Skip to main content
sharethis

เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตจาก 11 ประเทศ เดินทางเยือนเชียงใหม่ พบผู้ว่าฯ ,นายกเทศฯ และเยี่ยมชมอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. หารือสร้างความร่วมมือโครงการพัฒนาเมืองเชียงใหม่และเมืองกรานาดา ประเทศสเปน

21 มี.ค. 2566 เมื่อวันจันทร์ที่ 20 มีนาคม 2566 เวลา 10.00 น. เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตและผู้แทนทางการทูตจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 11 ประเทศ เดินทางไปเยี่ยมอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (SteP) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสานต่อความร่วมมือภายใต้โครงการเพื่อการพัฒนาเมือง โดยตั้งเป้าเสริมความร่วมมือระหว่างเมืองเชียงใหม่ ประเทศไทย และเมืองกรานาดา ประเทศสเปน ในด้านเมืองอัจฉริยะและนวัตกรรมดิจิทัลให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

“การเดินทางมาเยือนเชียงใหม่ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าสหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับจังหวัดอื่นๆ นอกจากกรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่ก็เป็นเมืองใหญ่ที่สำคัญของภาคเหนือ พวกเราจึงเลือกเดินทางมาที่จังหวัดเชียงใหม่” เดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าว

นอกจากนี้เดวิดยังอธิบายว่า การมาเยี่ยมชมงานที่อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (SteP) ทำให้เห็นว่าได้เรียนรู้จากกันและกัน และหวังว่าจะได้เห็นความร่วมมือที่มากขึ้นระหว่างเมืองเชียงใหม่ ประเทศไทย และเมืองกรานาดา ประเทศสเปน ในด้านเมืองอัจฉริยะและนวัตกรรมดิจิทัล ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างเมืองและภูมิภาคนานาชาติ (International Urban and Regional Cooperation - IURC) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป คณะทูตจากสหภาพยุโรป 11 ประเทศที่ร่วมเยือนจังหวัดเชียงใหม่ในระหว่างวันที่ 20-21 มี.ค. 2566 ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โรมาเนีย สโลวาเกีย สเปน

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ อธิบายว่าการหารือในครั้งนี้เน้นพูดคุยประเด็นการพัฒนาเมืองในเชียงใหม่และเชื่อมโยงกับการพัฒนาเมืองในยุโรปเพื่อเรียนรู้จากกันและกันทั้งด้านเทคโนโลยี ไบโอเทค การท่องเที่ยว และพลังงาน ก่อนหน้านี้เคยมีการหารือไปแล้วเพื่อเปิดประตูความร่วมมือระหว่างทั้งสองเมือง จะมีทั้งมิติความเป็นเมืองระหว่างเชียงใหม่กับกรานาดา ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันในหลายด้าน เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ที่ทั้งเชียงใหม่และกรานาดามีการพัฒนาขึ้นมาเป็นจุดเด่นเหมือนกัน

“การที่มีทูตจากกว่า 11 ประเทศมาร่วมประชุมกัน น่าจะทำให้เกิดความร่วมมือใหม่ๆ กับเมืองอื่นๆ ในยุโรปต่อไปได้ เพราะในโลกทุกวันนี้ไม่มีเส้นแบ่งเขตแดนอีกแล้ว จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทำงานร่วมกันในระดับเมือง ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่กับกรานาดาหรือเมืองอื่นๆ อีกในอนาคต” ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ กล่าวปิดท้าย

เฟลิเป เดลา โมเรนา กาซาโด (Mr.Felipe de la Morena Casado) เอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรสเปนประจำประเทศไทย เสริมว่า ถึงแม้โครงการจะยังอยู่ในช่วยเริ่มต้น แต่ก็หวังจะได้เห็นความร่วมมือที่มากขึ้นในด้านนวัตกรรม เนื่องจากทั้งสองเมือง คือ เชียงใหม่ในประเทศไทยและเมืองกรานาดา ประเทศสเปนมีความคล้ายคลึงกันและการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนเป็นประเด็นที่สเปนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) กล่าวว่าความร่วมมือของเรานอกจากใสระดับเมืองแล้ว ก็ยังมีความร่วมมือในระดับมหาวิทยาลัยด้วย เช่น การลดคาร์บอนให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอนในมหาวิทยาลัย ด้วย

ในช่วงบ่าย คณะทูตจะเข้าพบกับอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เพื่อหารือความร่วมมือด้านการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและสถานการณ์การเมือง สังคม การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่

หลังจากนั้นได้เข้าพบกับนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหารือการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างเมืองเพื่อความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับจังหวัดด้วย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net