- โควิด-19 ทำให้เกิดการอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คนจำนวนมาก ทั่วโลกเกิดปรากฏการณ์คนย้ายออกมาจากเมืองใหญ่ไปอยู่ตามเมืองรองหรือชนบท
- หลายประเทศพยายามใช้โอกาสนี้ออกนโยบาย สนับสนุนให้ผู้คนย้ายถิ่นออกต่างจังหวัดเพื่อลดการแอดอัดในเมืองใหญ่
- เช่นเดียวกับประเทศไทย เมื่อเกิดการแพร่ระบาดมีอัตราการย้ายถิ่นกลับต่างจังหวัดของแรงงานสูง โดยเหตุผลหลักมาจากการถูกเลิกจ้างหรือลดเวลางาน ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว
- ในขณะเดียวกันภาคการเกษตรที่เคยดูดซับผู้คนที่ตกงานได้ในอดีตนั้น ไม่สามารถหล่อเลี้ยงแรงงานอพยพจำนวนมากที่ย้ายถิ่นกลับชนบทได้อีกต่อไป และไม่ใช่ทุกคนที่ประสบความสำเร็จในการย้ายกลับบ้าน เพราะช่องว่างความเจริญทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองใหญ่และต่างจังหวัดห่างกันมาก บ่อยครั้งการหันกลับสู่เมืองใหญ่อีกครั้งก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้
การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ไม่ใช่แค่เพียงจะทำให้โลกของราวกับหยุดหมุน จากที่ผู้คนทั่วโลกต้องติดอยู่กับบ้านด้วยมาตรการล็อกดาวน์เพื่อหยุดการแพร่ระบาด แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็ทำให้เกิดการอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คนจำนวนมาก ทั่วโลกเกิดปรากฏการณ์ที่คนเริ่มย้ายออกมาจากเมืองใหญ่ๆ ไปอยู่ตามเมืองรองหรือชนบท ซึ่งในหลายครั้งไม่ใช่แค่การย้ายออกชั่วคราวเพื่อหนีโรคระบาด แต่ผู้คนจำนวนมากย้ายออกอย่างถาวรด้วยเหตุผลต่างๆ รวมทั้งหลายประเทศยังพยายามใช้โอกาสนี้ออกนโยบายสนับสนุนให้ผู้คนย้ายถิ่นออกจากเมืองใหญ่เพื่อลดการแออัด
ในประเทศไทยก็มีการกระจุกตัวของประชากรในเมืองใหญ่สูงด้วยเช่นกัน เมื่อเกิดการแพร่ระบาดเกิดขึ้น อัตราการย้ายถิ่นกลับต่างจังหวัดของแรงงานก็มากขึ้นตามไปด้วย โดยเหตุผลหลักมาจากการถูกเลิกจ้างหรือลดเวลางาน ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันภาคการเกษตรที่เคยดูดซับผู้คนที่ตกงานได้ในอดีตนั้น ไม่สามารถหล่อเลี้ยงแรงงานอพยพจำนวนมากที่ย้ายถิ่นกลับชนบทได้อีกต่อไป
ปรากฎการณ์นี้ได้ทำให้อัตราการว่างงานในต่างจังหวัดเพิ่มสูงขึ้นอยู่ช่วงหนึ่ง และด้วยการช่องว่างความเจริญทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองใหญ่และต่างจังหวัดในไทยห่างกันมาก หลายเสียงจึงบอกตรงกันว่าการย้ายกลับไปสร้างเนื้อสร้างตัวในต่างจังหวัดนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายหรือสวยหรูอย่างที่ถูกนำเสนอตามหน้าสื่อ
ปรากฎการณ์ทั่วโลกคนย้ายออกจากเมืองใหญ่
โควิด-19 ทำให้เกิดการอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คนจำนวนมาก ทั่วโลกเกิดปรากฏการณ์คนย้ายออกมาจากเมืองใหญ่ไปอยู่ตามเมืองรองหรือชนบท | ที่มาภาพ: denisbin (CC BY-ND 2.0)
การเข้ามาของโควิด-19 ทำให้เราได้รู้จักศัพท์เกี่ยวกับการทำงานอย่าง “Work from home” หรือ “Digital nomad” ที่เป็นเหมือนการทำงานรูปแบบใหม่หลังการแพร่ระบาด เกี่ยวโยงกับรูปแบบการทำงานที่ไม่ยึดติดกับพื้นที่ออฟฟิศ ที่ถึงแม้ยุคสมัยของการหวาดกลัวโควิด-19 จะหมดไปแล้ว แต่ในหลายองค์กรยังคงการทำงานรูปแบบนี้ไว้อยู่ แต่ไม่ใช่มีแค่เพียงการเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน หรือย้ายสถานที่ทำงานเพียงชั่วคราวเท่านั้น หลังจากการแพร่ระบาดยังพบปรากฎการณ์ที่ผู้คนต่างลาออกจากงาน และย้ายออกจากเมืองใหญ่อย่างถาวรอีกด้วย
กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา รายงานตัวเลขคนลาออกจากงานในเดือน ส.ค. 2654 ว่ามีจำนวนสูงถึง 4.3 ล้านคน ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2543 เป็นต้นมาหรือที่เรียกว่า ‘การลาออกครั้งใหญ่’ หรือ Great Resignation ซึ่งผู้ที่เลือกจะลาออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Z (อายุระหว่าง 18-24 ปี) ซึ่งคิดเป็น 77% ตามด้วยกลุ่ม Gen Y (อายุระหว่าง 25-40 ปี) ที่ 63%
นอกนั้นแล้วหลังจากการแพร่ระบาดหลายองค์กรยังประกาศให้มีการ Work from home ทำให้มีตัวเลขคนเดินทางออกจากเมืองใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในจำนวนนั้นมีหลายคนที่เลือกจะย้ายออกมาจากเมืองใหญ่อย่างถาวร เพื่อไปอยู่ในชนบทและเมืองเล็กๆ ในสหรัฐฯ มีการสำรวจโดยศูนย์วิจัย Pew Research ด้วยการวิเคราะห์จากการย้ายที่อยู่ไปรษณีย์ พบว่าในช่วงปีแรกของการแพร่ระบาดมีคนย้ายออกจากเมืองที่มีความหนาแน่นสูงเพิ่มขึ้นถึง 17% โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ อย่าง ลอสแอนเจลิส และนิวยอร์ก มีอัตรานี้สูงขึ้นเป็น 2 เท่าตัว และในเดือน มี.ค. 2563-ก.พ. 2564 พบ 82% ชานเมืองและเมืองรอง ของสหรัฐฯ มีอัตราการย้ายเข้ามากกว่าย้ายออก
ผู้คนส่วนใหญ่ที่เลือกย้ายถิ่นออกจากเมืองใหญ่เป็นคน Gen Z 32% และ Gen Y 26% ซึ่งเหตุผลคือ ต้องการอยู่ไกล้ชิดกับครอบครัวหรือเพื่อนสนิทมากขึ้น 31% ต้องการชีวิตที่ลงตัวกว่าเดิม 27% เปลี่ยนสถานที่ทำงาน 21% ต้องการมีพื้นที่อยู่อาศัยเพิ่ม 18% และเพราะสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้อีก 17 %
ขณะที่ข้อมูลที่รวบรวมโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD จากการสำรวจใน 13 เมืองในยุโรป พบว่าบ้านในเมืองมีราคาที่ถูกลงในช่วงการแพร่ระบาด ในทางกลับกันบ้านในเขตชานเมืองเริ่มมีราคาที่สูงขึ้น สื่อให้เห็นเริ่มความต้องการย้ายออกไปอยู่นอกเมืองที่มากขึ้น
หลังโควิด-19 หลายประเทศออกมาตรการจูงใจให้คนยังอยู่ชนบทต่อไป
ประเทศไอร์แลนด์ ประกาศนโยบาย “Our Rural Future” เพื่อกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ห่างไกล และสนับสนุนการย้ายถิ่นฐานไปยังชนบท | ที่มาภาพ: Green Party Ireland
การที่ผู้คนเริ่มย้ายออกจากเมืองใหญ่ จึงเป็นเหมือนโอกาสที่ดีท่ามกลางวิกฤต ของหลายประเทศที่จะลดความหนาแน่นในเมืองใหญ่ กระจายความเจริญสู่รอบนอก แต่หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง กลับพบว่าตัวเลขคนย้ายที่อยู่ไปรษณีย์กลับเข้ามาในเมืองใหญ่มากขึ้น รวมไปถึงราคาบ้าน และความต้องการบ้านในกลุ่มประเทศ OECD ก็กลับมาเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทำให้เห็นว่าความผู้คนต่างย้ายกลับเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่มากยิ่งขึ้น
การวิเคราะห์ของ OECD มองว่าการที่สาเหตุมาจาก หลายประเทศความเจริญของเมืองเล็กกับเมืองใหญ่ นั้นแตกต่างเหลื่อมล้ำกันมากเกินไป ทั้งเรื่องของระบบโครงสร้างพื้นที่ต่างๆ รวมไปถึงขนาดทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถมีงานรองรับให้กับคนจำนวนมากที่ย้ายเข้าไปอยู่ได้ ทำให้คนกลุ่มที่ตกงานจากวิกฤตการแพร่ระบาด ไม่สามารถมีงานหางานทำได้เมืองเล็กๆ จึงจะเห็นว่าหลายประเทศเริ่มออกมามาตรการต่างๆเพื่อสนับสนุนให้คนสามารถอาศัยอยู่ในชนบทได้ต่อไป
อย่างเช่นช่วงหลังผ่านพ้นวิกฤตการแพร่ระบาด ประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศนโยบาย ที่ให้เงินอุดหนุนแก่ครอบครัวที่ย้ายออกจากเมืองโตเกียวไปยังเมืองชนบท โดยแจกเงิน 1 ล้านเยนต่อครอบครัวที่มีเด็กอย่างน้อย 1 คน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาประชากรกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวง และหลายเมืองในต่างจังหวัดที่มีคนอาศัยอยู่เบาบางเกินไป รวมทั้งมีการลงทะเบียนเก็บข้อมูลผู้ย้ายถิ่นเพื่อจะจัดสรรที่ดินให้
หรือการที่ ปี 2564 รัฐบาลประเทศไอร์แลนด์ ประกาศนโยบาย “Our Rural Future” เพื่อกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ห่างไกล และสนับสนุนการย้ายถิ่นฐานไปยังชนบท โดยตั้งเป้าย้ายหน่วยงานราชการหลายอย่าง ที่มีอัตราพนักงานรวมถึง 68,000 คน ออกจากดับลินเมืองหลวงไปยังพื้นที่เมืองอื่น ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ รวมไปถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วประเทศ มีนโยบายด้านภาษีให้กับบริษัทที่อนุญาตให้คนทำงานที่บ้านได้ สนับสนุนเงินให้แก่องค์กรท้องถิ่น เพื่อปรับปรุงอาคารว่างเปล่าให้เป็นศูนย์กลางการท่างานทางไกล
ประเทศไทยแรงงานย้ายกลับต่างจังหวัดมากขึ้น
ในกรณีของไทยก็มีปรากฎการณ์คนย้ายออกจากเมืองใหญ่ไม่ต่างกันกับในต่างประเทศ แต่ด้วยความกระจุกของประชากรที่สูงทำให้เห็นปรากฎการณ์นี้ได้ชัดเจนกว่าหลายๆ ประเทศด้วยซ้ำ
ช่วงต้นของการระบาดเมื่อปี 2563 จากการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ข้อมูล (data) ผ่านโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้เครือข่ายดีแทค พบว่าในช่วงวันที่ 20-26 เม.ย. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์หลายอย่างได้มีการประกาศใช้แล้ว เช่น การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการกำหนดเคอร์ฟิว ในช่วงดังกล่าวพบว่าคนไทยใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคมากกว่าในช่วงต้นเดือน มี.ค. ประมาณ +9.58% อย่างไรก็ตาม เมื่อดูข้อมูลแยกแต่ละภูมิภาค พบว่าการใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แทบไม่เพิ่มขึ้นเลยในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ทั้งที่ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเกือบ +10% โดยในช่วงวันที่ 20-26 เม.ย. 2563
การใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคในพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นเพียง +0.12% จากช่วงต้นเดือน มี.ค. และหากรวมเขตปริมณฑลเข้าไปด้วย การใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคก็ยังเพิ่มขึ้นเพียง +3.65% เท่านั้น ในขณะที่การใช้ข้อมูลจากพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน และใต้ เพิ่มขึ้น +16.15%, +13.52% และ +16.48% ตามลำดับ ดังนั้นจากข้อมูลดังกล่าว ทำให้พอสรุปได้ว่าในระหว่างที่เกิดการระบาดของโควิด-19 น่าจะเกิดการย้ายถิ่นฐานของคนไทย จากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ออกสู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะสู่ภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้
สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าปี 2563 มีผู้ย้ายถิ่น 1.05 ล้านคน เพิ่มขึ้น 60% จากปี 2562 หรือคิดเป็น อัตราการย้ายถิ่น 1.5% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 7 ปี ซึ่งส่วนใหญ่ย้ายออกจากเมืองเศรษฐกิจ และท่องเที่ยวใหญ่ๆ จังหวัดที่มีการย้ายออกมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ ชลบุรี และภูเก็ต
การสัมภาษณ์แรงงานนอกระบบที่เป็นเครือข่ายของศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานจุฬาฯ พบว่า แรงงานที่ย้ายถิ่นกลับบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรายได้น้อย ลูกจ้างรายวัน เป็นแรงงานหญิงในภาคบริการ โรงแรม และภัตตาคาร สะท้อนว่าแรงงานจำนวนมากถูกเลิกจ้าง ถูกลดชั่วโมงทำงาน ขาดรายได้และไม่สามารถแบกรับค่าครองชีพในเมืองใหญ่ได้ ส่งผลให้ตัวเลขการว่างงานในต่างจังหวัดมีตัวเลขสูงขึ้น
ภาคการเกษตรไม่อาจรองรับได้เหมือนเดิม - ไม่ใช่ทุกคนที่ประสบความสำเร็จในการย้ายกลับบ้าน
การย้ายกลับไปสร้างเนื้อสร้างตัวในต่างจังหวัดนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายหรือสวยหรู อย่างที่ถูกนำเสนอตามหน้าสื่อ เพราะภาคการเกษตรไม่อาจรองรับได้ดังเดิม ไม่ใช่ทุกคนที่ประสบความสำเร็จในการย้ายกลับบ้าน | ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
ปรากฎการณ์การเคลื่อนย้ายออกจากเมืองใหญ่เช่นนี้ เคยเกิดขึ้นในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 โดยมีภาคการเกษตรที่คอยดูดซับแรงงานย้ายถิ่นเหล่านี้ งานศึกษาจากสภาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากร ชี้ให้เห็นว่าภาคการเกษตรไทยแตกต่างจากเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เนื่องจาก 76% ของครัวเรือนเกษตรไทยพึ่งพิงรายได้จากนอกภาคเกษตร และมีครัวเรือนถึง 62% ที่พึ่งพิงรายได้จากการรับจ้างทั่วไปนอกภาคเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่เข้าไม่ถึงชลประทาน และครัวเรือนที่ขาดทุนจากการทำเกษตร และกว่า 40% พึ่งพิงเงินโอนจากญาติที่ไปทำงานต่างจังหวัด
เท่ากับว่าภาคการเกษตรไม่สามารถรองรับผู้คนที่ตกงานกลับบ้านได้เหมือนดังก่อน หลังโควิด-19 มีครัวเรือนเกษตรกรที่ มีแรงงานตกงานหรือถูกลดเวลาทำงาน ถึง 75% โดยมีจำนวนเฉลี่ย 1.5 คนต่อครัวเรือน แต่พบว่าภูมิภาคที่มีสัดส่วนนี้มากที่สุดกลับภาคเหนือและภาคใต้ (90%) ตามมาด้วยภาคอีสาน (75%) เนื่องจากภาคใต้มีแรงงานในภาคบริการที่พึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสูง
จึงเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องทำให้รายได้ของเกษตรกรในต่างจังหวัดลดลง ส่วนทางกับรายจ่ายที่มากขึ้น และหนี้สินของเกษตรกรก็มีตัวเลขเพิ่มมากขึ้นหลังการแพร่ระบาด ในทางกลับกันในต่างจังหวัดก็มีแรงงานจำนวนมากที่พร้อมทำงาน จึงเป็นโจทย์สำคัญในการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้รองรับคนเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ในการกระจายความเจริญ ลดความแออัดในเมืองใหญ่ของประเทศในระยะยาว
ไม่ใช่แค่ภาคเกษตรเท่านั้น การย้ายกลับไปทำอาชีพอื่นๆ ที่บ้านเกิด ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทุกคน และบ่อยครั้งการหันกลับสู่เมืองใหญ่อีกครั้งก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้
ต้นปี 2566 เมื่อการแพร่ระบาดคลี่คลาย]’ เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง แม้ปัจจุบันรายงานการย้ายถิ่นของภาครัฐประจำปี 2565 ยังไม่ออกมาให้ดู แต่ก็คาดการณ์ได้ว่าจะมีประชากรจำนวนมากที่ย้ายถิ่นกลับเข้ามาในเมืองใหญ่อย่างแน่นอน
“มันไม่ใช่เรื่องง่ายหรือสวยหรูขนาดนั้น เราย้ายกลับบ้านเพราะจำเป็น” โมส อายุ 30 ปี มัคคุเทศก์บริษัททัวร์ จากชลบุรี เล่าถึงสาเหตุที่ต้องย้ายกลับบ้านเกิดยังจังหวัดกาฬสินธุ์ในปี 2563 หลังจากไทยปิดประเทศเพราะการแพร่ระบาด ไม่กี่เดือนต่อมาบริษัททัวร์ที่ทำงานอยู่ก็ต้องปิดตัวลง
“มันไม่ง่ายที่คนจะกลับมาตั้งตัวที่บ้านได้ ขนาดผมพอจะมีทุนอยู่บ้าง เศรษฐกิจมันต่างกันเยอะ” โมสกล่าว
หลังจากกลับมาอยู่ที่บ้าน โมสได้ใช้เงินเก็บที่มีเปิดร้านอาหารตามสั่ง แต่ยอดขายไม่ได้ดีมากแต่พอจะทำให้มีรายได้เข้ามาบ้าง โดยมองว่าการที่คนรุ่นใหม่ที่จะกลับมาตั้งตัวในต่างจังหวัดเป็นเรื่องยากหากไม่มีเงินทุนมากพอ เนืองจากความเจริญทางเศรษฐกิจที่ไม่ไกล้เคียงกับเมืองใหญ่ๆ
“เพื่อนที่รู้จักเรียนจบก็ไปทำงานกรุงเทพกันส่วนใหญ่ พอโควิดมาก็ Work from home ที่บ้าน พอโควิดหมดถึงกลับไปทำงานที่เดิม” โมสกล่าว
เขามองว่าไทยควรสนับสนุนการกระจายงานตามต่างจังหวัดให้มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยช่วงการแพร่ระบาดน่าจะเป็นโอกาสที่ดี ส่วนตัวกลับมองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันโมสได้เดินทางกลับไปทำงานที่บริษัทท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่จังหวัดชลบุรีแล้ว.
ข้อมูลประกอบ :
Has Covid-19 trigged an urban exodus ? (OECD,12 May 2022)
Remote work: should I stay or should I go? (Jose Enrique Garcilazo, 08 October 2021)
31% of young adults relocated during Covid. But they aren’t giving up on cities altogether ( Lorie Konish ,CNBC,15 March 2021)
The Pandemic Prompted People to Move, But Many Didn’t Go Far (Tim Henderson,Pew trust, 23 March 2022 )
สำรวจการ เคลื่อนย้ายถิ่นฐานของคนไทย จากข้อมูลการใช้เครือข่ายดีแทคในช่วง Covid19
เทรนด์การย้ายออกจากเมืองใหญ่ ภูมิภาคไทยควรเตรียมความพร้อมอย่างไร (จิตสุภา สุขเกษม อวิกา พุทธานุภาพ,ธนาคารแห่งประเทศไทย)
ครัวเรือนเกษตรไทยในวิกฤติโควิด-19 (สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๋งภากร, 15 พฤษภาคม 2563)