Skip to main content
sharethis
  • รวมกรณี ‘ตำรวจ สันติบาล ทหาร’ ไปงานขายหนังสือฯ กับภารกิจ ‘ยึดหนังสือ รื้อบูธ บุกไปถึงสำนักพิมพ์’ พร้อมข้ออ้างนานัปการ ตั้งแต่มีเนื้อหา ‘หมิ่นเหม่-ลามก-สร้างความไม่สบายใจ’ จากหนังสือนิยาย ‘เกย์-เลสเบียน’ จนถึงหนังสือ ‘กษัตริย์ศึกษา’ ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
  • นอกจากนี้ยังมีคำสั่งห้ามขายเสื้อยืด รื้อบูธขายหนังสือ เหตุเพราะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองที่สุ่มเลี่ยง ทั้งยัง ‘สร้างความไม่สบายใจ’ แก่เจ้าหน้าที่และผู้พบเห็น

1. ตำรวจบุกยึดหนังสือ เหตุ ‘มีภาพลามกอนาจาร มีฉากร่วมเพศ’

[งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 12 จัดวันที่ 17 - 28 ต.ค. 2550]  

สืบเนื่องจากเมื่อปี 2550 มีผู้ตั้งกระทู้ในเว็บไซต์ เว็บบอร์ด “Bloggang” ชื่อหัวข้อ “งานหนังสือ 21 ต.ค. เรื่องสื่อลามก มันจะบ้าไปกันใหญ่แล้ว / ตอบปัญหาคุณผู้หวังดีที่บล็อกเรื่องคลื่นลวง” เมื่อ 22 ต.ค. 2550

ในกระทู้เล่าถึงประสบการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทราบสังกัดเข้าไปตรวจดูหนังสือที่บูธเลขที่ 30 และสั่งให้เจ้าของบูธเอาหนังสือที่เข้าข่ายลามกอนาจารลงไปไว้ด้านล่าง ห้ามนำขึ้นมาจำหน่าย ซึ่งหนึ่งในนั้นมีหนังสือนิยาย ชื่อ “7 Days in love...ผู้หญิงอารมณ์ไหว กับ ผู้ชายอารมณ์รัก” 

โดยเจ้าของกระทู้เล่าต่อว่า เมื่อลองเปิดอ่านเนื้อหาในหนังสือนิยายเรื่องดังกล่าว พบว่า “ไม่เห็นมีฉากอย่างว่าเลย…เลิฟซีนที่แรงที่สุดในเรื่องน่าจะแค่จับมือ มันเข้าข่ายสื่อลามกตรงไหน คุณตำรวจเขาบอกว่าเป็นสื่อลามกที่ปก” 

นอกจากนี้ ในเว็บไซต์ข่าวประชาไท เคยมีผู้เขียนบทความถึงงานครั้งนั้นว่า มีสำนักพิมพ์นิยายแปลบางแห่งถูกตำรวจขนหนังสือออกจากงาน โดยอ้างว่า “หนังสือดังกล่าวลามกอนาจาร มีฉากร่วมเพศ และอาจสร้างเสริมให้เกิดจินตนาการทางเพศต่อไปได้”

2. สันติบาลสั่งห้ามขาย 5 หนังสือ ‘เกย์-เลสเบียน’ เหตุมีฉาก ‘ลามก อนาจาร’ 

[งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 36 จัดวันที่ 26 มี.ค. - 7 เม.ย. 2551]

ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ ผู้เขียนบทความลงเว็บไซต์ประชาไท เมื่อ 23 เม.ย. 2551 เล่าเหตุการณ์สืบเนื่องจากที่มีการคุกคามและยึดหนังสือของสำนักพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือในงานมหกรรมหนังสือฯ ครั้งที่ 12 เมื่อปี 2550 แต่ในงานสัปดาห์หนังสือฯ ปี 2551 ยังคงมีสำนักพิมพ์บางแห่งถูกทางการสั่งห้ามจำหน่ายหนังสือโดยเฉพาะหนังสือที่มีเนื้อหาเรื่องเกี่ยวกับ ‘LGBTQ+’ แม้ว่าทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ได้ขอความร่วมมือไปยังสันติบาล ไม่ให้ยึดหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือฯ เนื่องจากไม่ต้องการให้กระทบภาพลักษณ์ของงาน 

ผู้เขียนบทความระบุต่อว่า สันติบาลเปลี่ยนวิธีการมาเป็นการเดินดูหนังสือ สนพ.ต่างๆ และเลือกสุ่มหนังสือที่อาจเข้าข่าย ‘ลามก อนาจาร’ ไปตรวจสอบ รวม 90 เล่ม ผลปรากฏว่ามีคำสั่งห้ามวางขายหนังสือ ในงาน 5 เล่ม ได้แก่ [1] He 1 ถนนสายปรารถนา [2] She 1 ฉันไม่ใช่อะไรเลยนอกจากคนที่รักคุณ [3] She 3 บางที...พรุ่งนี้อาจเปลี่ยนใจ ซึ่งทั้ง 3 เล่มเป็นหนังสือเรื่องสั้น/นวนิยายแนวหญิงรักหญิง และชายรักชาย ส่วนอีก 2 เล่มไม่ทราบเป็นหนังสือของสำนักพิมพ์ไหน (ทางผู้ประสานงานของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ขอปกปิดเป็นความลับ) ซึ่งสาเหตุที่สั่งห้ามวางจำหน่าย เจ้าหน้าที่อ้างว่ามีฉากในเรื่องมีความลามก อนาจาร

3.  ทหารไม่สบายใจ ขอ บก.ฟ้าเดียวกันลบสเตตัสเฟซบุ๊ก เก็บตกพบ ‘ประจักษ์’ 

[งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 19 จัดวันที่ 15-26 ต.ค. 2557] 

เมื่อ 19 ต.ค. 2557 ธนาพล อิ๋วสกุล บ.ก.วารสารฟ้าเดียวกัน ลบสเตตัสในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน’ และเฟซบุ๊กส่วนตัวของธนาพล ที่บอกเล่าเรื่อง “เก็บตกงานพบปะ สนทนา กับนักเขียน ประจักษ์ ก้องกีรติ” ระบุถึงความพยายามควบคุม และคุกคามของเจ้าหน้าที่ทหารที่มีต่อสำนักพิมพ์ และการจับตางานเสวนาดังกล่าวโดยขอบันทึกภาพวิดีโอแต่ทางเจ้าภาพงานมหกรรมหนังสือฯ ปฏิเสธที่จะอนุญาต

จากการสอบถามธนาพล เขาตอบเพียงสั้นๆ ว่าเจ้าหน้าที่ทหารโทรมาแจ้งว่า รู้สึกไม่สบายใจและขอให้ลบสเตตัสดังกล่าวเสีย เขาจึงดำเนินการลบ

ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปีเดียวกับที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหาร เมื่อ 22 พ.ค. 2557

4. ทหารขอผู้จัดงานหนังสือแจ้ง 'ฟ้าเดียวกัน' เลิกขายเสื้อยืด รอตีความ 112

[งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 19 จัดวันที่ 15-26 ต.ค. 2557] 

เมื่อ 21 ต.ค. 2557 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ยังคงถูกจับตาจากหน่วยงานความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง นอกจาก บ.ก.ถูกขอให้ลบสเตตัสเฟซบุ๊ก บอกเล่าการถูกจับตาในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติแล้ว ล่าสุด ทหารและตำรวจขอความร่วมมือไปยังผู้จัดงานให้ประสานบูธฟ้าเดียวกัน เพื่อหยุดจำหน่ายเสื้อยืดสกรีน 3 แบบชั่วคราว เนื่องจากเกรงว่าอาจกระทบต่อมาตรา 112

ทั้งนี้ เสื้อตัวหนึ่งสกรีนเป็นรูปไดโนเสาร์ ปรากฏข้อความ “THE LOST WORLD โลกหลงสำรวจ ประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่” เสื้ออีกตัวหนึ่งเป็นรูปต้นไม้บนโลก ซึ่งเป็นลวดลายข้อความว่า “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เสื้อยืดทั้ง 2 ตัวนี้คล้ายกับหน้าปกวารสารฟ้าเดียวกัน เล่มเก่าที่เคยวางตลาดแล้ว

5.  ตำรวจ-ฝ่ายความมั่นคง เข้าสังเกตการณ์บูธฟ้าเดียวกัน อุดหนุนหนังสือชุดกษัตริย์ศึกษา 

[งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 จัดวันที่ 1-11 ต.ค. 2563] 

4 ต.ค. 2563 ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าไปสังเกตการณ์ที่บูธ H17 ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งพนักงานประจำบูธสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ให้ข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปากเกร็ด ส่วนกลาง และฝ่ายความมั่นคง เข้าสังเกตการณ์ที่บูธ เดินวนเวียนไปมา ถ่ายรูปปกหนังสือ บูธ พนักงานประจำบูธ และพยายามถามชื่อพนักงาน พร้อมซื้อหนังสือชุดกษัตริย์ศึกษาของ 'ณัฐพล ใจจริง' 3 ชุด โดยอ้างว่ามาเก็บข้อมูล 

หลังจากนั้น เมื่อ 17 ต.ค. 2563 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ ราว 20 นาย เข้าไปที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โดยไม่ทราบจุดประสงค์ เนื่องจากเป็นวันหยุดงานจึงไม่มีพนักงานคนใดอยู่ที่สำนักงาน และยังไม่มีการชี้แจงใดๆ จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเหตุการณ์ถูกบันทึกภาพไว้ได้โดยกล้องวงจรปิดของบ้านพัก ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสำนักงาน ภาพในกล้องวงจรเห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาบริเวณหน้าสำนักงาน แต่เมื่อพบว่าไม่มีใครอยู่ ก็ได้ยืนเรียงแถวถ่ายรูปร่วมกันด้านหน้าสำนักงาน และใช้เวลาไม่นานหลังจากนั้นก็ได้ออกจากพื้นที่ดังกล่าวไป

6. ‘สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน’ ต้องพลิกป้ายผ้าตกแต่งบูธงานหนังสือ เหตุตำรวจรถไฟเข้าคุย อ้างคำว่า “รัฐบาลเผด็จการ” หมิ่นเหม่ ให้เอาออก

[งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 จัดวันที่ 26 มี.ค.-6 เม.ย. 2565]

เมื่อ 28 มี.ค. 2565 ที่บูธ B07 ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ทราบภายหลังว่าเป็นตำรวจรถไฟมาที่บูธ เพื่อแจ้งให้ทางสำนักพิมพ์ปลดป้ายผ้ารวมแฮชแท็ก (#) ทางการเมืองลง ซึ่งป้ายดังกล่าวมีข้อความรวมแฮชแท็กรณรงค์ทางการเมืองในทวิตเตอร์ในช่วงการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ช่วงปี 2563-2564  โดยตำรวจอ้างเหตุที่ต้องปลดป้ายดังกล่าวลงว่า เนื่องจากมีถ้อยคำที่เจ้าหน้าที่มองว่า “หมิ่นเหม่” อยู่ โดยมีการยกตัวอย่างขึ้นมาหลายคำ หากแต่คำที่ถูกเน้นย้ำมากที่สุดคือคำว่า “รัฐบาลเผด็จการ” 

จากนั้น สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ได้เข้ามาสอบถามกับสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้ไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟ ก่อนที่ทั้งหมดจะกลับมาที่บูธอีกครั้ง แล้วบอกให้ทางสำนักพิมพ์นำป้ายผ้าลงอีกรอบหนึ่ง ด้วยท่าทีที่กดดัน แต่ทางสำนักพิมพ์ไม่ยอม จึงต่อรองกับเจ้าหน้าที่โดยได้ข้อสรุปว่าให้ “พลิกป้ายเพื่อให้อ่านข้อความได้ยากขึ้น” ทางสำนักพิมพ์ได้ทำตามข้อตกลงดังกล่าว

7. เก็บโปสเตอร์ภาพ 'ไม่เอา 112' ตกแต่งบูธ สนพ.สามัญชน เหตุเจ้าของสถานที่ไม่สบายใจ

[งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 จัดวันที่ 30 มี.ค. - 9 เม.ย. 2566] 

เมื่อ 29 มี.ค. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัดเข้ามาดูบูธ ‘สำนักพิมพ์สามัญชน’ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 โดยบูธประดับด้วยโปสเตอร์ ปรากฏภาพ สื่อข้อความเชิงสัญลักษณ์ ‘ไม่เอา 112’

ก่อนที่ต่อมา จะมีผู้ที่คาดว่าเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของศูนย์สิริกิติ์มาเก็บโปสเตอร์ทั้งหมดลงไป และเช้าวันที่ 30 มี.ค. พนักงานประจำบูธมาจัดตกแต่งบูธ และปิดโปสเตอร์ที่ไม่มีเลข ‘112’ ขึ้นมาแทน 

ผู้สื่อข่าวสอบถามไปที่ บ.ก.สนพ.สามัญชน ทำให้ทราบความว่า เจ้าของสถานที่ หรือศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อาจมีความกังวลเรื่องผลกระทบตามมา

ทั้งนี้ เมื่อ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งด้วยว่ามีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบมาเดินวนเวียนดู และถ่ายภาพบูธ สนพ.สามัญชน บูธไข่ต้ม (คณะก้าวหน้า) และบูธของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net