Skip to main content
sharethis

ผลการศึกษา ‘ผู้จัดการ-หัวหน้างาน’ 1,400 คน โดยมหาวิทยาลัยดุ๊ก ในสหรัฐฯ พบพวกเขามีแนวโน้มที่จะขูดรีดแรงงานจาก ‘พนักงานที่ภักดี-ซื่อสัตย์ต่อองค์กร’ โดยมักมอบหมาย ‘ภาระงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง’ ให้มากกว่าพนักงานที่มีความมุ่งมั่นน้อยกว่า

1 เม.ย. 2566 สำหรับคนทำงาน 'ความภักดีและซื่อสัตย์ต่อองค์กร' ในบางครั้งก็เป็นดาบสองคมโดยเฉพาะหากมองในกรอบสิทธิแรงงาน จากการศึกษาชิ้นหนึ่งในสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้จัดการและหัวหน้างาน มักจะมุ่งเป้าไปที่พนักงานที่ซื่อสัตย์มากกว่าเพื่อนร่วมงานที่มีความมุ่งมั่นน้อยกว่า เมื่อต้องจัดสรรงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนและงานเพิ่มเติมให้

งานศึกษา “Loyal Workers Are Selectively And Ironically Targeted For Exploitation,” โดยแมตธิว สแตนลีย์ และคณะ ที่เผยแพร่ใน Journal of Experimental Social Psychology, Jan. 6, 2023. ได้คัดเลือกผู้จัดการและหัวหน้างานเกือบ 1,400 คนทางออนไลน์ เพื่อมาทำการทดสอบเกี่ยวกับการมอบหมายงานให้กับพนักงานในองค์กร

ในการทดสอบหนึ่งผู้เข้าร่วมการศึกษา จะได้อ่านข้อมูลที่สมมติขึ้นมาเกี่ยวกับพนักงานที่ชื่อ 'จอห์น' ในเวอร์ชันต่างกัน โดยผู้เข้าร่วมการศึกษามีโจทย์ที่ว่าองค์กรของจอห์นนั้นมีงบประมาณจำกัด และเพื่อลดต้นทุน พวกเขาต้องตัดสินใจว่าจะเต็มใจแค่ไหนที่จะมอบหมายงานให้กับจอห์น ด้วยชั่วโมงและความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่ม 

งานศึกษาพบว่าไม่ว่าจะวางกรอบสถานการณ์อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมการศึกษาที่เป็นผู้จัดการและหัวหน้างาน มักจะขอให้ 'จอห์นในเวอร์ชันที่ภักดีต่อองค์กร' (Loyal John) แบกรับภาระงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง มากกว่า 'จอห์นในเวอร์ชันที่ไม่ภักดีต่อองค์กร' (Disloyal John)

สแตนลีย์ นักวิจัยหลังปริญญาเอกที่โรงเรียนธุรกิจ Fuqua แห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ก หัวหน้านักวิจัยในการศึกษานี้ กล่าวว่า “ดูเหมือนว่าผู้จัดการมีแนวโน้มที่จะกำหนดเป้าหมายสำหรับการแสวงหาผลประโยชน์”

การศึกษานี้ยังพบว่าผู้เข้าร่วมการศึกษาส่วนใหญ่จะประเมิน 'จอห์นในเวอร์ชันที่ยอมแบกรับภาระงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง' (Agreeable John) ว่ามีความภักดีต่อองค์กร มากกว่า 'จอห์นในเวอร์ชันที่ไม่ยอมแบกรับภาระงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง' (Refusal John)

งานศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าเป็นไปได้ว่าในโลกของธุรกิจ 'ความภักดี' ถูกมองและประเมินต่างออกไปจากลักษณะทางศีลธรรม โดยองค์กรธุรกิจต่างๆ มักจะประเมินความภักดีและความซื่อสัตย์ของพนักงานจากการขูดรีดตนเองเพื่อองค์กร

“มันเป็นวงจรอุบาทว์” สแตนลีย์ กล่าว “คนทำงานที่ซื่อสัตย์มักจะถูกเลือกเพื่อเอารัดเอาเปรียบ และเมื่อพวกเขาถูกแสวงหาผลประโยชน์เช่นนี้ พวกเขาก็จะได้รับชื่อเสียงเพิ่มขึ้นในฐานะพนักงานที่ซื่อสัตย์ ทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะถูกเลือกออกในอนาคตอีก”

เหตุผลหนึ่งที่ผู้จัดการและหัวหน้างานหลอกล่อพนักงานที่ภักดีต่อองค์กรให้ขูดรีดตนเองได้นั้น ก็เพราะความเชื่อของพนักงานเองที่ว่ามันเป็นเพียง "ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการแสดงความภักดี" สแตนลีย์ และทีมของเขาพบว่าผู้จัดการและหัวหน้างานมุ่งเป้าไปที่พนักงานที่ภักดีเพราะพวกเขาเชื่อว่าความภักดีมาพร้อมกับหน้าที่ที่จะต้องเสียสละส่วนตัวเพื่อองค์กรของพวกเขา

การเอารัดเอาเปรียบในลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นจากความไม่ตระหนักรู้ หรือสิ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “ความไม่รู้สึกตัวถึงปัญหาทางจริยธรรม” (ethical blindness)

“คนส่วนใหญ่อยากเป็นคนดี” สแตนลีย์ กล่าว “กระนั้น พวก​เขา​กลับล่วง​ละเมิดผู้อื่น​บ่อย​จน​น่า​ประหลาด​ใจ​ใน​ชีวิต​ประจำวัน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความไม่รู้สึกตัวถึงปัญหาทางจริยธรรม ซึ่งผู้คนมองไม่เห็นว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำนั้นไม่สอดคล้องกับหลักการหรือค่านิยมใดๆ ก็ตามที่พวกเขามักจะยึดถือ”

แม้ว่าความภักดีต่อองค์กรจะส่งผลดังที่การศึกษาชิ้นนี้ชี้ให้เห็น แต่มันยังมีความซับซ้อนมากกว่านั้น โดยสแตนลีย์เตือนว่าไม่ได้หมายความว่าเราควรละทิ้งภาระหน้าที่ในการทำงานหรือหลีกเลี่ยงการทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน เพราะการทุ่มเทให้กับองค์กรก็ยังมีผลบวกในด้านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจ เช่น ความเอื้ออาทร เป็นต้น

“เราให้ความสำคัญกับคนที่ภักดี เราคิดเกี่ยวกับพวกเขาในแง่บวก พวกเขาได้รับรางวัลบ่อยครั้ง มันไม่ใช่แค่ด้านลบเท่านั้น เรื่องนี้มันมันยุ่งยากและซับซ้อน” สแตนลีย์ กล่าว


ที่มา:
Managers Exploit Loyal Workers Over Less Committed Colleagues (Dan Vahaba, Duke Today , March 20, 2023)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net