ถอดบทเรียนจัดซื้อเวชภัณฑ์ช่วง ‘โควิด-19’ ชี้ควรปรับปรุง พ.ร.บ.จัดซื้อพัสดุภาครัฐ

งานวิจัย ‘สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข’ ถอดบทเรียนยุคโควิด-19 ที่ประเทศพัฒนาแล้วเข้าถึงวัคซีนและเวชภัณฑ์ได้ก่อนประเทศกำลังพัฒนา และบริษัทยามีอำนาจตั้งราคาเอง โดยมีข้อเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อให้เกิดความคล่องตัว สนับสนุนสถาบันวัคซีนแห่งชาติในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนา ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงทางวัคซีน พร้อมยกระดับความโปร่งใส ความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนเพื่อรับมือกับวิกฤตโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

  • ช่วงโควิด-19 กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงสามารถเข้าถึงวัคซีนและเวชภัณฑ์ได้ก่อนกลุ่มประเทศยากจนและกำลังพัฒนา ในช่วงแรกวัคซีนในตลาดโลกมีจำนวนจำกัด กลายเป็นของหายาก ทำให้บริษัทผู้ผลิตกลายเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดราคาเอง
  • กรณีประเทศไทยพบว่าในระยะแรกของการแพร่ระบาด ภาครัฐจะไม่สามารถดำเนินการจัดหาวัคซีนได้อย่างง่ายนัก เพราะข้อจำกัดของ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ไม่เอื้อและขาดความชัดเจนในการปฏิบัติ ทำให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่สามารถจัดซื้อวัคซีนและเวชภัณฑ์ได้ทันที
  • งานวิจัยแนะรัฐบาลควรปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ให้เกิดความคล่องตัว ควรให้ความสำคัญต่อสถาบันวัคซีนแห่งชาติในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนา ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงทางวัคซีน
  • ควรแก้ปัญหาในภาวะวิกฤติเมื่อเกิดโรคอุบัติใหม่ที่ทางการแพทย์ยังขาดองค์ความรู้ ขาดวิธีป้องกันและรักษาได้ โดยยึดความปลอดภัยและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง บนฐานคิด “ให้ความรู้ทางวิชาการนำการเมือง” และยกระดับความโปร่งใส ความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนผ่านแนวคิด Open data, Open Government

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข สังคม และเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างมาก เนื่องจากเชื้อไวรัสดังกล่าว สามารถกลายพันธุ์และแพร่กระจายไปสู่คนทุกวัย ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากเว็บไซต์ Worldometers ณ วันที่ 24 ก.พ. 2566 พบว่ามีผู้ติดเชื้อรวมทั้งหมด 679,352,152 คน เสียชีวิตรวม 6,796,188 คน เวชภัณฑ์ที่จำเป็นที่สุดในการต่อสู้กับโรคนี้คือ 'วัคซีน' ส่วนข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ณ วันที่ 20 ก.พ. 2566 พบว่ามีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้ว 13,222,459,780 โดส ทั่วโลก

ความเหลื่อมล้ำช่วงต้นการระบาด ประเทศรายได้สูงเข้าถึงวัคซีนได้ก่อน

จากงานวิจัย 'การบริหารจัดการเวชภัณฑ์กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019: ปัญหา อุปสรรคในการจัดซื้อของภาครัฐ ภาคเอกชน และแนวทางแก้ไข' (รัตพงษ์ สอนสุภาพ และคณะ, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, 2565) พบว่าในระยะแรกของการแพร่ระบาดนั้น ทั้งองค์การอนามัยโลก วงการแพทย์ และสาธารณสุขประเทศต่างๆ ทั่วโลก ยังขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับลักษณะทางพันธุ์กรรมของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะตระหนกและความกังวลขึ้นในวิธีการรักษาและหยุดยั้งการแพร่ระบาด รัฐบาลหลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง ได้ร่วมมือกับบริษัทชั้นนำทางการแพทย์ทั่วโลก ในอันที่จะเร่งรัดพัฒนาวัคซีนขึ้นมาเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้ จากสถานการณ์และเงื่อนไขดังกล่าวได้เป็นปัจจัยเอื้อให้กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงสามารถเข้าถึงวัคซีนและเวชภัณฑ์ได้ก่อนกลุ่มประเทศยากจนและกำลังพัฒนา 

นอกจากนั้นแล้ว กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง ยังเป็นที่ตั้งของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนและเวชภัณฑ์อีกด้วย อาทิ สหรัฐอเมริกา ประชาคมยุโรป และจีน รวมทั้งรัสเซีย จึงสามารถจองวัคซีนได้ก่อน โดยเฉพาะVector วัคซีนของบริษัท AstraZeneca และ mRNA ของบริษัท Pfizer และบริษัท J&J ยกเว้นประเทศจีน และรัสเซียที่ใช้วัคซีนที่ทดลองและพัฒนาโดยบริษัทในประเทศตนเอง เช่น วัคซีน Sinovac, Sinopharm และ Sputnik V เป็นต้น

องค์การอนามัยโลกได้รับรองมาตรฐานวัคซีนที่ใช้ได้ในภาวะฉุกเฉิน (Covid Vaccine Target Product Profile) นโยบายของรัฐบาลเกือบทั่วโลก คือ จัดหาวัคซีนให้ได้เร็วและมากที่สุด ด้วยราคาเท่าใดก็ได้ ในขณะที่วัคซีนในตลาดโลกมีจำนวนจำกัด กลายเป็นของหายาก ทำให้บริษัทผู้ผลิตกลายเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดราคาเอง จนเกิดสภาวะที่ว่า แม้จะมีเงินก็ไม่สามารถหาซื้อวัคซีนได้ เนื่องจากความต้องการวัคซีนมีมากกว่าปริมาณวัคซีนที่การผลิตได้ในตลาด เปรียบเทียบกระบวนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 พบว่าสหรัฐฯ ใช้วิธีจองวัคซีนโดยให้เงินงบประมาณให้แก่บริษัท AstraZeneca และบริษัท Pfizer เพื่อไปดำเนินทดลองการวิจัยและพัฒนาวัคซีน โดยในเดือน มิ.ย. 2563 ให้เงินแก่บริษัท AstraZeneca เป็นเงิน 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อจองวัคซีนจำนวน 400 ล้านโดส ด้วยเงื่อนไขที่ว่า หากการทดลองผลิตวัคซีนไม่สำเร็จไม่ต้องคืนเงิน และยังใช้วิธีการเดียวกันกับ บริษัท Pfizer ด้วย โดยให้เงิน 1,950 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อจองวัคซีนจำนวน 600 ล้านโดส ในเดือน ก.ค. 2563 ทำให้ภายในเดือน พ.ย. 2563 สหรัฐฯ สามารถจองวัคซีนได้สูงถึง 6,000 ล้านโดส

บางประเทศให้ภาคเอกชน-ท้องถิ่นในการจัดหาและกระจายวัคซีน จึงมีความรวดเร็ว

งานวิจัยระบุว่าประเทศที่มีรายได้สูงส่วนใหญ่จะดำเนินการคล้ายกับกรณีประเทศสหรัฐฯ เช่น ประเทศแคนาดา สามารถจองวัคซีนได้เกือบ 5 เท่าของจำนวนประชากรในประเทศ ส่วนสิงคโปร์สามารถสั่งซื้อวัคซีนอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสิงคโปร์ไม่มีปัญหาจากกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้าง จึงสามารถทำสัญญาสั่งจองวัคซีนล่วงหน้าได้ แม้จะยังไม่ได้รับการรับรองจาก Health Science Authority ก็ตาม เพื่อให้สิงคโปร์ได้รับวัคซีนในปริมาณที่มากและรวดเร็ว

สำหรับฟิลิปปินส์จะมีบริบทใกล้เคียงกับไทย เพราะมีข้อจำกัดภายใต้กฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง จะไม่สามารถจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อจองวัคซีนได้ เว้นแต่ประธานาธิบดีจะใช้อำนาจเห็นชอบ หรือ “ปลดล็อค” จากข้อจำกัดทางกฎหมายดังกลายนั้น ทำให้ฟิลิปปินส์สามารถจัดหาวัคซีนได้เร็วกว่าไทย ทั้งนี้ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ฟิลิปปินส์จัดหาวัคซีนได้รวดเร็วและปริมาณมาก คือ การให้บทบาทและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและรัฐบาลท้องถิ่นในการจัดหาวัคซีนและกระจายวัคซีน เพื่อให้วัคซีนเข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด

ข้อจำกัดของ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ในประเทศไทย

งานวิจัยระบุว่าหากเทียบกรณีของประเทศไทยแล้ว พบว่าในระยะแรกของการแพร่ระบาดของไวรัส ภาครัฐจะไม่สามารถดำเนินการจัดหาวัคซีนได้อย่างรวดเร็วนั้น เพราะข้อจำกัดจากแนวปฏิบัติของ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ไม่เอื้อและขาดความชัดเจนในเชิงปฏิบัติ ทำให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวจึงไม่สามารถจัดหาซื้อวัคซีนได้อย่างทันท่วงที เพราะสาระของกฎหมายดังกล่าว กำหนดราคากลางในการซื้อขายไว้เพื่อเปรียบเทียบต่อรองให้ได้ราคาถูกสุดแล้วจึงจัดซื้อ อย่างไรก็ตาม ด้วยวัคซีนเป็นสินค้าอยู่ในตลาดโลก อยู่ระหว่างทดลองใช้กับมนุษย์ และเป็นสินค้าที่หายาก ส่งผลให้ภาครัฐไม่สามารถจัดหาจัดซื้อวัคซีนซึ่งยังไม่ได้รับรองผล และผลิตขึ้นล่วงหน้าได้ อีกทั้งการนำเข้าวัคซีนได้จะต้องได้รับการจดขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อย.) เสียก่อนและจะต้องเป็นวัคซีนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้การรับรองใช้ในกรณีภาวะฉุกเฉิน (Covid Vaccine Target Product Profile) เท่านั้น เพราะอาจจะมีความเสี่ยงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพต่อประชากรในวงกว้างได้ ดังนั้นบริษัทผู้ผลิตและผู้จำหน่ายวัคซีน จึงกำหนดให้คู่สัญญาซื้อจะต้องเป็นภาครัฐเท่านั้น เพื่อจำกัดความเสี่ยงในเชิงพาณิชย์ของธุรกิจเอกชนที่ต้องการนำเข้าและต่อประชาชนโดยรวม

จนถึงเดือน พ.ย. 2564 ทั่วโลก ฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 7,000 ล้านโดส พบว่า อัตราการฉีดวัคซีนในประเทศที่มีรายได้ต่ำ (Low income country) มีค่อนข้างต่ำโดยมีประชากรเพียงร้อยละ 5.2 เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก ส่วนประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (Upper middle income country) และประเทศที่มีรายได้สูง (High income country) ได้รับวัคซีนเข็มแรกอยู่ที่ร้อยละ 75 และ 73 ตามลำดับ แสดงให้เห็น ถึงความเหลื่อมล้ำความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงวัคซีนของโลก จึงเป็นสาเหตุสำคัญถึงความยากลำบากในการจัดหาวัคซีน สำหรับกลุ่มประเทศยากจนและกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทยด้วยในเวทีการแข่งขันเพื่อเข้าถึงวัคซีนที่บริษัทผู้ผลิตวัคซีนหลักๆ ตั้งอยู่ในประเทศที่มีรายได้สูง จากภาวะการแข่งขันเพื่อเข้าวัคซีนในระดับสากลนั้น

ปัญหาและอุปสรรคในการจัดหาวัคซีนและเวชภัณฑ์อื่นๆ ของประเทศไทย 

งานวิจัยยังชี้ถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดหาวัคซีนและเวชภัณฑ์อื่นๆ ของประเทศไทยไว้ด้วย เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังขาดองค์ความรู้เช่นเดียวกับประเทศทั่วโลก ซึ่งปัญหาและอุปสรรคในการจัดหาวัคซีนและเวชภัณฑ์เป็นผลมาจากกฎหมาย กฎเกณฑ์ และระเบียบต่างๆ ถูกออกแบบไว้ยึดปฏิบัติในสถานการณ์ปกติ เช่น พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 จึงเป็นข้อจ ากัดสำคัญที่ทำให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับปฏิบัติการไม่สามารถจัดหาจัดซื้อวัคซีนและเวชภัณฑ์ได้อย่างทันท่วงทีเพราะสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวจะไม่อนุญาตให้จัดซื้อในสิ่งที่ยังไม่มีสินค้า การรับรองผล รวมทั้งการส่งมอบวัคซีนตามวันเวลากำหนดได้อย่างแน่ชัด

ในสถานการณ์ที่ไวรัสโควิด-19 กำลังระบาดรุนแรงและรวดเร็ว แต่ภาครัฐยังมีข้อจำกัดในการจัดหาจัดซื้อวัคซีนได้ถึงแม้ว่า ภายหลังหน่วยรัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ได้แก่ กรมบัญชีกลาง สำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงาน ปปช. รวมทั้ง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีการหารือกันเพื่อพิจารณากำหนดแนวปฏิบัติให้แก่หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่จัดหาจัดซื้อวัคซีนและเวชภัณฑ์ได้ เช่น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีนแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม องค์การปกครองท้องถิ่น และองค์กรอื่นๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ โดยให้ยึดแนวปฏิบัติตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 115 ลงวันที่ 27 มี.ค. 2563 ซึ่งได้ลดอุปสรรคด้านงบประมาณในการจัดหาซื้อวัคซีนได้เป็นอย่างดีเกิดความยืดหยุ่นและความคล่องตัวในการปฏิบัติงานมากขึ้น อย่างไรก็ตามในห้วงเวลานั้น วัคซีนในตลาดโลกถูกกำหนดจากอุปสงค์และอุปทานของตลาดของประเทศที่มีรายได้สูง ทำให้อำนาจต่อรองจึงขึ้นต่อบริษัทผู้ผลิตวัคซีนเป็นหลัก ตลอดจนความสัมพันธ์ในเชิงการทูต (Vaccine diplomacy) ของประเทศไทยอีกด้วย

ใช้งบไปมากกว่าแสนล้านบาทแล้ว

งานวิจัยระบุว่างบประมาณที่รัฐใช้ดำเนินการ ในช่วงปีงบประมาณ 2563 – 2564 รัฐบาลจัดสรรวงเงินงบประมาณจากทั้งงบกลางกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 87,862 ล้านบาท ส่วนงบประมาณแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขให้แก่การป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด19 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุขเบื้องต้นจำนวนทั้งสิ้น 1.17 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลมีแผนจัดหาวัคซีนไว้รวม 200 ล้านโดส ภายในปี 2565

บทบาทของสถาบันวัคซีนแห่งชาติยังไม่ชัดเจนมากนัก

งานวิจัยยังชี้ว่าบทบาทของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธานนั้น มีหน้าที่จัดทำบันทึกความตกลงร่วมเพื่อให้มีการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล่วงหน้า หากการทำบันทึกข้อตกลงต้องใช้งบประมาณเพื่อการจองล่วงหน้า ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไข และให้ประสานกับสำนักงบประมาณเพื่อดำเนินการจัดหาวัคซีน โดยอำนาจหน้าที่ดังกล่าวในช่วงที่การระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมาอาจจะมีบทบาทไม่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุดเพื่อทำหน้าที่แก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงส่งผลทำให้อำนาจหน้าที่บางส่วนของสถาบันวัคซีนแห่งชาติถูกผนวกไปด้วย (Overlap) แต่จุดแข็งของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ คือ การเป็นหน่วยงานที่เป็นฐานองค์ความรู้เกี่ยววัคซีนและมีศักยภาพเพียงพอต่อการพัฒนาวัคซีนต้นแบบไว้ใช้ในกรณีโรคอุบัติใหม่ในอนาคตได้

เสนอรัฐแก้ไข พ.ร.บ. จัดซื้อพัสดุภาครัฐ-ให้ความสำคัญต่อสถาบันวัคซีนแห่งชาติ-แก้ปัญหาใช้ "ความรู้ทางวิชาการนำการเมือง” และยกระดับความโปร่งใส

งานวิจัยชิ้นนี้มีข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้

1. รัฐบาลควรปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ให้เกิดความคล่องตัว โดยอาจปรับจากสาระสำคัญตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 115 ลงวันที่ 27 มี.ค. 2563 แล้วปรับให้เป็นมาตราใดมาตราหนึ่งหรือมาตราเฉพาะเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน สร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้

2. การปรับตัวขององค์กรด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรองรับภาวะฉุกเฉิน องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดการความรู้ (Knowledge Management) ผ่านบทเรียนและประสบการณ์จากวิกฤติ COVID-19 ครั้งนี้ เพื่อการปรับตัวรองรับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

3. รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อสถาบันวัคซีนแห่งชาติในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนา ทำหน้าที่ประสานงาน รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กรระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางวัคซีนของไทย ให้มีศักยภาพเพียงพอต่อการพัฒนาวัคซีนต้นแบบไว้ใช้ในกรณีโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

4. รัฐบาลควรแก้ปัญหาในภาวะวิกฤติเมื่อเกิดโรคอุบัติใหม่ที่ทางการแพทย์ยังขาดองค์ความรู้ ขาดวิธีป้องกันและรักษาได้ โดยยึดความปลอดภัยและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง บนฐานคิด “ให้ความรู้ทางวิชาการนำการเมือง” และยกระดับความโปร่งใส ความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนผ่านแนวคิด Open data, Open Government.

ที่มาของข้อมูล :

การบริหารจัดการเวชภัณฑ์กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019: ปัญหา อุปสรรคในการจัดซื้อของภาครัฐ ภาคเอกชน และแนวทางแก้ไข (รัตพงษ์ สอนสุภาพ และคณะ, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, 2565)

worldometers.info/coronavirus (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 24 ก.พ. 2566)

covid19.who.int (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 24 ก.พ. 2566)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท