'ธนพร วิจันทร์' นักกิจกรรมแรงงาน ยื่นอุทธรณ์คดีที่ถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

'ธนพร วิจันทร์' ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิแรงงานและผู้นำสหภาพแรงงาน ยื่นอุทธรณ์คดีที่ถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีร่วมกับแรงงานข้ามชาติทวงแนวทางเยียวยาโควิด-19 ขณะที่ทนายความเปิด 4 ประเด็นหลัก ในการต่อสู้ พร้อมระบุหลักการสำคัญคือการใช้สิทธิเสรีภาพที่ดำเนินการโดยสงบปราศจากอาวุธ ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม รธน. หวังศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องคดีนี้

ประชาไทได้รับแจ้งว่าเมื่อวันที่  29 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ ธนพร วิจันทร์ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิแรงงานและผู้นำสหภาพแรงงานที่ถูกกระทรวงแรงงานฟ้องในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีติดตามทวงถามแนวทางในการเยียวยาแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทรวงแรงงาน จนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2565 ว่าธนพรกระทำความผิดและลงโทษจำคุก 1 เดือน  ปรับ 20,000 บาท แต่ธนพรไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ศาลจึงให้รอลงอาญา 1 ปี และปรับ 20,000 บาท  ธนพรได้เดินทางมาพร้อมกับทีมทนายความเข้ายื่นอุทธรณ์ในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวนี้

อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวว่าประเด็นที่คุณธนพรยื่นอุทธรณ์ในคดีดังกล่าวมี 3-4  เรื่องหลัก ๆ โดยประเด็นแรกเป็นการยืนยันว่าในการใช้สิทธิในวันดังกล่าวนั้นเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธและเป็นการใช้สิทธิตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯและประกาศที่เกี่ยวข้องที่ออกมา ไม่สามารถที่จะใช้บังคับกับกรณีของคุณธนพรได้ 

ประเด็นต่อมา ประกาศของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเรื่องเกี่ยวกับการห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรมการมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ะระบาดของโรคโควิด-19 ในคดีนี้มีฉบับที่ครอบคลุม คือ ฉบับที่ 12 ที่ประกาศดังกล่าวกำหนดต่อท้ายพ่วงด้วยคำว่า " เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการที่จะแพร่โรคระบาดโควิด-19 " เราเห็นว่าเป็นการออกประกาศที่เกินกว่าอำนาจเดิมที่ให้ไว้ ซึ่งเดิมให้อำนาจไว้แค่ “ในสถานที่แออัดและเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบ” เท่านั้นประกาศต่อท้ายพ่วงดังกล่าวจึงเป็นประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลที่จะนำมาบังคับใช้กับกรณีของคุณธนพร

ทนายความกล่าวต่อว่าและถ้าเกิดศาลรับฟังได้ว่าประกาศนั้นเป็นประกาศที่ไม่ชอบแล้ว ประเด็นเกี่ยวกับคดีดังกล่าวนี้จะพิจารณาสองประเด็นเท่านั้น  คือ ประเด็นแรก สถานที่ที่มีการจัดทำกิจกรรมนั้นเป็นสถานที่แออัดหรือไม่ ซึ่งตามข้อเท็จจริงที่มีการนำสืบกัน ไม่ได้เป็นสถานที่แออัดเป็นสถานที่โล่งกว้างเป็นใต้ถุนอาคาร เป็นสถานที่เปิดสามารถที่จะเคลื่อนย้ายเว้นระยะห่างกันได้  ประการที่สองในเรื่องของประกาศเรื่องการทำกิจกรรมในวันดังกล่าวนั้นมีการทำกิจกรรมในลักษณะที่มั่วสุม ยุยงให้เกิดความไม่สงบหรือไม่ ซึ่งในข้อมูลในทางคดีชัดว่าไม่มีการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ ไม่มีการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ไม่มีเรื่องของการพกอาวุธ ไม่มีการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือว่าเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน ทรัพย์สินของทางราชการก็ไม่ได้รับความเสียหาย จะเห็นได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้เกิดการยุยงไม่ให้เกิดความไม่สงบแต่อย่างใด ดังนั้นแล้วคุณธนพรก็ไม่ควรที่จะมีความผิดตามประกาศดังกล่าว 

ทนายความกล่าวอีกว่า อีกประการหนึ่งคือในช่วงของวันที่ 29 ก.ย. 2565 ได้มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรหมายรวมถึงประกาศข้อกำหนดและคำสั่งที่เกี่ยวข้องต้องยกเลิกไปด้วย ดังนั้นเราเห็นว่าเมื่อมีการประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้วการกระทำของคุณธนพรย่อมไม่มีกฎหมายที่กำหนดให้ว่าเป็นความผิด เทียบเคียงกับกรณีเรื่องของกัญชาที่มีเรื่องประกาศถอดกัญชาออกจากยาเสพติดซึ่งถ้าอยู่ในชั้นตำรวจตำรวจก็จะสั่งไม่ฟ้อง อัยการก็จะสั่งไม่ฟ้อง ถ้าอยู่ในศาลก็ต้องจำหน่ายคดี ถ้าอยู่ในเรือนจำศาลก็ต้องออกหมายปล่อย ถ้าเทียบเคียงกรณีเดียวกัน ดังนั้นการกระทำของคุณธนพรเมื่อประกาศถูกยกเลิกไปแล้วก็ควรที่จะได้รับประโยชน์จากประกาศที่ถูกยกเลิกดังกล่าวนั้นด้วย การกระทำของคุณธนพรก็ย่อมที่จะไม่เป็นความผิดเช่นเดียวกัน หรือแม้กระทั่งถ้าศาลบอกว่าเขาประกาศเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 ไม่มีผลเป็นการยกเลิกการ กระทำของคุณธนพรความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามมาตรา 9 (2) ก็ยังอยู่ ถ้าศาลจะออกแบบนี้เราอุทธรณ์ไปในลักษณะที่ว่า ถ้าศาลเห็นว่าในลักษณะดังกล่าวนั้น ศาลมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยแค่ประเด็นเดียว คือ การกระทำต้องไม่เป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเท่านั้น ซึ่งเราได้เขียนไปแล้วว่ามันไม่ปรากฎข้อเท็จจริงคุณธนพรก็ไม่มีความผิด 

