Skip to main content
sharethis

เหมืองทองทอัครากลับมาเปิดทำการอีกครั้ง หลังมีข้อพิพาทนาน 6 ปี บริษัทได้เดินเครื่องถลุงแร่ไปเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยบริษัทต้องสมทบเงินเข้า 4 กองทุน คิดเป็น 21 เปอร์เซ็นต์ของค่าภาคหลวงแร่ที่บริษัทชำระให้แก่รัฐบาล หรือรวมแล้วไม่น้อยกว่า 65 ล้านบาทต่อปี ตามกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคํา

21 มี.ค. 2566 บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เจ้าของเหมืองทองทอัครากลับมาเปิดทำการอีกครั้ง บริษัทได้เดินเครื่องถลุงแร่ไปเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา เชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายความยั่งยืนขององค์กร เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ยกเครื่อง ซ่อมแซมเครื่องจักรและโรงประกอบโลหกรรมที่ 2 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยใช้งบประมาณกว่า 600 ล้านบาท พร้อมเปิดดำเนินการอีกครั้ง และได้ยื่นหนังสือแจ้งหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้กำกับดูแลทราบเพื่อเข้ามาตรวจสอบว่าบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตาม เงื่อนไขที่กำหนดครบถ้วนแล้ว

เมื่อบริษัทฯ ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงจะสามารถเริ่มดำเนินการ ทำเหมืองได้

 

เชิดศักดิ์เปิดเผยว่า บริษัทปฏิบัติทุกอย่างตามกฎหมายและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2566 ศาลปกครองสูงสุด (พิษณุโลก) ได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องคดีที่ผู้ประท้วงได้ฟ้องร้องต่อศาลโดย กล่าวหาว่าการออกประทานบัตร 5 แปลงในเขตจังหวัดพิจิตรนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยประการต่างๆ โดยศาลได้ชี้ว่า บริษัทได้รับความเห็นชอบหรือได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ตามขั้นตอนและโดยชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น ซึ่งรวมถึง ประเด็นการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA และ EHIA) ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น จึงขอยืนยันอีกครั้งว่า การดำเนินงานของบริษัทมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

“พี่น้องในชุมชนที่ต้องจากบ้านเกิดไปหางานทำที่อื่นก็ได้ทยอยเดินทางกลับมาในพื้นที่ ส่วนหนึ่งก็จะกลับมาเป็นพนักงานของเหมือง ภายหลังจากที่บริษัทฯ ได้ประกาศเรื่องการ รับสมัครพนักงานจำนวนกว่า 160 อัตรา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม มีผู้สนใจส่งใบ สมัครมากว่า 1,700 คน ซึ่งเกินกว่าอัตราที่เราจะรับไว้มาก โดยแผนการดำเนินงานระยะแรกนั้นจะใช้โรงประกอบโลหกรรมที่ 2 เพียงโรงเดียว ซึ่งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2.7 ล้านตันต่อปีและภายหลังที่บริษัทฯ กลับมาดำเนินการไปแล้วสักระยะหนึ่ง จึงจะเริ่ม ซ่อมโรงประกอบโลหกรรมที่ 1 ซึ่งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2.3 ล้านตันต่อปีจากนั้นจึงจะรับพนักงานเพิ่มเพื่อรองรับปริมาณงานที่มาก ขึ้นต่อไป สำหรับการคัดเลือกพนักงานนั้น บริษัทฯ พิจารณาผู้ที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่เป็นอันดับแรก ในขณะที่ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งก็ เตรียมหาลู่ทางทำธุรกิจที่จะมารองรับเศรษฐกิจที่จะคึกคักขึ้นหลังจากที่เหมืองกลับมาเปิดอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง ที่ เรามีส่วนช่วยให้สถาบันครอบครัวมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และผลกระทบเชิงบวกทางด้านสังคมเช่นนี้มีคุณค่ามหาศาลและไม่ สามารถประเมินค่าได้” เชิดศักดิ์ กล่าว

กรณีที่มีประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาต่อต้านนั้น บริษัทเชื่อว่าเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน บริษัทไม่เคยนิ่งนอนใจจัดให้มีการตรวจสอบทันที และให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบ

ทั้งนี้ บริษัทระบุว่า บริษัทต้องสมทบเงินเข้ากองทุนจำนวน 4 กอง ได้แก่ กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่, กองทุนฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่, กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ และกองทุนประกันความเสี่ยง คิดเป็น 21 เปอร์เซ็นต์ของค่าภาคหลวงแร่ที่บริษัทชำระให้กับรัฐบาล หรือรวมแล้วต้องไม่น้อยกว่า 65 ล้านบาทต่อปี ตามกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคํา ซึ่งส่งผลให้มีเม็ดเงินจากกองทุนไปใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของคนในชุมชนและสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ในพื้นที่

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net