อนาธิปไตย: เมื่อประชาธิปไตยไปไกลได้มากกว่านี้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การปรากฏสัญลักษณ์ตัวอักษร A (Anarchy) กลับมาปรากฏอีกครั้งหลังเกิดกรณีอนาคิสต์หนุ่มวัย 25 ปีพ่นสเปย์เรียกร้องยกเลิกมาตรา 112 และเขียนสัญลักษณ์ A บนกำแพงวังเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 66 ซึ่งก่อนหน้านี้สัญลักษณ์เหล่านี้เคยปรากฏให้เห็นมาตลอดในการชุมชุมเคลื่อนไหวของราษฎรในช่วงปี 63-65 โดยเฉพาะกระแสเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทว่าทันทีที่สัญลักษณ์เหล่านี้ปรากฏขึ้น สังคมมักจะตั้งคำถามถึงความเหมาะสม กาลเทศะ ประโยชน์ต่อขบวน และความหมายที่แท้จริงของสัญลักษณ์ดังกล่าว บทความนี้จึงชวนมาทำความเข้าใจเบื้องต้นและตอบคำถามบางส่วนเกี่ยวกับแนวคิดอนาธิปไตย


("บังเอิญ"ศิลปินอิสระผู้พ่นสเปย์ยกเลิก 112 และสัญลักษณ์อนาคิสต์
ใส่กำแพงพระบรมมหาราชวัง เมื่อ 28 มี.ค. 66 ภาพโดย ไข่แมวชีส)

สัญลักษณ์ A พร้อมวงกลมล้อมรอบ เป็นสัญลักษณ์ของแนวคิดทางการเมืองแบบอนาธิปไตย (Anarchy) ซึ่งอยู่ในเฉดซ้ายทางการเมือง (Leftilsm) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก แยกออกเป็น 2 คำคือ "Arkhos" ที่แปลว่าผู้ปกครอง และคำว่า "an" ที่แปลว่า ไม่ (with out) เมื่อนำมารวมกันจึงเป็น "Anarchy" ที่แปลว่า "ปราศจากผู้ปกครอง” โดยผู้ที่นำคำว่า Anarchy มาใช้ครั้งแรกคือปิแอร์ โจเซฟ ปรูดอง (Pierre-Joseph Proudhon) นักอนาธิปไตยชาวฝรั่งเศส ในช่วงปี 1809-1865 

ดังนั้นผู้นิยมอนาธิปไตยจึงเชื่อเรื่องการต่อต้านอำนาจจากผู้ปกครองในสังคมอย่าถึงที่สุด ทั้งอำนาจรัฐ อำนาจทุนนิยม ไปจนถึงอำนาจที่เกิดจากการสั่งการแบบลำดับชั้น (Hierarchy) ไม่จำเป็นต้องมีใครมาปกครองหรืออุปถัมภ์ ดังนั้นพวกเขาจึงจำเป็นต้องท้าทาย ปั่นป่วน ต่อต้าน และจัดวางอำนาจให้อยู่ในลักษณะแนวระนาบ (Horizontal) อยู่เสมอ เพราะเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน มีศักยภาพเพียงพอที่จะจัดการปกครองตนเองผ่านการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างสมัครใจ (Mutual aid) และอยู่ด้วยกันด้วยความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) กันมากกว่าที่จะบังคับบงการและออกคำสั่งต่อกัน

สังคมไร้รัฐ ไร้กฎหมาย ไร้ตำรวจ

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วหลายคนอาจเกิดคำถามตามมาว่า อ่าว… ไม่มีรัฐแล้วสังคมจะอยู่กันยังไง ก่อนอื่นต้องอธิบายว่าชาวอนาธิปไตยมองการมีอยู่ของรัฐมีปัญหา มองว่ารัฐคือการรวมศูนย์อำนาจ ทรัพยากร และผูกขาดการใช้ความรุนแรง นอกจากนี้การมีอยู่ของรัฐทำให้เกิดการแบ่งแยกพลเมือง เกิดการเหยียดเชื้อชาติ ส่งผลให้มีคนไร้สัญชาติเพิ่มขึ้นในสังคม มากไปกว่านั้นรัฐไม่มีทางที่จะตอบสนองเจตจำนงของประชาชนได้ดั่งคำพูดของ แม็กซ์ สเตอร์เนอร์ (Max stirner) นักปรัชญาชาวเยอรมัน (1806-1856) ว่า “รัฐไม่สามารถอยู่ภายใต้การควมคุมของประชาชนได้ มันมีเหตุผล มีแผนปฏิบัติที่ต้องดำเนินการอย่างไร้ความปราณี และในไม่ช้ารัฐก็จะขัดเจตจำนงของประชาชนที่ตั้งให้เป็นตัวแทน” เช่นเดียวกับกฎหมายที่เป็นผลผลิตที่ออกมาจากรัฐโดยมีลักษณะบนลงล่าง (Top-Down) ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

โดยสรุปแล้วคือพวกเขามองว่า ทั้งรัฐ กฎหมาย และตำรวจนั้นสร้างขึ้นมาเพื่อควบคุมพฤติกรรมประชาชนให้อยู่ในระบบระเบียบของรัฐมากกว่าที่จะมีเพื่อปกป้องประชาชน ถึงที่สุดกฎหมายเหล่านี้ออกมาเพื่อปกป้องและเอื้อประโยชน์ให้กับคน 1 % (คนรวย) มากกว่าจะปกป้องประชาชนผู้ยากไร้และผู้ใช้แรงงาน (99%) ดังนั้นการทำลายรัฐ การปฏิเสธกฎหมาย การต่อต้านตำรวจและทุนนิยม ไปจนถึงการไม่เข้าไปส่งเสริมให้ระบบแบบนี้มันดำรงอยู่ต่อไป เช่นการไม่ส่งเสริมระบบพรรคการเมือง เป็นต้น จึงเป็นหน้าที่ของพวกเขา

เอาเข้าจริงการต่อต้านทั้งหมดของพวกเขาไม่ได้หมายถึงการทำตามอำเภอใจไม่สนสี่สนแปด แต่พวกเขาก็เชื่อในการทำตามข้อตกลงที่พวกเขามีส่วนร่วมอย่างถึงที่สุด นั้นคือการวางข้อตกลงร่วมกัน (Consensus) ของคนในชุมชนซึ่งเป็นหน่วยการปกครองขนาดเล็กที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการออกความเห็นโดยตรงได้โดยไม่จำเป็นต้องถ่ายโอนอำนาจของตัวเองไปให้คนอื่น (Direct Democracy) เพราะถึงที่สุดพวกเขาเชื่อว่า การแก้ไขปัญหาจากหน่วยย่อยของสังคมจะมีศักยภาพมากที่สุดและมีส่วนร่วมมากที่สุดของคนในสังคมนั้นๆ

ขบวนการการต่อสู้ของชนพื้นเมืองเม็กซิโก ‘EZLN’ หรือ ‘ซาปาติสตา’ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของสังคมไร้รัฐ ที่แยกออกมาจากการปกครองของรัฐเม็กซิโกและตั้งชุมชนเป็นของตัวเองในป่าเชียปัส โดยไม่พึ่งพาอำนาจรัฐเม็กซิโก ใช้แนวทางแบบอนาธิปไตย สังคมนิยมตะวันตกและวิถีชนพื้นเมืองอินเดียนแดงเผ่ามายารวมเข้ากันในการอยู่ร่วมกัน ใช้ระบบหมุนเวียนผู้นำที่สามาถอดถอนได้ตลอดเวลาหากไม่ฟังเสียงและแหกมติของประชาชน ไปจนถึงการสร้างข้อตกลงกันเองในชุมชน เช่นข้อตกลงเรื่องห้ามดื่มสุราในชุมชนซาปาติสตา ที่เกิดจากผู้หญิงในชุมชนเสนอผ่านที่ประชุม โดยมีหลายฝ่ายยอมรับและเห็นด้วยในข้อตกลงนี้ จึงนำมายึดถือร่วมกันในชุมชน (วริษา สุขกำเนิด, ประชาธิปไตยไร้รัฐ: ณ ที่นี้ ประชาชนออกคำสั่งและรัฐบาลเชื่อฟัง, the101.world)

หรือในโรจาวา (ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็น AANES: Autonomous Administration of North and East Syria) ที่ใช้การปกครองแบบล่างขึ้นบน และใช้ระบบคณะกรรมการความปลอดภัย (HPC:The Civil Defense Forces) ที่มาจากการเลือกตั้งจากชุมชน หมุนเวียนกันเป็นจนครบทุกคน เพื่อมาแทนที่ระบบสถาบันตำรวจ ซึ่งโมเดลคณะกรรมการแบบนี้ก็นำมาใช้แทนทุกสถาบัน เช่น ตุลาการ ตำรวจ สาธารณสุข ฯลฯ มากไปกว่านั้น คณะกรรมการดังกล่าว ไม่มีอำนาจใดเลย มีหน้าที่เพียงทำตามความต้องการของประชาชนจริงๆ ที่เรียกร้อง (Direct Democracy)

อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมเมื่อชุมชนขนาดเล็กเกิดขึ้นทั่วสังคมแล้ว อำนาจอยู่ในมือของคนในชุมชนแล้ว ท้ายที่สุดชุมชนต่างๆ จะเชื่อมต่อกันในลักษณะเครือข่าย (Network) และยึดโยงกันเป็นเครือข่ายใหญ่ในสังคม มากกว่าที่จะเชื่อมต่อกันแบบแนวดิ่ง (Top-Down) หรือรวมศูนย์อำนาจ (Centralized) ในลักษณะการปกครองแบบรัฐรวมศูนย์

ทั้งนี้การเกิดขึ้นของรัฐก็เพิ่งมีมาเมื่อไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมาในบนโลกใบนี้ โดยเดวิดเกรเบอร์ (David Graeber) นักมานุษยวิทยาอนาธิปไตยชาวนิวยอร์กยืนยันว่า “...สังคมที่ปราศจากรัฐเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เพราะมีสังคมแบบนั้นดำรงอยู่จำนวนมาก” (ภัควดี วีระภาสพงษ์, เดวิด เกรเบอร์ นักมานุษยวิทยาอนาธิปไตย ผู้เชื่อมั่นในความเป็นไปได้แบบอื่นๆ, the101.world) เพราะมนุษย์อยู่กันแบบพึ่งพาอาศัยกันมาก่อนที่รัฐจะเกิด และผู้เขียนมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนในสังคมปัจจุบันยากที่จะจินตนาการถึง "สังคมไร้รัฐ" เพราะวินาทีที่เราลืมตามาดูโลก ก็อยู่ในสังคมที่มีรัฐแล้ว

อนาธิปไตยในยุคคณะราษฎร 2475

การปรากฏคำว่า “อนาธิปไตย” ในประเทศไทย เกิดขึ้นครั้งแรกๆ อย่างเป็นลายลักอักษรเท่าที่ค้นพบคือในยุคคณะราษฎร ปี 2489 สมัยที่ปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวปราศรัยในการปิดประชุมสภาวันที่ 7 พ.ค. 2489 (ก่อนเกิดเหตุสวรรคตในหลวงอานันทมหิดล 1 เดือน)

โดยปรีดีพูดถึงแนวคิด “อนาธิปไตย” ในลักษณะกล่าวตักเตือนให้กับ ส.ส.ในสภาฟังว่า แนวคิดอนาธิปไตยเป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตย และเป็นแนวคิดที่ “[จะทำ]ให้เกิดความปั่นป่วน ความไม่สงบเรียบร้อย ความเสื่อมศีลธรรม… ขอให้ระวัง อย่าปนประชาธิปไตยกับอนาธิปไตย”

ทั้งนี้ปรีดียังกล่าวอีกว่า

“ข้าพเจ้าไม่พึงประสงค์ที่จะให้มีระบอบเผด็จการในประเทศไทย ในการนี้ก็จำเป็นต้องป้องกันหรือขัดขวางมิให้มีอนาธิปไตย อันเป็นทางที่ระบอบเผด็จการจะอ้างได้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าถ้าเราช่วยกันประคองใช้ให้ระบอบประชาธิปไตยนี้ได้เป็นไปตามระเบียบเรียบร้อย .... ระบอบเผด็จการย่อมมีขึ้นไม่ได้”

ก่อนจะปิดท้ายการะประชุมสภาด้วยการฝากฝัง ส.ส. ในสภาว่า

"ข้าพเจ้าหวังว่าท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลาย คงจะใช้สิทธิของท่านด้วยความบริสุทธิ์ใจ และอาศัยกฏหมายและศีลธรรมความสุจริตเป็นหลัก ไม่ช่วยกันส่งเสริมให้มีระบอบอนาธิปไตย

ข้าพเจ้าขอฝากความคิดไว้ต่อท่านผู้แทนราษฎรทั้งหลาย โดยเป็นห่วงถึงอนาคตของชาติ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะได้เห็นประเทศชาติปลอดจากระบอบเผด็จการ และปลอดจากระบอบอนาธิปไตย คงมีแต่ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคีธรรม

ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมด้วยสามัคคีธรรมนี้เป็นวัตถุประสงค์ของคณะราษฎร ที่ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ และเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานรัฐธรรมนูญ"

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสมัยคณะราษฎร (2489) หรือแม้แต่การชุมนุมเสื้อแดงปี 2553 จนมาถึงการชุมนุมของกลุ่ม 'ทะลุแก๊ซ' ปี 2563 มาจนถึงเกิดปรากฏสัญลักษณ์อนาคิสต์บนกำแพงวัง สังคมไทยยังไม่คุ้นชินกับแนวคิดและวิถีทางแบบอนาธิปไตยมากนัก มองว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ไร้ระเบียบ มีแต่ความโกลาหล และต้องการความรุนแรงเพียงอย่างเดียว

เป้าหมายอนาธิปไตย

ถึงที่สุดแล้วเป้าหมายและปลายทางที่ชาวอนาธิปไตยใฝ่ฝันคือ สังคมไร้รัฐที่ทุกคนเท่าเทียมกันทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ไม่มีเจ้านาย ไม่มีลูกน้อง ทุกคนอยู่ด้วยกันแบบพึ่งพาอาศัยโดยสมัครใจ (Mutual Aid) ปราศจากการบังคับบงการ และปราศจากการขูดรีดจากระบบทุนนิยม ทุกคนเป็นเจ้าของในกรรมสิทธิ์ร่วม ไม่มีใครมีกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล (private property)  เอาเข้าจริงจะเรียกว่าปลายทางของอนาธิปไตยกับมาร์กซิสต์ (Marxism) คือสิ่งเดียวนั้นคือสังคมแบบ “คอมมูนนิสต์” (Communism) กันก็ว่าได้ หากแต่ต่างกันคนละวิธีการ โดยอนาธิปไตยไม่เชื่อในเรื่องการยึดอำนาจรัฐเพราะมองว่าการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอำนาจรัฐ ไม่ได้นำไปสู่การทำลายรัฐจริง

อย่างไรก็ตามนอกจากสังคมไร้รัฐที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น เช่นซาปาติสตา หรือโรจาวา ในปัจจุบันนี้ยังคงมีกลุ่มที่เคลื่อนไหวแนวคิดอนาธิปไตยอยู่ในหลายประเทศ เช่น กลุ่ม Antifa ที่สหรัฐอเมริกา, IWA AID เมืองลิเวอร์พูลประเทศอังกฤษ, ออสเตเลีย, Foot not boms ในหลายประเทศและ จ.เชียงใหม่, ฯลฯ รวมไปถึงการเคลื่อนไหวของ ‘อัลเฟรโด’ นักอนาธิปไตยอิตาลีที่ถูกคุมขังอยู่ในคุก และกำลังอดอาหารประท้วงกฎหมายปราบมาเฟีย (41 Bis) 

(ภาพการประท้วงหน้าสถานเอกอัครราชทูตอิตาลี ประจำกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม
เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา (ที่มา : เพจ Anti-Imperialist Front )

อ้างอิง

- เพจอนาร์โควท Anarqoute: https://www.facebook.com/Anarquote

- https://www.the101.world/stateless-society/

- https://c4ss.org/content/43206

- https://dindeng.com/อนาธิปไตยคืออะไร-บทนำ/

- https://www.the101.world/david-graeber/

- http://www.wsm.ie/c/anarchism-elections-your-questions-answered?fbclid=IwAR33uGE26SmFeEIaGZ5pwOz8101KwbEJVGP1RtbHO3x6hyFwEx3bS3pSGUc

- https://www.historyandpolicy.org/policy-papers/papers/anarchism-and-the-welfare-state-the-peckham-health-centre

- https://libcom.org/article/neither-state-nor-market-anarchist-perspective-social-welfare?fbclid=IwAR1Yh7FJrD0Jv7AtDGvTSY6Q3teQaqfK8HoQ7ZBbTsL5x8-yvlciBhoCcpc

- https://www.panarchy.org/rocker/anarchy.html?fbclid=IwAR15jrKdXxErLfwobRqrVXCaMVXkmoHl9Izgp9lhFaL8dWFXKpeVZwZPto8

- PDF สุนทรพจน์ ของนายปรีดี พนมยงค์ ในสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 7 พ.ค. 2489 : https://library.parliament.go.th/.../others/NALT-preedi.pdf

- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: "อนาธิปไตย กับประชาธิปไตย โดยปรีดี พนมยงค์" : https://prachatai.com/journal/2008/08/17877

- จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย: https://www.the101.world/thai-constitutional-monarchy-2/

 

ภาพปกโดย: DRN 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท