Skip to main content
sharethis

ศาลเยาวชนฯ ยกฟ้องคดี ม.112 ‘สายน้ำ’ นักกิจกรรม กรณีถูกกล่าวหาแปะกระดาษ-พ่นสเปรย์รูป ร.10 ชี้หลักฐานไม่ชัดเจนว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด แต่มีความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับ 4 พัน

 

30 มี.ค. 2566 เว็บไซต์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานวันนี้ (30 มี.ค.) เวลา 10.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดฟังคำพิพากษาคดีของ "สายน้ำ" กรณีถูกกล่าวหาว่าแปะกระดาษ "CANCEL LAW 112" และใช้สีสเปรย์สีดำพ่นทับข้อความ "ทรงพระเจริญ" บนรูปรัชกาลที่ 10 ระหว่างการชุมนุม #ทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต ที่เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปที่ทําเนียบรัฐบาล เมื่อ 18 ก.ค. 2564

คดีนี้อัยการคดีเยาวชนฟ้อง "สายน้ำ" ใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ มาตรา 112, "วางเพลิงเผาทรัพย์" ตามมาตรา 217, "ทำให้เสียทรัพย์" มาตรา 358 และฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่า จำเลยได้หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และวางเพลิงเผาทรัพย์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร  โดยใช้กระดาษที่มีข้อความว่า "CANCEL LAW 112" จำนวน 1 แผ่น ข้อความ "เอาช่วงเวลาชีวิตพวกกูคืนมา" จำนวน 1 แผ่น โดยกระดาษทั้งหมดปิดทับบนรูปพระมหากษัตริย์ และจำเลยยังใช้สีสเปรย์สีดำพ่นทับข้อความ "ทรงพระเจริญ" ด้วยคำหยาบบนรูปดังกล่าว

อีกทั้งจำเลยยังจุดไฟเผาจนมีไฟลุกไหม้ที่ผ้าประดับสีเหลืองและสีขาว พานพุ่ม พร้อมกรวยธูปเทียนถวายพระพรที่ใช้ประดับรูป และรวมถึงรูปที่ติดตั้งบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

เช้าวันนี้ (30 มี.ค.) บรรยากาศที่ห้องพิจารณา 13 เต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล 7-8 นาย มาเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัย โดย "สายน้ำ" แม่ น้องชาย พร้อมทนายความ ทยอยเข้ารออยู่ในห้องพิจารณา นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่จากองค์กรสิทธิมนุษยชน และผู้ที่มาให้กำลังใจรออยู่ด้านนอก

เวลา 10.45 น. ศาลออกนั่งพิจารณาก่อนอ่านคำพิพากษา สายน้ำได้ยื่นคำร้องประสงค์ขอให้บุคคลภายนอกร่วมเข้าฟังคำพิพากษาจำนวนหนึ่ง แต่ศาลชี้แจงว่าตามข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าฟังคำพิพากษา ขอให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปรอด้านนอก 

ศาลชี้แจงต่อว่า ศาลตัดสินคดีนี้อย่างเป็นธรรม ใช้ดุลยพินิจอย่างอิสระ ไม่มีใครมีอำนาจเหนือศาล และตลอดการพิจารณาคดีก็ให้ความเป็นธรรมกับจำเลยตลอด ต่อให้มีบุคคลภายนอกหรือไม่มีเข้าร่วมฟังคำพิพากษา ก็ไม่ได้ทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด 

เมื่อ "สายน้ำ" ได้รับฟังเช่นนั้น จึงลุกขึ้นยืนแถลงต่อศาล ยืนยันจะขอให้เพื่อนที่เดินทางมาร่วมให้กำลังใจเข้าร่วมฟังคำพิพากษา พร้อมแสดง "อารยะขัดขืน" ด้วยการลงไปนั่งบนพื้นกลางห้องพิจารณาแล้วหันหลังให้ผู้พิพากษา โดยยืนยันว่าหากศาลไม่อนุญาตให้เพื่อนเข้าฟังก็จะขอนั่งหันหลัง ไม่ให้ศาลเห็นใบหน้าเช่นนี้ต่อไป ตลอดการฟังคำพิพากษา

เมื่อศาลเห็นพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลย ศาลก็ได้ชี้แจงกับสายน้ำว่า การกระทำดังกล่าวไม่เรียบร้อยเหมาะสม ไม่เคยมีใครนั่งฟังคำพิพากษาในลักษณะนี้มาก่อน จึงขอให้สายน้ำปรึกษาหารือกับที่ปรึกษากฎหมายให้ดีก่อน แต่จำเลยก็ยืนยันที่จะแสดงอารยะขัดขืนต่อไป ทำให้ศาลต้องขอเวลาปรึกษากับองค์คณะผู้พิพากษา

เวลา 11.12 น. ศาลกลับมานั่งพิจารณาอีกครั้ง พร้อมกับชี้แจงว่าเนื่องจากห้องพิจารณาคับแคบ ศาลจึงจะอนุญาตให้ประชาชนบางส่วนเข้ามาร่วมฟัง แต่จะต้องเก็บโทรศัพท์มือถือ และให้เจ้าหน้าที่ศาลยืนยันตัวบุคคลที่มาร่วมเข้าฟังคำพิพากษาอย่างเคร่งครัด

รายละเอียดในเหตุการณ์นี้ สายน้ำได้โพสต์ข้อความบนเพจเฟซบุ๊กตัวเองหลังการพิจารณาคดีเสร็จสิ้น เมื่อเวลา 16.38 น.ของวันนี้ (30 มี.ค.) ระบุว่า หลังจากที่เขานั่งหันหลังให้กลางห้อง ศาลมีท่าทีตกใจ และมึนงงว่าจะทำเช่นไร ต่อมา ศาลปรึกษาว่าจะเลื่อนวันอ่านคำพิพากษาดีหรือไม่ แต่ทางสายน้ำ ย้ำว่า เลื่อนไปก็ทำเช่นเดิม ศาลจึงขึ้นไปปรึกษาผู้บริหารศาลก่อนลงมาต่อรองกับตนจนได้ข้อสรุปว่า สายน้ำจะยอมนั่งบนเก้าอี้หันหน้า (จากปกติต้องยืน) และศาลจะให้เพื่อนที่ติดตามมาด้วยจำนวน 5 คน เข้าฟังในห้องพิจารณา ซึ่งนับเป็นครั้งเเรกทีศาลเยาวชนยอมให้ผู้ไว้วางใจเข้าฝังคดี

ศูนย์ทนายฯ รายงานต่อว่า จากนั้น ศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า จากพยานหลักฐานของโจทก์ที่เป็นรูปภาพชายชุดดำกำลังทำอากัปกิริยาพ่นสีและจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นภาพที่เห็นเพียงด้านหลัง ไม่เห็นหน้าตาหรือด้านหน้าอย่างชัดเจน แม้รูปพรรณสัณฐานและเสื้อผ้าจะคล้ายกับจำเลยที่เข้าร่วมชุมนุมในวันดังกล่าวก็ตาม อีกทั้งในวันดังกล่าวก็มีผู้ชุมนุมหลายคนที่แต่งกายในลักษณะเดียวกัน จึงไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้แน่ชัดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำการตามข้อกล่าวหาจริงหรือไม่

ที่สำคัญ ภาพหลักฐานดังกล่าวเป็นภาพมาจากเพจเฟซบุ๊ก "ปราชญ์ สามสี" ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีการนำตัวผู้โพสต์ภาพดังกล่าวมาสอบสวนให้การ จึงมีเหตุให้สงสัยว่าข้อมูลภาพดังกล่าวถูกต้องและน่าเชื่อถือหรือไม่

นอกจากนี้ ในส่วนคำให้การของพยานความเห็นของโจทก์จากกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ เห็นว่า พยานโจทก์กลุ่มนี้ประสงค์จะเข้ามาให้การกับพนักงานสอบสวนตั้งแต่แรก และคำให้การในชั้นศาลที่เบิกความว่า ดูภาพเหตุการณ์ที่ถ่ายทอดสดการชุมนุม เห็นหน้าจำเลยตอนเปิดผ้าปิดปากออก เป็นการให้การเพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งไม่ได้ปรากฏไว้ในคำให้การเดิมตั้งแต่ชั้นสอบสวนแต่อย่างใด จึงทำให้ยังมีเหตุเคลือบแคลงสงสัยต่อคำให้การดังกล่าว 

ในประเด็นเรื่องการตรวจสอบวัตถุพยาน ศาลรับฟังได้ว่าเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐานได้เก็บกระดาษ "CANCEL LAW 112" กับฝากกระป๋องสเปรย์ที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุไปเพื่อตรวจพิสูจน์ แม้จะมีการเก็บหลักฐานดังกล่าวไปตรวจลายนิ้วมือ แต่ไม่ได้มีการตรวจเทียบเคียงว่าใช่ลายนิ้วมือของจำเลยจริงหรือไม่ อีกทั้งคำให้การของพนักงานสอบสวนก็เบิกความสับสน ไม่อยู่ในร่องในรอย ไม่แน่ใจว่าได้ส่งตรวจเทียบเคียงหรือไม่ จึงไม่สามารถรับฟังได้ 

คดีจึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยมีความผิดจริงหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรค 2

ในส่วนข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากพยานหลักฐานพบว่า จำเลยไปร่วมการชุมนุมกับกลุ่มเยาวชนปลดแอกในวันเกิดเหตุจริง และในขณะนั้นมีการออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยพบว่าจำเลยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย และมีพฤติกรรมที่ไม่ปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 

จึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากขณะเกิดเหตุ จำเลยอายุ 17 ปี จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง ลงโทษปรับ 6,000 บาท และเเนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง จึงลดโทษปรับ เหลือ 4,000 บาท ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง

ทั้งนี้ สายน้ำ โพสต์เฟซบุ๊กเล่าเหตุการณ์หลังจากพิจารณาคดีเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ศาลพยายามเข้ามาควบคุมตัวเพื่อนของสายน้ำ โดยอ้างว่าเป็นคนถ่ายรูปธนลภย์ ในห้องพิจารณาคดีวานนี้ (29 มี.ค.)  

สายน้ำ ระบุว่า หลังเสร็จที่ศาลเขาลงมาข้างล่างกันกับเพื่อน เจ้าหน้าที่ศาลให้เพื่อนเขาเข้าไปในศาลโดยแจ้งว่าลืมของไว้ ก่อนจะพยามจับกุมตัวโดยอ้างว่าเป็นคนถ่ายรูปหยก พยามจะเอารูปมาชูให้ดูกล่าวหาพยามให้รับ โดยเอายามและตำรวจศาลมาล้อมไว้ ทำให้สายน้ำ และเพื่อนคนอื่นๆ ต้องเข้าไปเอาตัวออกมา ทั้งนี้ สายน้ำ ตั้งคำถามด้วยว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ศาลถูกต้องหรือไม่

วานนี้ มีภาพถ่ายเผยแพร่บนโลกออนไลน์ ปรากฏภาพของ 'หยก' ธนลภย์ (สงวนนามสกุล) เยาวชนอายุ 15 ปี กำลังนั่งหันหลังให้บัลลังก์ศาล เพื่อปฏิเสธอำนาจศาล หลังเธอถูกจับกุมเมื่อ 28 มี.ค. 2566 ตามหมายจับคดี ม.112 ทำกิจกรรมที่ลานเสาชิงช้า ม็อบ13ตุลา65 ก่อนที่ต่อมา ศาลออกหมายควบคุมตัวธนลภย์ จำนวน 1 ผัด ระยะเวลา 30 วัน ณ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จังหวัดนครปฐม 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกในศาลเยาวชนฯ ซึ่งจำเลยต่อสู้คดี และศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหานี้ ก่อนหน้านี้ศาลมีคำพิพากษาใน 2 คดี ของ "เพชร ธนกร" กรณีปราศรัยในการชุมนุมวันที่ 6 ธ.ค. 2563 ที่วงเวียนใหญ่ และการชุมนุมวันที่ 10 ก.ย. 2563 ที่ท่าน้ำนนทบุรี โดยวินิจฉัยว่ามีความผิดในทั้ง 2 คดี และอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net