Zero Burning : ทำความเข้าใจการ ‘เผา’ ผ่านภาพถ่าย “ไฟ กับวิถีไร่หมุนเวียน”

ที่ผ่านมา มูลนิธิสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม) ได้พยายามผลักดันให้เชียงดาวเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ได้ร่วมกับ Realframe จัดกิจกรรมเปิดนิทรรศการ และจัดวงเสวนาเรื่อง Zero Burning สร้างการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนกับวิถี “เผา” ของชาวปกาเกอะญอและชุมชนนอกเขตเมือง จากเดิม มักถูกมองกันว่า "ไฟและการเผา" เป็นปีศาจประจำฤดูกาล จากปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนในประเทศ กลุ่มคนที่ใช้การเผาเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิต จึงถูกเหมารวมเป็นจำเลยสังคม กิจกรรมนี้ จึงเป็นการชวนผู้คนเข้าไปสำรวจภาพจำของหมอกควัน และทำความเข้าใจต่อกลุ่มชาติพันธุ์อย่างปกาเกอะญอ ที่พยายามส่งเสียงให้ผู้คนที่ห่างออกไปว่าไฟและการเผาสำหรับพวกเขาแล้วไม่ใช่ปีศาจ และคำว่าไร่หมุนเวียนไม่เท่ากับไร่เลื่อนลอยอย่างที่ถูกเข้าใจผิดกันมาอย่างช้านาน

โดยในวันเปิดงาน ได้มีการแสดง บุโต (Butoh) โดย กอล์ฟ-ธนุพล ยินดี นักการละคร กลุ่มมะขามป้อม ซึ่งการแสดงแนวบุโต (Butoh) ได้สร้างความสั่นสะเทือนทางอารมณ์ ให้กับผู้เข้าชมเป็นอย่างมาก

การแสดงบุโต (Butoh) โดย กอล์ฟ-ธนุพล ยินดี นักการละครและเจ้าหน้าที่ กลุ่มมะขามป้อม

หลังแสดงเสร็จ กอล์ฟ-ธนุพล ยินดี ได้บอกเล่าว่า การแสดงแนวบุโต เป็นศิลปะการแสดงของญี่ปุ่น ซึ่ง Ankoku Butoh นั้นแปลว่า นาฎยกรรมแห่งความมืด (Dance of Darkness) เกิดขึ้นในญี่ปุ่นราวปลายยุค 50’s ถึงต้นยุค 60’s เสน่ห์ของศิลปะการแสดงแนวบุโตไม่ได้มีเพียงความแปลกตาของนักแสดงที่ทาหน้าตาเนื้อตัวด้วยสีขาว แต่ยังเป็นความหมายของสุข เศร้า และสภาวะการเปลี่ยนผ่านที่สะท้อนผ่านร่างกายและจิตใจของมนุษย์

กอล์ฟ-ธนุพล ยังได้บอกย้ำให้เห็นภาพสะท้อนความจริงที่สังคมมองว่ายังคงมอง ไฟ การเผาและชนเผ่านั้นเป็นเป็นปีศาจประจำฤดูกาลว่า “ลองจ้องมองดูเขา...เป็นพยานในสังคม ว่าพวกเขาก็มีตัวตน มีคุณค่า มีความหมายในสังคมเหมือนกัน”

หลังจากนั้น มีการเปิดให้ผู้เข้าร่วมงาน เดินชมนิทรรศการภาพถ่าย Zero Burning ซึ่งแต่ภาพที่นำมาแสดงนั้นมาจากหลายพื้นที่ อาทิ บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย บ้านแม่ลายเหนือ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน บ้านขุนแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่,บ้านแม่เหยาะคี อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เป็นต้น โดย พฤ โอ่โดเชา ปราชญ์ชนเผ่าปกาเกอะญอ ได้พาเดินชมพร้อมกับบรรยายบอกเล่าเรื่องราวที่มาของภาพ ว่าด้วยเรื่องของอาหารตามฤดูกาล ไร่หมุนเวียน พิธีกรรมความเชื่อ การเผา การหว่านเมล็ดพันธุ์ การทำพิธีขอฝน เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน การเก็บเกี่ยวผลผลิต การดูแลดิน น้ำ ป่า ซึ่งทุกอย่างล้วนเกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนปกาเกอะญอทั้งสิ้น

นิทรรศการภาพถ่าย ชุด Zero Burning โดยกลุ่ม Realframe

ต่อมามีการจัดวงเสวนา เรื่อง Zero Burning สร้างการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนกับวิถี “เผา” ของชาวปกาเกอะญอและชุมชนนอกเขตเมือง โดยมี ธีระพงษ์ สีทาโส, ยศธร ไตรยศ กลุ่ม Realframe, พฤ โอ่โดเชา ตัวแทนพี่น้องชนเผ่าปกาเกอะญอ, และศรัณยา กิตติคุณไพศาล ตัวแทนคนในพื้นที่เชียงดาว ร่วมเสวนา

ธีระพงษ์ สีทาโส กลุ่ม Realframe บอกเล่าถึงที่มาการจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาว่า เกิดจากความพยายามอยากเปิดพื้นที่มะขามป้อมอาร์ต สเปซ ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ในเชียงดาว และมองว่ากำลังเข้าสู่ช่วงฤดูหมอกควันไฟป่า ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่เราต้องเผชิญในทุก ๆ ปี ซึ่งจริงๆ มันมีเรื่องจริงและความหลังกันมาก คือเราอยากทำงานที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม ภาพแต่ละภาพ จึงมีเรื่องราว มีเบื้องหลัง จึงอยากสื่อสารผ่านงานชุด ภาพถ่าย “Zero Burning” เพื่อทำความเข้าใจวิถีการเผาของชุมชนให้มากขึ้น

ยศธร ไตรยศ กลุ่ม Realframe บอกว่า ผลงานหนึ่งในนิทรรศการ Zero Burning เกิดจากความสนใจเรื่องไฟ เรื่องชาติพันธุ์ คนปกาเกอะญอ รวมไปถึงปัญหา PM 2.5 ที่มีคนตื่นตัว พูดกันมากขึ้น และพอเห็นไฟไหม้ ก็จะบอกว่ามีคนเผา และมักจะชี้ไปที่คนชาติพันธุ์ รวมไปถึงคนกะเหรี่ยงคนปกาเกอะญอ

“ซึ่งจริงๆ ไฟมันไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น เพราะพี่น้องปกาเกอะญอที่เผาทำไร่หมุนเวียนนั้น มันเป็นคนละช่วงเวลากัน ดังนั้น เราจึงอยากสะท้อนให้เห็น เพราะที่ผ่านมา มักถูกชี้ต้นเหตุไปที่การเผาไหม้ จนเชื่อมโยงไปจนถึงว่าใครที่เป็นคนเผา สังคมจำนวนมากเข้าใจว่าเป็นคนปกาเกอะญอที่จุดไฟนี้ขึ้นมา จึงเริ่มอยากจะพาคนดูคนอ่านไปลองพิสูจน์ดูว่าในความเป็นจริง มันเป็นแบบนั้นจริง ๆ หรือไม่ โดยอยากจะพูดไปให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลยว่า ไฟมันคือปีศาจในสายตาของคนในเมืองไปแล้วหรือ ในขณะเดียวกัน เราก็เลยเริ่มต้นให้เห็นวิถีของไฟ เห็นความสำคัญของไฟ ว่าคนบนดอยที่ใช้ไฟในวิถีชีวิต ไม่ใช่เชิงทำลายอย่างเดียว แต่มันมีความสมดุลของชีวิต เพราะฉะนั้น ถ้ามาบังคับใช้ ห้ามคนไปใช้ไฟ นั่นอาจหมายถึงการล่มสลายของชุมชนปกาเกอะญอไปเลยทีเดียว ซึ่งที่ผ่านมา จะเห็นว่าท้องถิ่นเริ่มเข้าใจชุมชนดีพอสมควร แต่จะมีเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจ อย่างเช่น การจัดตารางคิวเผา ไม่ตรงสอดคล้องกับวิถีชุมชน ยังเป็นปัญหากันอยู่ในขณะนี้ แต่ถ้าเราใช้ไฟให้ถูก ก็มีประโยชน์มาก พอๆ กับน้ำเหมือนกัน เพราะว่า ไฟก็คือชีวิต”

เมื่อพูดถึงเรื่องไร่หมุนเวียน กับการจัดการไฟ การเผาในพื้นที่ไร่หมุนเวียน

ยศธร บอกว่า “จริงๆ แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีการพูดถึง มีงานวิจัยกันมานานแล้ว แต่ก็ยังมีคนที่ไม่เข้าใจ ยังมองว่าเป็นการทำลายป่ากันอยู่ เพราะฉะนั้น อย่างน้อยๆ เราควรเคารพวิถีชุมชน เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของคนที่อยู่อาศัยในชุมชนที่มีวัฒนธรรมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา บางเรื่องอาจไม่สวยงามในสายตาเรา แต่มันคือวิถีของเขา อยากจะให้ทุกคนพูดถึงสิ่งเหล่านี้กันมากขึ้น และอยากชวนทุกคนไปเที่ยว ไปหาคนหลายๆ กลุ่ม เพื่อส่งต่อองค์ความรู้...คนเมืองควรต้องไปเห็นน้ำตาของพวกเขาบ้าง ว่าความทุกข์ของพวกเขามันเป็นอย่างไร”

ทั้งนี้ ยศธร ไตรยศ กลุ่ม Realframe ได้ลงพื้นที่หลายพื้นที่ และเขียนบทความออกมาเผยแพร่ในประชาไท บอกเล่าไว้ตอนหนึ่งว่า เมื่อซีโร่เบิร์นเข้ามาแทรกกลางวิถีดั้งเดิม ซึ่งคำสั่งซีโร่เบิร์นทำให้รัฐเข้ามากำหนดวันเวลาในการเผาให้กับชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ เพื่อลดความหนาแน่นของควันไฟในแต่ละพื้นที่ลง มาตรการดังกล่าวถูกติดตามควบคุมอย่างเข้มงวดโดยใช้ภาพดาวเทียมเพื่อตรวจจับสัญญาณของควันไฟเพื่อรายงานตรงเข้าสู่ส่วนกลาง ฟังดูเหมือนจะเป็นนโยบายที่ดี หากแต่เพียงการกำหนดวันเวลาดังกล่าวในการอนุโลมให้เผานั้นไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ต้องพึ่งพาฝนฟ้าตามฤดูกาลที่ควรจะเป็น ทำให้บ่อยครั้งเกิดปัญหาขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพราะการที่ไม่สามารถที่จะเผาได้ในช่วงเวลาที่รัฐกำหนด

สอดคล้องกับ พฤ โอโดเชา ตัวแทนพี่น้องชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บอกเล่าในวงเสวนาว่า ที่ผ่านมา เรามักถูกตั้งคำถามว่า เผาทำไม ทำไมต้องเผา ไม่เผาได้มั้ย ซึ่งคำถามแบบนี้มันก็เหมือนกับถามว่า กินข้าวทำไม ดื่มน้ำทำไม ซึ่งคำถามแบบนี้ เหมือนจะพยายามปั้นคนผิดขึ้นมา ซึ่งจริงๆ แล้ว ไฟมันมีมานานแล้ว แต่การเผามันต้องมีจังหวะ ถ้าฝนมาก็ไม่ได้เผา

“แต่อำนาจอยู่ที่เขา อำนาจอยู่ที่รัฐ ระดับจังหวัด ที่จะเคาะหรือไม่เคาะว่าอนุญาตให้เผาหรือไม่ให้เผา ซึ่งมันก็เหมือนเราจะกินข้าว แต่ต้องรอให้เขาอนุญาตก่อน ว่าจะให้กินข้าวตอนไหน แต่ในความเป็นจริง มันรอไม่ได้ เพราะการทำไร่ ปลูกข้าว ก็เพื่อสำรองข้าวไว้กินในรอบ 1 ปี ยกตัวอย่าง พื้นที่ป่าแถวสะเมิง จะอยู่ติดภูเขา หน้าผา เวลาไฟไหม้ มันอันตรายมาก เวลาจะไปดับไฟ แต่ชาวบ้านเขาจะรู้วิธีจัดการ ว่าจะจัดการเผาช่วงเวลาไหน เผายังไง ไม่ให้มีควัน ซึ่งแล้วแต่สภาพป่า เพราะฉะนั้น อยากให้ชาวบ้าน ชุมชน เอาองค์ความรู้นั้นมาจัดการกันเองจะได้มั้ย ในขณะที่รัฐ พอพูดถึงไฟไหม้ ก็ไปมองกันที่ฮอตสปอต คุณต้องไปดับไฟนะ จะต้อง ซีโร่เบิร์นนิ่ง โดยใช้มาตรการของคุณ จึงมองว่าชุมชนเป็นคนเลว”

พฤ โอโดเชา ตัวแทนพี่น้องชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ

ด้าน ศรัณยา กิตติคุณไพศาล เจ้าของสวนบัวชมพู ณ จอมคีรี และเป็นสมาชิกภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาว บอกว่าตนเองในฐานะเป็นตัวแทนคนพื้นราบ ที่ผ่านมา พยายามทำงานเชื่อมกันระหว่างคนในเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ จากการที่เราไปทำงานกับพี่น้องชนเผ่า ยกตัวอย่างเช่น พี่น้องปกาเกอะญอบ้านแม่คองซ้าย ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดนั้นอยู่ในเขตป่าชั้น 1A ป่าอุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านมีการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งจำเป็นต้องมีการเผาไร่ก่อนทำการปลูกข้าวไร่ เพราะถ้าไม่เผา ก็ต้องมีการใช้สารเคมีเข้าไปแทน เพราะฉะนั้น ทำให้เรามาคิดว่า ไฟ น่าจะมีอะไรดีแน่ๆ เลย

“ยกตัวอย่าง เราเข้าไปส่งเสริมชาวบ้านให้เน้นเรื่องเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีกติกาชัดเจน คือ ห้ามเผา จึงจำเป็นต้องใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทน แต่ก็ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าอินทรีย์มีราคาสูงกว่าสินค้าปกติ แต่ถ้าเราใช้ไฟ อาจจะช่วยลดต้นทุนได้ รวมถึงการเผาจะช่วยฆ่าเชื้อราบนหน้าดินได้ด้วย ดังนั้น การเผานั้นมีมานานแล้ว แต่จะเผาเป็นช่วงเวลา มันมีจังหวะของมัน อีกทั้ง เมื่อพูดถึงเชียงดาว ถือว่าเป็นเมืองแอ่งกระทะ เพราะฉะนั้น พอเกิดหมอกควันไฟป่า ขออย่าไปโทษชนเผ่า คนเมือง ว่าเป็นคนเผาป่าอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้ว ปัญหาไฟป่าหมอกควัน มันมีหลายสาเหตุ และก็ไม่ได้เกิดเฉพาะในพื้นที่เชียงดาว แต่สาเหตุมันมาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย”

ศรัณยา บอกอีกว่า ที่ผ่านมา เราพยายามจัดการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นนั้น เราได้ระดมทุนเงินตั้งเป็นกองทุนเพื่อไปช่วยกองกำลังสำหรับการดับไฟ มีการจัดอบรมความรู้เบื้องต้นก่อนจะไปช่วยกันดับไฟป่า ส่วนในระยะยาว เราพยายามหาทุน โดยนำหมู่บ้านไปเข้าร่วมกับภาคีต่างๆ ยกตัวอย่างในปีที่ผ่านมา เรามีการขับเคลื่อนของภาคประชาชน โดยมีท้องถิ่นมาร่วมขับเคลื่อนในพื้นที่อำเภอเชียงดาว มีการขายคาร์บอนเครดิต แล้วนำเงินที่ได้ไปบริหารจัดการเรื่องไฟป่า นอกจากนั้น มีการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวบ้าน โดยไม่ต้องเข้าป่าในช่วงฤดูแล้ง เราพยายามร่วมมือกับทางราชการ เพื่อลดการต่อต้านรัฐ เพราะฉะนั้นในมุมมองการแก้ปัญหาให้ยั่งยืน มีการพูดคุยกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน ซึ่งกำลังจะไปได้ดี แต่สุดท้ายหัวหน้าส่วนราชการก็ย้ายไปอีก ก็ทำให้ชาวบ้านหวั่นไหว เข้าใจผิดกัน เพราะเจ้าหน้าที่รัฐย้ายมาใหม่ เข้ามาก็มักจะถือธงคือกฎหมาย มาใช้กับชาวบ้าน ซึ่งก็กลายปัญหากันอีก

ทั้งนี้ นิทรรศการ Zero Burning สร้างการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนกับวิถี “เผา” ของชาวปกาเกอะญอและชุมชนนอกเขตเมือง ที่จัดขึ้น ณ มะขามป้อม อาร์ต สเปช ยังเปิดบริการให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปเยี่ยมชมกันได้ฟรี ไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2566 นี้

 

ข้อมูลประกอบ
1. ButohOUT! 2022 , butohout.com
2. “Zero Burning” เมื่อไฟไม่ใช่ปีศาจเหตุใดผู้มีอำนาจจึงไม่อนุญาตให้เผา?,ประชาไท, 03-02-2021

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท