ศาลลงโทษจำคุกผู้ชุมนุม 13 รายรอลงอาญาหมด ยกเว้น ‘บอย’ รอผลประกัน

ศาลอาญาพิพากษาจำคุกผู้ร่วมชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังคดี ม.112 จำนวน 13 ใน 15 คน แต่ให้รอลงอาญาไว้ยกเว้น “บอย ธัชพงศ์” ศาลยกเหตุลงโทษว่าเป็นการดูหมิ่นผู้พิพากษา “ชนาธิป” ว่าใช้ดุลพินิจโดยไม่อิสระทำให้เสียหาย

28 มี.ค.2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานทางทวิตเตอร์ว่า วันนี้ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดอ่านคำพากษาคดีของผู้ชุมนุม 15 คน ที่ร่วมชุมนุมหน้าศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อ 2พ.ค.2564 ของกลุ่ม REDEM เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว 7 นักกิจกรรมที่ถูกขังในคดีหมิ่นประมาทกษัติรย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่ในขณะนั้น

คดีนี้มีจำเลยทั้งหมด 15 คน ได้แก่ ร่อซีกีน นิยมเดชา, หทัยรัตน์ แก้วสีคร้าม, ศุภกิจ บุญมหิทานนท์, วีรภาพ วงษ์สมาน, ปรณัท น้อยนงเยาว์, พัชรวัฒน์ โกมลประเสริฐกุล, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, อิทธิกร ทรัพย์แฉ่ง, ปรีชญา สานจิตรสัมพันธ์, สุทธิตา รัตนวงศ์, “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง, ยงยุทธ ฮังนนท์, ศรัณย์ อนุรักษ์ปราการ, ชนกันต์ เคืองไม่หาย และชาติชาย แกดำ

ศูนย์ทนายความฯ ระบุว่าศาลพิพากษายกฟ้อง 2 คน ส่วนอีก 12 คนที่เหลือศาลลงโทษจำคุกคนละ 3 ปี ปรับ 33,000 บาทแต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ส่วนอีก 1 คนคือ ธัชพงศ์ แกดำ หรือบอย ศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี 12 เดือน ปรับ 22,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา

จำเลย 2 คนที่ศาลยกฟ้องคือ ร่อซีกีน นิยมเดชาและหทัยรัตน์ แก้วสีคร้าม ที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน, ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้กระทำผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้มั่วสุมเลิก แล้วผู้กระทำไม่เลิก, ร่วมกันทำให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย, ร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

ส่วนอีก 13 คนที่ศาลพิพากษาลงโทษนี้พวกเขาถูกฟ้องข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้กระทำผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้มั่วสุมเลิก แล้วผู้กระทำไม่เลิก, ร่วมกันทำให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย, ร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณา, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันกีดขวางทางเท้าฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ.

ศาลให้เหตุผลที่พิพากษาลงโทษทั้ง 13คนเอาไว้ว่ามีการกระทำที่เป็นการดูหมิ่นชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาว่าไม่ได้ใช้ดุลยพินิจโดยอิสระทำให้เสียหาย แม้จะเป็นการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญแต่จะต้องไม่ละเมิดผู้อื่นด้วย

อย่างไรก็ตาม ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวธัชพงศ์ระหว่างต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อและกำลังรอผลประกันตัวอยู่

สำหรับคดีนี้สืบเนื่องจากการชุมนุมเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 พ.ค.2564 ที่ทางกลุ่ม REDEM ประกาศนัดชุมนุมที่หน้าศาลอาญา รัชดาฯ โดยเริ่มตั้งขบวนเดินไปจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขัง 7 คนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว

ทั้งนี้ในการชุมนุมครั้งนั้นมีการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทการทำหน้าที่ในฐานะผู้พิพากษาของชนาธิประหว่างการชุมนุมด้วยเนื่องจากหลังจากผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรเริ่มถูกดำเนินคดีมากขึ้นหลังพฤศจิกายน 2563 เขาเป็นผู้ลงชื่อในคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวในหลายครั้ง และเมื่อปี 55 เขาเป็นผู้พิพากษาที่ตัดสินพิพากษาโทษ 20 ปี ในคดี ม.112 แก่ อำพล ตั้งนพคุณ หรือ อากง ที่ถูกคุมขังและเสียชีวิตในเรือนจำเวลาต่อมาด้วย

ในการชุมนุมยังมีการทำกิจกรรมปามะเขือ สาดสีแดงและติดป้ายประท้วงต่างๆ รวมถึงภาพถ่ายของชนาธิปที่ป้ายศาลอาญาริมถนนรัชดาฯ ด้วย โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการวางกำลังและติดรั้วลวดหนามไว้ด้านในบริเวณลานจอดรถศาลและมีการปิดประตูทางเข้าเอาไว้ทำให้ผู้ชุมนุมอยู่ได้เพียงรวมตัวกันบนถนนรัชดาฯ ด้านนอกบริเวณศาล ซึ่งหลังจากการชุมนุมยุติผู้ชุมนุมบางส่วนเริ่มแยกย้าย แต่ยังมีผู้ชุมนุมบางส่วนที่ยังชุมนุมต่อในบริเวณดังกล่าวทำให้ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเดินหน้าเข้าจับกุมผู้ชุมนุมที่ยังเหลืออยู่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท