Skip to main content
sharethis

2 เม.ย. 2566 เพจสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawyers Association) รายงานว่าเมื่อ 31 มี.ค. 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อบังคับเนติบัณฑิตยาสภาแก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 17) พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 24 มี.ค. 2566 มีเนื้อหายกเลิกความในข้อ 17 วรรคสอง (2) แห่งข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ซึ่งกำหนดห้ามไม่ให้สมาชิกเนติบัณฑิตยสภาที่เป็นหญิงสวมใส่กางเกงในการปฏิบัติหน้าที่ และให้เปลี่ยนไปใช้ข้อความดังต่อไปนี้แทน

“(2) สมาชิกที่เป็นหญิง แต่งกายแบบสากลนิยม กระโปรง หรือกางเกงขายาว สีขาว กรมท่า ดำ หรือสีอื่นซึ่งเป็นสีเข้มและไม่ฉูดฉาด โดยมีรูปแบบที่เหมาะสม เสื้อสีขาวหรือสีตามกระโปรง หรือกางเกงขายาว รองเท้าหุ้มส้นสีขาว น้ำตาล หรือดำ เข้าชุดกันกับเครื่องแต่งกาย”

การแก้ไขข้อบังคับเนติฯดังกล่าว ถึงแม้ว่าจะยังไม่ก้าวข้ามกรอบการต้องแต่งกายตามเพศสภาพไปสู่เสรีภาพในการแต่งกายอย่างแท้จริง แต่ก็ถือเป็นประตูบานสำคัญที่เปิดช่องทางให้สภาทนายความสามารถแก้ไขข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความในส่วนที่เกี่ยวกับการแต่งกาย ให้ทนายความหญิงสามารถว่าความโดยสวมใส่กางเกงได้ เนื่องจากแต่เดิม ข้อบังคับของสภาทนายความกำหนดให้ผู้เป็นทนายความต้องเป็นสมาชิกของเนติฯ และต้องสวมใส่ชุดครุยขณะว่าความ ซึ่งต้องแต่งกายให้เป็นไปตามข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 และข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 จึงทำให้ข้อบังคับทั้งของเนติฯ และสภาทนายความ มีเงื่อนไขการบังคับใช้ที่เชื่อมโยงถึงกัน

นับตั้งแต่ปี 2529 ที่ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความมีผลใช้บังคับ ทนายความหญิงถูกกำหนดให้ต้องแต่งกายด้วยกระโปรงเท่านั้น ส่งผลให้ทนายความหญิงที่สวมใส่กางเกงว่าความ ต้องถูกผู้พิพากษาและอัยการตักเตือน ตำหนิ ติเตียน และถูกร้องเรียนว่าประพฤติผิดมรรยาททนายความตาม พ.ร.บ.ทนายความฯ มีโทษสามสถาน คือ ภาคทัณฑ์ ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกินสามปี และลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนและละเมิดสิทธิเสรีภาพของทนายความหญิงเป็นอย่างมาก ทั้งที่การแต่งกายด้วยกระโปรงหรือกางเกงที่สุภาพ ไม่ได้เป็นสาระสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความ

จนเมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว จิดาภา คงวัฒนากุล ทนายความซึ่งสวมใส่กางเกงว่าความ จนเป็นเหตุให้ถูกผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรสาครตำหนิและส่งหนังสือร้องเรียนประพฤติผิดมรรยาททนายความต่อสภาทนายความ ได้ยื่นคำร้องถึงคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คกก.วพล.) ขอให้มีคำวินิจฉัยว่าข้อบังคับสภาทนายความฯ ขัดกับหลักการห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ ตาม พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศฯ 

24 พ.ย. 2565 คกก.วพล. พิจารณาคำร้องและคำคัดค้านแล้วเห็นว่า การบังคับให้ทนายความหญิงต้องสวมใส่กระโปรงขณะว่าความนั้น เป็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการแบ่งแยก กีดกัน และจำกัดสิทธิในการแต่งกาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้ให้การรับรองแก่บุคคลทุกคนไว้อย่างเท่าเทียมกัน ความแตกต่างในเรื่อง “เพศ” จึงไม่อาจถือว่าเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติต่อบุคคลให้แตกต่างกัน 

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมระหว่างเพศ คกก.วพล. จึงมีคำสั่งให้ สภาทนายความและเนติฯ ดำเนินการ ปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับ กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศฯ และไม่ขัดหรือแย้งกับหลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เพื่อรับรองสิทธิของทนายความหญิงให้สามารถสวมกางเกงหรือกระโปรง เมื่อสวมครุยขณะว่าความในศาล ภายใน 90 วันนับแต่มีคำสั่ง

แต่ผ่านไปครึ่งทางของกำหนดระยะเวลาแล้ว ทางผู้ร้องก็ไม่ได้รับแจ้งความคืบหน้าแต่อย่างใด ดังนั้น เพื่อเป็นการติดตามการดำเนินการของสภาทนายความฯ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและนิติฮับ (Nitihub) ซึ่งร่วมกันรณรงค์ให้มีการแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความฯ เพื่อให้ทนายความหญิงสามารถใส่กางเกงว่าความได้  จึงได้เข้าพบนายกสภาทนายความในวันที่ 17 ม.ค. 2566 และได้รับคำตอบว่า ทางสภาทนายความจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารสภาทนายความในวันที่ 26 ก.พ. 2566 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความ และคณะกรรมการฯ จะร่างข้อบังคับฯ เสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเพื่อลงนามต่อไป พร้อมทั้งให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางด้านเนติฯ ก็อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขข้อบังคับเช่นเดียวกัน

ต่อมา 23 ม.ค. 2566 คณะกรรมการเนติฯ มีมติเห็นชอบให้แก้ไขข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 (2) เพื่อให้สมาชิกหญิงสามารถสวมกางเกงปฏิบัติหน้าที่ได้ และได้เสนอสภานายกพิเศษ (รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม) พิจารณาและมีมติเห็นชอบ จากนั้นจึงมีการประกาศข้อบังคับฯ ฉบับแก้ไข ออกบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 31 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ขณะที่ด้านสภาทนายความ ทาง สนส. ได้รับแจ้งว่ายังคงอยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขข้อบังคับฯ และยังไม่แล้วเสร็จ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะเกินกำหนดระยะเวลาตามที่ คกก.วพล. กำหนด มามากกว่า 1 เดือนแล้วก็ตาม 

ลิงก์ข้อบังคับเนติบัณฑิตยาสภาแก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 17) พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 24 มี.ค. 2566 ในราชกิจจานุเบกษา: ratchakitcha.soc.go.th/documents/140D079S0000000004600.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net