Skip to main content
sharethis
  • ช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา มีข่าวการฆ่าตัวตายของนิสิตนักศึกษาผ่านตาให้เห็นตามหน้าสื่อบ่อยครั้ง ในขณะที่ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบว่าอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทยพุ่งสูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
  • ด้านจิตแพทย์และผู้นำนิสิตนักศึกษา เผยว่าความเครียดที่พุ่งสูงอาจเกิดจากการที่วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนไปอย่างกะทันหัน เช่น การต้องเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ ส่งผลให้ประสิทธิภาพ ในการเรียนลดลงจนเกิดความกดดัน หรือปัญหาความสัมพันธ์กับครอบครัวเมื่อต้องกลับมาใช้ชีวิตด้วยกันตลอด 24 ชม.ในช่วงล็อกดาวน์
  • แม้ว่าหลายมหาวิทยาลัยจะมีบริการสุขภาพจิตให้นิสิตนักศึกษา แต่อาจยังไม่เพียงพอ จึงนำไปสู่ข้อเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยดูแลผู้เรียนมากกว่านี้ ซึ่งอาจรวมไปถึงการทำงานเชิงรุกมากกว่ารอให้นิสิตนักศึกษาเดินเข้ามาขอความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว
  • นอกจากนี้ ประเทศไทยยังประสบปัญหาบุคลากรด้านสุขภาพจิตไม่เพียงพอ และการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตยังคงมีอุปสรรค ในขณะที่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอาจยังเป็นทางออกในระยะยาวที่ยั่งยืนกว่าการเพิ่มหมอหรือเพิ่มเตียงในโรงพยาบาล

'ประชาไท' ชวนไปสำรวจชีวิตของนิสิตนักศึกษา คุยกับจิตแพทย์ และไถ่ถามกับผู้ดำเนินการโครงการสุขภาพจิตของมหาวิทยาลัย 3 แห่ง เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตในช่วงการระบาดของโควิด-19 กลไกของมหาวิทยาลัยในการดูแลนิสิตนักศึกษา และข้อจำกัดต่างๆ ที่ทำให้ปัญหาสุขภาพจิตยังคงเป็นปัญหาที่ไม่มีทางออก "ทุกคนไม่โอเคกับชีวิตที่ต้องพบจิตแพทย์หรอก หากระบบมันสร้างความหวังได้มากกว่านี้"

 

ตลอดช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ระหว่างปี 2563-2565 นอกจากข่าวและสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 ที่เห็นเป็นประจำทุกวันแล้ว ยังมีข่าวนิสิตนักศึกษาฆ่าตัวตายแวะเวียนมาให้พบให้เห็นในหน้าสื่ออยู่บ่อยครั้ง 

31 มกราคม 2564 สำนักข่าวแห่งหนึ่งรายงานว่า นักศึกษาหญิงชั้นปี 2 ได้ฆ่าตัวตายที่ห้องพักย่านราชเทวี กรุงเทพมหานคร จากการสัมภาษณ์ ญาติระบุว่า รายงานที่ได้รับมอบหมายจากการเรียนออนไลน์ ทำให้ผู้เสียชีวิตนอนไม่ต่ำกว่าตีสี่ต่อเนื่องเป็นเวลานานจนทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ ญาติของนักศึกษาคนดังกล่าวพาไปพบแพทย์ และได้ยานอนหลับมารับประทาน พร้อมกับแนะนำให้หยุดพักการเรียนไว้ชั่วคราว ก่อนจะถูกพบว่าเสียชีวิต

เย็นวันเดียวกัน อ.อรรถพล อนันตวรสกุล จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ถึงปัญหานิสิตนักศึกษาที่ฆ่าตัวตายจากความเครียดสะสมเพราะการเรียนออนไลน์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “มหาวิทยาลัยต้องเร่งใส่ใจลงรายละเอียดดูแลสุขภาวะของนิสิตนักศึกษา จะปัดไปทีแค่การลดค่าเทอม 10% มีทุนสำหรับคนวิ่งเรื่องทำคำร้อง มีฮอตไลน์สุขภาพจิตให้แล้ว คงไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปเดียว

"ฝากถึงเพื่อนพี่น้องคณาจารย์ มอบหมายงานอย่างมีความหมาย อย่าหวังให้สมบูรณ์แบบจนเครียดกันไปทั้งคนเรียนคนสอน สอบออนไลน์จับเวลาเปิดกล้อง 2 ตัว อะไรนี่ก็เหมือนกัน เพลาๆ กันบ้างเถิดครับ การประเมินผลการเรียนรู้มีวิธีการมากมายกว่าแค่วัดความรู้จากการสอบ การเรียนออนไลน์ ไม่ใช่มีกล้อง มีไฟ มีฉากหลังเขียว ๆ มีไมค์ดี ๆ แล้วลุยอัดคลิปบรรยาย หรือกะเกณฑ์ให้เข้าซูมมาเพื่อนั่งฟังบรรยาย 2-3 ชม. ผลักให้คนเรียนเรียนเดียวดายอยู่ท่ามกลางลิสต์งานมหาศาลไม่ได้พักผ่อน"

เดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีรายงานข่าวว่า นิสิตปริญญาโท ชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระโดดลงมาจากชั้น 7 ของอาคารเรียน สาเหตุคาดว่าน่าจะมาจากความเครียด โดยญาติระบุว่า ก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 สัปดาห์ นิสิตรายดังกล่าวได้กินยารักษาอาการเกี่ยวกับโรคเครียด

สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 บังคับให้สถานศึกษาต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน และการเรียนในห้องที่เปลี่ยนเป็นการเรียนออนไลน์นั้นนำไปสู่ความเครียด และปัญหาสุขภาพจิตพุ่งสูงขึ้นหรือไม่ ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตาย กรมสุขภาพจิต พ.ศ.2560-2564 เผยว่า อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ และทำร้ายตนเองในกลุ่มอายุ 25-34 ปี สูงกว่ากลุ่มอายุ 34 ปีขึ้นไปถึง 4 เท่าในช่วง พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นปีที่ 2 ของการระบาดของโควิดฯ โดยคนกลุ่มอายุ 15-24 ปี เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 439 คน และกลุ่มอายุ 25-34 ปีมีถึง 956 คน

นอกจากนี้ ยังพบว่า ในปี 2563-2564 คนไทยมีความเครียดสูง โดยในปี 2563 มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 7.37 คนต่อแสนประชากร และในปี 2564 ประมาณ 7.8 คนต่อแสนประชากร ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิดฯ อย่างในปี 2561 ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 6.32 คนต่อแสนประชากร และ 2562 ที่อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 6.64 คนต่อแสนประชากร

อัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเกิดขึ้นมากในกลุ่มวัยที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการเรียนการสอนอันเป็นผลจากสถานการณ์โรคระบาด ปัญหาสุขภาพจิตจึงไม่ใช่ปัญหาของปัจเจกบุคคล แต่เป็นปัญหาที่สังคมควรต้องตระหนัก โดยเฉพาะในสังคมขนาดย่อมอย่างมหาวิทยาลัยควรดูแลสภาพจิตใจของนิสิตนักศึกษาเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติทางสุขภาพจิตขั้นรุนแรงที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด

'ประชาไท' ชวนไปสำรวจชีวิตของนิสิตนักศึกษา คุยกับจิตแพทย์ และไถ่ถามกับผู้ดำเนินการโครงการสุขภาพจิตของ 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ม.เกษตรฯ) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตในช่วงการระบาดของโควิด-19 กลไกของมหาวิทยาลัยในการดูแลนิสิตนักศึกษา และข้อจำกัดต่างๆ ที่ทำให้ปัญหาสุขภาพจิตยังคงเป็นปัญหาที่ไม่มีทางออก

การเปลี่ยนแปลงฉับพลัน สาเหตุใหญ่ของปัญหาสุขภาพจิตช่วงโควิด

ศุภิสรา รามสูต นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าถึงความเครียดที่ต้องเผชิญเมื่อเริ่มก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยว่า สมัยตอนอยู่ปี 1 การรับน้องของคณะและระบบโซตัสของชมรมวอลเลย์บอลทำให้สภาพจิตใจแย่ลงจนนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง จึงตัดสินใจไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลสวนปรุง และได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคซึมเศร้าในปี 2562 ต่อมาได้เปลี่ยนไปรักษาที่โรงพยาบาลสวนดอก เพื่อใช้สิทธินักศึกษา แต่รักษาไปแล้วพบว่า เข้ากันไม่ได้กับจิตแพทย์และยาที่หมอจ่าย จึงเปลี่ยนไปรักษากับคลินิกจิตเวช ปรากฏว่าอาการดีขึ้นเป็นลำดับและรักษาต่อเนื่องนับจากนั้น

จนกระทั่งเชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดต้นปี 2563 ส่งผลให้สภาพจิตใจของศุภิสราแย่ลง ด้วยความที่เป็นโรคแพนิคและวิตกกังวลอยู่แล้ว การมาของโควิดฯ ทำให้เธอระแวงว่าจะติดโรค ไม่กล้าออกไปไหน และหากมีอาการผิดปกติใดๆ ก็สับสน ไม่รู้ว่าอาการที่เป็นเกิดจากผลข้างเคียงของยาหรือกำลังป่วยเป็นโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งทำให้เครียดทุกครั้ง ยิ่งเมื่อคลินิกที่เธอเข้ารับการรักษาเปลี่ยนรูปแบบการรักษาจากการเจอตัวเป็นการพูดคุยทางโทรศัพท์แทน ทำให้การรักษาทำได้ไม่เต็มที่ ช่วงนั้นจึงไม่ค่อยได้ไปพบแพทย์ และได้ยาจากทางไปรษณีย์แทน

ผศ.นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความเครียดที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการที่ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปจากเดิมอย่างมาก เยาวชนอาจได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย เช่น ครอบครัวหรือเศรษฐกิจ ความเครียดจากการถูกควบคุมโดยผู้ปกครองที่ไม่เข้าใจการเรียนออนไลน์ ทำให้เด็กไม่มีโอกาสใช้ชีวิตตามวัยหรือได้จัดการชีวิตตัวเอง ในขณะที่พ่อแม่เองก็เครียดจากปัญหาเศรษฐกิจและทำงานอยู่บ้านเช่นกัน

ผศ.นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตรงกับที่ มช.ได้ให้ข้อมูลไว้เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ว่า ช่วงโควิดฯ ระบาด ส่วนใหญ่แล้วนักศึกษาจะขอรับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาในเรื่องความเครียดและการปรับตัว เช่น เรียนออนไลน์ไม่รู้เรื่อง มีอุปกรณ์ไม่พร้อม ปรับตัวกับการเรียนที่บ้านไม่ได้ แต่เมื่อปรับตัวเข้ากับการเรียนการสอนออนไลน์ได้แล้ว ก็จะมาปรึกษาเรื่องความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเพื่อน แฟน ครอบครัว เพราะนักศึกษาบางคนที่ไม่เคยอยู่กับครอบครัวตลอด 24 ชั่วโมง ก็จะมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับพ่อแม่ที่อาจจะไม่เข้าใจว่ากำลังเรียนอยู่ จึงใช้ไปทำงานบ้าน บางคนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีเพื่อน ยิ่งเป็นนักศึกษารหัสปีเข้าเรียน 63-64 สอบเข้ามาหาวิทยาลัยได้ แต่ไม่ได้มาเรียนที่มหาวิทยาลัยเลย ต้องเรียนออนไลน์กันทั้งปีการศึกษา พอเขากลับมาเรียนในช่วงเปิดเทอมที่ผ่านมา (ปี 2565) จึงเหมือนว่า เขาเพิ่งอยู่ปี 1

ส่วนสิรภพ อัตโตหิ นายิกาองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) และ ชนกันต์ นภารักษาวงศ์ นายกองค์การบริหารองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน (อบก.) กล่าวตรงกันว่า การเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ทำให้ประสิทธิภาพการเรียนของนิสิตลดลงจนเกิดความกดดัน รวมกับสภาวะเศรษฐกิจ และการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลที่ย่ำแย่ก็ยิ่งทำให้สุขภาพจิตแย่ลงไปด้วย 

ข้อมูลเชิงตัวเลขจากศูนย์ดูแลให้บริการด้านสุขภาพจิตแก่นักศึกษาและบุคลากร มช. ก่อนมีการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปี 2561 มีนักศึกษามาขอรับบริการปรึกษาด้านสุขภาพจิต 80 รายต่อ 106 ครั้ง แต่ในปี 2562 ตัวเลขอยู่ที่ 293 รายต่อ 441 ครั้ง พอถึงปี 2563 และ 2564 ตัวเลขกระโดดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีนักศึกษามาขอรับคำปรึกษา 381 รายเหมือนกันแต่ว่าไม่ซ้ำคน ต่อ 654 ครั้ง และ 667 ครั้งในปี 2564 ส่วนปี 2565 เพียงช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม มีนักศึกษามาขอคำปรึกษาแล้ว 267 รายต่อ 500 ครั้ง

ส่วนข้อมูลจาก "KU Happy Place Center" ซึ่งเป็นศูนย์ให้บริการปรึกษาด้านสุขภาพจิตของ ม.เกษตรฯ พบว่า มีนิสิตเข้ารับคำปรึกษาที่ศูนย์ในปี 2563 และ 2564 ราว 800 คนต่อปี โดยผลสำรวจด้านสุขภาวะของนิสิตชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ในช่วงการระบาดของโควิด-19 พบว่า นิสิตมีความไม่สบายใจเรื่องการเรียนและการสอบออนไลน์มากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมา คือเรื่องสถานการณ์โควิด-19 สถานการณ์การเมือง การปรับตัวในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย และการเงิน/ค่าใช้จ่าย ตามลําดับ

ชนกันต์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สถิติจากกองทุนสวัสดิภาพนิสิต ม.เกษตรฯ บางเขน ซึ่งเป็นกองทุนที่ให้นิสิตสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ระบุว่า ในปี 2564 มีนิสิตฆ่าตัวตายเสียชีวิตทั้งหมด 9 ราย แต่ในปี 2565 (ณ เดือนสิงหาคม) ยังไม่มีรายงานออกมา

ทางด้านจุฬาฯ สิรภพ บอกว่า อบจ.ยังไม่มีการบันทึกข้อมูลการฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายของนิสิตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เท่าที่ทราบในช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย และช่วงปี 2564 มีรายงานการพยายามฆ่าตัวตายประมาณ 5 กรณี ไม่รวมกรณีที่ส่งไปโรงพยาบาลทางด้านจิตเวชหรือกรณีที่เกิดนอกมหาวิทยาลัย 

ทั้งนี้ ผลการสำรวจจากโครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สำรวจข้อมูลจากนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี

9,050 คนในมหาวิทยาลัย 15 แห่งจาก 5 ภูมิภาค พบว่ากว่า 30% เผชิญกับความรู้สึกเศร้า ซึ่งในจำนวนนี้ 4.3% ได้รับการวินิจฉัยว่า มีอาการป่วยทางจิตเวช 4% เคยคิดฆ่าตัวตายบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา 12% เคยทำร้ายร่างกายตนเอง และ 1.3% ทำร้ายร่างกายตนเองบ่อยครั้ง โดยสาเหตุหลักมาจากความสัมพันธ์ในครอบครัว และผลการเรียนที่ทำให้เกิดความเครียดสะสมจนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

เพราะมหาวิทยาลัยคือบ้านหลังที่สอง จึงต้องดูแลนักศึกษา

ศุภิสรา เล่าถึงช่วงปี 2563 ที่โควิดระบาดว่ามีข่าวนักศึกษาฆ่าตัวตายจำนวนมาก ข่าวส่วนใหญ่ระบุว่า สาเหตุการฆ่าตัวตายมาจากโรคซึมเศร้าและความเครียดที่เกิดจากการเรียนออนไลน์ หรือแม้กระทั่งตอนที่เธอเข้าห้องฉุกเฉินเพื่อรักษาบาดแผลจากการทำร้ายตัวเอง ก็เห็นเตียงข้างๆ ใส่ชุดนักศึกษามหาวิทยาลัยเดียวกันมารักษาบาดแผลจากการทำร้ายตัวเองเหมือนกัน ทำให้เกิดคำถามว่า มหาวิทยาลัยควรทำอะไรเพื่อดูแลนักศึกษามากกว่านี้ไหม

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ศุภิสรา ตัดสินใจจัดทำแบบสอบถามเพื่อนนักศึกษา มช.เกี่ยวกับข้อเสนอแนะเรื่องผู้ป่วยโรคทางจิตเวชกับการเรียน เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปยื่นให้กับกองพัฒนา สภาและสโมสรนักศึกษา มช. เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ป่วยโรคจิตเวชที่มีอาการกำเริบจนส่งผลกระทบต่อการเรียน หลังจากนั้นทางเพจสภา มช. จึงได้ติดต่อมาทางแชทเฟซบุ๊กส่วนตัวของศุภิสรา เพื่อขอข้อมูลจากแบบสอบถามเพื่อยื่นเข้าที่ประชุมผู้บริหารเพื่อพิจารณา 

"สถานศึกษาเหมือนบ้านอีกหลัง" ศุภิสรา กล่าว และเห็นว่าเยาวชนใช้เวลาอยู่กับสถานศึกษา 10-11 ชั่วโมงต่อวัน แต่อยู่บ้านไม่ถึง 5 ชั่วโมง และชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยก็เป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างวัยรุ่นกับวัยผู้ใหญ่ เธอจึงไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่า ถ้าเรียนมหาวิทยาลัยก็ถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว ต้องดูแลตัวเองได้ เพราะวิถีชีวิตจากโรงเรียนสู่มหาวิทยาลัยนั้นเปลี่ยนเร็วเกินไป การที่คนปรับตัวช้าไม่ใช่เรื่องผิด เพราะแต่ละคนถูกเลี้ยงดู มีภูมิคุ้มกันไม่เหมือนกัน

ศุภิสรา รามสูต นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อย่าไรก็ตาม แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีหน่วยงานให้บริการด้านคำปรึกษาสุขภาพจิต อย่าง ม.เกษตรฯ จะมี 'KU Happy place center' นิสิตสามารถขอใช้บริการรับคำปรึกษาแบบออฟไลน์ และระบบให้คำปรึกษาออนไลน์กับนักจิตวิทยาประจำศูนย์ ผ่านโปรแกรมประชุมทางไกล (ZOOM) แอปพลิเคชันติดต่อ-สื่อสาร (LINE) และอื่นๆ นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ มีการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปให้เครือข่ายนิสิต บุคลากรมหาวิทยาลัย ผู้ปกครองและคณาจารย์ เพื่อให้พวกเขาตระหนักถึงการดูแลสุขภาพจิตซึ่งกันและกัน รวมถึงการจัดการความเครียด 

ทางด้านจุฬาฯ ก็มีหน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิต หรือ CU Student Wellness เปิดช่องทางให้นิสิตขอใช้บริการด้านคำปรึกษาได้กับนักจิตวิทยาประจำศูนย์ 3 รูปแบบ ตั้งแต่การพูดคุยแบบพบปะกันโดยใช้เวลาระยะสั้นไม่เกิน 20 นาที คุยผ่านสายด่วน ใช้บริการได้ตั้งแต่เวลา 15.00-23.00 น. และบริการให้คำปรึกษาเต็มรูปแบบ คือ 45-90 นาที นอกจากนี้ ในพื้นที่ของทางศูนย์ 'CU Student Wellness' จะมีการจัดเวิร์กช็อปให้บุคลากรทางการศึกษา นิสิต และอาจารย์ ให้เข้าใจเรื่องการจัดการดูแลสุขภาพจิตของตัวเองด้วย

ส่วน มช. มีหน่วยงานชื่อ 'CMU Minds' เป็นหน่วยงานดูแลนักศึกษาด้านสุขภาพจิตของทั้งมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นการมีแบบทดสอบทางจิตวิทยาสำหรับนักศึกษาและบุคลากร มีบริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยาตามเวลาราชการ โดยงานพัฒนานักศึกษาสู่สากลและแนะแนว กองพัฒนานักศึกษา และ 'โครงการบ้านหลังที่สอง' ซึ่งเป็นโครงการให้คำปรึกษา จัดกิจกรรมทางจิตวิทยาให้กับนักศึกษา และบุคลากร ซึ่งขึ้นตรงกับคณะมนุษยศาสตร์

มาตรการที่ใช้ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทางศูนย์ของ ม.เกษตรฯ บางเขน ให้นิสิตทำแบบประเมินออนไลน์ หากพบนิสิตที่มีความเครียดสูง จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อไปหาเพื่อสอบถามและพูดคุย ขณะที่ มช.เปิดช่องทางให้คำปรึกษาผ่านโปรแกรมระยะไกลให้นักศึกษาได้รับบริการจากนักจิตวิทยาในโครงการบ้านหลังที่สอง 

ช่วงเดือนสิงหาคม 2563 หลังจากที่ทางมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาทำแบบสอบถามทางสุขภาพจิต ผลออกมาว่า ศุภิสรามีความเสี่ยงสูง จนทาง CMU Minds ทักมาสอบถามปัญหา และส่งนักจิตวิทยาคนหนึ่งเพื่อเป็นตัวกลางสื่อสารความต้องการของผู้ป่วยกับอาจารย์ประจำคณะและภาควิชา แต่อาจารย์ยังคิดว่าเธออยากได้สิทธิพิเศษเหนือคนอื่น

"เราไม่ใช่ตัวแทนของผู้ป่วยทุกคน ทุกคนมีสิ่งที่ต้องการไม่เหมือนกัน ถึงเราจะป่วยแต่ไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษอะไรไปมากกว่าคนอื่น ตอนนี้เรามีปัญหาในการเข้าเรียน อาจารย์สามารถช่วยอะไรได้ไหมโดยไม่ให้กระทบกับคนอื่นจนกลายเป็นความรู้สึกไม่ยุติธรรมหรือว่าได้รับสิทธิพิเศษ" ศุภิสรา กล่าว

ทางด้านสิรภพ มองว่า มหาวิทยาลัยต้องคิดถึงการบริการสังคมในมิติที่ตนเองเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมด้วย ไม่ใช่มองว่ามหาวิทยาลัยมีหน้าที่จะทำให้นิสิตเรียนจบได้รับใบปริญญา ทำตามหลักพันธกิจที่มหาวิทยาลัยตั้งไว้เพียงเท่านั้น สิริภพอยากให้มองลึกลงไปถึงคำถามที่ว่า มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างปัญหาสุขภาพจิตให้นิสิตหรือไม่ มหาวิทยาลัยดูแลนิสิตเพียงพอหรือยัง 

"มหาวิทยาลัยคือนิสิต นิสิตคือมหาวิทยาลัย ถ้ามหาวิทยาลัยไม่สามารถดูแลนิสิตได้ เราจะมีมหาวิทยาลัยไว้ทำไม" ชนกันต์ กล่าวอย่างสอดคล้องกัน

ชนกันต์ ยังเล็งเห็นว่า มหาวิทยาลัยควรเพิ่มความใส่ใจเรื่องสุขภาพจิตของนิสิต เพราะนิสิตคือคนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ หากมหาวิทยาลัยยังพยายามปิดข่าวการฆ่าตัวตายของนิสิตราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งที่จริงมันเกิดขึ้นแล้ว ไม่เช่นนั้นคงไม่มีข่าวนิสิตฆ่าตัวตายเยอะแบบนี้หรอก หากผู้บริหารมองว่า นี่คือปัญหาที่ต้องมาพูดคุยร่วมกับนิสิตเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา 

ขณะนี้หลายมหาวิทยาลัยยังพึ่งพาอาจารย์ในการเฝ้าระวัง โดยอบรมอาจารย์ให้มีความรู้ด้านสุขภาพจิต แต่อาจารย์จะดูแลนิสิตนักศึกษาที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติของอาจารย์แต่ละคนด้วย
 
ซึ่งประเด็นนี้ นพ.ภุชงค์ แห่งภาควิชาจิตเวช จุฬาฯ ให้ความเห็นว่า หากอาจารย์เปิดใจรับฟังก็คงช่วยได้ แต่ถ้าปรึกษาแล้วได้รับแรงกดดันเพิ่ม นิสิตอาจรู้สึกว่าอาจารย์เองก็คงช่วยไม่ได้เท่าไหร่นัก ส่วน อ.ดร.ณฐวัฒน์ ล่องทอง อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มช. และประธานโครงการบ้านหลังที่สองเห็นว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาบางคนไม่ค่อยกล้าคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาหรืออาจารย์ผู้สอน หรือคนอื่นๆ เป็นเพราะกังวลว่า อาจจะได้รับผลกระทบหรือถูกมองว่า ตนเองผิดปกติ และบางคนก็มองว่า การมารับบริการที่โครงการบ้านหลังที่สองเป็นเรื่องของคนที่ป่วย และไม่ควรเปิดเผยให้ใครรู้

ส่วนสิรภพ เผยข้อมูลทางด้านสถิติ ผู้มารับบริการที่ศูนย์ CU Student Wellness ที่น่าสนใจว่า นิสิตในคณะที่อาจารย์มีแนวโน้มจะเป็นอนุรักษ์นิยม และมองว่าปัญหาด้านสุขภาพจิตต้องแก้ที่ตัวเองเป็นหลัก จะมีเปอร์เซ็นต์เข้ามาใช้บริการที่ศูนย์ CU Student Wellness น้อย และมาตอนที่อาการค่อนข้างรุนแรงแล้ว แต่นิสิตในบางคณะที่อาจารย์มีแนวคิดก้าวหน้าในเรื่องปัญหาสุขภาพจิต โดยมองว่าปัญหานี้มีความสำคัญ และสามารถมารับคำปรึกษาได้ตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ กลับมีเปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าใช้บริการในอัตราที่สูง และนิสิตเข้ามาขอคำปรึกษาตั้งแต่อาการไม่รุนแรงหรือยังไม่มีอาการ ซึ่งสิรภพเห็นว่า ลักษณะการให้บริการในแบบตัวอย่างหลังเป็นเรื่องที่ดีกว่า 

สิรภพ อัตโตหิ นายิกาองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การวางแผนทำงานเชิงรุกเพื่อเข้าถึงนิสิตนักศึกษาที่เผชิญกับความเครียดหรือปัญหาสุขภาพจิตต่างๆ อาจเป็นเรื่องจำเป็น แทนที่จะให้อาจารย์ทำหน้าที่เฝ้าระวังหรือรอให้นิสิตนักศึกษาตัดสินใจเข้ามารับคำปรึกษาที่ศูนย์ต่างๆ เอง 

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 มช.เปิดศูนย์สุขใจ-CMU Mental Health Center ชั้น 2 ณ ศูนย์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อรองรับการดูแลรักษานักศึกษา และบุคลากรในลักษณะครบวงจร (One Stop Service) ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองและประเมินด้านสุขภาพจิต การตรวจรักษาโดยจิตแพทย์ การให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา การให้สุขภาพจิตศึกษา โดยจะมีการเก็บข้อมูลนักศึกษาจากโครงการบ้านหลังที่สอง และศูนย์ CMU Minds เพื่อทำเวชระเบียน และเพื่อให้การติดตามดูแลนักศึกษาทำได้ง่ายขึ้น

ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับบริหารใน มช. เปิดเผยด้วยว่า ผู้บริหารชุดเดิมต้องการลดความแออัดการไปหาหมอที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (โรงพยาบาลสวนดอก) จึงให้บุคลากรและนักศึกษามาใช้บริการที่ศูนย์สุขภาพ ซึ่งคุณภาพไม่ต่างกับการไปโรงพยาบาล 

คาดว่าในอนาคต มช.อาจจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงปัญหา โดยร่วมมือกับสำนักทะเบียนเพื่อทำระบบเตือนเมื่อนักศึกษาเกรดเฉลี่ยลดลงติดกัน 2 ภาคการศึกษา เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า เกรดเฉลี่ยที่ลดลงเป็นสัญญาณว่า นักศึกษาเริ่มมีความเครียด โดยจะให้เจ้าหน้าที่ในแต่ละคณะเข้าไปพูดคุยกับนักศึกษา และใช้การเฝ้าระวังเกรดเฉลี่ยที่ลดลงเป็นโอกาสให้อาจารย์ที่ปรึกษาเข้าไปพูดคุยว่า มีปัญหาด้านสุขภาพจิตหรือเป็นปัญหาด้านอื่น

แม้การทำงานเชิงรุกจะทำให้สามารถดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพของนักศึกษาได้มากขึ้น แต่ทางสถาบันเองก็ยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถดูแลครอบคลุมไปถึงระดับครอบครัวของนักศึกษาได้ นอกจากนี้ หากนักศึกษาไม่เปิดเผยข้อมูล ทางสถาบันก็ไม่สามารถเข้าถึงตัวนักศึกษาได้

ทั้งนี้ ณ วันที่เผยแพร่รายงานชิ้นนี้ ทาง มช.ได้ปรับกลไกพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพจิตของนักศึกษาไปมากกว่าที่แหล่งข่าวเคยให้ข้อมูลไว้ หากมีข้อมูลการดำเนินงานการดูแลสุขภาพจิตของนักศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ ประชาไทจะทำการอัพเดตให้ทราบต่อไป 

บุคลากรจิตเวชไม่เพียงพอ อุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตเมื่อปี 2565 ระบุว่า ประเทศไทยมีนักจิตวิทยาเพียง 1,037 คนหรือ 1.57 คนต่อประชากรแสนคนทั่วประเทศ ส่วนข้อมูลจำนวนจิตแพทย์ที่ได้จาก Rocket Media Lab ระบุว่า จากรายงานจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช กรมสุขภาพจิต ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ไทยมีจิตแพทย์รวม 845 คน คิดเป็นจิตแพทย์ 1.28 คนต่อแสนประชากร

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต ได้อธิบายถึงสาเหตุที่จิตแพทย์ขาดแคลนว่า เกิดจาก

กระบวนการผลิตจิตแพทย์ทำได้ยากและใช้เวลานาน ต้องเรียนแพทย์หลักสูตร 6 ปี ให้จบ ใช้ทุนอีก 3 ปี กลับมาเรียนแพทย์เฉพาะทางต่ออีก 3-4 ปี โดยผู้ที่อยากเป็นจิตแพทย์ต้องหาทุนมาเรียนเองหรือต้องมีต้นสังกัดออกทุนให้ ขึ้นอยู่กับว่ามีการเปิดตำแหน่งรับไหม ถึงจะได้เข้าเรียน และอีกหนึ่งสาเหตุคือ การขาดแคลนอาจารย์ ซึ่งโดยเฉลี่ยนักศึกษาแพทย์เฉพาะทางสาขาจิตเวชศาสตร์ 1 คน ต้องใช้อาจารย์แพทย์สอนประมาณ 3 คน

เช่นเดียวกับ พญ.ชนิกา เลี้ยงชีพ กุมารแพทย์จิตเวชเด็กและวัยรุ่น ให้สัมภาษณ์ผ่าน Thisable.me ว่า วิชาจิตเวชศาสตร์เป็นวิชาที่คนเรียนน้อย เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ ถ้าใจไม่รักก็ไม่สามารถฝืนเรียนได้ อีกทั้งอัตราจ้างและเงินเดือนก็ไม่มาก จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่คนเลือกมาเรียนจิตเวชศาสตร์น้อยมาก

พญ.ชนิกา ยังชี้ให้เห็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่สำคัญ คือค่าบริการการรักษาทางจิตเวชมีค่าใช้จ่ายสูงและคนไข้ส่วนใหญ่มักไม่สะดวกมาพบแพทย์ในเวลาราชการ บางคนต้องลางาน ลาเรียนมาหาจิตแพทย์ คนไข้บางรายอาจจะรู้สึกไม่ชอบคุยกับจิตแพทย์ที่ตัวเองรักษาอยู่ แต่ไม่มีสิทธิเปลี่ยนหมอ หรือถ้าไปโรงพยาบาลเอกชนคนไข้อาจจะสามารถเลือกหมอได้ แต่ก็แลกกับการจ่ายค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น

บ่อยครั้งที่เห็นข่าวบนสื่อโซเซียลมีเดียว่า ต้องรอคิวเป็นเดือนหรือเป็นปีเพื่อพบจิตแพทย์ ดังนั้น แม้นักจิตวิทยาจะเป็นหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้น แต่ก็เต็มไปด้วยปัญหาการเข้าถึง ทั้งจากปัญหาเรื่องจำนวนแพทย์ ค่าใช้จ่าย หรือปัญหาอุปสรรคอื่นๆ

ด้วยเหตุนี้เอง หน่วยงานตัวแทนนิสิตอย่าง อบจ. จึงได้ทำหนังสือถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ให้พิจารณาอนุมัติงบฯ ว่าจ้างนักจิตวิทยาเพิ่มจากเดิมที่มีอยู่ในศูนย์ CU Student Wellness Center จำนวน 6 คนให้เป็น 10 คน เพื่อให้เหมาะสมต่อสัดส่วนนิสิต ในอัตราส่วน 1:1,500 คน 

ถึงแม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะได้อนุมัติงบประมาณเมื่อปีที่ผ่านมา (2565) แต่หลังเปิดรับสมัคร กลับมีนักจิตวิทยามาสมัครไม่เต็มโควต้า เช่นเดียวกับที่ ม.เกษตรฯ ต้องเผชิญกับปัญหานักจิตวิทยาไม่เพียงพอต่อสัดส่วนนิสิต ซึ่งสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ คือภาพสะท้อนปัญหาความขาดแคลนนักจิตวิทยาระดับประเทศอย่างชัดเจน และตรงกับรายงานทรัพยากรสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2564 ที่ Rocket Media Lab ได้นำข้อมูลจำนวนนักจิตวิทยาสังกัด กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงและหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนรายจังหวัดมาเผยแพร่ว่า ทั่วทั้งประเทศไทยมีนักจิตวิทยา 729 คน คิดเป็นนักจิตวิทยา 1.10 คนต่อแสนประชากร และมี 6 จังหวัดที่ไม่มีนักจิตวิทยาเลย 

'เมื่อนักศึกษาไม่ลุกมาหา มหาวิทยาลัยก็ต้องรุกเข้าไป'

การเฝ้าระวังถือเป็นกลไกป้องกันที่สำคัญก่อนที่ปัญหาสุขภาพจิตจะรุนแรงก่อนสายเกินแก้ไข สิรภพ ระบุว่า ในจุฬาฯ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีนโยบายให้อาจารย์ในคณะต่างๆ เป็นคนคอยเฝ้าระวังและสอดส่องดูแลนิสิตด้านสุขภาพจิต แต่ทาง อบจ.ไม่ค่อยจะเห็นด้วย เพราะเป็นการผลักภาระให้อาจารย์ที่งานเต็มมืออยู่แล้ว 

ผู้นำ อบจ. ยังมองด้วยว่า แต่ละคณะยังมีงบฯ และทรัพยากรไม่เท่ากันในการดูแลนิสิต ยกตัวอย่าง คณะแพทยศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์มีงบฯ มากกว่า จะสามารถจ้างนักจิตวิทยาประจำคณะได้ ขณะที่บางคณะงบฯ น้อยกว่าไม่สามารถจ้างได้ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการเข้าไม่ถึงทรัพยากรที่ไม่เท่ากันภายในมหาวิทยาลัย

สิรภพ ชี้ปัญหาสภาวะความเป็นชุมชนที่หายไปในช่วงโควิด-19 ว่า ทุกคนกระโจนเข้าสู่การเรียนออนไลน์ทำให้นิสิตมีความเป็นปัจเจกสูงขึ้น ความเป็นชุมชนต่ำลง ดูแลกันยากขึ้น เธอเสนอว่า จุฬาฯ มีพื้นที่และตึกที่ยังไม่ได้ใช้งานจำนวนมากสามารถให้นิสิตนำมาใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันอีกครั้ง เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างกันและกัน เมื่อการเชื่อมต่อเกิดขึ้น การสนับสนุนทางด้านจิตใจก็จะเกิดขึ้นตามมา กลไกและระบบการเฝ้าระวังปัญหาด้านสุขภาพจิตก็จะเข้มแข็งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ดร.ณฐวัฒน์ มองอย่างเสริมกันว่า ทัศนคติของคนที่เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัยก็สำคัญต่อความเจ็บป่วยทางจิตใจไม่น้อย เช่น นักศึกษาที่เป็นโรคซึมเศร้านั้นเขาไม่ได้แกล้งทำหรือเรียกร้องความสนใจ แต่เป็นเพราะอาการป่วย และเมื่อเจ็บป่วยก็ควรได้รับการรักษาเช่นเดียวกับความเจ็บป่วยทางกาย เพราะไม่อย่างนั้นแล้วจะเกิดปัญหาแบบที่ศุภิสราเจอ คือต่อให้ยื่นใบรับรองแพทย์ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นซึมเศร้าตั้งแต่แรก อาจารย์ก็จะไม่รับ เพราะว่าใบรับรองแพทย์อันนี้เป็นใบเก่า ปกติใบลาป่วยต้องระบุตรงกับวันเวลาที่ขาดเรียน เป็นต้น

ศุภิสรา เสนอวิธีการแก้ปัญหาเชิงรุกที่มหาวิทยาลัยควรทำกับนักศึกษาที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต ได้แก่ การมีคนกลางคอยช่วยนักศึกษาในการสอบถามว่า ผู้เรียนอยากได้ความช่วยเหลือแบบไหนบ้าง เช่น ต้องการเวลาสอบเพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องการวันลาป่วยเพิ่มขึ้นไหม ต้องการให้อาจารย์อัดวิดีโอตอนสอน หรือต้องการสอบแยกหรือไม่ พอมีคนกลางจะทำให้นักศึกษากล้าสื่อสารความต้องการของตนเองมากขึ้น แล้วนำไปสู่ข้อเสนอถึงอาจารย์ผู้สอนเพื่อหารือว่า เรื่องไหนสามารถทำได้หรือพออลุ่มอะล่วยให้กันได้บ้าง ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องทำตามข้อเรียกร้องของนักศึกษาทั้งหมดแต่พิจารณาตามความเหมาะสมก็ได้

อีกข้อแนะนำหนึ่งจากศุภิสรา คือสำหรับนักศึกษาที่มีระดับความเสี่ยงกลางจนถึงเสี่ยงสูงที่จะเป็นซึมเศร้าหรือเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย CMU Minds อาจเรียกนักศึกษาไปคุยก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น สอบถามว่าอยากพบแพทย์หรือไม่ แล้วบันทึกข้อมูลเก็บไว้ว่า นักศึกษาคนนี้มีความเสี่ยงระดับไหน พยายามติดตามอย่างใกล้ชิดทุกเดือน เพื่อประเมินสภาพจิตใจของนักศึกษารายนั้นว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งอาจสามารถแก้ปัญหาก่อนที่นักศึกษาจะทำอะไรที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ถ้าทราบว่าเขาเป็นอะไร หรือต้องการอะไร

"แน่นอนว่า มหาวิทยาลัยไม่สามารถดูแลนักศึกษาเป็นหมื่นเป็นพันได้ทุกคนหรอก แต่อย่างน้อยถ้ามีการตรวจเชิงรุก ขอความร่วมมือทุกคนทำแบบสอบถาม อาจจะใช้เงินจ้างนักจิตวิทยามาช่วยดูแลตรง CMU Minds เพิ่ม ซึ่งอาจจะทำให้สถาบันต้องใช้งบประมาณมากขึ้น แต่เราคิดว่ายังดีกว่าที่จะปล่อยให้เด็กเสียชีวิต ทำให้สถาบันเสียภาพลักษณ์ การแก้ปัญหาระยะยาวจึงย่อมดีกว่า" 

สำหรับระบบของ 'KU Happy Place Center' จากเดิมที่มีแต่ระบบให้นิสิตติดต่อเข้ามาที่ศูนย์ฯ เป็นหลัก ชนกันต์ อยากเสนอให้ทางศูนย์ฯ ทำงานเชิงรุกเข้าไปในคณะต่างๆ มากขึ้น โดยอาจจะเริ่มจากคณะที่มีความเครียดจากการเรียนในระดับสูง ส่วนรูปแบบอาจจะเริ่มจากการประชุมหรือคุยกับคนทำกิจกรรมของคณะต่างๆ ก็ได้ 

ทั้งชนกันต์ และศุภิสรา มองตรงกันว่า มหาวิทยาลัยควรอบรมความรู้ด้านสุขภาพจิตให้กับบุคลากรทางการศึกษา และวิธีการรับมือนักศึกษาที่ป่วยสุขภาพจิด เพื่อให้อาจารย์มีแนวทางปฏิบัติและนำไปใช้ได้จริง

โควิดจบ ปัญหาสุขภาพจิตไม่จบ แก้ที่โครงสร้างจึงเป็นทางออก

ปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโควิด-19 เท่านั้น และเป็นหนึ่งในหลายปัญหาที่มีมาก่อนหน้าแล้ว แต่การแพร่ระบาดของโควิดฯ ทำให้เห็นภาพปัญหาสุขภาพจิตชัดเจนขึ้น สำหรับ พญ.ชนิกา และ นพ.ภุชงค์ มองไปทิศทางเดียวกันว่า การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง คือคำตอบในระยะยาวมากกว่าการเพิ่มจำนวนจิตแพทย์หรือเพิ่มเตียงโรงพยาบาล 

พญ.ชนิกา ระบุว่า โรคจิตเวชมีความสัมพันธ์กับสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละคน (Socio-economic Status) หากจะต้องลงทุนเพื่อแก้ปัญหาโรคจิตเวช ควรลงทุนแก้ไขเรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสถานะทางสังคมนอกเหนือจากอาชีพและรายได้ เธอมองว่า

การเพิ่มหมอเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะโรคจิตเวชหลายโรคเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรับการรักษาไปตลอดชีวิต ถ้าจัดการที่ต้นเหตุก็จะเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวมากกว่า หากประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี การแก้ปัญหาจิตเวชที่โรงพยาบาลก็อาจไม่จำเป็น

พญ.ชนิกา เลี้ยงชีพ กุมารแพทย์จิตเวชเด็กและวัยรุ่น

ทางด้าน นพ.ภุชงค์ เห็นว่า แนวโน้มหลังจากนี้ปัญหาสุขภาพจิตมีแต่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่เพราะผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 เท่านั้น แต่เป็นผลกระทบต่อเนื่อง เช่น ปัญหาเศรษฐกิจหรือปัญหาอื่นๆ ที่ยังไม่ฟื้นตัว คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้สึกว่าโลกที่เคยมั่นคงอาจจะสั่นคลอนได้ทุกเมื่อ เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหรือจะมีโรคระบาดอื่นอีกหรือไม่ ต้องเจอกับความสับสนวุ่นวายในสังคม มีเรื่องชวนสิ้นหวังและโกรธคนรุ่นก่อนที่ปล่อยให้สังคมมาถึงจุดนี้ ทำให้พวกเขาอาจจะไม่เชื่อในสิ่งที่เคยเป็นหลักศรัทธาของสังคมอีกต่อไป ในขณะเดียวกันก็ได้เห็นว่า ประเทศอื่นเป็นอย่างไร มีอะไรที่ดีกว่าหรือแย่กว่าประเทศไทย หลายคนก็อาจจะเลือกย้ายประเทศไปอยู่ที่อื่น แม้จากนี้ไปจะไม่กดดันเท่าช่วงโควิดฯ แล้ว แต่สังคมก็เปลี่ยนไปแล้ว

ในขณะที่สังคมมีความตระหนักรู้เรื่องของสุขภาพจิตมากขึ้น แต่ นพ.ภุชงค์ กลับแสดงความกังวลว่า จะเป็นการทำให้ปัญหาทุกอย่างกลายเป็นเรื่องสุขภาพจิตไปเสียหมดจนลืมแก้ที่ระบบที่ทำให้เกิดปัญหา 

"สมมติเด็กคนหนึ่งมีปัญหา เครียด กลายเป็นว่า เรามองทุกเรื่องเป็นเรื่องจิตใจไปหมด เราไม่ได้ย้อนกลับไปดูว่า อะไรทำให้เขาเครียด” นพ.ภุชงค์ กล่าว

ถ้าระบบต่างๆ ในสังคมมีหวังมากกว่านี้ ให้ทางออกกับคนหรือช่วยเหลือกันได้มากกว่านี้ เยาวชนไม่ถูกบีบบังคับให้ต้องรีบเรียน รีบจบ หรือรู้สึกว่า ชีวิตมีทางเลือก มีความเป็นไปได้ในชีวิตเยอะขึ้น ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่มีปัญหาต้องไปพบจิตแพทย์ 

"ทุกคนไม่โอเคกับชีวิตที่ต้องพบจิตแพทย์หรอก หากระบบมันสร้างความหวังได้มากกว่านี้ ระบบการจัดหางาน การจัดจ้างงานโอเคกว่านี้ ไม่สิ้นไร้ไม้ตอก ไม่เครียดเท่านี้ มีระบบสวัสดิการในสังคมที่ดี ก็อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่ต้องไปพบจิตแพทย์ก็ได้" นพ.ภุชงค์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net