สุรพศ ทวีศักดิ์: ปากท้องกับ 112

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นอกจากเราไม่ควรตำหนิว่าข้อเรียกร้องของ “ตะวัน-แบม” (ตะวัน ตัวตุลานนท์-อรวรรณ ภู่พงษ์) ให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเสนอนโยบาย “ยกเลิก มาตรา 112” ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงว่า “ไม่รู้กาลเทศะ” แล้ว เราควรขอบคุณทั้งสองที่ยังเคลื่อนไหวต่อเนื่องในเรื่องนี้ เช่น การชูป้ายตั้งคำถามกับพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล ส่งผลให้สื่อกระแสหลักอย่างสรยุทธ สุทัศนะจินดาต้องตั้งคำถามกับพรรคการเมืองทุกพรรคว่ามีนโยบายเกี่ยวกับประเด็น 112 อย่างไร

ดังนั้น การเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเสรีภาพในระดับปัจเจกบุคคลจึงมีความหมายมากกว่าที่จะเอาผล “แพ้-ชนะ” แต่ละครั้งมาตัดสิน เราอาจจะคิดว่าการจัดตั้งกลุ่ม จัดตั้งมวลชน หรือการรวมตัวของประชาชนจำนวนมหาศาลจึงจะชนะได้ ซึ่งนั่นเป็นความคาดหวัง แต่ไม่ได้หมายความว่าการต่อสู้ของปัจเจกบุคคลแต่ละครั้งจะสูญเปล่า แม้ว่าจะมีคนแล้วคนเล่าที่สูญเสียอิสรภาพและเจ็บปวดกับการต่อสู้ แต่ผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของผู้คนในสังคมย่อมมีอย่างแน่นอน สมัยก่อนเรา “ไม่กล้า” แม้แต่จะพูดเรื่องแก้ไข 112 ด้วยซ้ำ (ขณะที่การแก้ 112 เพื่อเพิ่มอัตราโทษให้สูงขึ้นผ่านรัฐประหารครั้งต่างๆ ทำได้อย่างง่ายดาย)

ธงชัย วินิจจะกูลวิจารณ์ถูกตามข้อเท็จจริงว่า 

“นิติศาสตร์แบบไทยกำลังทำให้กษัตริย์เป็นใหญ่เหนือกฎหมาย ทำให้กฎหมายเกี่ยวกับกษัตริย์เป็นกฎหมายศาสนา ทำให้ความผิดต่อกษัตริย์เป็นการทำผิดทำนองละเมิดศาสนา (Blaspheme)” (ดู https://prachatai.com/journal/2023/03/103264

เพราะถ้าเราไปดู “สำนวนฟ้องคดี 112” ก็จะอ้างถึงรัฐธรรมนูญมาตราที่บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” ควบคู่กับการอ้างถึงเนื้อหาของมาตรา 112 เสมอๆ อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า “สถานะทรงเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” เป็น “สถานะทางศาสนาที่แตะต้องไม่ได้” ตามหลักการปกครองแบบพราหมณ์ฮินดู-พุทธ 

แต่ในทุกประเทศที่เปลี่ยนจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) สถานะทางศาสนาของกษัตริย์ล้วนเปลี่ยนจาก “แตะต้องไม่ได้” มาเป็น “อยู่ใต้หลักเสรีภาพ” ในการวิจารณ์ตรวจสอบของประชาชนทั้งนั้น

ปัจจุบันการพูดเรื่องแก้ไขหรือยกเลิก 112 ถือเป็นเรื่องปกติ แม้แต่การพ่นสี “ไม่เอา 112” บนกำแพงวัดพระแก้ว ก็มีคนกล้าทำไปแล้ว มีเยาวชนหญิงอายุ 14 ปี โดน 112 แล้วลุกขึ้นมาต่อสู้ “ปฏิเสธอำนาจศาล” ด้วยสันติวิธี และการตั้งคำถามของสื่อหลักต่อจุดยืนของพรรคการเมืองต่างๆ ในเรื่อง 112 ก็กำลังกลายเป็นเรื่องปกติ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลพวงจากการต่อสู้ของมวลชน ของการชุมนุมแต่ละครั้ง การเลื่อนไหวของนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ และการเคลื่อนไหวระดับปัจเจกบุคคลต่างๆ ที่ต่อเนื่องกันมา จึงไม่มีการต่อสู้ใดๆ ที่สูญเปล่า 

คำถามสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ การแก้ปัญหาปากท้องกับปัญหา 112 ไปด้วยกันได้หรือไม่ หรือ “ปากท้องกับเสรีภาพต้องไปด้วยกันไหม” ผมคิดว่าต้องไปด้วยกัน ด้วยเหตุผลสำคัญสองประการ คือ

1. เหตุผลเชิงข้อเท็จจริง มีสามส่วนหลักๆ คือ 

ก) มีหลายฝ่ายยอมรับความจริงตรงกันว่าการใช้มาตรา 112 มีปัญหาจริง คือใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อกดปราบคนคิดต่าง ซึ่งเป็นผลเสียต่อการพัฒนาประชาธิปไตยเพราะทำให้เกิด “ความขัดแย้ง” ของประชาชนด้วยกันเอง ระหว่างฝ่ายที่ยืนยันเสรีภาพในการตั้งคำถาม และวิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ กับฝ่ายที่ปกป้องสถานะ อำนาจ และบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่แตะต้องไม่ได้ 

นอกจากนั้นยังทำให้ “พูดความจริง” เกี่ยวปัญหาระบบโครงสร้างการเมืองไทยทั้งหมดไม่ได้ เมื่อพูดความจริงของปัญหาไม่ได้ การแก้ปัญหาโครงสร้าง และความก้าวหน้าทางความคิด สติปัญญาของสังคมก็เป็นไปไม่ได้ 

ข) มีประชาชนจำนวนมากถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ตั้งแต่เยาวชนอายุ 14 ปี ไปจนถึงวัยสูงอายุ แม้แต่คนพิการทางสายตาก็โดน 112 กระบวนการดำเนินคดีไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับประชาชนคือ “ข้อเท็จจริง” ที่ทุกฝ่ายไม่ควรเพิกเฉย โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่อาสาเป็นตัวแทนของประชาชนในระบอบประชาติไปตย จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ถูกละเมิดด้วย 112 และ

ค) โลกของเทคโนโลยีการสื่อสารปัจจุบันทำให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงความคิดต่อสถาบันกษัตริย์และเรื่องอื่นๆ อย่างรวดเร็ว ทำให้ 112 หรือกฎหมายใดๆ ที่ปิดกั้นเสรีภาพแห่งมโนธรรม เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกเป็นกฎหมายที่ล้าหลัง เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางความคิด สติปัญญา ความก้าวหน้าทางการเมือง ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และอื่นๆ 

2. เหตุผลเชิงปรัชญา มีสามด้านหลักๆ คือ 

ก) 112 เป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นมนุษย์อย่างถึงราก เพราะ “ความเป็นมนุษย์” หมายถึง ความเป็นผู้มีคุณค่าหรือศักดิ์ศรีในตัวเอง สิ่งบ่งบอกว่าเรามีคุณค่าหรือศักดิ์ศรีในตัวเองคือการมีเสรีภาพแห่งมโนธรรม คือเสรีภาพในการตัดสินถูก ผิด ดีชั่วด้วยตนเองได้ มีเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก แต่ 112 ห้ามเราใช้เสรีภาพเช่นนั้นต่อสถานะ อำนาจ และบทบาทประมุขของรัฐ ดังนั้น 112 จึงขัดแย้งกับความเป็นมนุษย์ของเราโดยพื้นฐาน 

นักปรัชญาเสรีนิยมในโลกสมัยใหม่ต่างปกป้องความเป็นมนุษย์ของเราจากอำนาจเทวสิทธิ์ที่แตะไม่ได้ของกษัตริย์และศาสนจักร หรือเผด็จการรูปแบบอื่นใด ทำให้รัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย ประมุขของรัฐก็ต้องอยู่ใต้กฎหมาย และอยู่ใต้หลักเสรีภาพในการตั้งคำถาม และการวิจารณ์ตรวจสอบของประชาชน

ข) 112 เป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นพลเมืองเสรีและเสมอภาค เมื่อเรามีความเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพแห่งมโนธรรม ความคิดเห็น การพูด การแสดงออกได้ เราจึงมีความเป็น “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” (free and equal citizens) ได้จริง ซึ่งหมายถึงเราต้องมีเสรีภาพปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองได้จริง มีความเท่าเทียมในโอกาสการเข้าถึงความก้าวหน้าทางอาชีพการงาน เกียรติยศ และอื่นๆ ภายใต้ระบบการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ไม่ขึ้นกับชนชั้นหรือชาติกำเนิด 

แต่ 112 ทำให้สังคมไทยไม่มีเสรีภาพทางการเมือง เพราะทั้งการเมืองบนท้องถนนและการเมืองในสภาไม่สามารถอภิปรายปัญหาเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ และบทบาทสถาบันกษัตริย์ได้อย่างตรงไปตรงมาและปลอดภัยจากการใช้กฎหมายกดปราบ การมีและการใช้ 112 จึงทำให้คนไทยไม่สามารถจะมีความเป็นพลเมืองเสรีและเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตยได้จริง และ

ค) 112 ทำให้ระบบรัฐสภาไทยไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยได้จริง เพราะเมื่อสภาไม่มีเสรีภาพทางการเมืองในการอภิปรายปัญหาเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ และบทบาทของสถาบันกษัตริย์ได้ สภาก็ย่อมไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เพราะในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ ประมุขของรัฐไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีหรือกษัตริย์ก็ต้องอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพในการตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบของสภา สื่อมวลชน และประชาชน

ปัญหาปากป้องก็เป็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์ที่มีมีศักดิ์ศรีก็ย่อมต้องมีเสรีภาพจากความอดอยากยากจน แต่ถ้าไม่มีเสรีภาพทางการเมือง การแก้ปัญหาปากท้องที่จำเป็นต้องแก้ “โครงสร้าง” ก็เดินไปสุดทางไม่ได้ เพราะเราพูดถึงปัญหาโครงสร้างของสถาบันกษัตริย์ที่เชื่อมโยงกับโครงสร้างกองทัพ ตุลาการ กระทั่งเศรษฐกิจไม่ได้ตลอดสาย หรือแม้แต่พรรคการเมืองที่เก่งเรื่องแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่าง “เพื่อไทย” ก็ถูกทำรัฐประหารและถูกยุบพรรคซ้ำๆ มาแล้ว 

ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องหยุดหลอกตัวเองและหลอกลวงสังคมว่า “112 ไม่ใช่ปัญหา” เพราะความเป็นจริงมีคนทุกวัยที่ลุกขึ้นมายืนยันความเป็นปัจเจกบุคคลผู้เป็นเจ้าของเสรีภาพแห่งมโนธรรม เสรีภาพทางความคิดเห็น และยืนยันความเป็นพลเมืองเสรีและเสมอภาคผู้เป็นเจ้าของเสรีภาพทางการเมืองและอำนาจอธิปไตย แต่ถูกจับไปขังคุกคนแล้วคนเล่า 

ประเทศของเราจะจับประชาชนเหล่านั้นผู้ลุกขึ้นสู้เพื่อให้ทุกคนเป็น “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” ได้จริงไปขังคุกอีกมากเท่าไร เพื่อปกป้องการหลอกตัวเองและหลอกกันและกันต่อไปว่าเรามีการปกครอง “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” โดยไม่ยอมรับความจริงว่าประมุขของระบอบประชาธิปไตยทุกประเทศในโลกล้วนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบของประชาชน! 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท