Skip to main content
sharethis

ชาวแม่สายเตรียมยื่น 9 ข้อ เรียกร้องรัฐแก้ไฟป่า-หมอกควัน-ฝุ่นพิษ ขณะที่ ‘พิธา’ ชี้แก้ฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่ต้นตอ ต้องกล้าชนกลุ่มทุน ยกข้อมูลพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เติบโตสัมพันธ์กับจุดความร้อน ลั่น ‘ก้าวไกล’ เป็นรัฐบาล ใช้สิงคโปร์โมเดล ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-สินค้าเกษตรนำเข้า ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน GAP กำหนดกฎหมาย ผู้มีส่วนสร้างหมอกควันพิษ ต้องรับผิดชอบทั้งทางอาญา-แพ่ง

28 มี.ค.2566 จากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังอยู่ในสถานการณ์วิกฤติในหลายจังหวัดภาคเหนือนั้น วานนี้ (27 มี.ค.) ไทยพีบีเอสรายงานว่า เครือข่ายภาคเอกชนและประชาชน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เตรียมยื่นหนังสือต่อนายอำเภอแม่สาย เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันข้ามแดน โดยระบุว่า ปัญหาไฟป่าและหมอกควันทั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและข้ามแดน ส่งผลให้ค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ อ.แม่สาย อยู่ในระดับที่สูงมากและเกินมาตรฐานติดต่อกันเกิน 7 วัน ซึ่งคุณภาพอากาศที่เลวร้ายส่งผลกระทบโดยตรงและรุนแรงต่อสุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างมาก

โดยมีข้อเสนอข้อเรียกร้องใน 2 ระยะ ดังนี้

1. ระยะเร่งด่วน สำหรับภาวะวิกฤต

1.1 ให้ภาครัฐประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินทันที เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน โดยให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นควัน PM2.5 เช่น หน้ากากอนามัย ยา เวชภัณฑ์ และเครื่องฟอกอากาศ ฯลฯ สำหรับประชาชนอย่างเร่งด่วน

1.2 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เร่งหารือการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันข้ามแดน ซึ่งเป็นผลกระทบต่อประชาชนจากการทำการเกษตร กับรัฐฉาน ประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว

1.3 ให้ จ.เชียงราย แจ้งประสานประเทศเพื่อนบ้านให้ลดหรืองดการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่ทางการเกษตรในช่วงสถานการณ์คุณภาพอากาศย่ำแย่ โดยยึดตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) ซึ่งสมาชิกอาเซียนทุกประเทศได้มีการลงนามร่วมกันตั้งแต่ปี 2002

1.4 ให้มีการเฝ้าระวังและการป้องปราม การลักลอบเผาป่าในเขตชายแดนของประเทศอย่างรัดกุม และสนับสนุนอุปกรณ์เครืองมืออย่างเพียงพอให้แก่กลุ่มเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครดับไฟป่า

2. ระยะยาว เพื่อการแก้ไขอย่างยั่งยืน

2.1 ให้รัฐบาลกำหนดเกณฑ์ค่ามาตรฐานของสภาพอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เพื่อประกาศเป็นเขตภัยพิบัติฉุกเฉินให้ชัดเจน

2.2 ให้ จ.เชียงาย และอำภอแม่สาย จัดทำแผนรับมือสถานการณ์ผลกระทบจากปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่น PM2.5 ที่เป็นรูปธรรมและแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติของภาคส่วนต่างๆ ในอนาคต

2.3 ให้รัฐบาล และกระทรวงพาณิชย์ศึกษาผลกระทบการนำเข้าเสรี (AFTA) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลให้เกิดการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาการเผาป่าและปัญหาหมอกควันจากการเผาพื้นที่ทางการเกษตร และให้พิจารณายกเลิกอัตราการเก็บภาษีการนำข้าวโพดนำเข้าร้อยละศูนย์

2.4 ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชิญผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เจรจาหารือหาทางแก้ปัญหาการเผาข้าวโพด และผลกระทบต่างๆ จากการทำการเกษตร ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน

2.5 ให้รัฐบาลยกระดับการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนให้เป็นปัญหาในระดับภูมิภาคอาเซียน+1 เพื่อให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกับชาติสมาชิกอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน

‘พิธา’ ชี้แก้ฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่ต้นตอ ต้องกล้าชนกลุ่มทุน ยกข้อมูลพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เติบโตสัมพันธ์กับจุดความร้อน

ขณะที่ ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังอยู่ในสถานการณ์วิกฤติในหลายจังหวัดภาคเหนือว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ PM2.5 ในภาคเหนือรุนแรงมาก บางจังหวัดเช่นเชียงใหม่ กลายเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก บางวันสถานการณ์รุนแรงเกินกว่าที่เครื่องวัดฝุ่นละอองจะวัดได้ ข้อเสนอในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ โดยเฉพาะด้านการป้องกัน บรรเทา และเตือนภัย คงมีคนพูดถึงไปเยอะแล้ว ตนจึงขอพูดอีกประเด็นสำคัญที่ยังไม่ถูกพูดถึงมากนัก นั่นคือต้นตอของสาเหตุที่ทำให้ PM2.5 รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

หลายคนรู้ปัญหาดีว่าต้นเหตุของฝุ่น PM2.5 ที่มากขนาดนี้มาจากการเผา โดยเฉพาะการเผาเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรม แต่เบื้องหลังของการเผาเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรม คือธุรกิจการเกษตรที่ทำธุรกิจอย่างไม่รับผิดชอบ ข้อมูลจาก GISTDA เปิดเผยว่าวันที่ 26 มีนาคม 2566 เพียงวันเดียว ประเทศเมียนมาพบจุดความร้อน 10,563 จุด สปป.ลาว 9,652 จุด และไทยพบจุดความร้อนถึง 5,572 จุด สูงที่สุดในรอบ 5 ปี จำนวนจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้น สัมพันธ์กับจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นกว่า 10.6 ล้านไร่ ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมาของประเทศลาว เมียนมา และไทย

สาเหตุของการเผาไม่ต้องไปหาอื่นไกล เกิดจากประเทศไทยของเราเอง ดังจะเห็นได้จากข้อมูลการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน คือเมียนมา ลาว กัมพูชา ที่เพิ่มขึ้นจากประมาณ 770 ล้านบาท ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 14,325 ล้านบาทในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 18 เท่า การขยายตัวของกลุ่มทุนไทยที่เข้าไปรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน คือต้นเหตุที่ทำให้เกิดการเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรมในลาวและเมียนมา และเป็นที่มาของฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในภาคเหนือของประเทศไทย

“ทุกตันข้าวโพด-ปาล์มน้ำมันที่มาจากการเผาป่า แลกมาด้วยอากาศบริสุทธิ์และอายุขัยคนไทย จะแก้ปัญหา PM2.5 นอกจากต้องมีมาตรการผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศแล้ว สิ่งสำคัญที่จะแก้ได้จากใจกลางของปัญหา คือต้องกล้าจัดการกับต้นตอที่ทำให้เกิดการก่อมลพิษในประเทศของเราเองด้วยการประกาศนโยบาย ‘ไม่ยอมรับการเผาทุกกรณี’” พิธากล่าว

พิธากล่าวต่อว่า ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล เราจะประกาศทันทีว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสินค้าเกษตรที่นำเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะที่ผ่านด่านการค้าในภาคเหนือ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เป็นอย่างน้อย เพื่อไม่ให้นำเข้าสินค้าเกษตรที่มีที่มาจากการเผาเหล่านี้เข้าสู่ประเทศไทย ตัดวงจรการเผา ลบจุดแดงบนแผนที่ทางอากาศ

นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องมีกฎหมายให้ผู้มีส่วนในการสร้างหมอกควันพิษต้องรับผิดชอบทั้งในทางอาญาและทางแพ่ง และประชาชนสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้หากพิสูจน์ได้ว่าบริษัทใดรับซื้อหรือมีส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อมกับการเผาที่ทำให้เกิดมลพิษลอยเข้ามาในประเทศไทย หลักการเดียวกันกับ ‘กฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดน’ หรือ Transboundary Haze Pollution Act ของประเทศสิงคโปร์

ในโลกยุคปัจจุบัน ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และสุขภาพแทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน รัฐบาลที่จะแก้ปัญหา PM2.5 ได้ คือรัฐบาลที่พร้อมชนกับกลุ่มทุน กล้าจัดการกับบริษัทที่ไม่มีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ และสามารถใช้เวทีระหว่างประเทศในการเจรจาสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาระดับภูมิภาค ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็จะร่วมมือและสนับสนุนกับประเทศเพื่อนบ้านในการดับไฟป่า ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของจุดความร้อน และฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ประชาชนทุกประเทศในอนุภูมิภาคต้องเผชิญเช่นกัน

“การเมืองดี ระบบเศรษฐกิจที่ดี และการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี คือเรื่องเดียวกันครับ” พิธาทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net