Skip to main content
sharethis

สถานการณ์ชายแดนไทย-พม่าส่อเดือดอีกรอบ หลังกองกำลังกะเหรี่ยง KNLA ยึดฐานทหารพม่า ‘ดากวิน’ จุดยุทธศาสตร์ริมแม่น้ำสาละวิน ขณะที่ ‘หมอ ร.พ.สนามอูมิท่า’ หวั่นคนเจ็บพุ่งเกินคลินิกชายแดนรับไหว คาดอาจล้นไป ร.พ.ในฝั่งไทย ถ้าทหารพม่าใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ

30 มี.ค. 66 สำนักข่าวชายขอบรายงานถึงสถานการณ์สู้รบระหว่างกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) กับกองทัพพม่าที่ส่อแววเดือดรอบใหม่ หลังกองกำลัง KNLA กองพล 5 เปิดปฏิบัติการบุกยึดฐานที่มั่น ‘ดากวิน’ (อ่านว่าดา-กวิน) ของกองทัพพม่า ริมแม่น้ำสาละวิน ชายแดนไทยพม่าที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อเช้ามืดวันที่ 28 มี.ค. 66 ขณะที่ในพื้นที่ประกาศห้ามเดินเรือในแม่น้ำสาละวิน

โดยเครื่องบินรบของพม่ายังคงบินวนเวียนอยู่เหนือน่านฟ้าบริเวณดังกล่าวเป็นระยะๆ ทำให้ชาวบ้านกว่า 1,000 คนที่ศูนย์ผู้หนีภัยอิตุท่ายังคงต้องหลบซ่อนอยู่ในป่า เพราะกังวลในเรื่องความปลอดภัย เช่นเดียวกับผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามอูมิท่าซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่ตั้งขึ้นไม่นานมานี้เพื่อรองรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ป่วยในรัฐกะเหรี่ยงริมแม่น้ำสาละวิน

เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวประชาไทเดินทางไปยังโรงพยาบาลสนามอูมิท่า ซึ่งตั้งอยู่ในเขตการปกครองของรัฐกะเหรี่ยง ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน พรมแดนธรรมชาติที่กั้นระหว่างชายแดนไทย-พม่า

แม่น้ำสาละวิน ถ่ายเมื่อ 25 มี.ค. 66

ร.พ.สนามอูมิท่าเป็นหนึ่งใน ร.พ.สนามจำนวนมากที่ก่อตั้งเพื่อรองรับผู้บาดเจ็บที่เพิ่มขึ้นจากการสู้รบหนักหน่วงระหว่างกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์กับกองทัพพม่า สืบเนื่องจากรัฐประหารพม่าปี 2564

“เขาถูกยิงที่ขา”

แพทย์ชาวกะเหรี่ยงวัย 32 ปีบอกกับผู้สื่อข่าว ขณะที่มีเสียงร้องของคนไข้ดังออกมาจากห้องผ่าตัด 

เขาเล่าคร่าวๆ ถึงการทำงานที่ ร.พ.สนามระบุว่าเขาเป็นแพทย์เพียงคนเดียวของที่นี่ แต่ละวันมีผู้ป่วยราวๆ 10-20 คนซึ่งเขาบอกว่าพอรับมือได้ โดยส่วนมากผู้ป่วยเป็นทหารกะเหรี่ยง KNLA ที่ถูกยิงจากเหตุสู้รบ

ด้านใน ร.พ.สนามอูมิท่า มีห้องผ่าตัด 1 ห้อง ห้องฉุกเฉิน 1 ห้อง และห้องพักผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เขาบอกว่า ร.พ.สนามอูมิท่ายังต้องการยาและเครื่องมือแพทย์อีกจำนวนมาก ได้แก่ ยาชา ยาสลบ เครื่องเติมออกซิเจน เครื่องมือผ่าตัด และเครื่องเอ็กซเรย์

เมื่อถามว่าอะไรคือสิ่งที่เขากังวลมากที่สุด เขาบอกว่าทหารกะเหรี่ยง KNLA สามารถรับมือกับกองทัพพม่าทางบกได้ คาดว่ากองทัพพม่าจะเลือกใช้วิธีโจมตีทางอากาศในเร็วๆ นี้ และนั่นหมายถึงผู้บาดเจ็บจำนวนมากที่อาจเกินกำลังที่ ร.พ.สนามจะรับไหวส่งผลให้อาจล้นไปยัง ร.พ.ในฝั่งไทย

ด้วยความที่ ร.พ.แห่งนี้อยู่ตรงชายแดนจึงมีคนไข้หลากหลายทั้งผู้บาดเจ็บจากเหตุสู้รบและคนทั่วไปที่อยู่อาศัยในพื้นที่ หมายความว่าคนไทยตามแนวชายแดนสามารถนั่งเรือข้ามฝั่งแม่น้ำสาละวินไปรักษาได้ ไม่จำเป็นต้องนั่งรถเข้าตัวเมืองให้เสียเวลาหลายชั่วโมง

นี่คือบรรยากาศในห้องพักผู้ป่วย ชาวกะเหรี่ยงในชุดลายสกอตบอกว่า เธอพาแม่ของเธอมาหาหมอ เธอต้อง "เดินเท้ามาถึง 18 วัน"

นับตั้งแต่รัฐประหารพม่าปี 64 มีผู้บาดเจ็บอาการหนักถูกส่งตัวมารักษาในโรงพยาบาลฝั่งประเทศไทยกว่า 170 คน โดยเป็นการช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุนี้การเพิ่มจำนวนและศักยภาพของโรงพยาบาลสนามในพื้นที่จึงเป็นการช่วยกระจายสิทธิด้านสุขภาพและช่วยลดภาระผู้ป่วยของโรงพยาบาลฝั่งไทย

แพทย์วัย 32 ปี ประจำ ร.พ.สนามอูมิท่า ในเขตปกครองรัฐกะเหรี่ยง

จากสถานการณ์สู้รบดังกล่าว สำนักข่าวชายขอบรายงานเพิ่มเติมถึงจำนวนผู้บาดเจ็บเป็นทหาร KNLA 10 คน โดยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามอูมิท่า แต่มี 4 คนที่อาการหนักจึงได้ส่งตัวเข้าไปรักษาโรงพยาบาลฝั่งไทย ส่วนผู้ป่วยนับ 10 คนที่พักอยู่ใน ร.พ.สนามอูมิท่าจำเป็นต้องหลบไปอยู่นอกอาคาร เนื่องจากเกรงว่าบริเวณ ร.พ.จะตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของเครื่องบินรบพม่าเหมือนกับที่เคยโจมตีชุมชน โรงเรียน และ ร.พ.หลายแห่งมาแล้ว

ขณะที่ในฝั่งไทย ชาวบ้านท่าตาฝั่งซึ่งอยู่ใกล้กับฐานดากวิน แม้จะกลับสู่บ้านเรือนเกือบหมดแล้ว หลังจากเข้าไปหลบซ่อนในลำห้วยระหว่างการบุกจู่โจมฐานดากวินของกองกำลัง KNLA อย่างไรก็ตามการที่เครื่องบินรบของทหารพม่ายังคงบินวนเหนือน่านฟ้าบริเวณนี้อยู่เป็นระยะๆ ทำให้พวกเขายังรู้สึกกังวล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net