Skip to main content
sharethis

‘ยิ่งชีพ-ไอลอว์’ และ ‘ทนายจูน-ศิริกาญจน์’ จากศูนย์ทนายฯ เยือนกรุงวอชิงตันดีซี สะท้อนข้อกังวล-กติกาไม่เป็นธรรมใต้เงาคสช. กระตุ้นสหรัฐฯ จับตาเลือกตั้ง 14 พ.ค.

31 มี.ค. 66 สำนักข่าววีโอเอ ภาคภาษาไทยรายงานวันนี้ (31 มี.ค.) ว่าสองนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิและเสรีภาพจากประเทศไทย ได้แก่ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือทนายจูน จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการบริหาร โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) เดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน และพบปะกับเจ้าหน้าที่อาวุโสแห่งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ สมาชิกคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการด้านวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ

ทั้งคู่ได้ถ่ายทอดความกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. นี้ ว่าอาจจะไม่ใช่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม เพราะระบบการเมือง ระบบกฎหมาย และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ยังอยู่ภายใต้กลไกที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในขณะที่ประชาชนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี

ยิ่งชีพ มองว่ากลไกและกติกาในการจัดการเลือกตั้งมีสิ่งที่เขามองว่าเป็น “ความไม่ปกติ” อยู่มาก เช่น การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ชุดปัจจุบันทั้ง 7 คน ได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้งจาก คสช. อีกทีหนึ่ง

หรือการที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ร่างขึ้นภายใต้การปกครองของ คสช. ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งหมด มีอำนาจกำกับดูแลให้รัฐบาลชุดใหม่ต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ คสช. จัดทำขึ้น และยังให้ ส.ว.ทั้ง 250 คนร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นอำนาจ หรือกติกาพิเศษ ที่จะชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นผู้นำของประเทศ

ด้านศิริกาญจน์กล่าวว่าต้องการให้สหรัฐฯ ใช้ความสัมพันธ์ทางการเมืองและทางการทูตที่มีอยู่ส่งสัญญาณล่วงหน้าไปถึงกองทัพและกลุ่มคนที่มีอำนาจด้านความมั่นคง ว่าจะต้องไม่แทรกแซงกระบวนการการเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่ว่าจะก่อน ระหว่างหรือหลังการเลือกตั้ง พร้อมกันนี้ยังขอให้สหรัฐฯ แสดงจุดยืนว่าหากมีการรัฐประหารหรือการใช้อำนาจพิเศษเพื่อตัดตอนกระบวนการเลือกตั้งจะเกิดผลอะไรบ้างกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ

วีโอเอไทยได้ติดต่อไปยังทีมโฆษกรัฐบาลเพื่อสอบถามเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว และข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนไทยต่อสหรัฐฯ ครั้งนี้ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบหรือการติดต่อกลับ

การเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของทั้งคู่เกิดขึ้นในสัปดาห์เดียวกับที่วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ออกมาเรียกร้องให้ รัฐบาลไทย “สร้างเงื่อนไขสำหรับการเลือกตั้งให้น่าเชื่อถือและยุติธรรม” และ “ให้แน่ใจว่าการนับคะแนนเสียงจะเป็นไปอย่างยุติธรรมและโปร่งใส”

วีโอเอไทยสอบถามไปยังกระทรวงการต่างประเทศว่าสหรัฐฯ หรือประเทศอื่น ๆ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้งของไทยบ้างหรือไม่

ขณะที่กาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวผ่านข้อความว่า ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งตามกรอบรัฐธรรมนูญไทย และทราบมาว่าทาง กกต.จะจัดบรรยายสรุปให้คณะทูตและสื่อมวลชนต่างประเทศต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net