ศาลแพ่งรับฟ้องคดี 'อรรถสิทธิ์' ฟ้อง ตร.ซ้อมทรมานใน สน.ดินแดง ม็อบ29ตุลา64

ศาลแพ่งรับฟ้องคดี 'อรรถสิทธิ์' ปชช.วัย 35 ปี ถูก ตร.ซ้อมทรมานใน สน.ดินแดง เมื่อ 29 ต.ค. 2564 เรียกค่าเสียหายกว่า 3.3 ล้าน ทนายฯ หวังสาธารณชนช่วยส่งเสียงผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ให้บังคับใช้ทุกมาตรา

 

3 เม.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (3 เม.ย.) เมื่อเวลา 11.02 น. อรรถสิทธิ์ นุสสะ ประชาชนอายุราว 36 ปี ในฐานะโจทก์ และปรีดา นาคผิว และพรพิมล มุกขุนทด สองทนายความในนามภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) เดินทางมาฟ้องร้องทางแพ่งต่อ พล.ต.ท.พีรรัฐ โยมา อดีตรองผู้กำกับสืบสวน สน.ดินแดง (ปัจจุบันเป็น ผกก.สน.สุวินทวงศ์) ตำรวจนายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรณีปล่อยปละละเลย กรณีที่ อรรถสิทธิ์ ถูกตำรวจซ้อมทรมานใน สน.ดินแดง เมื่อช่วง 28-29 ต.ค. 2564 

(ซ้าย-ขวา) ปรีดา นาคผิว อรรถสิทธิ์ นุสสะ และพรพิมล มุกขุนทด

ย้อนไปเมื่อปี 29 ต.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า มีประชาชนถูกซ้อมทรมานภายใน สน.ดินแดง เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 28-29 ต.ค. 2564 โดยกรณีนี้มีผู้เสียหายจำนวน 2 รายคือ อรรถสิทธิ์ นุสสะ ประชาชนช่วงเกิดเหตุอายุ 35 ปี และวีรภาพ วงษ์สมาน หรืออาลีฟ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ต่อมา เมื่อ 1 พ.ย. 2564 อรรถสิทธิ์ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุม และซ้อมทรมานเขาในวันนั้นที่ สน.ดินแดง ขณะที่วีรภาพ ได้เข้าแจ้งความเช่นเดียวกันเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2564 

จนปัจจุบัน แม้ว่าคดีนี้จะผ่านมา 1 ปี 5 เดือน แต่ทางพรพิมล ทนายความภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยในการเดินทางมาฟ้องร้องทางแพ่งวันนี้ว่า ยังคงไร้ความคืบหน้าทางคดีจากตำรวจ และไม่มีการแจ้งว่าคดีอยู่ในขั้นตอนใด

"มีการทำหนังสือติดตามไปที่ สน.ดินแดง หลายครั้ง เพื่อสอบถามว่าความคืบหน้าของคดีเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับกลับมา 

"ส่วนการร้องเรียนที่ดีเอสไอ ก็ได้มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบว่าเรื่องนี้เป็นคดีทรมาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาณและอุ้มหายฯ หรือไม่ ปัจจุบัน ผลของคดีนี้ยังอยู่ในชั้นอุทธรณ์คำสั่ง ยังไม่ได้รับผลการดำเนินการล่าสุด" พรพิมล กล่าวเพิ่ม 

นอกจากนี้ ย้อนไปเมื่อ 17 พ.ย. 2564 อรรถสิทธิ์ วีรภาพ และทนายปรีดา นาคผิว เคยไปยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อให้รับเป็นคดีพิเศษ และเพื่อนำไปสู่การสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่เมื่อ 18 มิ.ย. 2565 ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยว่าได้รับหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบจากคณะอนุกรรมการคัดกรองกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)

โดยผลวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฯ ระบุว่าให้ 'ยุติการสอบสวน' เนื่องจากพฤติการณ์ข้างต้นนั้น "ไม่ใช่การกระทำทรมาน ตามคำนิยามของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี เนื่องจากมิใช่การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพ และนายอรรถสิทธิ์ไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงถึงสาหัส จึงเห็นควรยุติเรื่อง"

ขณะที่อรรถสิทธิ์ ผู้เสียหาย และเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ระบุเหตุผลว่า เป็นเพราะความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้น และผลที่เกิดขึ้น ทำให้เขาและคนใกล้ชิดไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐ

"มันทำให้เราไม่ไว้วางใจต่อกระบวนยุติธรรมเลย ทั้งตัวผม ครอบครัวและคนใกล้ชิด จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้พวกเขาไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าเดิม เพราะว่าด้วยความที่มาทำอะไรแบบนี้ จากที่เคยไว้ใจ ก็ไม่ไว้ใจแล้ว ถือว่าเป็นความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม"

"การฟ้องคดีนี้ ผมเพียงแค่คาดหวังว่า ถ้าชนะก็คงเป็นการสร้างบทเรียนกับเจ้าหน้าที่รัฐว่า เฮ้ย คุณทำอะไรแบบนี้ไม่ได้ ถ้าคุณทำ คุณมีราคาที่ต้องจ่าย เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง" อรรถสิทธิ์ กล่าว

บาดแผลของอรรถสิทธิ์ นุสสะ หลังถูกควบคุมตัวที่ สน.ดินแดง เมื่อ 29 ต.ค. 2564

อรรถสิทธิ์ และทนายความได้เดินเข้าไปยังภายในศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อยื่นฟ้องคดีตามที่ได้ตั้งใจไว้ กระบวนการยื่นฟ้องใช้เวลาไม่นานเพียง 1 ชั่วโมง นับจากการแจ้งความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่งานรับฟ้อง ศาลแพ่งก็ประทับตรารับฟ้อง เป็นหมายเลขคดีดำที่ พ709/66 และนัดไต่สวนขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในวันที่ 29 พ.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

ปรีดา นาคผิว ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม อธิบายถึงเนื้อหาของคำฟ้องว่า "ในคำฟ้องครั้งนี้ อรรถสิทธิ์ เรียกร้องให้มีมาตรการเชิงลงโทษต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ" 

"สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานผู้กำกับดูแลที่จะต้องตรวจสอบและเคร่งคัดในการดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่ให้ก่อเหตุทำร้ายประชาชนหรือซ้อมทรมานเช่นนี้อีก คดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานสำคัญคดีหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับศาล ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรกระบวนการยุติธรรมที่ยังมีความหวังมากพอจะให้อรรถสิทธิ์ฝากที่พึ่งไว้ได้ นอกจากในชั้นตำรวจซึ่งเป็นกระบวนการชั้นต้นแล้ว"

"นอกจากนี้ สังคมยังควรจะได้ช่วยกันจับตามองและส่งเสียงดังๆ ไปยังรัฐในทุกระดับ ต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็นทหาร หรือฝ่ายปกครองใดๆ ซึ่งมีสิทธิ์ในการควบคุมตัวบุคคลได้ก็แล้วแต่ จะต้องระลึก ตระหนัก และกระทำการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นว่าผู้มีหน้าที่ปราบปรามอาชญากรรมกลายเป็นผู้ก่ออาชญากรรมเสียเอง นี่เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญอย่างนึงที่อรรถสิทธิ์ ได้มาร้องเรียนให้ดำเนินกระบวนการคดีทางอาญาแก่เจ้าหน้าที่ แล้วก็เป็นการใช้สิทธิทางแพ่งที่มีบุคคลทำให้เขาได้รับความเสียหาย เป็นมาตรฐานที่สำคัญ" ปรีดา ระบุ

ปรีดา เผยว่า อยากให้ประชาชนช่วยกันผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ อย่างเต็มรูปแบบ

"มาตรการที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ คือ การกำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องติดตั้งกล้องและถ่ายทำตลอดเวลาขณะจับกุมผู้ต้องหา จับกุมที่ไหน อย่างไร แต่ในปัจจุบัน มาตรการดังกล่าวกลับถูกรัฐบาลออกพระราชกำหนดมายกเว้นการบังคับใช้ส่วนนี้ไป สิ่งนี้เป็นส่วนที่รัฐต้องปรับปรุง เพราะเป็นมาตรการสำคัญที่ใช้ปกป้องประชาชน ควรจะต้องเร่งรีบและดำเนินการบังคับใช้เสีย" ปรีดา ระบุ

ปรีดา นาคผิว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2566 เรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ) มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อ 22 ก.พ. 2566 แต่ยกเว้นเพียงมาตรา 22-25 โดยจะมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป

สำหรับ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ ประกอบด้วย 5 หมวด 1 บทเฉพาะกาล รวม 43 มาตรา ซึ่งครอบคลุมฐานความผิดที่สำคัญ 3 ฐาน ได้แก่ การกระทำทรมาน การกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมถึงบทกำหนดโทษ มาตรการดำเนินคดี มาตรการป้องกัน มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดดังกล่าว

โดยหนึ่งในมาตราที่สำคัญคือ มาตรา 22 ระบุว่าในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถกระทำได้ ก็ให้บันทึกเหตุนั้นเป็นหลักฐานไว้ในบันทึกการควบคุมตัว

การควบคุมตัวตามวรรคหนึ่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบแจ้งพนักงานอัยการและนายอำเภอในท้องที่ที่มีการควบคุมตัวโดยทันที สำหรับในกรุงเทพมหานครให้แจ้งพนักงานอัยการและผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการกรมการปกครอง หากผู้รับแจ้งเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการทรมานการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้ผู้รับแจ้งดำเนินการตามมาตรา 26 ต่อไป

อย่างไรก็ตาม มาตรานี้ยังคงชะลอการใช้ออกไปจนถึงเดือน ต.ค. 2566 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท