Skip to main content
sharethis

รัฐบาลคอมมิวนิสต์เวียดนามใช้กองกำลังไซเบอร์กับพวกเกรียนหรือโทรลในโลกออนไลน์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลใส่ร้ายป้ายสี จงใจเล่นงานนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและคนที่ต้องสงสัยว่าวิพากษ์วิจารณ์รัฐ รวมถึงมีการกลั่นแกล้งอื่นๆ เช่น การประจานข้อมูลส่วนตัว หรือรุมรีพอร์ตจนถูกระงับการใช้งาน

ที่มาภาพ: Sora Shimazaki / Pexels (อ้างใน GIJN)

รายงานของกลุ่มจับตามองด้านสิทธิมนุษยชน Viet Tan ที่ชื่อว่า "#StopVNtrolls (หยุดพวกโทรลเวียดนาม) การต่อต้านฟอร์ซ 47 และการเซ็นเซอร์ทางอินเทอร์เน็ต" ระบุถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการที่รัฐบาลเวียดนามอาศัยกลุ่มกองกำลังไซเบอร์หรือกลุ่มโทรลในการเล่นงานกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนและผู้วิจารณ์รัฐบาล

ในรายงานดังกล่าวระบุว่าพวกเขาได้เปิดโปง "เครือข่ายที่เป็นอันตราย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรวมหัวกันเล่นงานทางสังคม และปิดกั้นการอภิปรายสาธารณะในเวียดนาม"

องค์กร Viet Tan ที่ทำการศึกษาในเรื่องนี้เป็นองค์กรที่มีสมาชิกอาศัยอยู่ในที่ต่างๆ ของประเทศเวียดนามและเป็นมีบางส่วนที่พลัดถิ่นจากเวียดนามโดยอาศัยอยู่ในหลายประเทศ พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปประขาธิปไตยในเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลเวียดนามจัดให้ Viet Tan เป็นกลุ่มผิดกฎหมาย

กองทัพของเวียดนามมีหน่วยงานไซเบอร์ที่เรียกว่า "ฟอร์ซ 47" (Force 47) ที่ทำหน้าที่หลักๆ คือการปกป้องพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ด้วยการฟลัดเนื้อหาสนับสนุนรัฐบาลบนอินเทอร์เน็ต หน่วยงานดังกล่าวนี้มีสมาชิกอยู่ประมาณ 10,000 ราย แต่ก็เป็นไปได้ที่อาจจะมีจำนวนมากกว่านี้ เพราะมีกลุ่มพลเรือนที่ร่วมมือด้วย ซึ่งมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า E47

ฟอร์ซ 47 ไม่เพียงแค่บิดเบือนเนื้อหาเพื่อหลอกลวงให้ประชาชนมองรัฐบาลเวียดนามในแง่บวกเท่านั้น พวกเขายังเป็นที่อื้อฉาวในแง่การประจานข้อมูลส่วนตัวเช่นชื่อที่อยู่ของนักกิจกรรมและผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแบบที่เรียกว่า ด็อกซ์ซิง (Doxing) ด้วย

เนื้อหารายงานของ Viet Tan ระบุว่า "วิธีการหนึ่งที่ฟอร์ซ 47 นำมาใช้คือการประจานข้อมูลส่วนตัวของแอดมินเพจเฟสบุคจนกระตุ้นให้เกิดการข่มเหงรังแกและการคุกคามบนหน้าโปรไฟล์ส่วนบุคคล และอาจจะทำให้เกิดการคุกคามลามมาถึงในโลกข้างนอกด้วย ก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวทำให้คนไม่กล้าพูดอย่างเสรีในโลกออนไลน์"

สมาชิกของหน่วยฟอร์ซ 47 ยังฉวยโอกาสใช้ระบบรายงานหรือที่เรียกว่าระบบมาตรฐานชุมชนในโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่าง เฟสบุค ในการระดมพลรุมรายงานผู้ใช้เพื่อให้มีการระงับหรือการแบนหน้าเพจที่มีการพูดถึงการกดขี่รังแกของรัฐบาล ตัวอย่างมาจากเพจของ Viet Tan เองที่มักจะตกเป็นเป้าหมายการถูกรุมรายงานจนทำให้มีการระงับการใช้งานเพจ

Michel Tran Duc ผู้อำนวยการด้านการรณรงค์ของ Viet Tan เล่าถึงประสบการณ์ที่เผชิญกับพวกโทรลจากรัฐบาลว่า มันนับเป็นเรื่องที่เปรียบเสมือนคนตัวเล็กๆ ต่อสู้กับยักษ์ เพราะกลุ่มอาสาสมัครกลุ่มเล็กๆ อย่างพวกเขาต้องสู้รบปรบมืออยู่ทุกวันกับพวกโทรลหลายพันรายที่ถูกจ้างจากรัฐบาล

"อาสาสมัครของพวกเราทำงานด้วยความตั้งใจอันแรงกล้า แต่พวกโทรลของรัฐได้รับค่าจ้างให้แพร่กระจายโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล ดังนั้นแล้วเมื่อคนพวกนี้เจอกับการโต้แย้งกลับแบบที่อาศัยข้อเท็จจริง พวกเขาก็จะหมดไอเดียเอาง่ายๆ แล้วก็หันมาโต้ตอบด้วยการเหยียดแทน ยิ่งพอพวกนี้ทำตัวน่ารังเกียจมากเท่าใด ผู้คนก็จะยิ่งเห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของพวกนั้นได้มากขึ้นเท่านั้น" Duc กล่าว

Duc บอกว่าเขาต้องการให้เฟสบุคมีการพิจารณาระบบการรายงานของตัวเอง โดยเฉพาะในกรณีที่นำไปสู่การระงับการใช้งานหรือกระทั่งการลบบัญชีของกลุ่มสิทธิมนุษยชนออกจากพื้นที่พวกเขา Duc ขอร้องให้เฟสบุคเลิกใช้ "บ็อต" หรือระบบอัตโนมัติในการพิจารณาเพราะมันเปิดทางให้คนสามารถรุมรายงานเพื่อกลั่นแกล้งได้ แล้วควรจะให้มีการตรวจทานเพิ่มเติมอย่างเป็นระบบกรณีที่มีการรายงานหน้าเพจของกลุ่มสิทธิมนุษยชนเช่นกลุ่ม Viet Tan เพื่อป้องกันไม่ให้ตกหลุมพรางพวกโทรล

Viet Tan เคยมีจดหมายเรียกร้องต่อเฟสบุคในเรื่องนี้โดยมีกลุ่มคนและบุคคลอย่างน้อย 60 ราย ที่ลงนามเรียกร้องไม่ให้เฟสบุลกลายเป็นสิ่งที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปิดปากผู้ต่อต้านรัฐบาล จึงอยากให้มีการปรึกษาหารือกับกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างผู้ใช้งานของพวกเขา รวมถึงนักกิจกรรม และนักข่าว ให้มีช่องทางเรียกร้องขอกู้คืนบัญชีผู้ใช้หรือเพจของตัวเองได้เวลาที่เผชิญกับการรวมหัวเล่นงานทางสังคม ซึ่งเฟสบุคยังไม่ได้ตอบจดหมายของพวกเขาในเรื่องนี้

Duc มองว่าบริษัทเมตาที่เป็นบริษัทแม่ของเฟสบุคอาจจะละเลยข้อเรียกร้องของพวกเขา แต่ถ้าหากมีกลุ่มองค์กรเอ็นจีโอร่วมมือกันเป็นจำนวนมากในการเรียกร้องเรื่องนี้ เมตาก็อาจจะตอบกลับก็ได้ ส่วนพวกเขาจะเน้นทำงานเรื่องการรณรงค์และสร้างความตื่นตัวในประเด็นนี้ต่อไป

"เฟสบุ๊คได้ปฏิวัติวิธีการที่พวกเราบริโภคข้อมูลข่าวสาร, ผลิตข้อมูลข่าวสาร และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร แต่มันก็เริ่มกลายเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกที่เฟสบุคพยายามส่งเสริมด้วย จากการที่กลุ่มผู้กระทำทางการเมืองได้บิดเบือนพื้นที่โซเชียลมีเดียให้กลายเป็นการบั่นทอนผู้ต่อต้านและคุกคามฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล" Duc  กล่าว

ก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคม 2564 เคยมีรายงานยืนยันการมีอยู่ของฟอร์ซ 47 ว่าเป็นหน่วยงานไซเบอร์ของกองทัพเวียดนามสอดคล้องกับรายงานของ Mong Palatino ใน Global Voices นี้โดยฟอร์ซ 47 ตั้งกลุ่มและเพจบนเฟซบุ๊กเมื่อปี 2559 รอยเตอร์รายงานด้วยว่าแหล่งข่าวจากเฟซบุ๊กเคยลบกลุ่มชื่อ "E47" ที่มีสมาชิกทั้งที่เป็นทหารและพลเรือนทำการระดมยิงรีพอร์ตโพสต์ที่คนเหล่านั้นไม่พอใจในเฟซบุ๊ก ซึ่งกลุ่มนี้ก็เชื่อมโยงกับ ฟอร์ซ 47' ด้วย อย่างไรก็ตามรายงานของรอยเตอร์ครั้งนั้นระบุว่า บัญชีและกลุ่มฟอร์ซ 47 จำนวนมากยังคงเปิดใช้งานอยู่

เรียบเรียงจาก

How Vietnam’s state trolls are undermining free speech and democracy, Global Voices, 20 March 2023

How Vietnam's 'influencer' army wages information warfare on Facebook, By James Pearson, Reuters, 9 July 2021
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net