สปสช.เผยความคืบหน้าร่าง พ.ร.ฎ. 4 ฉบับให้คนนอกสิทธิบัตรทองรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบ สปสช.ได้ แต่ทาง สปสช.และ สธ.ยังต้องเตรียมเข้าชี้แจงกฤษฎีกาในสัปดาห์หน้า ถึงความจำเป็นที่ต้องให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังเพื่อไม่ให้ประชาชนเสียโอกาสและสถานพยาบาลได้รับค่าใช้จ่ายที่ให้บริการไปก่อนแล้ว
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) 4 ฉบับ ที่กำหนดให้ผู้ที่ไม่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง 30 บาท สามารถใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
เลขาฯ สปสช.ระบุว่าหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 มีมติเห็นชอบในหลักการแล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้ ร่าง พ.ร.ฎ.ทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวจะถูกส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจพิจารณาต่อไป เมื่อการดำเนินการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ร่าง พ.ร.ฎ.ทั้ง 4 ฉบับนี้จะถูกส่งกลับไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.และเสนอทูลเกล้าฯ ต่อไป
เลขาธิการ สปสข. กล่าวต่อว่า ในส่วนของประเด็นวันที่มีผลบังคับใช้นั้น สปสช.หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ขอให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการได้รับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของประชาชน ไม่ทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการเข้ารับบริการและหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่ให้บริการไปแล้วได้รับค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีข่าวว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาอาจจะมีความเห็นว่าไม่ควรให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง แต่ควรให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาลงประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น เป็นข้อที่ ครม. ให้พิจารณาตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เห็นว่าควรให้มีผลตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องจากเห็นว่าไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการใช้สิทธิ
ทั้งนี้ สปสช.และ สธ.จะร่วมกันไปชี้แจงให้คณะกรรมการกฤษฎีการับทราบช่วงต้นเดือนเมษายนหรือภายในสัปดาห์หน้านี้ถึงเหตุผลว่าทำไมจึงต้องให้ ร่าง พ.ร.ฎ.มีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เพื่อไม่ให้ประชาชนนอกสิทธิบัตรทองและหน่วยบริการเสียโอกาส