Skip to main content
sharethis

แหวน พยาบาลอาสา ไปกระทรวงยุติธรรมทวงเงินชดเชยหลังติดคุกฟรี 3 ปี 6 เดือน สุดท้ายศาลยกฟ้อง แต่คณะกรรมการจ่ายเงินช่วยเหลือตีตกคำร้อง รองอธิบดีฯ รับจะช่วยดำเนินการอุทธรณ์ถึงศาลให้ แต่ไม่รู้ว่าสุดท้ายผลจะเป็นอย่างไร

31 มี.ค.2566 ที่หน้ากระทรวงยุติธรรม ถ.แจ้งวัฒนะ ณัฎฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล และผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนหนึ่ง เดินทางไปเพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกรณีที่เรียกร้องให้มีการชดเชยเยียวยาแก่ผู้ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีโดยไม่ได้ประกันตัวแต่สุดท้ายศาลยกฟ้อง โดยก่อนการยื่นหนังสือมีการปราศรัยกล่าวถึงปัญหาดังกล่าว

ณัฎฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน พยาบาลอาสา กล่าวถึงปัญหาที่เธอถูกจับกุมดำเนินคดีในช่วงรัฐบาล คสช. เมื่อ 11 มี.ค.2558 และต้องถูกคุมขังในเรือนจำจากเหตุที่เธอถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการจ้างวานปาระเบิดศาลอาญาเมื่อวันที่ 7 มี.ค.2558 และศาลเพิ่งพิพากษายกฟ้องไปเมื่อ 24 มี.ค.2565 แต่เธอถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างคดียังไม่สิ้นสุดโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวอยู่นานถึง 3 ปี 6 เดือนและยังต้องต่อสู้คดีเป็นเวลานานกว่า 7 ปี โดยไม่ได้รับการเยียวยา

พยาบาลอาสากล่าวว่าเธอได้ยื่นหนังสือขอเยียวยาตามคำแนะนำของศาลทั้งที่กระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้ว แต่สุดท้ายกระทรวงยุติธรรมก็ตีตกคำร้องของเธอ

“มาวันนี้เพื่อขอใช้เสียงของเราในฐนะประชาชนอยากบอกว่าเราถูกกระทำในยุค คสช. ในการทำรัฐประหารของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้จับกุมคือพล.ต.วิจารณ์ จดแตง พล.ต.สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ ที่ใช้มาตรา 44 บุกจับกุมอุ้มประชาชนเข้าค่ายทหารเพียงแค่เหตุสงสัยเราถูกจับกุมเข้าค่ายทหาร” ณัฎฐธิดากล่าว

ณัฎฐธิดาเล่าต่อว่าการถูกคุมขังครั้งนั้นประสบปัญหาหลายอย่างทั้งญาติเข้าเยี่ยมได้ยากและเมื่อมาเยี่ยมแล้วก็ยังมีเจ้าหน้าที่รัฐไปติดตามคุกคาม อีกทั้งเมื่อพบว่าเป็นซีสที่หน้าอกสถานพยาบาลของเรือนจำก็ไม่ได้มีการรักษาให้อย่างจริงจังทำให้ออกมาต้องหาเงินผ่าตัดรักษาเองซึ่งถือได้ว่าเป็นผลพวงที่มาจากการรัฐประหารที่จับเธอไปบังคับข่มขู่ในค่ายทหารด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้รับสารภาพซัดทอดผู้ต้องหาด้วยกันโดยที่ทหารไม่สามารถหาหลักฐานมาดำเนินคดีเองได้

ณัฎฐธิดาได้เรียกร้องให้กระทรวงต้องดำเนินการเป็นหน่วยงานหลักเรื่องการประสานเพื่อทำเรื่องประกันตัวประชาชนเพราะไม่ได้มีแต่คดีการเมืองแต่ยังมีประชาชนในคดีอื่นๆ อีกจำนวนมากและสภาพในเรือนจำของกลุ่มที่คดียังไม่สิ้นสุดก็แออัดและสิทธิ์การรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังกลุ่มนี้ก็ยังน้อยกว่าสิทธิ์ของผู้ต้องขังที่คดีสิ้นสุดแล้วอีก ดังนั้นการมาครั้งนี้ก็เพื่อขอรับการเยียวยาอีกครั้งและหวังว่าทางกระทรวงจะได้ยินเสียงของพวกเธอบ้าง

ภัสราวลี กล่าวถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เป็นเพียงการใช้สิทธิเสรีภาพและออกมาปกป้องอำนาจของประชาชนโดยการยืดหยัดต่อต้านการรัฐประหาร แต่เมื่อพวกเขาถูกจับตัวไปกลับไมได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ที่พึงมีทั้งการมีทนายความหรือสิทธิประกันตัว แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อถูกจับกุมไปเข้าค่ายทหารแล้วถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ แต่กระทรวงยุติธรรมที่อยู่ภายใต้คณะรัฐประหารกลับเห็นการทำงานน้อยมาก

“มันทำให้เจ็บช้ำน้ำใจไปกว่าเดิมอีก เพราะพวกคุณรับเงินภาษีเรา ทำไมพวกคุณถึงไม่ดำเนินการให้เกิดความยุติธรรมในประเทศนี้ให้ ทำไมพวกคุณถึงไม่เป็นส่วนหนึ่งของตัวแทนพี่น้องประชาชนเรียกร้องความยุติธรรมให้กับพวกเขา” ภัสราวลีกล่าว

เธอยังกล่าวต่อถึงการชุมนุมที่เกิดขึ้นจำนวนมากในปี 2563 ที่คนไม่สามารถทนกับรัฐบาลประยุทธ์ได้แล้ว แต่การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่อรัฐบาลที่อ้างว่าได้รับเลือกตั้งมาผลก็คือถูกจับกุมดำเนินคดีหลายคนถูกขังในเรือนจำโดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว

“อยากจะถามกระทรวงยุติธรรมว่ากระบวนการแบบนี้มันเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยหรือเปล่า มันถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยหรือเปล่า นักโทษคดีฉ้อโกง คนที่โดนคดีฆ่าคนตาย คนที่โดนคดียาเสพติด คดีค้ามนุษย์ได้รับการประกันหมดถ้าเขามีเงินประกันมากพอ เขามีเส้นสายมากพอ เขามีอำนาจบารมีมากพอที่จะทำให้ความยุติธรรมอยู่ข้างเขา”

“แต่คนที่โดนคดีทางการเมืองคนตัวเล็กคนที่ออกมาปกป้องสิทธิของพวกเรากันเองด้วยปาก ด้วยไมค์ ด้วยป้ายผ้า ด้วยสีกลับถูกจับกุมกล่าวหาถูกระบุเป็นภัยความมั่นคงของชาติแล้วศาลก็ตัดสินให้พวกเขาถูกขังโดยไม่ได้รับการประกันตัว บางคนออกมาทำอารยะขัดขืนยืนยันสิทธิของพวกเขาอีกครั้ง ออกมาพูดอีกครั้งหนึ่ง ถูกศาลถอนประกัน ท่านคิดว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตยเหรอคะ?”

ภัสราวลีกล่าวว่าสิ่งที่กระทรวงจำเป็นจะต้องทำคือการทบทวนถึงการทำหน้าที่ของตนในฐานะข้าราชการที่รับเงินภาษีประชาชนว่าในตอนนี้ได้อำนวยให้เกิดความยุติธรรมในประเทศนี้จริงหรือไม่ หรือเพียงแต่กังวลกับอำนาจหรือความก้าวหน้าของอาชีพการงาน แม้จะเป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าแต่ละคนมีข้อจำกัดชีวิตต่างกันแต่ก็พึงต้องพะวงถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองด้วย และการทำงานเพื่อประชาชนจะมั่นคงกว่าการทำงานเพื่อนายของตัวเองหรือไม่

“คนที่เคยถูกพรากความยุติธรรมไป เคยถูกริดลอนสิทธิมนุษยชน ถูกย่ำยีความเป็นมนุษย์ คืองานของพวกท่านที่จะต้องอำนวยให้พวกเขาได้รับความยุติธรรมคืนมาให้ได้”

ภายหลังการปราศรัยของผู้ที่มาร่วมกิจกรรมประมาณ 1 ชั่วโมง เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ออกมารับหนังสือจากณัฎฐธิดา และเขาได้อธิบายว่ากรมมีหน้าที่เป็นเลขาณุการของคณะกรรมการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือ แต่ตอนนี้กรณีของทุกคนที่มาร้องวันนี้เป็นกรณีที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการไปแล้วโดยปฏิเสธจ่ายเงินช่วยเหลือ

เกิดโชคกล่าวว่า ตอนนี้จึงได้มีการแบ่งกลุ่มคนออกเป็นสองส่วน คือคนที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยแล้วก็จะให้ยื่นอุทธรณ์ตามขั้นตอนกฎหมายต่อศาลอุทธรณ์ซึ่งทางกระทรวงจะดูแลในการเขียนอุทธรณ์เพื่อยื่นต่อศาลอุทธรณ์ ส่วนคนที่ไม่ได้มาในวันนี้หรือยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งผลพิจารณาก็จะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปบ้านเพื่อไม่ต้องเดือดร้อนเดินทางมาที่กระทรวง

รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิกล่าวต่อว่าหลังจากนี้จะต้องอุทธรณ์ไปที่ศาลอุทธรณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับผลคำวินิจฉัยของกรรมการในประเด็นใดบ้าง ถ้าศาลเห็นว่าควรจะได้เงินตามกฎหมายศาลก็จะสั่งมาที่กระทรวงว่าให้จ่ายเงิน ทางกระทรวงก็จะพิจารณาจำนวนเงินแล้วก็จ่ายให้ไป โดยคำตัดสินของศาลจะถือว่าสิ้นสุดซึ่งจะพิจารณาตามหลักฐานและข้อโต้แย้งต่อผลพิจารณาของคณะกรรมการ ซึ่งก็มีทั้งกรณีที่ศาลเห็นต่างและเห็นด้วยกับกรรมการซึ่งก็ยังบอกไม่ได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net