นักเศรษฐศาสตร์เสนอรัฐบาลใหม่ออกกฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดน

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินวิกฤตมลพิษทางอากาศอาจสร้างความเสียหาย 5,500-10,000 ล้านบาทต่อปีหากปล่อยให้ยืดเยื้อทุกปี แนะแนวทางแก้ไขด้วยมาตรการเชิงรุก เสนอรัฐบาลใหม่ออกกฎมายหมอกควันข้ามพรมแดน (Transboundary Haze Pollution Act) แบบเดียวกับสิงคโปร์ ควรจะผ่านกฎหมายอากาศสะอาด Clean Air Act ต้องจ่ายภาษีการปล่อยมลพิษ การมีอากาศสะอาดหายใจ น้ำและอาหารปลอดสารพิษ อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็น สิทธิพื้นฐานที่สุดที่ชาวไทยต้องได้รับการดูแล

2 เม.ย. 2566 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี และ อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์  แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนเปิดเผยว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมในไทยนั้นเข้าขั้นวิกฤติหลายมิติหลายลักษณะด้วยกัน แต่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการขณะนี้ คือ วิกฤติมลพิษทางอากาศ หมอกควันและ PM2.5 เพราะได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ส่งผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจพื้นที่ที่อาศัยรายได้หลักจากการท่องเที่ยว สถานการณ์ได้เลวร้ายจนหลายจังหวัดในภาคเหนือมีมลพิษทางอากาศและหมอกควันสูงติดอันดับต้นๆของโลก 

หากรัฐบาลปล่อยให้ปัญหามลพิษทางอากาศยืดเยื้อทุกปี ปีหนึ่งๆประเทศไทยจะอยู่ในสภาพมลพิษทางอากาศและหมอกควันรุนแรงเกินกว่า 2 เดือนขึ้นไปจะทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตรุนแรงมากขึ้น ในส่วนของผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นอาจสร้างความเสียหายได้มากถึง 5,500 – 10,000 ล้านบาทต่อปี ความเสียหายนี้ยังไม่ได้คำนวณผลกระทบต่อสุขภาพ ผลกระทบต่อการย้ายถิ่น ที่จะทำให้รายจ่ายด้านสาธารณสุขและต้นทุนทางสังคมเพิ่มขึ้นในระยะยาว การสูญเสียทางเศรษฐกิจเกิดจากการลดลงของรายได้จากการชะลอตัวลงของการท่องเที่ยวในกรุงเทพและปริมณฑล ระยองและพื้นที่อีอีซี ภาคเหนือของไทยหากมลพิษทางอากาศรุนแรงขึ้นเรื่อยๆทุกปี การชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลางแจ้งและโครงการก่อสร้างต่างๆ ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ค่าเสียโอกาสจากประเด็นทางด้านสุขภาพ 

นอกจากนี้ผู้มีรายได้น้อยและคนจนในกรุงเทพฯภาคเหนือของไทย ระยองและพื้นที่อีอีซี จะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนงานก่อสร้าง พ่อค้าแม่ค้าริมถนน หรือ ผู้ที่ทำงานกลางแจ้งในพื้นที่มลพิษเข้มข้นสูง ตำรวจจราจร พนักงานเก็บขยะ พนักงานทำความสะอาดถนน พนักงานขับรถสาธารณะและกระเป๋ารถเมล์ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งไม่มีเครื่องป้องกันผลกระทบจากมลพิษทางอากาศและมีสุขภาพย่ำแย่ลง โดยเฉพาะมีการวิจัยชี้ว่า ตำรวจจราจรและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ปฏิบัติงานริมถนนในกรุงเทพฯมีอายุขัยเฉลี่ยลดลง นอกจากนี้ผู้ที่ต้องเผชิญการจราจรติดขัดที่ต้องอยู่บนท้องถนนเกิน 4 ชั่วโมงต่อวันมีความเสี่ยงต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร    

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่าเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวพันกันมากขึ้นเรื่อยๆ งานวิจัยของธนาคารโลกชี้ด้วยว่า ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนที่ไม่มีการแก้ไขสูงถึง 20% ของจีดีพีโลก และ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต ความเสียหายลดลงได้หากทุกประเทศร่วมมือกันในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดกิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสร้างมลพิษทางอากาศ รายงานประเมินผลกระทบมลพิษทางอากาศขององค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า ทุกๆปีมีประชากรจากทั่วโลกเสียชีวิตจากมลพิษรุนแรงทางอากาศมากกว่า 7 ล้านคน ขณะที่เมืองในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีค่ามลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 70 โดยเฉพาะเมืองที่มีปัญหาความยากจน จะได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศมากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่เมืองในยุโรปมีสถานการณ์เรื่องมลพิษทางอากาศดีขึ้นอย่างชัดเจนก่อนเกิดสงครามยูเครนรัสเซียจากการส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและการใช้พลังงานสะอาด ผลกระทบจากสงครามทำให้หลายประเทศกลับไปใช้พลังงานจากถ่านหิน ระดับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศในสแกนดิเนเวียยังทำให้การลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจมีคุณภาพสูงคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและไม่ก่อให้การทำร้ายสุขภาพของประชาชนอีกด้วย ผลกระทบสงครามยูเครนรัสเซียทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีความซับซ้อน หลายประเทศในยุโรปหันมาใช้ถ่านหินสำหรับเป็นแหล่งพลังงานเพราะไม่สามารถนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอันเป็นผลจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจตอบโต้กันไปมาระหว่างนาโต้กับรัสเซีย
  
เนื่องจากวิกฤติมลพิษทางอากาศ หมอกควันและ PM2.5 ในภาคเหนือตอนบน กรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่มาบตาพุด ระยองรุนแรงมากตามลำดับ จึงขอเสนอให้รัฐบาลใหม่ออกมาตรการเชิงรุกอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาให้เด็ดขาด ไม่ปล่อยให้ยืดเยื้อทำลายสุขภาพของประชาชน จนอยู่ในสภาพตายผ่อนส่งและทำลายเศรษฐกิจ รบกวนการดำเนินชีวิตตามปรกติของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับภัยพิบัติหมอกควันและมลพิษทางอากาศ หมอกควันและมลพิษที่ลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่มาจากการเผาป่าและพืชไร่ในเมียนมาร์และลาว การทำการเกษตรกรรมอย่างขาดความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของผู้คนเกิดขึ้นทั้งจากเกษตรกรท้องถิ่นในพื้นที่ และ กลุ่มทุนบริษัทเกษตรกรรมพืชไร่ขนาดใหญ่โดยเฉพาะการปลูกอ้อยเพื่อป้อนโรงงานน้ำตาล ข้าวโพดป้อนโรงงานอาหารสัตว์ ฉะนั้นต้องมีการออกกฎหมายหรือมาตรการระหว่างประเทศและแก้ไขกฎหมายในประเทศเพื่อหยุดยั้งต้นตอของการเกิดหมอกควันอันเป็นฝีมือของมนุษย์ (ทุนเกษตรพืชไร่ หรือ กลุ่มเกษตรกร) ประเทศไทยควรหยุดยั้งการตัดไม้เผาป่าเพื่อมาทำการเกษตรด้วยมาตรการจูงใจและสนับสนุนให้มีการจัดเตรียมพื้นที่เพาะปลูกทำการเกษตรด้วยวิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ 

รวมทั้งใช้มาตรการทางกฎหมายลงโทษและควบคุมไม่ให้มีการตัดไม้เผาป่าเพื่อทำการเกษตรในประเทศเพื่อนบ้านด้วยการออกกฎหมายมลพิษและหมอกควันข้ามพรมแดน (Transboundary Haze Pollution Act) แบบเดียวกับสิงคโปร์ กฎหมายลักษณะนี้ในสิงคโปร์จะเอาโทษทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อบริษัทสิงคโปร์ที่เข้าไปทำสวนปาล์มน้ำมัน และ ผลิตเยื่อกระดาษด้วยการตัดไม้เผาป่าเตรียมพื้นที่เกษตร หลังจากออกกฎหมายนี้มาบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2557 สถานการณ์หมอกควัน มลพิษทางอากาศอันเป็นผลจากการเผาป่าในอินโดนีเซียและข้ามพรมแดนมายังสิงคโปร์และมาเลเซียได้ลดลงอย่างมาก ประเทศไทยจึงควรออกกฎหมายต่อต้านหมอกควันข้ามพรมแดนโดยเร่งด่วน สำหรับการเผาซากในนาข้าว ไร่อ้อยและไร่ข้าวโพดในพื้นที่ภาคกลางและภาคอีสาน รัฐบาลควรมีมาตรการอุดหนุนต้นทุนการเตรียมพื้นที่เกษตรกรรมให้กับเกษตรกรรายย่อย รายใหญ่และบริษัทเกษตรกรรมในลักษณะยิ่งมีรายได้สูง ยิ่งอุดหนุนน้อย ยิ่งมีรายได้น้อย ยิ่งอุดหนุนมาก ส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีสีเขียว เครื่องจักรสีเขียวในการทำการเกษตรกรรม 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่าสำหรับปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพปริมณฑล และ พื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะระยองนั้น ควรจะผ่านกฎหมายอากาศสะอาด Clean Air Act เพื่อให้ผู้ปล่อยมลพิษไม่ว่าจากโรงงานอุตสาหกรรมและยานยนต์ต้องจ่ายภาษีการปล่อยมลพิษและต้องมีมาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษควบคู่ไปด้วย  ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปัญหาสารเคมีรั่วไหลจากโรงงานและมลพิษจากการผลิตของโรงงานในเขตอีอีซี ปัญหาสารพิษตกค้างจากการทำเหมืองแร่ในบางพื้นที่ของประเทศ ปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 มลพิษทางน้ำ ปัญหาขยะล้นเมืองและขยะมีพิษ รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆของกรุงเทพและปริมณฑลจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศและไม่มีมาตรการเชิงรุกทั้งระยะสั้นและระยะยาวในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ จึงขอเสนอแนะแนวทางหรือมาตรการเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหา นอกจากมาตรการเร่งด่วนเชิงรุกเร่งด่วน ดังนี้ 

มาตรการแรก ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศต้องเน้นการกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ลดการรวมศูนย์ทุกอย่างไว้ที่กรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้ง พื้นที่อีอีซี 

มาตรการที่สอง ควบคุมการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมและการใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดมลพิษโดยมีกำหนดค่ามาตรฐานให้ชัดเจนสำหรับแหล่งปล่อยมลพิษแต่ละประเภท การกำหนดค่ามาตรฐานในการปล่อยมลพิษหรือการควบคุมการปล่อยมลพิษ วิธีนี้อาจมีจุดอ่อนในแง่ที่ไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการลดมลพิษที่แตกต่างกันและไม่ได้ปรับเปลี่ยนต้นทุนหน่วยสุดท้ายในการก่อมลพิษ 

มาตรการที่สาม ควรศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีผู้ก่อมลพิษทางอากาศ แต่ภาษีสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดมลภาวะและปกป้องสิ่งแวดล้อม การที่รัฐมีรายได้จากภาษีสิ่งแวดล้อมมากนั้น หมายความว่ารัฐนั้นย่อมมีการทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไปด้วย ดังนั้นรายได้จึงมิใช่เป้าหมายของการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม โดยหลักการที่สำคัญของการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม คือ หลักการ ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle) กล่าวคือ ผู้ก่อมลพิษทางอากาศหรือมลพิษใดๆควรเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ไปในการควบคุมบำบัดและป้องกันมลพิษ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือต้นทุนของการใช้มาตรการต่าง ๆ ของรัฐ ในการควบคุมและป้องกันมลพิษควรจะสะท้อนออกมาเป็นต้นทุนภายในของการผลิตและบริโภคสินค้าและบริการที่ก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าและบริการสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง หรือ การซื้อขายใบอนุญาตสิทธิในการปล่อยมลพิษหรือซื้อขายสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ก็ได้ หรืออาจใช้  ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ ภาษีและค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ และระบบรับซื้อคืน การวางประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยควรมีการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 

มาตรการที่สี่ สร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น สร้างสวนสาธารณะเพิ่มขึ้น ปลูกต้นไม้ประเภทที่ช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศได้ อนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ให้สมบูรณ์รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ บำรุงรักษาป่าต้นน้ำ  

มาตรการที่ห้า ต้องยกระดับมาตรฐานรถยนต์ให้มีการปล่อยมลพิษลดลง    

มาตรการที่หก ยกระดับมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 

มาตรการที่เจ็ด สนับสนุนให้มีการใช้รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาด โดยปรับเปลี่ยนให้รถสาธารณะให้เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาด เสนอระบบพลังงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมพร้อมใช้นโยบายอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมเน้นการเติบโตแบบยั่งยืน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ลดการใช้พลังงานจากถ่านหินหรือพลังงานจากฟอสซิลลง 

มาตรการที่แปด การปรับลดค่าโดยสารขนส่งระบบรางให้ถูกลงและทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการใช้บริการได้ 

มาตรการที่เก้า ปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลใช้ มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมืองทำให้พื้นที่สีเขียวลดลง ควรทบทวนการใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมือง นอกจากนี้ การใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมืองในพื้นที่ EEC ยังทำให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลและปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย อาจทำให้ปัญหามลพิษทางอากาศแบบมาบตาพุดปะทุขึ้นมาได้อีกในอนาคต 

มาตรการที่สิบ จัดตั้งกอทุนเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศ ส่วนมาตรการลดมลพิษทางอากาศที่อาจไปเพิ่มภาระหรือต้นทุนการดำรงชีวิตของประชาชนนั้นอาจต้องมีกองทุนหรือเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือหรือสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การห้ามไม่ให้รถที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์วิ่งบนท้องถนน การกำหนดอายุการใช้งานรถยนต์ การห้ามรถยนต์บางประเภทวิ่งเข้าสู่กรุงเทพฯชั้นในในบางช่วงเวลา เป็นต้น

ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวทิ้งท้ายว่าการมีอากาศสะอาดหายใจ น้ำและอาหารปลอดสารพิษสำหรับบริโภค อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็น สิทธิพื้นฐานที่สุดที่ประชาชนชาวไทยต้องได้รับการดูแล เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและสังคมต้องร่วมกันทำให้เกิดขึ้นก่อนที่ผลกระทบจะลุกลามสร้างผลเสียหายในระยะยาวจนยากที่จะเยียวยาได้ การป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนเป็นเรื่องที่ใช้ต้นทุนน้อยกว่าการเยียวยาแก้ไขมาก ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติและความทรุดโทรมของสุขภาพของผู้คนในหลายกรณีไม่สามารถแก้ไขฟื้นฟูให้คืนสภาพปรกติได้เหมือนเดิม 
  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท