สุรพศ ทวีศักดิ์: ตอบเรืองวิทย์ เรื่องลามพระลามเจ้า?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ขอบคุณเรืองวิทย์ เกษสุวรรณครับ ที่วิจารณ์บทความผมอีกครั้ง ใช้ชื่อบทความน่ารักเลยว่า “แพะกับแกะคล้ายกัน” (https://prachatai.com/journal/2023/03/103180) ผมคิดว่ามีบางประเด็นที่อยากแลกเปลี่ยน เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจประเด็น “พุทธศาสนากับรัฐและการเมือง” ที่ผมวิจารณ์มาตลอดให้ชัดขึ้น และเป็นประเด็นที่ผู้อ่านจะได้พิจารณาในแง่มุมที่กว้างและลึกมากขึ้นด้วย 

1) เรืองวิทย์เขียนว่า “ความจริงเรื่องวงศาวิทยาของนีทเชอไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการค้นหากำเนิดว่าศาสนาพุทธมาจากชนชั้น เห็นได้ง่ายๆ ถ้าเราเอาวงศาวิทยาของนีทเชอออกไปจากการวิเคราะห์ เราก็ยังถกเถียงกันว่าศาสนาพุทธเกิดจากชนชั้นอยู่ดี มิหนำซ้ำการถกเถียงกันว่าศาสนาพุทธเกิดจากชนชั้นน่าจะมีมาตั้งแต่นิทเชอยังไม่ได้เกิด...” 

มันไม่เกี่ยวกับ “นีทเชอยังไม่ได้เกิด” หรือ “มีการถกเถียงเรื่องพุทธศาสนากับชนชั้นมาก่อนนีทเชอเกิด” ดอกครับ ต่อให้เป็นแบบนั้น ใครๆ ก็นำความคิดของนีทเชอมาวิจารณ์พุทธได้ และช่วยให้เห็น “ปัญหาอีกแง่มุมหนึ่ง” ที่ต่างจากการพูดถึงชนชั้นแบบพุทธจากมุมมุมองอื่นๆ ซึ่งเกิดประโยชน์ทางความคิดครับ

เรื่องความเห็นทางวิชาการ ก็ไม่มีใครถูกหรือผิดอย่างสัมบูรณ์หรอก จึงไม่ใช่จะพยายามบอกว่าการแปลหรือตีความแบบนั้นผิดแน่ๆ ไม่ควรทำอะไรแบบนั้น (?) เพราะที่เรืองวิทย์สาธยายทฤษฎีเยอะแยะ ก็เป็นเพียงการเสนอมุมมองหนึ่งที่มีเหตุผลอีกด้าน จึงไม่ได้หักล้างประเด็นปัญหาที่ผมเสนอให้เห็นจากการใช้มุมมองแบบนีทเชอมาวิจารณ์พุทธได้จริงหรอก
 
ประเด็นพื้นฐาน คือ ใน “วงศาวิทยาของศีลธรรม” นีทเชอสืบสาวทางประวัติศาสตร์หาต้นกำเนิดของศีลธรรมว่า ศีลธรรมเกิดขึ้นได้อย่างไร สังคมมนุษย์ใช้ศีลธรรมกันอย่างไร ชนชั้นไหนได้ประโยชน์จากชุดความเชื่อศีลธรรมนั้นๆ และนีทเชอก็วิจารณ์ทั้งศีลธรรมแบบปรัชญากรีกโบราณ คริสต์ศาสนา ศาสนาอื่นๆ วิจารณ์ปรัชญาศีลธรรมแบบคานท์ รวมทั้งวิจารณ์วิทยาศาสตร์ ประชาธิปไตย และสังคมนิยมด้วย คือนีทเชอเขาวิจารณ์หมดแหละ ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร และไม่เกี่ยวกับว่าเขาจะเกิดทีหลัง แต่อยู่ที่ว่าเขาวิจารณ์อย่างไร 

ข้อวิจารณ์อย่างหนึ่งของนีทเชอคือ “ศีลธรรมเป็นเรื่องของชนชั้น” แยกเป็น “ศีลธรรมแบบนาย” และ “ศีลธรรมแบบทาส” อย่างแรก คือศีลธรรมที่แสดงสถานะ อำนาจ อุปนิสัย มารยาทของชนชั้นสูงหรือชนชั้นปกครอง อย่างหลังแสดงความเชื่อฟัง อุปนิสัย มารยาทของชนชั้นผู้ถูกปกครอง หรือคนส่วนใหญ่ที่เชื่อฟัง และทำตามคำสั่ง หรือเชื่อ และทำอะไรตามๆ กันโดยไม่ตั้งคำถาม และไม่ได้เลือกจากความซื่อสัตย์ต่อความรู้สึก หรือความต้องการแท้จริงของตนเอง 

อย่างหลัง บางทีนีทเชอเรียก “ศีลธรรมแบบสัตว์ฝูง” หรือ “herd morality” คือ การยึดความเชื่อของกลุ่มหรือพวกตัวเอง ฝ่ายตัวเองเท่านั้นถูกต้อง เหนือความเชื่อของกลุ่มอื่น ฝ่ายอื่น เช่น ศาสนาของพวกฉันเท่านั้นถูก ศาสนาคนอื่นผิด หรือด้อยกว่า ถ้าเชื่อว่าอะไรดีหรือสูงส่งที่สุด ก็ปกป้องสิ่งนั้นอย่างไม่เลือกวิธีการว่าจะถูกหรือผิด (ไม่เคยมีปรากฏการณ์อ้างศีลธรรมแบบนี้ในสยาม-ไทยเลยหรือ ถึงไม่ควรใช้ไอเดียแบบนีทเชอมาวิจารณ์?)

เมื่อนำมุมมองแบบนีทเชอมาวิจารณ์ “พุทธศาสนาไทย” ที่ผมเรียกว่า “พุทธศักดินา-พุทธราชาชาตินิยม” ก็จะเห็นระบบความเชื่อทางศีลธรรมแบบนายและแบบทาส นั่นคือ ศีลธรรมของชนชั้นปกครองที่ “ถูกใช้” ให้ความชอบธรรมกับสถานะและอำนาจที่แตะไม่ได้ของชนชั้นปกครอง และศีลธรรมของชนชั้นผู้ใต้ปกครองที่ต้องเชื่อฟังจงรักภักดีอย่างปราศจากคำถาม และวิจารณ์ (นี่พูดโดยภาพรวม ไม่ใช่ไม่มีใครถามหรือวิจารณ์เลย แต่คนที่ถามและวิจารณ์ ก็คือ “ผู้ขบถ” ต่อระบบศีลธรรมแบบนายและแบบทาส เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นต้น) 

ทีนี้ที่ผมวิจารณ์ “ทฤษฎีไก่ในกรง” ของพุทธทาส, ป.อ. ปยุตฺโต และประเวศ วะสี ซึ่งปัญญาชนพุทธทั้งสามพูดทำนองเดียวกันบ่อยๆ ว่า “คนไทยเหมือนไก่ในกรงที่จิกตีกันเอง” ผมก็ถามว่า แล้ว “กรง” ที่ขังไก่ล่ะ ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ไก่จิกตีกันหรือ ซึ่งกรงผมหมายถึงระบบโครงสร้างทางการเมืองและศาสนจักรที่ขังคนไทยไม่ให้มีเสรีภาพและประชาธิปไตย คำถามนี้โยงกับ “ข้อเท็จจริง” ที่ว่า การอ้างวาทกรรมเผด็จการโดยธรรม, ธรรมาธิปไตยไม่มาจึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ, สัมมาปัญญา สัมมาปฏิบัติที่ผ่ามาของปัญญาชนพุทธทั้งสามทำไมถึงมุ่งวิจารณ์นักการเมืองและประชาชนเป็นด้านหลัก แต่ไม่เคยตั้งคำถามต่อ “การปกครองในนามธรรมะ” ของพุทธศาสนาเลย นี่เป็นการอ้างธรรมะทางการเมืองแบบ “ผิดฝาผิดตัว” หรือไม่ เป็นต้น (ซึ่งเรืองวิทย์ก็ไม่อภิปรายเลยว่าคำถามผมผิดจากข้อเท็จจริงยังไง)

การที่อ้างธรรมะ หรือความเชื่อพุทธศาสนามาวิจารณ์สังคมการเมืองแบบนั้น สะท้อนว่า “จุดยืน” ในเชิงอุดมคติทางศีลธรรมและการเมืองของปัญญาชนพุทธ ก็คือ “สาแหรก” ของอุดคติการปกครองโดยธรรมตามคติพุทธเถรวาทใช่หรือไม่ คำถามนี้ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมธรรมะ ศีลธรรมจึงมีไว้วิจารณ์ไก่ หรือคนไทยที่จิกตีกัน แต่ไม่ตั้งคำถามหรือวิจารณ์อำนาจที่ครองศีลธรรมแบบนายเลย

2) แทนที่เรืองวิทย์จะโต้ “ประเด็นปัญหา” ที่ผมพูดตรงๆ แต่กลับสรุปเกินไปจากประเด็นที่ผมพูด เช่นว่า “...ส่วนในศาสนาพุทธเองก็มีวิชาสอนว่าเราควรเชื่อเอกสารชั้นไหน เพราะอะไร แต่ไม่ใช่อย่างที่อาจารย์สุรพศ สรุปว่าศาสนาพุทธเกิดจากชนชั้น แล้วตีความลามพระ-ลามเจ้าว่า ศาสนาใช้ไม่ได้เลย ศาสนาพุทธไม่รับใช้ประชาธิปไตยแล้วศาสนาจะใช้ไม่ได้เลย หรือศาสนาพุทธไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวทางสังคมและทางการเมืองแล้วศาสนาจะใช้ไม่ได้เลย ในทางกลับกัน จะให้ศาสนาพุทธไม่มีชนชั้นต้องทำอย่างไร จะให้ศาสนาพุทธรับใช้ประชาธิปไตยจะต้องทำอย่างไร หรือจะให้ศาสนาพุทธสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองจะต้องทำอย่างไร การสรุปว่าศาสนาพุทธเกิดจากชนชั้นนั้น มันไม่ง่ายไปหน่อยหรือ?? ให้ข้อคิดสักหน่อยเป็นไรว่าจะปฏิรูปพุทธศาสนาอย่างไร???”

ที่จริงผมไม่เคย “สรุปเหมารวม” หรอกครับว่า “ศาสนาพุทธเกิดจากชนชั้น” แต่ผมพูดแยกแยะมาตลอด (เรืองวิทย์อาจไม่เคยอ่าน แต่ที่อ่านในบทความผมก็ไม่มีหรอกที่ผมเขียนว่า “ศาสนาพุทธเกิดจากชนชั้น” จึงแปลกใจว่าทำไมเรืองวิทย์เขียนข้อความนี้ซ้ำๆ) ว่าพุทธตามคัมภีร์ไตรปิฎก สังฆะไม่มีชนชั้น ไม่มีศักดินาพระ พุทธะและสังฆะมีอิสรภาพปกครองตนเอง แต่ “พุทธแบบไทย” เป็นพุทธที่ประกอบสร้างชนชั้น คือ “พุทธศักดินา-พุทธราชาชาตินิยม” ที่สถาปนาเจ้าเป็นสมมติเทพ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว และเป็นพุทธที่เป็นหนึ่งในอุดมการณ์รัฐ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” โดยเจ้าก็ตั้งศักดินาพระ ตั้งศาสนจักร และปกครองทั้งอาณาจักร และศาสนจักร 

ไทยไม่ได้แยกรัฐกับศาสนา จะบอกว่าพุทธคือพระ เจ้าคือผู้มีอำนาจรัฐที่ไม่เกี่ยวกับพุทธไม่ได้ เพราะอำนาจรัฐก็มีความชอบธรรมจากหลักการปกครองโดยธรรมตามคติพุทธ ดังนั้น เวลาพูดถึง “พุทธศาสนาไทย” จะแยกออกมาพูดเฉพาะพระเพียวๆ โดยไม่พูดถึง “การปกครองหรือการใช้อำนาจในนามธรรมะปกครองทั้งบ้านเมืองและศาสนจักร” ของชนชั้นปกครองไม่ได้หรอก นี่คือ “ข้อเท็จจริง” การพูดความจริงแบบนี้ จะหาว่า “ลามพระลามเจ้า” ได้อย่างไร 

ที่แย่มากคือ การที่เรืองวิทย์ “กล่าวหา” ว่า ผมสรุปว่า “ศาสนาพุทธไม่รับใช้ประชาธิปไตยแล้วศาสนาจะใช้ไม่ได้เลย หรือศาสนาพุทธไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวทางสังคมและทางการเมืองแล้วศาสนาจะใช้ไม่ได้เลย” ตรงไหนหรือครับที่ผมเขียนแบบนี้ 

ตามที่ผมวิจารณ์หลักๆ เลย คือ (1) ทำไมเมื่อตีความพุทธทางการเมือง จึงเน้นวิจารณ์ว่า นักการเมือง และประชาชนไม่มีธรรมะ ไม่ถือธรรมาธิปไตย ทั้งๆ ที่ในระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองและประชาชนไม่เคยประกาศเป็นสัญญาประชาคมว่าจะใช้ธรรมะ หรือหลักความเชื่อศาสนาใดๆ เป็นแนวทางปฏิบัติในทางการเมือง แต่กลับไม่เคยตั้งคำถามและวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และศาสนจักรที่ถือธรรมะ หรือธรรมาธิปไตยโดยตรง และ (2) โดยกฎมหาเถรสมาคมห้ามพระทั่วราชอาณาจักรสอน บรรยาย อภิปรายสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย หรือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน ขณะที่มีคำสั่งให้พระทั่วประเทศสอนประชาชนให้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ (นี่แปลว่าศาสนาไม่เกี่ยวการเมือง?) แต่ศาสนจักรพุทธ และสำนักพุทธฯ รับงบประมาณจากภาษีประชาชน พระสังฆาธิการ พระมีสมณศักดิ์รับเงินนิตยภัตรายเดือนจากภาษีประชาชน นี่เป็นปัญหาเสรีภาพในการสอนศาสนาของพระหรือไม่? เป็น “ปัญหาศีลธรรมสาธารณะ” หรือไม่? เราควรตั้งคำถามไม่ใช่หรือครับ 

สองเรื่องข้างบน คือ “ประเด็นหลัก” ที่ผมวิจารณ์ “พุทธไทยที่มีบทบาทเกี่ยวข้องการเมือง” ส่วน “คำสอนหลวงพ่อชา” เป็นต้น ที่ไม่สอนเรื่องการเมือง และความเชื่อพุทธบ้านๆ ทั่วไปผมไม่เคยวิจารณ์หรอกครับ เพราะผมรู้ว่าศาสนามีประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกอย่างผมไม่ได้เรียกร้องให้พระมาเคลื่อนไหวการเมือง หรือไม่เคยเรียกร้องให้เคลื่อนไหวการเมืองโดยอ้างพุทธศาสนา หรือศาสนาไหนๆ แต่ผมตั้งคำถามต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบอ้าง “ธรรมนำหน้า” เป็นต้น ว่ามันขัดหลักการประชาธิปไตยโลกวิสัยไหม? 

ส่วนการตีความพุทธศาสนาทางการเมืองแบบพุทธทาส, ปยุตฺโต, ประเวศ เป็นต้นผมก็บอกไปแล้วว่ามี “เนื้อหาความคิด” ด้านที่ “เหลื่อม” หรือ “สอดคล้องกับปประชาธิปไตย” อยู่ แต่ผู้ปกป้องความคิดของปัญญาชนทั้งสาม ก็ควรเรียนรู้จากทะไลลามะด้วยว่าการตีความพุทธศาสนาสนับสนุน “ความเป็นคนเท่ากัน” หรือสิทธิมนุษยชนนั้นเขาทำอย่างไรจึง “ไม่ย้อนแย้ง” แบบพุทธไทย (ดู https://prachatai.com/journal/2023/03/103148)

จุดยืนผมคือแนวคิดโลกวิสัย (secularism) ครับ ไม่ใช่จุดยืนเรียกร้องให้พุทธศาสนามาสนับสนุนประชาธิปไตย (เพียงแต่เสนอว่า ถ้าคุณจะนำมาสนับสนุนควรทำอย่างไร เช่นเรียนรู้ “บางเรื่อง” จากทะไลลามะเป็นต้น) ตามจุดยืนแนวคิดโลกวิสัย ศาสนาไม่เกี่ยวการเมืองเลยดีที่สุด แต่มันจะไม่เกี่ยวได้จริง ต้องแยกศาสนาจากรัฐ เมื่อศาสนาไทยไม่แยกจากรัฐ แนวคิดโลกวิสัยจึงตั้งคำถาม และวิจารณ์บทบาทของศาสนจักร พระ ผู้นำศาสนา หรือการตีความศาสนาทางการเมืองโดยบุคคลใดๆ การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อ้างศาสนาโดยกลุ่มใดๆ ว่าเป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตยโลกวิสัยหรือไม่ อย่างไร

3) การใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ยุคก่อน 2475 ย้อนไปถึงยุคสุโขทัย เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่หลัง 2475 ถึงปัจจุบันเกือบ 100 ปีแล้ว ก็ยังมีการใช้อุดมคติทางศีลธรรมและการเมืองแบบพุทธศักดินา-พุทธราชาชาตินิยมมาตลอด เช่น ในหนังสือ “การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” ทักษ์ เฉลิมเตียรณ (น. 197) พูดถึงความคิดแบบพุทธไทยจากปลายปากกานักเขียนยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เขาเขียนว่า

“ประชาชนชาวไทยโดยทั่วไปไม่ประสงค์จะมีส่วนในการปกครอง ปรารถนาแต่เพียงให้ผู้ปกครองเป็นผู้มีคุณธรรมและมีความสามารถ เพราะประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าอำนาจในการปกครองประเทศเป็นของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นบุญญาธิการโดยกำเนิด และเจ้านายที่มีบุญวาสนาเท่านั้น ความรู้สึกแบ่งชั้นวรรณะระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองเป็นไปอย่างเด็ดขาด...ชนชั้นทั้งสองไม่มีฐานะเท่าเทียมกันไม่ว่ากรณีใด

นี่คือความคิดพื้นฐานแบบพุทธศักดินา-พุทธราชาชาตินิยม ที่สืบย้อนไปถึงไตรภูมิพระร่วง ที่ถูกนำมาใช้สนับสนุน “ประชาธิปไตยแบบไทย” ตามนิยามยุคสฤษดิ์ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยที่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ ขอให้เป็นคนดีมีคุณธรรมและความสามารถสร้างความสามัคคีของคนในชาติ และปกป้องความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 

สังเกตว่ารัฐประหารเพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ครั้งสำคัญๆ มักตามาด้วยการฟื้นฟูอุดมคติทางศีลธรรมและทางการเมืองแบบพุทธฯ เช่นเดียวกับยุคสฤษดิ์ เช่นใน “บริบท” การต่อสู้ของ “ฝ่ายเสื้อเหลือง” และรัฐประหาร 2549 มีการฟื้นอุดมคติดังกล่าวมาใช้ออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่ชื่อเป็นภาษาพุทธว่า “สัปปายะสภาสถาน” ที่อธิบายไว้ในเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้าถึง “อุดมคติทางศีลธรรม” ว่า

“ปัญหาการแสดงความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองที่แตกต่างกันของคนในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากคุณธรรมและศีลธรรมของคนในสังคมเสื่อมลง รัฐสภาจึงเป็นศูนย์รวมแห่งความหวังของประชาชนและสังคมทั่วไป โดยให้อาคารรัฐสภาเป็นสัปปายะของบ้านเมือง กล่าวคือ เป็นสถานที่แห่งปัญญา เป็นศูนย์รวมจิตใจและการมีส่วนร่วมกันของของคนทั้งชาติ รวมทั้งเป็นสภาที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นหลักของบ้านเมืองในเรื่องศีลธรรม คุณธรรม และการปกครองโดยธรรม”

อุดมคติทางศีลธรรมตามข้อความว่า “ศีลธรรม คุณธรรม และการปกครองโดยธรรม” ย่อมเชื่อมโยงกับ “อุดมคติเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์” ที่ว่า “ประเทศไทยมีศูนย์รวมจิตในที่สำคัญสูงสุดที่ทำให้แตกต่างจากชาติอื่นๆ ในโลก คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงดำรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรมในการปกครองประเทศ...” ทำให้เราเห็นหน้าตาอุดมคติทางศีลธรรมและการเมืองแบบพุทธศักดินา-พุทธราชาชาตินิยมอย่างชัดเจน

ดังนั้น เวลาวิจารณ์ประเด็นพุทธศาสนากับการเมือง ผมไม่ได้พูดถึงเฉพาะความคิดและบทบาทของพระที่ตีความพุทธศาสนาวิจารณ์การเมืองและสังคม หรือเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่พูดถึงปัญญาชนพุทธฆราวาสด้วย พูดถึงการนำอุดมคติทางศีลธรรมและการเมืองแบบพุทธมาใช้เป็น “อุดมคติของรัฐ” ด้วย 

ซึ่งเมื่อมองจากไอเดียนีทเชอ มันทำให้เห็นไงครับว่า ทำไมในปฏิบัติการทางการเมือง กฎหมาย และศีลธรรมในบ้านเรา จึงเป็นการทำอะไรตามๆ กันอย่างปราศจากการตั้งคำถามถึงความชอบธรรมตามหลักการประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ ซึ่งเป็นลักษณะของ herd morality คือเป็นการทำอะไรตามๆ กันของบรรดาผู้เชื่อฟังและเกรงกลัวอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นปกครอง 

ถ้ามี “ขบถ” ต่อ herd morality เช่นมี “นักวิชาการชื่อใหญ่ๆ” สักคนลุกขึ้นตั้งคำถามเช่นว่า “เฮ้ย ตะวัน-แบมแค่ทำโพลถามเรื่องขบวนเสด็จก็โดน 112 ด้วยหรือ แค่เรียกร้อง 3 ข้อที่ถูกต้องชอบธรรมตามหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยหมดเลย ทำไมต้องถึงกับจะต้องเอาชีวิตเข้าแลก ท่ามกลาง ‘ความเงียบกริบ’ ของสังคมที่ปฏิบัติตาม herd morality” ผมว่าถ้ามีถามกันแบบนี้ เราอาจได้เห็น Super Hero ตามความคิดนีทเชอ อย่างที่เรืองวิทย์พูดถึงบ้างกระมัง

ทั้งหมดนี้ ผมแค่ต้องการบอกว่า ถึงนีทเชอจะเกิดทีหลังเขาก็วิจารณ์ปรัชญาศีลธรรมและศาสนาต่างๆ หมดเลยนะ วิจารณ์ปรัชญาศีลธรรมแบบกรีก แบบคานท์ รวมทั้งวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย และสังคมนิยมด้วยอย่างที่ว่ามาแล้ว ผมไม่ได้เห็นด้วยกับนีทเชอทุกอย่างหรอก แต่มีมุมมองบางอย่างของเขาเมื่อนำมาใช้ “มองพุทธไทย” แบบที่ทำงานอยู่จริง และพยามนำเข้ามาเป็นอุดมการณ์รัฐด้วยวิธีการต่างๆ มาตลอด หรือมีการทำให้อุดมคติทางศีลธรรมแบะการเมืองแบบพุทธฯ “ลาม” เข้ามากดทับสิทธิ เสรีภาพ ความสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และประชาธิปไตยมากขึ้นๆ ดังที่ว่า มันทำให้เห็นปัญหาสำคัญบางอย่างที่อยากชวนให้คิดต่อว่าเราจะช่วยกันหาทางออกได้อย่างไร

อีกอย่าง ผมแค่อยากเคลียร์เรื่องวาทกรรม “ลามพระลามเจ้า” ของเรืองวิทย์ ถ้าเขาเข้าใจฟูโกต์ทะลุดังที่อธิบายในบทความจริง ก็ไม่ควรใช้วาทกรรมแบบนี้กับคนอื่นๆ หรอก และเรืองวิทย์น่าจะรู้ดีอยู่แล้วว่า “กรณีพระพิมลธรรม” ที่เขายกมาในบทความนั้น มันสะท้อน “การใช้กฎหมาย และ herd morality” อย่างมั่วซั่ว (absurd) ชนิดที่ว่า “กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย” และ “ศีลธรรมไม่เป็นศีลธรรม” ภายใต้อุดมคติทางศีลธรรมและการเมืองแบบไหนกัน! ทุกวันนี้ยังเป็นแบบนั้นกันอยู่หรือไม่? ทำไมจึงยังเป็นอยู่ หรือยังจะเป็นต่อๆ ไป? 

 

ที่มาภาพ: https://www.winnews.tv/news/6508

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท