Skip to main content
sharethis

เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ยอมเลื่อนแผนการปฏิรูปตุลาการออกไปเป็นการชั่วคราว หลังจากผู้คนหลายอาชีพร่วมแสนคนนัดหยุดงานประท้วงจนประเทศชะงักหลายภาคส่วน ต้านแผนการรวบอำนาจจากศาลมาไว้ที่นักการเมือง

31 มี.ค. 66 นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลประกาศยอมเลื่อนการลงมติปฏิรูปตุลาการออกไปชั่วคราว หลังจากที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการประท้วงอย่างหนัก รวมถึงการหยุดงานประท้วงทั่วประเทศ โดยจะมีการเลื่อนแผนการดังกล่าวไปเป็นการประชุมรัฐสภาในครั้งหน้า

นักวิจารณ์มองว่าแผนการปฏิรูปตุลาการของเนทันยาฮู เป็นการให้อำนาจฝ่ายบริหารมากเกินขอบเขตและลดอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลโดยศาลสูงสุดของประเทศ เพราะถ้าหากมีการปฏิรูป มันจะทำให้ฝ่ายบริหารที่นำโดยรัฐบาลขวาจัดของเนทันยาฮูในตอนนี้มีอำนาจในการแต่งตั้ง ถอดถอน และแม้กระทั่งยกเลิกคำตัดสินของศาลได้ผ่านการโหวตทางรัฐสภา

หลังจากที่มีการประกาศแผนการ ก็มีประชาชนในอิสราเอลประท้วงอย่างต่อเนื่อง สื่อ NBC เรียกว่าเป็นการนัดหยุดงานประท้วงในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในอิสราเอล โดยมีการประเมินว่ามีประชาชนหลายแสนคนร่วมหยุดงานประท้วงจนทำให้อิสราเอลหยุดชะงักในหลายภาคส่วน โดยหลังจากที่เนทันยาฮูประกาศเลื่อนปฏิรูปตุลาการ ก็มีการประกาศยกเลิกการหยุดงานประท้วง

เนทันยาฮูประกาศเลื่อนการลงมติเมื่อช่วงเย็นของในวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมาเขาบอกว่าสาเหตุที่เลื่อนการลงมติออกไปก็เพื่อให้มีเวลาหาฉันทามติร่วมกัน และบอกว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ เนทันยาฮูกล่าวว่า "คนส่วนใหญ่ในประเทศตอนนี้เล็งเห็นความจำเป็นของการปฏิรูปประชาธิปไตยผ่านการเปลี่ยนแปลงระบบตุลาการ" และกล่าวอีกว่าอิสราเอล "กำลังอยู่ในช่วงวิกฤตอย่างหนักที่เป็นสิ่งคุกคามความสามัคคีระดับพื้นฐานของพวกเรา"

ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าเนทันยาฮูเปลี่ยนแปลงแผนการนี้หลังจากที่รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติ อิตามาร์ เบน-กเวียร์ จากพรรคขวาจัดคนละพรรคกับของเนทันยาฮู ผู้ที่เคยเป็นคนคัดค้านการเลื่อนลงมติมาโดยตลอด บอกยอมรับให้มีการเลื่อนในที่สุด

ประธานาธิบดีของอิสราเอล ไอแซค แฮร์ซอก เป็นหนึ่งในผู้ที่เรียกร้องให้มีการยับยั้งการปฏิรูปตุลาการ เขากล่าวชื่นชมการตัดสินใจเลื่อนโหวตลงมติในเรื่องนี้ออกไป และเรียกร้องให้ผู้ประท้วงทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านการปฏิรูปตุลาการอย่าใช้ความรุนแรง

ในคืนวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมามีเหตุความไม่สงบเกิดขึ้นหลังจากที่เนทันยาฮูสั่งปลดรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม โยอัฟ กัลแลนต์ ซึ่งเป็นคนแรกของพรรครัฐบาลลิคุดที่ประกาศตัวต่อต้านการปฏิรูปตุลาการ โดยที่กัลแลนต์เตือนว่าความแตกแยกที่เกิดขึ้นจากแผนการนี้จะส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ

ช่วงก่อนหน้าที่จะมีการประกาศเลื่อนจากเนทันยาฮู สหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในอิสราเอลเรียกร้องให้มีการนัดหยุดงานประท้วงทั่วประเทศ จนทำให้เกิดการหยุดให้บริการทางการแพทย์ การระงับเที่ยวบิน และการเสิร์ฟอาหารในร้านแมคโดนัลด์ มีกลุ่มผู้ประท้วงจำนวนมากทั้งฝ่ายต่อต้านแผนการปฏิรูปตุลาการและ่ายสนับสนุนรวมตัวชุมนุมอยู่ที่หน้าศาลสูงสุดในกรุงเยรูซาเลม มีหลายคนโบกธงอิสราเอล มีบางคนประสานเสียงเปล่งคำขวัญผ่านทางโทรโข่ง และมีบางคนที่ตีกลอง

ผู้ประท้วงชื่อ ลีอาห์ บาซา อายุ 23 ปี กล่าวว่าเธอรู้สึกว่าแผนการปฏิรูปตุลาการของเนทันยาฮูอาจจะนำไปสู่ "การล่มสลายของประชาธิปไตย" เพราะมันจะทำลายระบบการตรวจสอบถ่วงดุลและการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ขององค์กรการเมือง แต่ไม่ว่าการปฏิรูปจะผ่านหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่เนทันยาฮูทำก็ได้สร้างความร้าวฉานให้กับสังคมไปแล้ว บาซา มองว่าทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านดูจะ "เกลียดกันและกันมาก"

ซาโลเม ดูเนฟสกี ผู้ประท้วงอีกรายหนึ่งอายุ 57 ปี กล่าวว่า แผนการปฏิรูปของเนทันยาฮูอาจจะทำให้เกิดความโกลาหล มันเป็นการให้อำนาจเบ็ดเสร็จหรือไม่ก็เกือบจะเบ็ดเสร็จต่อนักการเมือง ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความไร้ขื่อแปเพราะนักการเมืองจะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ

แต่บางคนก็แสดงความไม่พอใจกับการเลื่อนพิจารณาการปฏิรูปตุลาการออกไป หนึ่งในนั้นคือ โอรี โรเซนทาล อายุ 37 ปี เขาบอกว่า พวกเขาเลือกตั้งนักการเมืองเหล่านี้เข้ามาทำงาน แต่นักการเมืองพวกนี้ก็ "ยอมจำนนให้กับทุกคน" แทนที่จะฟังแต่เสียงส่วนใหญ่

ในกลุ่มที่นัดหยุดงานประท้วงนี้มีคนทำงานด้านการทูตของอิสราเอลรวมอยู่ด้วย จนทำให้สถานทูตในหลายแห่งรวมถึงในกรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ ปิดทำการในวันที่หยุดงานประท้วง มีทูตบางรายแสดงออกด้วยการเปลี่ยนรูปโปร์ไฟล์เป็นรูปธงอิสราเอล

ปีเตอร์ เลอร์เนอร์ ประธานฝ่ายนานาชาติสัมพันธ์ของสหภาพแรงงานฮิสตาดรุต ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานขนาดใหญ่ที่รวมเอาหลายองค์กรสหภาพไว้ด้วยกันมีสมาชิกแรงงานรวม 700,000 ราย ได้เผยแพร่ภาพของผู้ประท้วงที่กำลังส่งเสียงเชียร์

เลอร์เนอร์บอกว่าประธานของกลุ่มคือ อาร์นอน บาร์-เดวิด เพิ่งจะกล่าวในที่ประชุมว่า "พวกเรากำลังยับยั้งการปฏิวัติทางกฎหมาย" ซึ่งหลังจากที่เนทันยาฮูประกาศเลื่อนการพิจารณาปฏิรูปตุลาการออกไป บาร์-เดวิดได้ประกาศว่า จะยุติการนัดหยุดงานประท้วงทั่วประเทศและจะร่วมทำการเจรจากับรัฐบาล

ภาคส่วนอื่นๆ ที่ร่วมหยุดงานประท้วงคือท่าเรือ และมหาวิทยาลัยชั้นนำของอิสราเอล ที่หยุดงานประท้วงทั้งการปฏิรูปตุลาการ และประท้วงการไล่กัลแลนต์ออกด้วย ทางมหาวิทยาลัยแถลงว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจจะนำไปสู่ภาวะ "สมองไหล" ต่ออิสราเอลที่ทำให้ชาวอิสราเอลที่มีความรู้ความสามารถหันไปใช้ความรู้ความสามารถเหล่านี้ให้กับประเทศอื่นๆ และอาจจะเป็นการทำให้นักศึกษาต่างชาติไม่อยากเข้ามาเรียนในอิสราเอลด้วย

แผนการปฏิรูปตุลาการของเนทันยาฮูยังทำให้เกิดการกดดันจากภายนอกประเทศด้วย อัสซาฟ ซามีร์ กงสุลใหญ่ของอิสราเอลประจำนิวยอร์กประกาศเมื่อคืนวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมาว่าเขาจะลาออกเพื่อประท้วงแผนปฏิรูปตุลาการและประท้วงการปลดรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม

ในคืนวันที่ 26 มี.ค. สภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาวแถลงว่า การประท้วงที่เกิดขึ้นในอิสราเอลเมื่อไม่นานนี้ "ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการประนีประนอมกัน" นอกจากนี้ยังระบุว่าประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เพิ่งจะหารือกับเนทันยาอูเมื่อไม่นานนี้โดยเน้นย้ำว่าค่านิยมประชาธิปไตยมีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิสราเอลเสมอมา และจะยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไป

เรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net