'ธำรงศักดิ์' เปิดโพล 'นักศึกษา Gen Z' ผล 'พิธา-แพทองธาร' นำห่าง ส่วน 26.9% ยังไม่ตัดสินใจ

นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เปิดผลสำรวจคน Gen Z ที่กำลังศึกษาระดับป.ตรี ทั่วประเทศ พบ หนุน 'พิธา' เป็นนนายกฯ อยู่ที่ 29.2% ตามด้วย 'แพทองธาร' 23% ทิ้งห่างที่ 3 คือ 'สุดารัตน์' ที่ได้ 3.3% ส่วน 'ประยุทธ์' ได้ 1.3% นอกจากนี้ 26.9% ยังไม่ตัดสินใจ

 

27 มี.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 25 มี.ค.ที่ผ่ามา เฟซบุ๊ก 'ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์' ของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ รองศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รายงานว่า งานวิจัยส่วนบุคคลของตน  เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคน Gen Z (ช่วงอายุ 18-26 ปี ทั้งประเทศคน Gen Z มีสิทธิเลือกตั้ง 7.67 ล้านคน) ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯและทุกภาคของประเทศ จำนวน 1,050 คน เกี่ยวกับทัศนคติต่อการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566

ผลมีดังนี้

1. ข้อคำถามว่า “ใครคือบุคคลที่ท่านปรารถนาให้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 มากที่สุด”
ผลการวิจัยพบว่า
1) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 29.2 (307 คน)
2) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 23.0 (241 คน)
3) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร้อยละ 3.3 (35 คน)
4) นายเศรษฐา ทวีสิน ร้อยละ 1.7 (18 คน)
5) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 1.3 (14 คน)
6) นายอนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 0.7 (7 คน)
7) นายกรณ์ จาติกวณิช ร้อยละ 0.7 (7 คน)
8 ) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ร้อยละ 0.3 (3 คน)
9) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ร้อยละ 0.2 (2 คน)
10) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ร้อยละ 0 (0 คน)
11) นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริยะ ร้อยละ 0 (0 คน)
12) คนอื่นๆ ร้อยละ 3.0 (32 คน)
13) ยังไม่ได้ตัดสินใจ ร้อยละ 26.9 (282 คน)
14) ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 9.7 (102 คน)

 

2. ข้อคำถามว่า “ท่านจะไปเลือกตั้ง ส.ส. พฤษภาคม 2566 หรือไม่”
ผลการวิจัยพบว่า
1) จะไปเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้ง ร้อยละ 74.8 (784 คน)
2) จะไปเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง ร้อยละ 10.3 (108 คน)
3) จะไม่ไปเลือกตั้ง ร้อยละ 1.0 (11 คน)
4) ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 10.3 (784 คน)
5) ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 3.6 (37 คน)

3. คน Gen Z แสดงออกถึงความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะไปเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 ถึงร้อยละ 85.1 ซึ่งสอดคล้องกับการเก็บข้อมูลก่อนการเลือกตั้งครั้งก่อน (24 มีนาคม 2562) ที่คน Gen Z ต้องการไปเลือกตั้งถึงร้อยละ 88.7 และยังสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของการมาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศปี 2562 ที่มีร้อยละ 74.87

4. สองผู้นำการเมืองรุ่นใหม่จากพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยนำโด่งแบบตีคู่หายใจรดต้นคอกันมา ระหว่างนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กับนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร ทั้งยังมีคะแนนของผู้ยังไม่ได้ตัดสินใจที่มีแนวโน้มจะเลือกหนึ่งในสองผู้นำนี้เป็นสำคัญ ที่จะสามารถแย่งชิงคะแนนเสียงกันได้อีกถึงร้อยละ 26.9

5. คน Gen Z (อายุ 18-26 ปี) มีสิทธิเลือกตั้ง 7.67 ล้านคน หากคาดว่ามาใช้สิทธิอย่างแน่นอนร้อยละ 85.1 ก็ประมาณได้ว่าจะมีคน Gen Z มาใช้สิทธิเลือกตั้งเบื้องต้นราว 6.52 ล้านคน เมื่อคน Gen Z ตัดสินใจเลือกนายพิธา ร้อยละ 29.2 คาดได้ว่านายพิธาจะมีคะแนนนิยมจากคน Gen Z เบื้องต้นราว 1.9 ล้านเสียง ส่วนนางสาวแพรทองธาร ร้อยละ 23.0 จะมีคะแนนนิยมจากคน Gen Z เบื้องต้นราว 1.5 ล้านเสียง ยังมีอีกร้อยละ 26.9 หรือราว 1.75 ล้านเสียงที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร

6. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้คะแนนนิยมจากคน Gen Z ร้อยละ 1.3 หรือเบื้องต้นราว 8.5 หมื่นเสียง ส่วนพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้คะแนนนิยมจากคน Gen Z ร้อยละ 0.3 หรือเบื้องต้นราว 2 หมื่นเสียง

ข้อมูลพื้นฐาน

งานวิจัยทัศนคติของคน Gen Z ต่อการเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 มีผู้ตอบแบบสอบถามรวม 1,050 คน เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 14-25 มีนาคม 2566 (มีประกาศยุบสภาวันที่ 20 มีนาคม)

เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม : หญิง 695 คน (66.2%) ชาย 299 คน (28.5%) เพศหลากหลาย 56 คน (5.3%)

โรงเรียนที่ท่านจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากเขตภูมิภาคใด : กรุงเทพฯ 144 คน (13.7%) ปริมณฑลกรุงเทพฯ (นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ) 96 คน (9.1%) ภาคกลาง 184 คน (17.5%) ภาคเหนือ 80 คน (7.6%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 329 คน (31.3%) ภาคใต้ 217 คน (20.8%)

อายุของผู้ตอบแบบสอบถาม อายุ 18 ปี 90 คน (8.6%) อายุ 19 ปี 416 คน (39.6%) อายุ 20 ปี 271 คน (25.7%) อายุ 21 ปี 129 คน (12.3%) อายุ 22 ปี 63 คน (6.0%) อายุ 23 ปี 30 คน (2.9%) อายุ 24 ปี 13 คน (1.2%) อายุ 25 ปี 7 คน (0.7%) อายุ 26 ปี 31 คน (3.0%)

อ้างอิง
อรรถสิทธิ์ พานแก้ว และ ชุติเดช เมธีชุติกุล. 2564. “OK, Boomer”: เสียงสะท้อนจากเยาวชนไทยจากคูหาสู่การเคลื่อนไหว. รัฐศาสตร์สาร 42:2 (พฤษภาคม-สิงหาคม): หน้า 37-68.

หมายเหตุ :
1. งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยส่วนบุคคล ทัศนะจากงานวิจัยไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาใดๆ ทั้งสิ้น และขอบคุณเพื่อนอาจารย์และนักศึกษาทุกสถาบันเป็นอย่างสูงที่ช่วยเหลือในการวิจัยครั้งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท