ผลกระทบต่อยุโรปจากการบุกยูเครนของรัสเซีย: ยุโรปมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น (2)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความนี้เป็นบทความตอนที่ 2 ของทั้งหมด 3 ตอนเกี่ยวกับผลกระทบที่คาดไม่ถึงที่เกิดกับยุโรปจากการบุกโจมตียูเครนของรัสเซีย

ก่อนที่รัสเซียจะตัดสินใจบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2022 ยุโรปมีความแตกแยกพอสมควรจากความท้าทายหลากหลายที่กำลังเกิดขึ้น ความแตกแยกนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 2000 ทั้งที่เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจของโลกเองและเกิดจากประเทศกรีซที่เป็นหนึ่งในสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union, EU) ซึ่งทำให้เกิดข้อถกเถียงอย่างมากถึงแนวทางการแก้ไข นอกจากนี้ ประเทศในยุโรปยังต้องเผชิญกับวิกฤติผู้ลี้ภัยนับล้านคนจากประเทศตะวันออกกลาง  (โดยเฉพาะประเทศซีเรีย อัฟกานิสถาน และอิรัก) ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.2015 วิกฤติในครั้งนี้ทำให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวางระหว่างประเทศในยุโรปว่าจะจัดการปัญหาอย่างไร บางประเทศมีนโยบายที่ไม่ต้องการรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศ แต่บางประเทศก็มีนโยบายที่เปิดกว้างให้มีการอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศได้ เช่น เยอรมนี และฝรั่งเศส เป็นต้น[1]

นอกจากนี้ ยุโรปยังได้รับผลกระทบจากการขึ้นมามีอำนาจของกลุ่มกระแสชาตินิยมขวาจัดที่ผลักดันนโยบายชาตินิยมและปฏิเสธความร่วมมือกันภายใต้แนวคิดเสรีนิยมตะวันตก แน่นอนว่าประเทศที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันกระแสชาตินิยมฝ่ายขวานี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากรัสเซีย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ในปี ค.ศ.2016 กลุ่มฝ่ายขวาในอังกฤษประสบความเสร็จในการลงคะแนนเสียงประชามติให้สหรัฐราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือที่รู้จักกันว่า Brexit ในสหรัฐอเมริกาโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาได้ชนะการการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปีเดียวกัน โดยทรัมป์จะเน้นนโยบายชาตินิยม เน้นผลประโยชน์ระยะสั้นของสหรัฐ ฯ เป็นหลัก และสหรัฐ ฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ได้สร้างความแตกแยกในหมู่ผู้นำตะวันตก ทรัมป์ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างความร่วมมือภายใต้องค์การนาโต (The North Atlantic Treaty Organization, NATO) และองค์การสหประชาชาติ (United Nations, UN) และทรัมป์ยังได้ชื่นชมผู้นำเผด็จการ โดยเฉพาะประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ในขณะที่โจมตีผู้นำประเทศตะวันตกอย่างเปิดเผยอีกด้วย


ภาพที่ 1: ผู้นำชาติตะวันตกและสมาชิกองค์การนาโตพูดคุยถึงความร่วมมือและมีบางช่วง
ที่มีผู้สื่อข่าวแอบบันทึกเสียงได้ โดยมีคำพูดที่แบบนินทาประธานาธิบดีทรัมป์
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงท่าทีของชาติตะวันตกต่อนโยบายชาตินิยมของ
รัฐบาลทรัมป์ – การประชุมในกรุงลอนดอน วันที่ 3 ธันวาคม 2019
[2]

การบุกยูเครนของรัสเซียทำให้ยุโรปกลับมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้ง

หลังจากที่มีการโจมตียูเครน ประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปต่างออกมาประณามการกระทำของรัสเซียอย่างรุนแรง พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัสเซียหยุดปฏิบัติการทางทหารทันที นอกจากนี้ 27 ประเทศสมาชิกในองค์การนาโตได้ใช้มาตรการลงโทษ (sanctions) อย่างรุนแรงกับประเทศรัสเซีย[3] รวมถึงนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ที่สนับสนุนประธานาธิบดีปูติน และกลุ่มนักธุรกิจที่มีความไกล้ชิดกับประธานาธิบดีปูติน ในส่วนนี้สหรัฐ ฯ ได้ลงโทษทั้งบุคคลและองค์กรกว่า 2,400 ราย และยังมีการควบคุมการส่งออกไปยังประเทศรัสเซียและเบลารุส (ประเทศที่สนับสนุนการบุกโจมตีของรัสเซีย) อีกด้วย[4] ส่วนสหภาพยุโรปได้มีมาตรการลงโทษรัสเซียมากถึง 10 รอบ และได้ลงโทษบุคคลไปแล้วถึง 1,473 รายและองค์กร 205 แห่ง สหภาพยุโรปยังได้อายัดทรัพย์สินของบุคคลหรือองค์กรมีมูลค่ามากถึง 21,500 ล้านยูโร การลงโทษรัสเซียมากขนาดนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน[5] ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของผู้นำในยุโรปที่เห็นตรงกันในกรณีนี้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ยังมีการให้เงินงบประมาณและการสนับสนุนทางการทหารจำนวนมากกับประเทศยูเครน สหรัฐ ฯ ประเทศเดียวให้ความช่วยเหลือทางการทหารกับยูเครนไปแล้วว่า 27,000 ล้านเหรียญ[6] ในส่วนของยุโรป ประเทศสมาชิกและสถาบันทางการเงินของสหภาพยุโรปได้ให้ความช่วยเหลือยูเครนไปแล้วรวมทั้งหมดกว่า 50,000 ล้านยูโร ซึ่งแบ่งเป็นเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและทางเศรษฐกิจ 37,800 ล้านยูโร ความช่วยเหลือทางการทหาร 12,000 ล้านยูโร นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรเงินช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวยูเครนอีก 17,000 ล้านยูโร เงินช่วยเหลือต่างๆ เหล่านี้ถือว่ามีจำนวนมากและให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการที่ประเทศสมาชิกล้วนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้[7]


ภาพที่ 2: ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) อัวร์ซูลา ฟ็อน
แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) และสมาชิกกรรมาธิการ 15 คนไป
เยือนกรุงเคียฟ ประเทศยูเครนเพื่อเข้าพบผู้นำยูเครนในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2023
[8]

ประเทศตะวันตกยังได้แสดงความเห็นใจและช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวยูเครนอย่างไม่เคยมีมาก่อนอีกด้วย สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Refugees, UNHCR) ได้ประเมินว่ามีผู้ลี้ภัยออกจากยูเครนประมาณ 8.2 ล้านคน หรือประมาณ 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ผู้ลี้ภัยชาวยูเครนได้อพยพไปหลายประเทศทั่วยุโรป แต่ประเทศที่มีผู้ลี้ภัยมากที่สุด คือ เยอรมนี สหราชอาณาจักร อิตาลี สเปน และฝรั่งเศส โดยเยอรมนีประเทศเดียวได้รับผู้อพยพมากกว่า 1 ล้านคน ในขณะที่ชาติอื่นที่กล่าวมารับดูแลผู้ลี้ภัยประมาณ 1-2 แสนคน[9] ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสหภาพยุโรปได้ประกาศใช้มาตรการ Temporary Protection Directive เป็นครั้งแรก มาตรการนี้จะให้สถานะคุ้มครองชั่วคราวผู้ลี้ภัยเป็นระยะเวลา 3 ปี[10] ผู้อพยพจะอาศัยอยู่ตามศูนย์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย หรือกับญาติพี่น้อง (ถ้ามี) และผู้ลี้ภัยจะได้รับความช่วยเหลือด้านต่างๆ เช่น อาหาร บริการสาธารณสุข การศึกษา และสวัสดิการที่จำเป็นอื่นๆ[11]  

สงครามในยูเครนและข้อจำกัดของยุโรป  

แม้ที่ผ่านมายุโรปได้แสดงให้รัสเซียเห็นแล้วว่าคาดการณ์ผิดที่คิดว่าการบุกยูเครนจะไม่ทำให้ประเทศในยุโรปจะได้ลุกขึ้นมาต่อต้าน แต่บทลงโทษต่อรัสเซียและความช่วยเหลือต่างๆ ต่อยูเครนก็ล้วนแต่มีข้อจำกัด ที่ผ่านมาประชาชนในประเทศที่ลงโทษรัสเซียล้วนได้รับผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากสงครามในครั้งนี้ ผลกระทบโดยตรงคือ การที่รัสเซียใช้มาตรการลงโทษกลับคืน เช่น การปิดท่อก๊าซไปยังยุโรป ซึ่งเป็นทรัพยากรที่จำเป็นอย่างมากสำหรับคนยุโรปที่ต้องใช้พลังงานในการสร้างความอบอุ่น โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว เยอรมนีเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้โดยตรง ก่อนหน้านี้เยอรมนีถือเป็นประเทศที่นำเข้าก๊าซและน้ำมันจากรัสเซียมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากจีน การที่รัสเซียปิดท่อส่งก๊าซทำให้ราคาพลังงานมีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ผลกระทบทางอ้อมของสงคราม คือ การที่สินค้าอุปโภคและบริโภคต่างๆ มีราคาสูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ลำบากมากยิ่งขึ้น


ภาพที่ 3: ผู้ลี้ภัยชาวยูเครนจำนวนมากในสหราชอาณาจักรเริ่มที่จะหลายเป็นบุคคลไร้บ้าน
เพราะมีปัญหากับศูนย์ดูแลผู้เลี้ภัย หรือครอบครัวที่รับดูแล ปัญหาผู้ลี้ภัยเริ่มค่อยๆ
เกิดขึ้นในหลายประเทศในยุโรป
[12]

ในช่วงแรกของสงครามประชาชนในยุโรปส่วนใหญ่มีความคิดเห็นตรงกัน คือ มองว่ารัสเซียทำไม่ถูก เห็นใจคนยูเครน และสนับสนุนรัฐบาลที่ใช้มาตรการตอบโต้รัสเซียอย่างเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปและสงครามดูเหมือนจะไม่จบลงง่ายๆ ความลำบากที่เป็นผลกระทบจากสงครามเริ่มทำให้มุมมองที่มีต่อสงครามเปลี่ยนไป คนยุโรปจำนวนมากเริ่มรู้สึกว่าการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวยูเครนเป็นภาระ หลายคนเริ่มกังวลว่าผู้ลี้ภัยอาจไม่กลับบ้านและเป็นปัญหาของประเทศในระยะยาว เดิมหลายคนอาจเชื่อว่าสงครามควรจบด้วยชัยชนะของยูเครนเท่านั้น แต่เมื่อสงครามยืดเยื้อออกไปหลายคนเริ่มเปลี่ยนใจและมองว่าสงครามควรจบได้แล้วแม้นั่นอาจหมายถึงยูเครนจะต้องยอมสูญเสียดินแดนบางส่วนก็ตาม

ในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีเพียงประเทศฮังการีเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการลงโทษรัสเซีย สาเหตุเป็นเพราะประธานาธิบดีวิกโตร์ โอร์บาน ผู้นำฝ่ายขวาของประเทศฮังการีมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย แต่ในอนาคตถ้าสงครามยังยืดเยื้อต่อไปเรื่อยๆ เราอาจจะได้เห็นกระแสต่อต้านสงครามหรือกระแสชาตินิยมฝ่ายขวาค่อยๆ ขยายตัวขึ้นในยุโรป ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผู้นำฝ่ายขวาได้ขึ้นมาเป็นผู้นำในยุโรปและอาจเปลี่ยนนโยบายสงครามในยูเครน เมื่อถึงจุดนั้นเราอาจได้เห็นยุโรปกลับไปมีความขัดแย้งกันเอง ไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างในปัจจุบัน และนั่นก็น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้นำรัสเซียต้องการเห็นอย่างแน่นอน

 

อ้างอิง

[1] “Migrant Crisis: Migration to Europe Explained in Seven Charts,” 4 March 2016, accessed on 22 March 2023: https://www.bbc.com/news/world-europe-34131911

[2] Rubin, Trudy, "Why the Laughter at Trump at the NATO Conference Wasn’t Funny," 4 December 2019, accessed on 23 March 2023: https://www.inquirer.com/opinion/nato-trump-justin-trudeau-laughing-video-20191204.html

[3] Lawless, Jill. "Global Impact: 5 Ways War in Ukraine Has Changed the World," 22 February 2023, accessed on 20 March 2023: https://apnews.com/article/russia-ukraine-war-5-things-c183ddfe6c140393464d3e0c3828c328

[4] “US Warns About Increasing Use of Intermediaries to Evade Russia Sanctions,” 6 March 2023, accessed on 24 March 2023: https://www.voanews.com/a/us-warns-about-increasing-use-of-intermediaries-to-evade-russia-sanctions/6992824.html

[6] Cook, Lorne. "From Tents to Tanks: A Big Year in Ukraine for NATO Allies," 16 February 2023, accessed on 21 March 2023: https://apnews.com/article/russia-ukraine-putin-nato-politics-jens-stoltenberg-8a3d2b6946bedf12eadbeef19dab10a3

[7] “EU Assistance to Ukraine,” 24 February 2023, accessed on 24 March 2023: https://eu-solidarity-ukraine.ec.europa.eu/eu-assistance-ukraine_en#strong-and-comprehensive-eu-response

[8] “EU Solidarity with Ukraine,” 1 February 2023, accessed on 24 March 2023: https://eu-solidarity-ukraine.ec.europa.eu/eu-ukraine-standing-together_en

[9] “Ukraine Refugee Situation,” 20 March 2023, accessed on 24 March 2023: https://data.unhcr.org/en/situations/ukraine

[10] “Migration management: Welcoming refugees from Ukraine,” n.d., accessed on 23 March 2023: https://home-affairs.ec.europa.eu/policies/migration-and-asylum/migration-management/migration-management-welcoming-refugees-ukraine_en

[11] “How Many Ukrainian Refugees Are There and Where Have They Gone?,” 4 July 2022, accessed on 24 March 2023: https://www.bbc.com/news/world-60555472

[12] Bryant, Miranda. “Ukraine Refugees Homeless in UK after Falling out with Hosts, Say Community Groups,” 17 May 2022, accessed on 24 March 2023: https://www.theguardian.com/uk-news/2022/may/17/homes-for-ukraine-refugees-being-left-homeless-uk

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท