‘หมูทอดเจ๊จง’ การตลาดแบบเปิดใจให้โอกาสผู้ก้าวพลาดจากเรือนจำ

บทสัมภาษณ์ผู้ก่อตั้ง ‘หมูทอดเจ๊จง’ ร้านอาหารที่ไม่เพียงสอนอาชีพให้นักโทษ แต่ยังให้นำสูตรไปเปิดร้านของตัวเองต่อได้โดยเชื่อว่าคนจากในเรือนจำทุกคนไม่ใช่คนเลวแต่เป็นคนที่ก้าวพลาด อยากให้สังคมเปิดใจให้โอกาสด้วย

เรามักเห็นการรายงานข่าวเกี่ยวกับปัญหาด้านอาชญากรรมหรือยาเสพติดอย่างต่อเนื่องทั้งในสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ บางครั้งก็พบว่าผู้พ้นโทษบางคนกระทำความผิดซ้ำหลังออกจากเรือนจำได้ระยะหนึ่ง สาเหตุที่ผู้พ้นโทษยังกระทำความผิดซ้ำมีหลายปัจจัย โดยส่วนใหญ่เป็นเพราะเข้าไปอยู่ในกลุ่มเพื่อนกับสภาพแวดล้อมเดิม ส่วนเหตุที่ช่วยให้ไม่กระทำผิดซ้ำมักมาจากการได้รับการยอมรับและให้โอกาสจากครอบครัวและสังคม 

ย้อนไปเมื่อปี 2563 ได้เกิดโครงการ “Chefs for Chance” จาก Sustainable Brands Thailand ร่วมกับเรือนจำจันทบุรี สอนนักโทษในเรือนจำทำอาหารเพื่อนำไปประกอบอาชีพ โดยถ้าหากนักโทษเหล่านั้นพ้นโทษแล้วก็อนุญาตให้ใช้สูตรของเชฟไปอ้างอิงในการสร้างแบรนด์ของตัวเอง โดยหนึ่งในเชฟที่เข้าร่วมโครงการนี้ คือ เจ๊จง-จงใจ กิจแสวง เจ้าของแบรนด์ ‘ร้านหมูทอดเจ๊จง’

ร้านหมูทอดเจ๊จง เป็นธุรกิจร้านอาหารที่ราคาอาหารเริ่มต้นเพียง 27 บาท มีจำนวนสาขาถึง 15 สาขา และกำลังจะเปิดสาขาต่อไปที่ศูนย์อาหารสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และให้โอกาสผู้ที่เคยกระทำความผิดจากเรือนจำเป็นผู้จัดการรับผิดชอบการค้าขายในสาขาโดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ TIJ

จุดเริ่มต้นในการเข้าโครงการ Chefs for Chance 

จุดเริ่มต้นการเข้าร่วมโครงการ Chefs for chance ของเจ๊จง คือ ศิริกุล เลากัยกุล ผู้ก่อตั้งโครงการมีความต้องการให้ผู้ประกอบอาหารได้ทำอะไรดี ๆ กับผู้ด้อยโอกาสในสังคม จึงเชิญชวนเจ๊จงและเชฟคนอื่น ๆ อีก 5 คน ในการเข้าไปให้โอกาสกับคนที่ก้าวพลาดในเรือนจำและเป็นช่วงเวลาที่ตนว่างพอดีจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ

โครงการดังกล่าวทำให้เจ๊จงได้มีโอกาสสอนคนที่อยู่ในเรือนจำทำอาหารโดยการแบ่งปันสูตรการปรุง การหมักหมู รวมถึงกระบวนการประกอบอาหารอื่น ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถสร้างแบรนด์ร้านหมูทอดของตนเองได้หลังก้าวออกจากเรือนจำ เจ๊จงยืนยันว่าแม้ไม่ได้ให้นำชื่อแบรนด์ของตนไปเปิดร้านแต่หากมีปัญหาอะไรก็สามารถเข้ามาปรึกษากันได้เสมอ

ส่วนเหตุผลที่เจ๊จงอนุญาตให้ใช้ชื่อแบรนด์ของตนในศูนย์อาหาร TIJ คือ เชื่อว่าจะมีคนคอยช่วยดูแลและคงไม่ทำให้ชื่อแบรนด์เสียหายแน่ ๆ  โดยมองว่าเป็นโอกาสที่สามารถมอบให้กับผู้เคยกระทำความผิดในการประกอบอาชีพสุจริต ส่วนตัวมองว่าหากให้คนหนึ่งคนออกไปทำงานแล้วได้ค่าแรงวันละ 350 บาท ยังไงก็ไม่พอกิน และความไม่พอกินก็อาจเป็นปัจจัยที่จะทำให้พวกเขาตัดสินใจกลับไปกระทำความผิดแบบเดิม การอนุญาตให้ใช้ชื่อแบรนด์ของตนอาจช่วยให้เขาได้เงินมากขึ้น เพื่อให้เขาอยากทำอาชีพนี้นาน ๆ ไม่ไปกระทำความผิดแบบที่เคยทำอีก 

การให้โอกาสทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข

“จริง ๆ ไม่ได้เลือกเยอะ เพราะให้โอกาสไปก่อน แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ตัวเขาเองว่าเขาจะตัดโอกาสตัวเองหรือเปล่า”

ฐานความคิดของเจ๊จง คือ การให้โอกาสกับผู้ที่ต้องการมันเพราะตนเคยผ่านจุดที่ลำบากมาก่อนและพบว่าไม่มีใครให้โอกาส ดังนั้น เจ๊จงจึงไม่ได้จำกัดตนเองอยู่แค่การช่วยเหลือคนที่เคยอยู่ในเรือนจำแต่เป็นการช่วยเหลือคนที่ต้องการโอกาสและมีความตั้งใจจริงๆ  

ที่ผ่านมาตนได้พบคนหลากหลายรูปแบบ ทั้งคนที่ได้โอกาสแต่ไม่รับผิดชอบตามที่คุยกันไว้ ประเภทที่เข้ามาหาและบอกว่าต้องการโอกาส เจ๊จงจึงให้หมูทอดไปขายก่อนแล้วเมื่อขายเสร็จแล้วจึงค่อยจ่ายเงินคืนมา ปรากฏว่าเขาไม่จ่ายคืนทำให้ต้องเลิกขายไป แต่คนที่มีความรับผิดชอบและพร้อมรับโอกาสเหล่านั้นก็มี

“การขายข้าวกล่องเจ๊จง คือ มารับอาหารไปขาย เมื่อขายเสร็จแล้วช่วงสายหรือบ่ายก็โอนเงินมาคืน ถ้าใครไม่คืนพรุ่งนี้ก็ไม่ได้ขายแล้ว บางคนขยันหน่อยก็ได้เงินเกือบ 20,000 บาท”

การช่วยเหลือแบบไม่มีเงื่อนไขไม่ได้จบเพียงเท่านั้น ช่วงโควิด-19 ระบาด ที่มีคนรับข้าวกล่องเจ๊จงไปขาย เมื่อถามว่าทำไมขยันจัง ขายไม่หยุดเลย เขาตอบกลับมาว่าต้องส่งดอกเบี้ยวันละ 1,000 บาท จากเงินต้น 50,000 บาท หมายความว่า หากไม่มีเงินต้นไปจ่าย ก็ต้องจ่ายดอกวันละพัน เมื่อเจ๊จงเห็นความขยัน มีระเบียบ และซื่อสัตย์ จึงให้ยืมเงิน 50,000 บาทไปปิดเงินต้นก่อน ทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบ้านเขาอยู่ที่ไหน เจ๊จงมองว่าเขาเป็นคนมีระเบียบ ซื่อสัตย์ และขยัน จึงให้ยืมเงินห้าหมื่นบาทเพื่อนำไปจ่ายก่อนจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียดอกวันละพัน แล้วให้ผ่อนจ่ายหนี้กับเจ๊จงแทน สุดท้ายเขาก็ผ่อนเงินทุกวันจนครบจำนวนที่ยืมไป

ก้าวที่พลาด อาจไม่ใช่ก้าวที่ตั้งใจ

“อย่างเราเคยให้โอกาสแต่บางคนเขาทำร้ายโอกาสแล้วทำให้เราท้อ แต่คนที่รอรับโอกาสมันก็ยังมี เราต้องพิจารณาและดูหน่อยนึง… จริง ๆ คนไม่ได้เลวไปหมดทุกคนเนอะ คนเรามันก็มีผิดพลาดบ้าง อยากให้หลายคนให้โอกาสเขาแบบนี้ อย่างคนที่ก้าวพลาดบางคนก็ไม่ได้ตั้งใจ”

เจ๊จงเล่าว่าตนเองเคยเห็นนักโทษในเรือนจำอยุธยานั่งร้องไห้จึงเข้าไปกอดและพูดคุย เขาบอกว่าการทำผิดครั้งนี้เป็นความผิดพลาด เขาไม่ได้ตั้งใจทำให้ตนเองต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำ เจ๊จงมองว่าคนแบบนี้คือคนที่ก้าวพลาด ถ้าออกจากเรือนจำก็คงไม่อยากเข้าไปอีก

อีกตัวอย่างที่เธอพูดถึงคือเมื่อครั้งที่ไปสอนทำอาหารในเรือนจำจันทบุรีแล้วมีคนหนึ่งสะดุดตาเจ๊จงมาก เพราะเขามีท่าทางต่อต้านและไม่สนใจเรียนรู้อาชีพที่มีสอนเลย วันสุดท้ายเธอจึงเดินเข้าไปกอดนักโทษคนนั้นและพูดคุยกับเขาเพื่อให้รู้ว่าเจ๊จงไม่ได้รังเกียจและไม่ด่วนตัดสินคนเพียงเพราะเขาสวมเสื้อราชทัณฑ์

“บางครั้งอย่าพึ่งตัดสินเขาไปก่อนว่าเขาเคยติดคุกมา… อยากให้หลายคนอย่าพึ่งตัดสินแต่ให้โอกาสเขาก่อน ตอนนี้ก็ขึ้นกับเขาแล้วว่าจะรับโอกาสที่เราให้หรือเปล่า”

หมายเหตุ : รายงานชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท