นักกฎหมายเสนอ นานาชาติให้สถานะคุ้มครอง 'ผู้ลี้ภัย' จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในยุคสมัยที่ผู้คนเผชิญความเสี่ยงกับภัยธรรมชาติมากขึ้น ทั้งวาตภัย น้ำท่วม และมลพิษทางอากาศ ทำให้หลายคนอาจจำเป็นต้องอพยพลี้ภัยเพราะความสูญเสียหรือเสี่ยงอันตรายจากภัยพิบัติเหล่านี้ แต่มีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่ากฎหมายระหว่างประเทศยังไม่รองรับคุ้มครองผู้ลี้ภัยจากภัยธรรมชาติ จะทำอย่างไรให้กฎหมายระหว่างประเทศคุ้มครองชีวิต 'ผู้ลี้ภัย' จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

 

31 มี.ค. 2565 มอเกน โนเอล นักวิจัยด้านกฎหมายและนโยบายของสหภาพยุโรป ระบุถึงปัญหาเรื่องการที่กฎหมายนานาชาติยังไม่มีการคุ้มครองผู้ลี้ภัยจากภัยธรรมชาติ ทั้งๆ ที่ผู้คนเผชิญความเสี่ยงในเรื่องนี้มากขึ้นในช่วงวิกฤตภูมิอากาศหรือที่เรียกว่า "โลกร้อน" ซึ่งทำให้เกิดมหันตภัยหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม, ภัยแล้ง หรือพายุ มีความรุนแรงขึ้นและบ่อยขึ้น

มีนักวิจัยที่พยายามค้นคว้ามาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ในเรื่องที่ว่าจะให้สถานะทางกฎหมายแก่กลุ่มคนที่ต้องหนีตายจากภัยธรรมชาติเหล่านี้ได้อย่างไร รวมถึงค้นคว้าว่ามีกฎหมายไหนที่รับรองการคุ้มครองผู้คนเหล่านี้ แต่ก็ดูเหมือนว่า กลุ่มคนที่ลี้ภัยเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมักจะถูกลืม

ในเรื่องนี้มีนักวิชาการด้านกฎหมายบางคนเคยเสนอให้มีการบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องนิยามของคำว่า “ผู้ลี้ภัย” ลงในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี 2494 โดยระบุให้เรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อม นับเป็นลักษณะหนึ่งของการกดขี่ข่มเหงหรือการประหัตประหารด้วย ซึ่งจะทำให้เป็นการขยายคุณสมบัติของนิยามคำว่าผู้ลี้ภัยภายใต้กฎหมายนานาชาติ ซึ่งเดิมแล้วมีการระบุถึงผู้ถูกข่มเหงหรือประหัตประหารด้วยสาเหตุเรื่องศาสนา, เชื้อชาติ, สัญชาติ, การเป็นสมาชิกกลุ่มสังคม หรือความคิดเห็นทางการเมือง ให้ขยายรวมไปถึงผู้ประสบภัยธรรมชาติด้วย

อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองผู้ลี้ภัยยังมีเรื่อง “หลักการไม่ผลักดันกลับ” (non-refoulement) ที่ระบุในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยด้วย หลักการดังกล่าวนี้ห้ามไม่ให้ประเทศที่ให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับไปอยู่ในสถานที่ๆ พวกเขาจะไม่ปลอดภัย โนเอลมองว่า หลักการดังกล่าวนี้ควรจะตีความคำว่า "ความปลอดภัย" ให้ครอบคลุมไปถึงการที่ผู้ลี้ภัยจะต้องได้รับอากาศที่สะอาดและเข้าถึงน้ำสะอาดได้ด้วย ตามหลักการของสำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรป (EEA)

แต่ถึงแม้จะมีบทเฉพาะกาลเหล่านี้ในกฎหมาย แต่กฎหมายนานาชาติก็ล้มเหลวในการที่จะคุ้มครองผู้อพยพเนื่องด้วยสาเหตุเรื่องวิกฤตภูมิอากาศ ซึ่งหมายความว่าถึงแม้นิยามคำว่าผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาฯ มีความหมายกว้างอยู่แล้ว แต่ก็ต้องยิ่งขยายนิยามให้กว้างมากขึ้นไปอีก

Climate Action ภาพ UNHCR

โยอาเน เทติโอตา เป็นพลเมืองของสาธารณรัฐคิริบาส ประเทศเกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อปี 2558 เขาถูกปฏิเสธไม่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในนิวซีแลนด์ หลังจากที่อุทกภัยบีบให้เขากับครอบครัวต้องอพยพหนีออกจากประเทศ เขาร้องเรียนเรื่องนี้ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมองว่าสถานการณ์ของเขาไม่ได้ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตในแบบจวนเจียนก็จริง แต่ผู้ขอลี้ภัยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าพวกเขากำลังเผชิญภัยแบบจวนเจียนก็ได้ ทำให้เกิดการพิจารณาเปิดทางให้กับผู้ลี้ภัยเนื่องจากการประสบภัยพิบัติ

ชาวคิริบาสต้องเผชิญกับน้ำทะเลท่วมพื้นที่การเกษตรของพวกเขา เผชิญกับการกัดเซาะชายฝั่ง และผลผลิตล้มเหลวจากการที่น้ำทะเลหนุนสูง โดยที่ไม่มีสิทธิทางกฎหมายที่คุ้มครองพวกเขาในเรื่องนี้เลย แต่ทางนิวซีแลนด์ในตอนนั้นกลับระบุว่าพวกเขาจะให้ลี้ภัยได้ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่รัฐไม่เคารพต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของบุคคลผู้ขอลี้ภัยเท่านั้

ในแถลงการณ์เมื่อปี 2563 เกี่ยวกับกรณีของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ระบุเกี่ยวกับคำฟ้องของเทติโอตา ซึ่งเขาได้ฟ้องต่อยูเอ็นว่า การที่นิวซีแลนด์ส่งตัวเขาและครอบครัวกลับประเทศนั้นเทียบเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการคุ้มครอง เพราะภัยพิบัติส่งผลให้ชาวคิริบาสอาศัยอยู่ในพื้นที่ไม่ได้อีกต่อไป และทำให้เกิดข้อพิพาทเรื่องที่ดินที่ก่อความรุนแรง เนื่องจากมีพื้นที่ๆ อยู่อาศัยได้น้อยลงเรื่อยๆ และแหล่งน้ำจืดก็ถูกปนเปื้อนด้วยน้ำทะเลจนส่งผลให้ทำการเกษตรได้ยาก

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นเคยระบุว่า ผู้คนที่หนีจากประเทศของตัวเองเพราะผลกระทบจากโลกร้อนสามารถใช้ประสบการณ์ของตัวเองเปรียบเทียบกับการถูกข่มเหงประหัดประหาร และขอสถานะผู้ลี้ภัยได้ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย อีกทั้งยังสามารถใช้เรื่องที่เกิดขึ้นร้องเรียนในแง่ที่ว่าภัยพิบัติได้คุกคามสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของพวกเขาภายใต้ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ด้วย ซึ่งรวมไปถึงสถานการณ์ที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติมีการซ้อนทับกับความขัดแย้ง นำไปสู่การที่มีอาวุธเคมีปนเปื้อนแหล่งน้ำและอากาศ

อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ทั้งกลุ่มนักวิชาการและนักกฎหมายต่างก็ยังคงอภิปรายเพื่อหาฉันทามติในเรื่องนี้ร่วมกันอยู่ จนกว่าจะถึงตอนนั้นโนเอลประเมินว่าในช่วงที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ พวกเขาคงจะยังไม่ใช้วิธีการให้มีการขยายนิยามในกฎหมายนานาชาติให้กว้างขึ้นว่าใครบ้างที่นับเป็นผู้อพยพจากวิกฤตภูมิอากาศ

โนเอล เสนอว่า เนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติคาดเดาไม่ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้พื้นที่เสียหายเป็นเวลาหลายปี และอาจจะใช้เวลาหลายสิบปีที่ผู้คนจะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ได้ ผู้คนพลัดถิ่นจึงอาจจะขอลี้ภัยในประเทศใกล้เคียงในช่วงที่กำลังมีการฟื้นฟู ยิ่งมีวิกฤตโลกร้อนยิ่งทำให้ภัยธรรมชาติต่างๆ ทั้งน้ำท่วม, ภัยแล้ง และไฟป่า เกิดเยอะขึ้น จึงควรจะต้องมีการหาทางออกในทางกฎหมายให้กับเรื่องพวกนี้เอาไว้ล่วงหน้า จึงสำคัญมากที่จะต้องเรียนรู้ว่าควรทำอย่างไรกับผู้อพยพเพราะภัยจากโลกร้อน

โนเอล ประเมินอนาคตว่า ประเทศที่อยู่ใกล้กับประเทศที่เกิดภัยพิบัติจะต้องแบกรับผู้อพยพจำนวนมากและอาจจะกลายเป็นการรับผิดชอบหนักเกินไปแบบไม่ได้สัดส่วน ประเทศเหล่านี้อาจจะต้องทำงานร่วมกับนานาชาติเพื่อแสวงหาฉันทามติเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของผู้อพยพจากภัยพิบัติ เพื่อให้ได้รับทุนในการสร้างที่พักพิงให้ผู้อพยพลี้ภัยเหล่านี้ รวมถึงน่าจะมีการวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานะทางกฎหมายของผู้อพยพเหล่านี้ อาจจะนำไปสู่การรับรองสถานะจากนานาชาติในที่สุดในช่วงที่วิกฤตโลกร้อนและวิกฤตผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต

มีตัวอย่างในเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2558 เป็นปีที่ผู้อพยพลี้ภัยเพิ่มขึ้นแบบพุ่งสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นการหนีตายจากสงครามหรือหนีตายจากความอดอยาก ทำให้เรื่องผู้อพยพลี้ภัยกลายมาเป็นประเด็นถกเถียงที่มีความอ่อนไหวและมีความเห็นต่างกันเกิดขึ้นในตอนนั้น และในปีนี้ก็เพิ่งจะมีภัยพิบัติหนักๆ เกิดขึ้นคือแผ่นดินไหวในตุรกีและซีเรียส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน และมีคนสูญเสียที่พักอาศัยหลายล้านคน

เรื่องเหล่านี้ทำให้โนเอลมองว่า การมีระบบคุ้มครองผู้ลี้ภัยจากภัยธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพควรจะมีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า เพื่อรับมือกับความเป็นไปได้ที่จะขึ้นในอีกหลายปีถัดจากนี้

 

 

เรียบเรียงจาก

International law doesn’t protect people fleeing environmental disaster – here’s how it could, Morgiane Noel, 13-03-2023

https://theconversation.com/international-law-doesnt-protect-people-fleeing-environmental-disaster-heres-how-it-could-198847

Historic UN Human Rights case opens door to climate change asylum claims, 21-01-2020

https://www.ohchr.org/en/press-releases/2020/01/historic-un-human-rights-case-opens-door-climate-change-asylum-claims#:%7E:text=In%202015%2C%20Ioane%20Teitiota's%20asylum,violated%20his%20right%20to%20life.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท