Skip to main content
sharethis

ก.แรงงาน เผยปี 2566 สร้างงานคนพิการทะลุเป้า สร้างรายได้กว่า 396,871,800 ล้านบาท

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยมุ่งสร้างโอกาสแก่กลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการ ซึ่งกระทรวงแรงงานรับงานข้อสั่งการและมุ่งมั่นขับเคลื่อนโครงการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม เพื่อให้ผู้พิการมีงาน มีรายได้ มีหลักประกันทางสังคม สามารถพึ่งพาตนเอง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยในปีงบประมาณ 2566 กระทรวงแรงงานได้เชิญชวนสถานประกอบการภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ประเภทจ้างเหมาบริการ ซึ่งมีสถานประกอบการ 341 แห่ง ตอบรับและดำเนินการให้สิทธิแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการตามมาตรา 35 ทั้งสิ้น 3,315 คน จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ 1,800 คน ซึ่งถือว่าเกินเป้าหมายถึง 184% จะก่อให้เกิดรายได้แก่คนพิการถึง 396,871,800 บาทต่อปี

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานเร่งส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในคนไทยทุกกลุ่ม โดยเริ่มสนับสนุนโครงการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม เพราะเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของผู้พิการที่ยังมีความสามารถ มีความพร้อมที่จะทำงานดูแลตนเองโดยไม่ยอมเป็นภาระใคร จึงตั้งเป้าจ้างงานผู้พิการเพิ่มขึ้น ปีละ 20% โดยปี 2565 ซึ่งเป็นปีแรกตั้งเป้าหมาย 1,000 คน เกิดการจ้างงาน 1,499 คน ปี 2566 เพิ่มเป้าหมายเป็น 1,800 คน เกิดการจ้างงาน 3,277 คน ซึ่งปีต่อไปเป้าหมายเราจะท้าทายยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้พิการมีงานทำถ้วนหน้า

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 1/4/2566

‘หอการค้า’ ขอรัฐบาลใหม่หนุนเพิ่มประชากร หลังยอดตายสูงกว่าเกิด หวั่นอนาคตขาดแรงงานหนัก

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดเวทีเปิดมุมมองของภาคธุรกิจต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศโดย นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย กล่าวหัวข้อการพัฒนาแรงงานไทยและการค้าระหว่างประเทศ นั้น

นายพจน์ กล่าวว่า ด้านแรงงานมีโจทย์ที่น่ากลัว ปัจจุบันข้อมูลในเดือนมกราคม 2566 จากประชากรคนไทยมีประมาณ 67.68 ล้านคน มีคนทำงาน 39.34 ล้านคน และมีผู้ว่างงานอยู่ที่ 0.49 ล้านคน ถือว่าคนไทยไม่ตกงาน อย่างไรก็ตาม ในภาคกำลังแรงงานก็ยังขาดแคลนแรงงาน

ขณะที่ความน่าเป็นห่วงคือยอดผู้เสียชีวิต 5.9 แสนกว่าคน แต่ยอดการเกิดอยู่ที่ 5.02 แสนคน ยอดคนตายมากกว่ายอดเกิดถึง 9 หมื่นคน รัฐจึงจำเป็นต้องเร่งโปรโมตให้มีการเกิดมากขึ้น รวมถึงต้องผลักดันให้เด็กรุ่นใหม่สนใจในการทำงานในระบบมากขึ้น เพราะคนไทยทำงานนอกระบบมากขึ้น

ความท้าทายเร่งด่วนด้านแรงงาน ประกอบด้วย 1. อัตราตอบแทนค่าจ้างที่เหมาะสมกับลูกจ้างและเศรษฐกิจ 2.ขาดแคนแรงงานไทย 3.แรงงานต่างด้าวอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น 4.การผลิตภาพแรงงาน ในส่วนนี้แรงงานขั้นต่ำเอกชนพร้อมได้ค่าแรงมากขึ้น

แต่ข้อมูลจริงค่าแรงงานไทยอยู่สูงกว่าแรงงานขั้นต่ำ ส่วนมากขั้นต่ำจะอยู่ที่แรงงานเข้มข้นคือต่างด้าว ซึ่งการเพิ่มขั้นต่ำจะเพิ่มรายจังหวัดไม่เหมือนกันตามการพิจารณาของไตรภาคี จึงไม่สามารถเพิ่มค่าแรงได้เท่ากันทุกจังหวัด

“การค้าระหว่างประเทศและแรงงานเป็นนโยบายของประเทศไม่ใช่นโยบายพรรค เพราะเป็นตัวขับเคลื่อนที่มีสัดส่วน 70-80% ของจีดีพี เป็นนโยบายพักไม่ได้เพราะเชื่อว่าทุกพรรคต้องมองเรื่องนี้เป็นนโยบายของประเทศและกำหนดทิศทางให้เดินต่อไปใครสมบูรณ์แบบขึ้นกว่านี้”นายพจน์ กล่าว

ทั้งนี้ เป้าหมายที่ภาคเอกชนอยากเห็นในปี 2566 1.อัดฉีดงบประมาณและกำลังคนให้กระทรวงแรงงาน 2.คณะกรรมการไตรภาคีต้องปรับโครงสร้างและบูรณาการการทำงานที่สร้างสรรค์และพัฒนาแรงงานของประเทศไทย และ 3. ยกระดับงานประกันสังคมเพื่อสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทย

นายพจน์ กล่าวว่า จีดีพีประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่ง 2 จุดนี้เกี่ยวข้องกับ 2 หัวข้อโดยเฉพาะแรงงาน จะเกี่ยวกับการผลิตเพื่อการส่งออก และการท่องเที่ยวในภาคบริการโดยตรง

ในส่วนการภาคการค้าระหว่างประเทศและการส่งออก ที่ผ่านมาจากรัฐทุกชุด และรัฐปัจจุบัน ดำเนินการในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะส่วนใหญ่เป็นความคิดเห็นจากภาคเอกชนจากหอกการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกรรมการร่วมเอกชนในการประชุม กรอ. สะท้อนว่าตัวเลขการเติบโตได้และไม่ตกต่ำมากนัก

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันสิ่งสำคัญโลกเปลี่ยนโจทย์เปลี่ยน โดยเรื่องการค้าระหว่างประเทศต้องคำนึงถึง 1.ภูมิรัฐศาสตร์ ไทยมีความจำเป็นต้องวางตัวเป็นกลางที่ต้องค้าขายกับทุกภูมิภาคโดยไม่มีเงื่อนไขทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง

2.ไทยต้องเปิดกว้างในการนำเข้าวัตถุดิบที่ขาดแคลนเพื่อการส่งออก 3.เร่งการเจรจาพหุพาคี ทวิพาคี หรือ FTA ในทุกจุดต้องทำโดยเร่งด่วน เพราะไทยเสียเปรียบประเทศอื่นในเรื่องอัตราภาษี และเงื่อนไขที่ไทยเป็นปัญหา เช่น การบังคับใช้สิทธิ (CL) เรื่องมาตรการแรงงาน (LO8798)

“รัฐบาลหน้าจำเป็นที่ต้องค่อยๆ แกะ แต่แกะต้องให้เกิด บางอย่างจะไปทำใจทุกฝ่ายไม่ได้ แต่ต้องให้เกิด และ FTA กับเวียดนาม หรืออินโดนีเซีย หลายข้อเป็นปัญหาประเทศก็สามารถต่อรองเพื่อยืดเวลาได้ซึ่งขณะนี้กรมเจรจาได้เจรจาอยู่จึงอยากฝากรัฐบาลต่อไปในอนาคตว่าควรเร่งในส่วนนี้”นายพจน์ กล่าว

และ 4.ทุกกฎหมายที่เป็นปัญหาหรือเงื่อนไขที่ทำให้การดำเนินการล่าช้า จำเป็นต้องปลดล็อกเพื่อให้เอกชนทำงานคล่องตัวมากขึ้น ท้ายที่สุดอยากให้รัฐรับฟังเอกชน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 30/3/2566

'ประกันสังคม' อัปเดต 12 เว็บไซต์ปลอมส่ง SMS แนบลิงก์หลอกขโมยข้อมูลส่วนตัว

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีแก๊งมิจฉาชีพกำลังระบาดหนักในขณะนี้ โดยใช้วิธีการส่ง SMS พร้อมแนบลิงก์เว็บไซต์ปลอมที่กล่าวอ้างว่าเป็นเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม

เมื่อเข้าสู่เว็บไซต์ดังกล่าว จะแนะนำให้ผู้ใช้งานดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ซึ่งหากมีผู้หลงเชื่อดาวน์โหลดและติดตั้งลงในโทรศัพท์มือถือ จะถูกขโมยข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ รหัสผ่านในการทำธุรกรรมทางการเงิน เป็นเหตุให้สูญเสียเงินในบัญชี

อีกทั้ง ยังสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปก่ออาชญากรรมอื่นๆได้ จึงขอแจ้งเตือนให้ผู้ประกันตนโปรดระมัดระวังอย่าหลงเชื่อเป็นอันขาด

นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินการเฝ้าระวังและติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยตรวจพบเว็บไซต์ปลอมเพิ่มเติม จึงได้ประสานงานแจ้งผู้ให้บริการเพื่อปิดเว็บไซต์ปลอมแล้ว ดังนี้

https://ssogo-th.cc

https://ssth9.com

https://sso-th.cc

https://sso-go-th.com

https://sso-line.cc

https://sso-co.cc

https://sso-uo.cc

https://sso-goth.cc

https://sso-xy.cc

https://sso-go.cc

https://sso-ga.cc

https://sso-vode.cc

สำนักงานประกันสังคม ไม่มีนโยบายส่งลิงก์ให้ ผู้ประกันตน อัปเดตข้อมูลทาง SMS หากท่านได้รับ SMS ดังกล่าว ขอให้ทราบว่าเป็น "แก๊งมิจฉาชีพ" โปรดอย่าหลงเชื่อท่านกำลังถูกหลอกให้เสียทรัพย์ หรือหากได้รับความเสียหาย สามารถแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายได้ทันที

ผู้ประกันตน ประสงค์จะรับทราบข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานประกันสังคม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.sso.go.th แอปพลิเคชั่น Line @ssothai หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 29/3/2566

ผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งรายใหญ่ของจังหวัดตรัง นำเข้าแรงงานเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น หลังยอดขายกระเตื้องกว่า 30%

นายบุญชู ศัยศักดิ์พงษ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจำกัด (มหาชน) หรือ TRS กล่าวว่า โรงงานอุตสาหกรรมแห่งนี้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง แปรรูปอาหารทะเลโดยใช้แรงงานเป็นหลัก คนงานส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า ร้อยละ 80 ที่เหลือจะเป็นชาวกัมพูชาประมาณ 100 คน และคนไทยประมาณ 400 - 500 คน โดยมีพนักงานรวมอยู่ที่ประมาณ 2,000 คน มีการแปรรูปโดยนำเข้าวัตถุดิบจากทั่วโลก ยกเว้นกุ้งทะเลที่ใช้ของประเทศไทย แรงงานที่นำเข้าเป็นแรงงานที่มีฝีมือโดยใช้เวลาในการฝึกหัด 3 - 4 เดือน ก็สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ให้ความเสมอภาคกับทุกประเทศที่ทำงานร่วมกัน และมีระบบมาตรฐานอุตสาหกรรม สำหรับยอดการส่งออกสินค้าในปีที่ผ่านมา ส่งไปญี่ปุ่นร้อยละ 60 ส่งไปจีนร้อยละ 30 - 40 ที่เหลือส่งไปที่ยุโรปและอเมริกา มีการนำเข้าวัตถุดิบหมื่นกว่าตันต่อปี ทั้งปลาแซลมอน ปลาซาบะ หมึก ฯลฯ และมีสินค้า 400 - 500 รูปแบบ

โดยโรงงานได้นำเข้าอาหารทะเลแล้วมาแปรรูปเพื่อการส่งออก ซึ่งการส่งออกอาหารทะเลยังสดใส เนื่องจากผู้บริโภคให้การตอบรับอาหารทะเลแช่แข็งอย่างดี ปีนี้คาดว่าจะมีการส่งออกอาหารทะเลที่เติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 30 ได้เร่งกำลังการผลิตมากขึ้น ทำให้มีความต้องการแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งหลังการเปิดประเทศเต็มรูปแบบรัฐบาลได้ปรับมาตรการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามความร่วมมือแรงงาน หรือ MOU เพื่อช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ลดปัจจัยที่ทำให้เกิดการลักลอบเข้าเมืองเพื่อทำงานอย่างผิดกฎหมาย และได้ปรับลดมาตรการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และทำให้ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก เพื่อมาทดแทนในตำแหน่งที่รายงานไทยไม่ทำหรืออาจจะทำได้บ้างแต่ต้องจ่ายค่าแรงงานที่สูงและเงื่อนไขในการทำงานที่มีมากขึ้นโดยแรงงานต่างด้าวประมาณ 1 ใน 3 ที่อยู่ในไทยทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ซึ่งประเทศไทยมีโอกาสดีกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ในการเข้าถึงแหล่งแรงงานราคาถูกจากปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์ ที่ประเทศไทยรายล้อมด้วยประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่า เช่น เมียนมา ลาว และกัมพูชา ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการจ้างแรงงานต่างด้าวของผู้ประกอบการโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมก็เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด -19 ที่ผ่านมาโรงงานไม่ได้รับผลกระทบด้านการส่งออก แต่เมื่อโควิด -19 สงบลงก็ส่งผลดีทำให้การส่งออกอาหารทะเลแปรรูปแช่แข็งรายใหญ่ของจังหวัดตรังมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมาก โดยคาดหมายว่าการส่งออกจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 29/3/2566

เครือข่ายแรงงาน NT โวย กสทช. จัดสรรงบ USO 3,500 ล้านบาท "โทรเวชกรรมถ้วนหน้า" ซ้ำซ้อนโครงการภาครัฐ ส่อใช้งบผิดวัตถุประสงค์

นายปริวุฒิ บุตรดี เลขาธิการกลุ่มผู้นำแรงงาน NT เดินทางเข้ายื่นหนังสือเพื่อร้องเรียนไปยังคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. ขอให้พิจารณาการจัดสรรเงิน กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. เพื่อสนับสนุนโครงการจัดให้มีบริการสุขภาพดิจิทัลและโทรเวชกรรมถ้วนหน้า (Universal Telehealth Coverage : UTHC) ในงบประมาณจำนวน 3,508 ล้านบาท ซ้ำซ้อนกับโครงการของภาครัฐ และไม่สอดคล้องไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้เงินกองทุน ที่ต้องให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ได้รับใบอนุญาตเข้ามาดำเนินการก่อน หากดำเนินการไม่ได้ตามเป้าประสงค์ แล้วค่อยจัดสรรงบไปยังหน่วยงานอื่น