อธิวัฒน์กล่าวประเด็นสุดท้าย คือ ประเด็นที่ศาลเห็นว่าคุณธนพรเป็นคนจัดกิจกรรมต้องมีหน้าที่ไปขออนุญาตและมีหน้าที่จัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรค ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ข้อเท็จจริง คือ ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น เราก็อธิบายไปว่าตัวประกาศไม่มีนิยามว่าลักษณะไหนจะเป็นผู้จัดการชุมนุม จะไปใช้คำนิยาม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 58 ที่ให้นิยามไว้กว้างมากมาใช้กับในช่วงประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ เพราะมีการยกเว้นอยู่ ดังนั้นการตีความในลักษณะของผู้ที่จัดการชุมนุมจะต้องตีความอย่างแคบ ไม่ขยายออกไป คือ จะต้องเห็นได้ชัดว่าคุณธนพรมีพฤติกรรมการจัดการชุมนุมอย่างจริงจัง ทั้งก่อน เริ่ม และหลังเสร็จกิจกรรม ซึ่งในข้อเท็จจริงไม่ปรากฎชัดขนาดนั้นและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ไปสอบปากคำแรงงานข้ามชาติบางคนแล้ว เขาก็ไม่สามารถบอกได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ชักชวนมาและในฝั่งของโจทก์ก็พิสูจน์ไม่ได้ว่าคุณธนพรเป็นผู้จัดการชุมนุมครั้งนี้แต่อย่างใด ดังนั้นแล้วในเรื่องของผู้จัดยังรับฟังไมได้ว่าคุณธนพรเป็นผู้จัดการชุมนุมดังกล่าว จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องขออนุญาตจัดการชุมนุม ไม่มีหน้าที่ในการดำเนินมาตรการป้องกันโควิดในวันและเวลาดังกล่าว 

ประเด็นต่อมากิจกรรมในวันเกิดเหตุไม่ได้เสี่ยงต่อการแพร่โรคแต่อย่างใด เนื่องจากการตีความว่า เสี่ยง จะตีความแบบใด ซึ่งสถานที่การจัดเป็นสถานที่โล่งแจ้ง มีมาตรการในการป้องกันโรค มีการใส่หน้ากากอนามัย มีการตรวจอุณหภูมิ มีทุกอย่างที่จะเข้าไปในสถานที่ราชการหรือกระทรวงแรงงานได้และแม้จะมีการรวมตัวกันแต่ก็ไม่ได้ถึงขนาดที่จะมีการแพร่โรคในวงกว้างตามเจตนารมณ์ของการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อที่จะควบคุมโควิดแต่อย่างใด ซึ่งจากทั้งหมดทั้งมวลก็ไม่สามารถฟังได้ว่ากิจกรรมมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค และจากที่กล่าวมาทั้งหมดศาลก็ควรพิพากษายกฟ้อง

ซึ่งหลังจากที่เรายื่นอุทธรณ์ไปแล้วเท่าที่ทราบฝั่งโจกท์ คือ พนักงานอัยการ ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์เท่ากับว่าในคดีนี้คุณธนพรเป็นผู้อุทธรณ์เพียงคนเดียว ซึ่งคำพิพากษาอย่างร้ายที่สุดคือความผิดเท่าเดิมถ้าอย่างมากที่สุดที่เราหวังจากการยื่นอุทธรณ์ในครั้งนี้เราก็อยากให้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีนี้

“ในคดีนี้เป็นการยืนยันเรื่องของหลักการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่ดำเนินการโดยสงบปราศจากอาวุธ ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญที่คือหลักการสำคัญ” ทนายความกล่าว

ด้านธนพรกล่าวว่า เรื่องการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธเราคิดว่ามันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญซึ่งการที่ให้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงสถานการณ์โควิดแต่บางประเด็น บางเรื่องในสถานการณ์โควิดมันหยุดติดตาม ไม่ได้ เหมือนที่เราไปยื่นหนังสือหรือไปชุมนุมมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนั้นมันก็แย่เหมือนกัน เราอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาให้กับแรงงานได้เข้ามาแก้ไขให้มันทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราเห็นว่าการบริหารจัดการเรื่องโควิด-19 แม้แต่ ศบค. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือกระทรวงแรงงานไม่แก้ไขปัญหาให้กับแรงงานอย่างทั่วถึง  สิ่งที่เกิดขึ้นเราไปบอกว่ามันมีคนที่ได้รับปัญหานี้อยู่มันเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่ต้องแก้ไขโดยด่วน

“การให้ข้อหาและการตัดสินของศาลชั้นต้น แม้เราจะเคารพต่อการคำตัดสินของศาล แต่เราไม่เห็นพ้องกับคำตัดสินดังกล่าวและเราก็จะใช้ช่องทางที่เราอยากจะบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ การออกกฎหมายระเบียบหรือคำสั่งต่างๆ ควรยึดหลักของกฎหมายแม่ คือ รัฐธรรมนูญ กฎหมายอื่นไม่ควรจะออกมาขัดหรือแย้งการใช้สิทธิของประชาชน เราจะสู้ไปจนสุดทุกชั้นศาลเพื่อยืนยันหลักการในการต่อสู้ของเรา” ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้นำสหภาพแรงงานกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท