2519 จนถึง กลุ่มเฟมมินิสต์ปลดแอก แต่กลับไม่ได้ถูกมองเห็นเท่าที่ควร ปัจจุบันความเป็นเฟมมินิสต์ได้แพร่กระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่กระนั้นแล้ว แนวคิดเฟมมินิสต์ก็ยังเป็นแนวคิดที่ไม่ได้รับการยอมรับมากนักในกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ยังคงมีความกลัวและกังวลต่อการปรากฎขึ้นของกลุ่มเฟมมินิสต์ในกระบวนการเคลื่อนไหว ผ่านการลดทอนโดยการใช้คำพูดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ‘โว้ค’ ‘เฟมทวิต’ ซึ่งมันทำให้เฟมมินิสต์ในขบวนการเคลื่อนไหวดูประหลาด ดูมีคุณค่าน้อยลง และเป็นมุมมองที่ค่อนข้างเหมารวม ทั้งที่มันมีเฉดที่หลากหลายมากกว่านั้นไม่ว่าจะกลุ่มไหน

ความเข้าใจผิดนี้ยังมีอยู่ตลอดและก็ยังดำเนินอยู่ คนที่เป็นมาร์กซิสก็มักจะคิดว่าขบวนการเกี่ยวกับสตรี ขบวนการที่คิดเกี่ยวกับปัจเจกเหล่านี้จะมาชะลอการต่อสู้ทางชนชั้น ซึ่งมันค่อนข้างที่จะไม่สมเหตุสมผลมาก เพราะระหว่างที่มีการกดขี่ทางชนชั้น มันก็มีการกดขี่ทางเพศเกิดขึ้นพร้อมกันไปด้วย การบอกว่าจะต้องปลดแอกทางชนชั้นก่อนแล้วค่อยปลดแอกทางเพศทีหลังมันจึงไม่ถูกต้อง เพราะการกดขี่ที่มันเกิดขึ้นพร้อมกันมันก็จำเป็นที่จะต้องปลดแอกไปพร้อมๆ กัน

ระหว่างที่เราต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม โดยเฉพาะทางชนชั้น เราก็ต้องสามารถที่ต่อสู้กับการกดขี่อื่นๆ ที่มันดำเนินไปพร้อมกันได้ โดยเฉพาะการแสดงออกทางเพศ การมี Gender ต่างๆ มันไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถรอถึงวันที่เราเป็นสังคมนิยมก่อนแล้วเราค่อนแสดงออกทางเพศได้ หรือพูดถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับกับเรื่องเพศได้ ขบวนการที่เป็นธรรมในสังคม มันต้องเป็นธรรมตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ต้องไม่มีการข่มขืน หรือการเหยียดเพศไปพร้อมๆ กับการต่อสู้ทางโครงสร้างและการปลดแอกทางชนชั้น

ดังนั้น แนวคิดที่มองว่า ประเด็นสิทธิสตรีเป็นประเด็นย่อย เป็นประเด็นที่มาเบี่ยงเบน มันเป็นแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ และเป็นการมองสังคมในมุมเดียวว่าชนชั้นเท่านั้นที่กดขี่ทุกคนอยู่ แต่มันไม่ใช่ มันยังมีการกดขี่ทางเพศ และการกดขี่ด้านอื่นๆ ที่ต้องการการปลดแอกและรอไม่ได้เช่นเดียวกัน

จะเห็นได้ว่ามันมีการพยายามต่อต้านสิทธิสตรีและความเป็นเฟมมินิสต์มาอยู่เสมอ ผู้หญิงอยู่ในขบวนการและต่อสู้ในเรื่องประเด็นทางสังคม ไปพร้อมๆ กับการที่ต้องแย่งชิงพื้นที่เพื่อให้เสียงและประเด็นที่ผู้หญิงต้องการสื่อเข้าไปอยู่ในขบวนการทางสังคมที่มักให้พื้นที่กับผู้ชายมากกว่า การต่อสู้ของผู้หญิงในขบวนการทางสังคมจึงเป็นการต่อสู้ที่ซ้ำซ้อน

ที่มาของการกดขี่ผู้หญิง ลัทธิมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ และการต่อสู้เพื่อปลดแอกทางชนชั้นของแรงงานหญิง

วรัญญูชี้ให้เห็นถึงที่มาของการกดขี่ผู้หญิง ลัทธิมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ และการต่อสู้เพื่อปลดแอกทางชนชั้นของแรงงานหญิงไว้ 3 ประเด็น ดังนี้

1. การที่พวกมาร์กซิสบอกว่า เราต้องปฏิวัติให้ได้ก่อน ก่อนที่จะพูดเรื่องเพศ ซึ่งมันมีสาเหตุมาจากพวกแนวสตาลิน ยุคนั้นจากการปฏิวัติ 1917 รัฐกรรมชีพกลายมาเป็นทันนิยมโดยรัฐ ซึ่งในยุคนี้พวกข้าราชการแดงก็มีเป้าหมายในการขูดรีดกรรมชีพอย่างเข้มข้น โดยอ้างว่า สตรีและกรรมชีพต้องเสีสละเพื่อสร้างรัฐกรรมชีพที่ยิ่งใหญ่ขึ้น และการเขียนปัญหาหลักปัญหารองในยุคเหมา พวกเขาก็มักจะใช้เป็นข้ออ้างที่ว่า ต้องปฏิวัติก่อน แล้วค่อยพูดเรื่องเพศ

ถ้าย้อนไปในตอนแรกมาร์กซิสเองก็มีการพูดถึงเรื่องการกดขี่สตรีไว้ด้วยอยู่แล้ว เช่น สังคมชนชั้นที่ต้องกดสตรีลงให้เป็นทาสเพื่อที่จะสืบตระกูลและอภิสิทธิชนต่างๆ รวมถึงในทุนนิยมเองก็มีความคิดที่ว่า ผู้หญิงเป็นเครื่องผลิตลูกและถูกผลักภาระให้ทำงานในการเลี้ยงดูสังคมโดยไม่นับว่างานนั้นมีมูลค่า ซึ่งสุดท้ายมันต้องแยกแยะระหว่างมาร์กซิส สตาลิน และเหมา แต่มันก็ยังมีคนที่เหมารวมตัวเองว่าเป็นมาร์กซิสอยู่

2. การแยกแยะแนวคิดเฟมมินิสต์ กับ มาร์กซิส มีที่มาจากขบวนการสตรรีในยุคแรกๆ ที่ต้องการสร้างความแตกต่างระหว่างขบวนการสตรีนิยม ณ ตอนนั้นที่เรียกร้องแค่สิทธิทางกฎหมาย แต่ว่าในขบวนการแรงงานสตรีในตอนนั้นยังต้องการสร้างความชัดเจนในการแยกแยะ ก็เลยแยกตัวออกมา

และ 3. เรื่องของครอบครัวที่เป็นที่มาของการกดขี่ โดยเฉพาะทุนนิยมที่มันไม่ต้องการคิดต้นทุนของการเลี้ยงดูสังคม เลยกลายเป็นการผลักภาระไปให้สตรีในบ้านต้องทำงานบ้าน เลี้ยงดูลูก ปรนนิบัติสามี โดยที่ไม่ได้ค่าตอบแทนและไม่มีใครจุนเจือ และในขณะเดียวกันมันก็ต้องการแรงงานรุ่นใหม่เพิ่ม ภาระก็ตกไปที่สตรีที่ต้องผลิตแรงงานรุ่นใหม่ออกมาอีก

ปัญหาแรงงานหญิงและการขับเคลื่อนสิทธิสตรีของขบวนการแรงงาน

พัชณีย์กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว และเรื่องที่ผู้หญิงมักจะถูกหึงหวงมากจนเกินไป จนเกิดเป็นการทำร้ายร่างกาย เรื่องโฆษณาที่ผูกผู้หญิงเข้ากับความสวยงาม ร่างกายของผู้หญิงที่มักจะถูกนำมาพรีเซนต์สินค้า ลุกลามไปถึงเรื่องของการมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ ถูกเป็นเจ้าของได้ และถูกมองว่าเป็นแค่เพียงพลเมืองชั้นสอง ถูกกดขี่ให้อยู่ในสภาพที่ขาดความมั่นใจ ถูกมองข้ามศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นมันเหมือนกับว่าการเอาเปรียบผู้หญิงเช่นนี้เป็นไปเพื่อที่รองรับให้เกิดการกดขี่ขูดรีดในสังคมชนชั้น

ด้วยสภาพสังคมเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่มีความเหลื่อมล้ำอยู่เป็นทุนเดิม แต่ผู้หญิงที่อยู่ในระบบก็ยังถูกกดขี่ทางเพศไปพร้อมกันด้วย ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่อภิสิทธิ์ชนหรือนายทุนที่มีจำนวนน้อยขูดรีดส่วนเกินหรือกำไรต่างๆ ที่เกิดจากการทำงานของชนชั้นแรงงาน มันเป็นระบบที่ทำให้มีการมองผู้หญิงเป็นพลเมืองชั้นสอง และมองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศเพื่อที่จะกดขี่ขูดรีด

แม้ผู้หญิงจะถูกปลดแอกทางเศรษฐกิจกลายมาเป็นแรงงานที่รองรับระบบอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต ขณะเดียวผู้หญิงก็ถูกปลดแอกจากครอบครัวมาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ แล้ว แต่ผู้หญิงในระบบแรงงานก็ยังถูกเอาเปรียบค่าจ้างและสวัสดิการในการทำงานอยู่ดี ผู้หญิงในทุกแง่มุม ทุกวิถีชีวิต ก็มักจะไม่ได้รับความปลอดภัยในชีวิต และมักจะมีแอกอยู่บนบ่าอยู่ตลอดเวลา

ในการที่เราจะปลดแอกทางเพศได้ เราควรแตะไปถึงโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจในสังคมชนชั้นด้วยเหมือนกัน เพราะเราต้องการที่จะปลอดแอกทางชนชั้นด้วย เนื่องจากการกดขี่ทางเพศมักจะสัมพันธ์กับการกดขี่ทางชนชั้น การจะบอกว่า ผู้ชายกดขี่ผู้หญิงเพราะความเป็นชายนั้นอาจจะใช่และไม่ใช่เสียทีเดียว อาจต้องมองไปถึงสาเหตุโครงสร้างที่มันส่งเสริม ตอกย้ำ ให้ความเป็นชายมันมีอำนาจขึ้นมา

และเมื่อเทียบกัน ประเด็นในเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศของผู้ชายที่อยู่ในชนชั้นแรงงานอาจจะไม่ได้รุนแรงเท่ากับผู้หญิง ผู้หญิงถูกกดขี่มากกว่า แต่ผู้ชายในชนชั้นแรงงานเองก็ถูกขูดรีดด้วยเหมือนกัน ซึ่งมันทำให้ครอบครัวของชนชั้นแรงงานทั้งผู้หญิงผู้ชายประสบความเดือดร้อนกดดันทางชีวิตครอบครัวมากกว่าพวกชนชั้นนายทุน เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่ผู้หญิงถูกใช้ความรุนแรง หรือผู้ชายเป็นผู้ใช้ความรุนแรงเท่านั้น แต่เราจำเป็นต้องมองในหลายๆ มิติผ่านบริบททางสังคม

มีงานวิจัยศึกษาว่า ความรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่เกิดจากผู้กระทำที่เป็นผู้ชาย ชนชั้นกรรมชีพ คอปกขาวที่ไร้อำนาจ ที่ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นก็ถูกกระทำจากที่ทำงานมาอีกที มันจึงเป็นการกดขี่ในลักษณะที่ซ้ำซ้อน และจำเป็นที่จะต้องมองในระดับของโครงสร้างมากกว่า

 

กรกนกกล่าวแย้งว่า การที่บอกว่าทุนนิยมเข้ามาแล้วผู้หญิงหลุดออกมาจากสภาพครอบครัวนั้นไม่จริง เพราะการที่ผู้หญิงออกมาทำงานในเมืองเป้าหมายหนึ่งก็คือการส่งเงินกลับไปให้ที่บ้าน ผู้หญิงยังเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ทำให้ครอบครัวยังอยู่ได้ และความกดดันทางสังคมจากการที่ผู้หญิงไม่ดูแลครอบครัวก็อาจมีมากกว่าผู้ชาย ด้วยการตีตราจากสังคมต่างๆ ที่มีความคิดที่ว่าผู้หญิงเป็นแม่บ้านแม่เรือนต้องดูแลครอบครัว เพราะฉะนั้นการตัดขาดจากครอบครัวของผู้หญิงจึงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่เห็นด้วยเรื่องที่บอกว่าผู้ชายโดนกดดันมาจากระบบสังคมทุนนิยม และมากดขี่คนในครอบครัวอีกที เนื่องจากครอบครัวมันมีโครงสร้างทางอำนาจในเรื่องเพศอยู่ จึงทำให้เป็นการกดขี่ที่มันซ้อนทับกันลงมาเรื่อยๆ

การต่อสู้ของสตรีกับการต่อสู้ทางชนชั้น

ต่อคำถามที่ว่า การต่อสู้ของสตรี สัมพันธ์กับการต่อสู้ทางชนชั้นอย่างไรนั้น กรกนกกล่าวว่า ถ้าการต่อสู้ทางชนชั้นมันเป็นการกดขี่ในแง่ของทรัพยากร การที่สตรีได้ทรัพยากร มีอำนาจ พื้นที่ หรือมีเสียงที่ถูกรับฟังน้อยกว่า สตรีไม่สามารถอยู่ในพื้นที่การตัดสินใจในระดับนโยบายต่างๆ ได้ มันทำให้ปัญหาของสตรีถูกมองข้ามและไม่ถูกคำนึงถึง ซึ่งการที่สตรีต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้นก็เป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากร อำนาจ และพื้นที่เช่นเดียวกันกับการต่อสู้ทางชนชั้นที่กรรมชีพก็ต้องการปลดแอกตนเองออกจากพวกนายทุนที่มีอำนาจเหนือกว่าพวกเขา

การต่อสู้ของ LGBTQ+ เองก็เหมือนกัน พวกเขาเหล่านั้นก็ต้องการให้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมอยู่ตอนนี้ มันถูกกระจายอย่างเป็นธรรมมากขึ้นในทุกเพศทุกคน

ฉะนั้น กลุ่มคนที่เขาต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในเรื่องเพศจึงมีความตระหนักถึงอำนาจที่ไม่เท่ากันทั้งในแง่ของเพศและชนชั้น การต่อสู้ของพวกเขาจึงไม่ได้พูดแค่การยุติความรุนแรงทางเพศ แต่พูดถึงการที่คนรวยมีอำนาจมากกว่าคนจน ผู้หญิงที่รวยมีโอกาสมากกว่าผู้หญิงที่จน ฯลฯ ด้วย โดยใช้อำนาจเป็นตัวตั้ง ซึ่งอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในอำนาจที่กดขี่พวกเขาอยู่ นั่นจึงทำให้การต่อสู้ทางเพศ และ การต่อสู้ทางชนชั้นเป็นเรื่องที่ซ้อนทับกัน

ปลดแอกทางเพศในรัฐสังคมนิยม

ต่อคำถามที่ว่า เมื่อสร้างรัฐสังคมนิยมขึ้นมาแล้วยังจะมีการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี หรือต่อสู้เพื่อปลดแอกทางเพศหรือไหมนั้น กรกนกกล่าวว่า รัฐที่เป็นสังคมนิยมไม่ได้การัณตีว่า การกดขี่ทางเพศจะหายไป และระหว่างที่ต่อสู้เพื่อให้เกิดรัฐสังคมนิยม ก็ต้องต่อสู้เพื่อให้มีการปลดแอกทางเพศไปพร้อมๆ กันด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าเราได้ประชาธิปไตยมาแล้ว แต่ในขบวนการของเราก็ยังมีการล่วงละเมิดทางเพศ ให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายเลี้ยงลูกอยู่ฝ่ายเดียว หรือมีค่านิยมที่ชายเป็นใหญ่อยู่ เราก็ต้องต่อสู้ต่อไปอยู่ดี ถึงแม้ว่าเราจะได้ประชาธิปไตยมาแล้วก็ตาม จะไม่มีการหยุดการต่อสู้จนกว่าเราจะบรรลุในจุดที่มันมีความเป็นธรรมทางเพศที่แท้จริง

และคำถามที่ว่า หากเรามีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง หรือมีสัดส่วนสมาชิกสภาที่เป็นหญิง-ชายเท่ากัน แสดงว่าเป็นสังคมที่มีความเท่าเทียมหรือไม่นั้น กรกนกกล่าวว่า เท่าเทียมมากขึ้น แต่ก็อาจจะต้องดูปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่นว่า ผู้หญิงได้อยู่ในอำนาจด้านไหนบ้าง หรือยังถูกกำหนดให้ดูแลเพียงแค่เรื่องในครอบครัว ผู้หญิง เด็ก คนชรา หรือพวกการพยาบาล ถ้าผู้หญิงยังถูกจำกัดอยู่แค่นั้นก็แปลว่าความเป็นธรรมทางเพศที่แท้จริงยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับผู้หญิงในพื้นที่ที่เป็นอำนาจในการตัดสินใจในระดับนโยบาย

สำหรับ ศิริลักษณ์ ทาเป็ง ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานจาก คณะสังคมศาสตร์ สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net