นายปริวุฒิ บุตรดี เลขาธิการกลุ่มผู้นำแรงงาน NT กล่าวว่า โครงการโทรเวชกรรมถ้วนหน้า ที่เสนอเข้ามาให้บอร์ด กสทช. พิจารณาซึ่งใช้ระบบคลาวด์นั้น อาจจะไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของ USO ที่มุ่งเน้นการพัฒนาขยายการบริการและการเข้าถึงบริการโทรคมนาคม แต่เทเลเฮลธ์ (telehealth) เป็นแอปฯ และพัฒนาซอฟต์แวร์ และซื้อฮาร์ดแวร์ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุข วงเงิน 1,514 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติไปเมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมบอร์ด กสทช. ครั้งล่าสุด จึงได้มีการมอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกลับไปทำข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อสร้างความชัดเจนและทำให้กรรมการ กสทช. มีความมั่นใจถึงความซ้ำซ้อนระหว่างโครงการเทเลเมดิซีน (Telemedicine) ที่เสนอขอใช้งบ กทปส. 1,422 ล้านบาท ในช่วง 3 ปี กับโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุข วงเงิน 1,514 ล้านบาท ซึ่งครม. เพิ่งมีมติอนุมัติไปเมื่อไม่นานมานี้ และเห็นว่าทั้ง 2 โครงการ มีลักษณะที่ใกล้เคียงกันมาก และมีลักษณะที่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินไปแล้ว เช่น โครงการในลักษณะปฏิบัติการแพทย์ทางไกล หรือ โทรเวช

จากที่โครงการต่างๆ ของกองทุน กทปส. ที่เคยบรรจุและเสนอไว้ในประกาศ กสทช. เรื่องแผนการจัดการให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมฉบับที่ 3 ปี 2565 นั้น ได้มีการแจ้งและดำเนินการให้ผู้รับใบอนุญาตมาดำเนินการและเสนอโครงการก่อนหรือไม่ เพราะเป็นหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตโดยตรง และหากผู้รับใบอนุญาตไม่สามารถดำเนินการได้แล้ว ถึงจะจัดสรรงบไปยังหน่วยงานอื่น ซึ่ง NT ในฐานะหนึ่งในผู้รับใบอนุญาตก็ควรที่จะได้เข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมก่อนอนุมัติโครงการดังกล่าวหรือโครงการอื่นๆ ด้วยหรือไม่

ทางกลุ่มเครือข่ายแรงงาน NT จึงขอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. ทบทวนขั้นตอนการพิจารณาและการอนุมัติและการกำหนดแผนดำเนินการของกองทุน กทปส. อย่างโปร่งใสและเท่าเทียม ให้สอดคล้องกับขั้นตอนและวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย โดยเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมได้มีโอกาสร่วมเสนอโครงการหรือนำเงินกองทุน กทปส. ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 28/3/2566

วิจัยชี้เยาวชน 15-24 ปี กว่า 1.4 ล้านคน ไม่เรียน-ไม่ทำงาน

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในประเทศไทย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดแรงงาน โดยผู้สูงอายุในไทยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ทำให้แรงงานที่เข้าสู่ตลาดแรงงานลดลงต่อเนื่อง

ล่าสุด งานวิจัยที่ทำร่วมกันขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กระทรวงแรงงาน และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบกับข้อกังวลใหม่ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตของเยาวชน อายุ 15-24 ปี ที่ไม่เรียน ไม่ทำงาน และไม่ฝึกอบรม หรือ เยาวชนกลุ่ม NEET (Youth Not in Employment, Education, or Training) ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตตามอัตภาพ และพึ่งพาอาศัยครอบครัว

ข้อมูลล่าสุดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO แสดงให้เห็นว่า มีเยาวชนกลุ่ม NEET ในไทย ถึง 1,400,000 คน ขณะที่จำนวนเยาวชนในตลาดแรงงานลดลงจากปี 2554 ที่มี 4,800,000 คน คงเหลือที่ 3,700,000 คน ในปี 2564 และอัตราการว่างงานของเด็กจบใหม่ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลปี 2564 มีผู้เรียนจบปริญญาตรีว่างงานสูงถึง 290,000 คน

ยูนิเซฟ-กระทรวงแรงงาน-จุฬาฯ ร่วมทำงานวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม หรือ NEET

"สาเหตุที่ทำให้เยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ไม่เรียน ไม่ทำงาน และไม่ฝึกอบรม มีหลายปัจจัยทับซ้อนกันอยู่ ทั้งระบบการศึกษาที่ยังทำให้เด็กมองไม่เห็นอนาคต จนเกิดความท้อ บางคนจึงเลิกเรียนกลางคัน ขณะที่ความยากจน ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา"

เพศยังเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งเพศหญิงมีโอกาสที่จะเป็นกลุ่ม NEET มากกว่าเพศชาย จากปัญหาการท้องไม่พร้อม การถูกจำกัดหน้าที่ให้เลี้ยงลูก และทำงานบ้าน

ขณะเดียวกัน เยาวชนที่มีโอกาสได้เรียนจนจบปริญญาตรีหลายคน ก็เข้ามาอยู่ในกลุ่ม NEET เนื่องจากทักษะที่เรียนจบมา ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน หรือ บางคนเบื่อหน่ายกับระบบการทำงาน จึงเลือกที่จะไม่ทำงาน และไม่ศึกษาต่อ อีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มคนพิการ และกลุ่มไร้สัญชาติ ที่ถูกด้อยค่าจากสังคม ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะเรียน และเข้าทำงาน

รศ.ดร.รัตติยา ภูลออ รองคณบดี วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยที่กำลังเผชิญกับปัญหาเยาวชนไม่เรียน ไม่ทำงาน และไม่ฝึกงาน แต่ปัญหานี้ กำลังเป็นเทรนด์โลกที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น

ผลที่ตามมาในอนาคต คือการถดถอยของสังคม และระบบเศรษฐกิจ ที่จะส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชุมชน และครอบครัว ยังไม่สามารถหาทางออกของปัญหานี้ได้

"โรงเรียนเป็นพื้นฐานมาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนไม่ได้เห็นภาพตัวเองเรื่องการวางแผนอนาคต เรามีแต่แนะแนวอาชีพ แต่เราไม่ได้มีแนะแนวชีวิตประเมินเป็นช่วง ๆ จะต้องมองทั้งกระบวนการของชีวิตว่า เขาจะพัฒนาตัวเองตลอดทั้งชีวิตได้อย่างไร"

ที่มา: Thai PBS, 28/3/2566

ManpowerGroup เผยแนวโน้มตลาดจ้างงานในไทยปี 2566 เพิ่มขึ้น

ในการสำรวจแนวโน้มการจ้างงานของ ManpowerGroup ฉบับล่าสุดจากนายจ้างเกือบ 39,000 ราย มี 12 ประเทศจาก 41 ประเทศและดินแดนรายงานความตั้งใจที่สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้า นายจ้างทั่วโลกยังคงคาดว่าจะจ้างคนทำงานเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2566 โดยรายงานแนวโน้มการจ้างงานสุทธิทั่วโลกในแต่ละปีพบว่า แนวโน้มในการจ้างงานลดลงในทุกปี และทุกไตรมาส 14% และ 6% ตามลำดับ

นายโจนาส ไพรส์ซิ่ง ประธานบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารแมนพาวเวอร์กรุ๊ป แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ “แนวโน้มการจ้างงานในตลาดโลก ท่ามกลางสภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงด้านแรงงานครั้งยิ่งใหญ่ของโลก” ว่าในช่วงโควิด-19 แต่ละประเทศได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอยู่จุดไหนของโลก ซึ่งทุกประเทศต่างมีความยากลำบากในการหางาน 

อย่าง ประเทศอเมริกามีการว่างงานสูงสุดรอบ 55 ปี โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดการว่างงานมากขึ้นได้แก่ จำนวนประชากร อัตราการเกิด เทคโนโลยี  และบริษัทต้องปรับตัวในด้านซัพพลายเชน  ขณะที่คนสมัครหางาน หรือคนทำงานมีการตัดสินใจการทำธุรกิจส่วนตัวมากขึ้น  เป็นความการยากในการหาคนเข้ามาทำงาน

นายโจนาส กล่าวต่อว่า สำหรับทางเลือกส่วนของตลาดแรงงาน จะเป็นการทำงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และทำงานแบบไฮบริด ทำงานนอกสถานที่มากขึ้น  แต่ทั้งนี้ ตลาดแรงงานมีความเข้มแข็งมาก ทำให้ไม่ได้มีปัญหามากขึ้นกว่าเดิม 

ส่วนการเปลี่ยนแปลงหรือการล้มสลายของธนาคารในต่างประเทศจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานหรือไม่นั้น ขณะนี้คงไม่สามารถสรุปได้ หรือบอกว่าจะส่งผลกระทบอะไรต่อการจ้างงานของโลก หรือจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่คาดว่าจะเป็นส่วนที่ทำให้เร่งเกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้

ทั้งนี้ ในส่วนของเทรนด์ที่น่าจับตามอง คือ เรื่องการ Reskill -Upskill การพัฒนาฝีมือแรงงาน ทักษะที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้น เพื่อรองรับเทคโนโลยีกำลังเข้ามา ส่วนที่แรงงานกังวลว่าเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่คนนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่ เทคโนโลยีเข้ามาเสริมทักษะของคนมากขึ้น เพราะหากคนไม่มีทักษะไอทีรองรับก็จะไม่สามารถเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของงานได้ ซึ่งทั่วโลกยังไม่มีประเทศไหนที่สร้างคน Reskill และUpskill ได้อย่างสำเร็จ

นายไซม่อน แมททิวส์ ผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น กล่าวว่าในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า ตลาดแรงงานจะถูกกระทบโดยปัจจัยทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และประชากร โดยเฉพาะในประเทศไทย ภายในปี 2026 ประชากรจะมีเหลือเพียง 40 ล้านคน ซึ่งการที่ภาครัฐช่วยในการผลิต ทักษะในการทำงาน อย่าง Thailand 4.0 ทั้งเรื่องเทคโนโลยี และมีการอัพสกิล น่าจะช่วยให้มีงานบางงานเกิดขึ้นมา แต่อาจจะมีบางงานที่สูญหายไป

ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แมนพาวเวอร์ ได้ทำหน้าที่สนับสนุนทักษและอัพสกิลให้แก่คนทำงาน อีกทั้งได้บรรจุหางานให้แก่คนไทยจำนวนหลายพันคน อย่างไรก็ตาม ทักษะที่จำเป็นที่ทุกคนต้องมี คือ ทักษะความสามารถที่จะเรียนรู้ ในทุกเรื่อง

น.ส.ลิลลี่ งามตระกูลพานิช ผู้จัดการประจำประเทศไทย แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวถึงภาพรวมแมนพาวเวอร์ประเทศไทย และแผนงานการตลาดของแมนพาวเวอร์ประเทศ ไทย ว่าแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เป็น 1 ใน 75 สาขาทั่วโลกของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป

ในโอกาสครบรอบ 25 ปี แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ซึ่งได้เริ่มดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2541 จนปัจจุบันมีสำนักงาน 6 แห่ง สีลม สาทร บางนา ชลบุรี สงขลา และลำพูน เปิดบริการทั้งในส่วนของ การสรรหาพนักงานประจำ, สัญญาจ้างระยะสั้น และ Outsourcing ในทุกตำแหน่งตามความต้องการของธุรกิจที่แตกต่างกัน บริการ Visa & Work Permit Payroll, Outplacement และ Japanese Service รวมถึง Chinese Service 

ในแต่ละปี แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ทำงานให้กับพนักงานมากกว่า 15,000 คนและช่วยเหลือลูกค้ามากกว่า 400 ราย ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม แม้อัตราการว่างงานในไทยจะบอกว่ามีเพียง 1.2% เท่านั้น แต่ในการหางาน กลับพบว่าการหาคนที่มีทักษะเหมาะกับงานเป็นเรื่องยากมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายๆ หน่วยงานต้องช่วยกันในการพัฒนาคน พัฒนาการศึกษาของประเทศไทยให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงงานมากขึ้น

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 28/3/2566

สธ.ห่วงเสียชีวิตจาก ‘วัณโรค’ ปีละ 1 หมื่นราย ชง 3 ทางลดระบาดในแรงงานข้ามชาติ

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) ในฐานะประธานคณะกรรมการ MIU (MOPH Intelligence Unit) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วัณโรคยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทย มีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคมากกว่าปีละ 10,000 ราย สธ.ได้ประกาศแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค ตั้งแต่ปี 2560 มีเป้าหมายยุติวัณโรคให้ได้ภายในปี 2578 ซึ่งขณะนี้บรรลุผลในระดับหนึ่ง โดยปี 2564 ไทยสามารถออกจากรายชื่อประเทศที่มีปัญหาวัณโรคดื้อยามากที่สุดในโลกได้สำเร็จ แต่ยังอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่สูงสุด และมีวัณโรคร่วมกับโรคเอดส์สูงสุด โดยอุปสรรคต่อการยุติวัณโรคในไทย คือ ปัญหาวัณโรคในแรงงานข้ามชาติ ที่ประมาณการว่ามีมากถึง 4.5 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีอัตราป่วยวัณโรคสูงกว่าไทย มีการย้ายถิ่นเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งการโยกย้ายถิ่นที่อยู่ที่ทำงาน และกำแพงด้านภาษาและวัฒนธรรม ทำให้ไม่สามารถคัดกรองวัณโรคได้อย่างครอบคลุม อัตราการรักษาสำเร็จต่ำ อัตราการขาดยาสูงกว่าคนไทยหลายเท่า และส่งผลกระทบต่อการดูแลป้องกันวัณโรคในคนไทย

นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า สธ.โดยทีมวิจัยด้านสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการสาธารณสุข จึงทำโครงการ “วัณโรคไร้รัฐกับแรงงานไร้พรมแดน: มิติสังคมวัฒนธรรมของวัณโรคในบริบทการพัฒนาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กับความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศไทย” วิจัยปัญหาและพัฒนาข้อเสนอการควบคุมวัณโรคในประชากรแรงงานข้ามชาติ ดำเนินการในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และ จ.สมุทรสาคร พบว่า

1.อุปสรรคในการคัดกรองวัณโรค การรักษาที่ต่อเนื่อง และการป้องกันการแพร่เชื้อ คือ ปัจจัยส่วนบุคคลทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรม การขาดความรู้เกี่ยวกับโรค การเคลื่อนย้าย ขาดการดูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่เหมาะสมในการทำงาน ขาดความต่อเนื่องของสิทธิรักษาจากปัญหาสถานะบุคคล

2.ผู้ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นายจ้างและนายหน้าจัดหาแรงงาน ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัณโรค จึงขาดการป้องกันตนเองอย่างเหมาะสม ละเลยการปฏิบัติตามกระบวนการคัดกรองและรักษาวัณโรคตามแนวทางที่กำหนด และขาดความใส่ใจดูแลแรงงานที่มีความเสี่ยงหรือป่วยเป็นวัณโรค

และ 3.การได้รับยารักษาวัณโรคจากระบบบริการสาธารณสุขของไทยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มีการติดตามต่อเนื่องโดยภาคประชาสังคม มีส่วนทำให้แรงงานข้ามชาติที่ป่วยวัณโรค ให้ความร่วมมือรับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนหายขาด

นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า จากผลการวิจัยจึงมีข้อเสนอแนะ คือ 1.ควรบูรณาการหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ พัฒนาระบบการดูแลและป้องกันวัณโรคที่ครอบคลุมประชากรแรงงานข้ามชาติทุกกลุ่ม ให้ได้รับการคัดกรองและดูแลรักษาที่ต่อเนื่อง 2.ควรร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ และกองทุนโลก เพิ่มความครอบคลุมการคัดกรองโรคและให้ยารักษาวัณโรคที่เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติอย่างทั่วถึง โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายตามหลักสิทธิมนุษยชน และ 3.ควรร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศ พัฒนาแนวทางการสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้านการควบคุมวัณโรคในแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นประเด็นด้านความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ที่มา: มติชนออนไลน์, 26/3/2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net