สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 2-8 เม.ย. 2566

กสร.จ่อออกคำสั่งเคสนายจ้างรถทัวร์ จ.ชัยภูมิ หากปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึง กรณีสื่อนำเสนอข่าวเมียโชเฟอร์สุดทน! ผัวขับรถทัวร์ไปกลับ ชัยภูมิ-กทม. 3 รอบติดไม่ได้พัก จนเกิดอาการวูบว่า ตนได้สั่งการให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชัยภูมิ (สสค.ชัยภูมิ) เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง เบื้องต้นได้รับรายงานจากพนักงานตรวจแรงงานว่า บริษัทรถทัวร์ตามข่าว ตั้งอยู่อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ประกอบกิจการ ขนส่งผู้โดยสาร และจากการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากทั้งนายจ้างและลูกจ้าง มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น การจ่ายค่าจ้าง

การเก็บเงินประกัน การกำหนดเวลาทำงาน เป็นต้น ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานได้รับหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากลูกจ้างไว้แล้ว รวมทั้งได้เชิญนายจ้างมาพบเพื่อให้ข้อเท็จจริงและนำเอกสารที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบเพิ่มเติม  ทั้งนี้ หากพบว่านายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จะดำเนินการออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเน้นย้ำ นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง หากจะทำงานล่วงเวลาต้องไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง และต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้างก่อน  และห้ามไม่ให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานก่อนครบระยะเวลา 10 ชั่วโมง หลังสิ้นสุดการทำงานในวันทำงานที่ล่วงมาแล้ว ทั้งนี้ นายจ้าง ลูกจ้าง สามารถสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้ที่สายด่วน 1506 กด 3 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10  หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด 

ที่มา: ไทยโพสต์, 8/4/2566

บริษัทใหญ่ปรับโครงสร้างเลิกจ้างกว่า 1 พันคน เตรียมส่งแรงงานกลับประเทศ

จากกรณีที่บริษัทแคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ ประกาศเลิกจ้างพนักงาน จำนวน 1,060 คน ในช่วงที่ผ่านมา (มีผลตั้งแต่ 1 เม.ย. 2566) ล่าสุด ทางบริษัทได้ออกมาชี้แจงว่า การดำเนินการในครั้งนี้ สืบเนื่องจากปัญหาสถานการณ์โควิด-19 (COVID-19) แพร่ระบาด ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2563

ซึ่งส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อภาคการผลิตสินค้า และภาคขนส่ง เป็นเหตุทำให้ต้นทุนในการประกอบกิจการสูงขึ้น รวมถึงวิกฤตการขาดแคลนชิปในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจล่าสุด ซึ่งมีแนวโน้มชะลอตัวลงมาตามลำดับจนปี 2566

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เชิญผู้แทนจากสถานทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย เข้าร่วมสังเกตการณ์และเป็นสักขีพยาน โดยเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนลงคะแนนเสียงเลือกประเภทกะการทำงานที่ต้องการ ผลการลงคะแนนปรากฏว่า พนักงานส่วนใหญ่ยอมรับและต้องการปรับสภาพทำงานเป็นแบบ 2 กะ คิดเป็นจำนวนถึงร้อยละ 85, พนักงานบางส่วน ยังคงต้องการทำงานแบบ 3 กะ คิดเป็นจำนวนร้อยละ15

“จากผลการลงคะแนนสำรวจความคิดเห็นของพนักงานนั้น แสดงให้เห็นว่า พนักงานส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ และยอมรับการปรับสภาพการทำงานเป็น 2 กะ อย่างไรก็ดี ภายใต้สภาวการณ์และความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ทางบริษัทฯจึงจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานบางส่วนที่เกินความต้องการในสายการผลิต เพื่อให้บริษัท ฯ ยังดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างมั่นคง

ทั้งนี้ บริษัทยังได้ชี้แจงให้ทราบถึงผลการเลือก 2 กะ อย่างชัดเจนแล้ว และได้ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับเรื่องการทำงาน อีกทั้งยังทำงานร่วมกับสำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และผู้แทนสถานทูตของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทยในการดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริง และกระบวนการเลิกจ้างตามสิทธิที่มีอยู่ในสัญญาจ้างแรงงาน อย่างไรก็ตามบริษัทฯก็ได้จ่ายค่าชดเชย และสิทธิประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับตามกฎหมาย”

แคล-คอมพ์ฯ บริษัทดังระบุด้วยว่า โดยหากพนักงานที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศต้นทาง (เมียนมา) จะดำเนินการส่งพนักงานกลับประเทศ โดยบริษัทฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าเดินทางทั้งฝั่งไทย (ด่านแม่สอด) และฝั่งเมียนม่า กลับภูมิลำเนาเดิมของคนงาน

นอกจากนั้นยังได้ตั้งศูนย์ประสานงานบริการ เพื่อให้การช่วยเหลือพนักงานที่ถูกเลิกจ้างดังกล่าว โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลฯ คอยให้บริการฯ ทั้งให้คำปรึกษาอยู่ตลอด ก็เพื่อประสานงานต่าง ๆ และดูแลช่วยเหลือคนงานอย่างเท่าเทียมกันทุกคน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 5/4/2566

กสศ.จับมือธนาคารโลกลดเหลื่อมล้ำโรงเรียนขนาดเล็ก ยกระดับฝีมือแรงงานไทย

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับธนาคารโลก ภายใต้โครงการวิจัยมาตรฐานคุณภาพโรงเรียน (Fundamental School Quality Levels: FSQL) และโครงการวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานของประเทศไทย (Adult Skills Assessment in Thailand) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเครื่องมือทางนโยบายเพื่อผลักดันให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารเป็นไปตามหลักความเสมอภาค (equity-based allocation) และการสร้างทักษะ และความสามารถของเด็ก เยาวชน และกลุ่มประชากรวัยแรงงานของประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 ผ่านการพัฒนาคุณภาพของระบบการศึกษาและการฝึกอบรมทั่วประเทศ ในกรอบการดําเนินงานระยะเวลา 3 ปี

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. กล่าว  กสศ.มีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับธนาคารโลกในโครงการวิจัยร่วมเพื่อลดช่องว่างด้านคุณภาพของโรงเรียนและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร และการส่งเสริมทักษะ ความสามารถของเด็ก เยาวชน และกลุ่มประชากรวัยแรงงานของประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 เราหวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย วางกลยุทธ์ด้านการพัฒนาและยกระดับทักษะให้เหมาะกับความต้องการของตลาดแรงงานและสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ระหว่างปี 2562-2566 ธนาคารโลกและกสศ.ได้ร่วมมือกันดำเนินโครงการวิจัยที่เอื้อต่อการปรับปรุงประสิทธิภาพ ความเสมอภาค และกระจายโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาและการฝึกอบรมในประเทศไทย ความร่วมมือดังกล่าวส่งผลให้เกิดแนวคิดที่เป็นนวัตกรรมและเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อการหารือเชิงนโยบาย และสนับสนุนประเทศไทยในการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาและการฝึกอบรมต่อไป

ความร่วมมือดังกล่าวยังรวมไปถึงการพัฒนาเครื่องมือพัฒนามาตรฐานคุณภาพโรงเรียนขั้นพื้นฐาน ซึ่งครอบคลุมขอบเขตการดำเนินงาน 7 ด้าน อาทิ ความเป็นผู้นำและการบริหารจัดการของโรงเรียน ความเป็นอิสระและภาระความรับผิดชอบของโรงเรียน คุณภาพและประสิทธิผลของครู และโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของโรงเรียน มาตรฐานดังกล่าวได้รับการทดสอบกับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารจำนวน 275 แห่ง และจะใช้เป็นกรอบสำหรับการส่งเสริมคุณภาพของโรงเรียนเพื่อช่วยชี้นำการลงทุนด้านการศึกษาของภาครัฐในอนาคต ส่วนโครงการสำรวจทักษะและความพร้อมของเยาวชนและประชากรวัยแรงงานอายุ 15-64 ปี ด้านความสามารถต่างๆ อาทิ การรู้หนังสือ ทักษะดิจิทัล และทักษะด้านอารมณ์และสังคม เพื่อค้นหาทักษะด้านที่ขาดแคลนและรวบรวมข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำไปส่งเสริมนโยบายและโครงการต่างๆ ต่อไป

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ผลการวิจัยเผยให้เห็นถึงความจำเป็นของการมีระบบการจัดการข้อมูลที่รัดกุมเพื่อตรวจสอบติดตามงานด้านต่างๆ ที่จำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อลดช่องว่างการเรียนรู้ในโรงเรียนขนาดเล็กและปรับปรุงการเรียนรู้ของนักเรียน เมื่อได้รับรู้ถึงจุดแข็งและในส่วนที่ต้องปรับปรุง การสนับสนุนทรัพยากรเพิ่มเติมจะสามารถจัดสรรงบประมาณการศึกษาในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารได้

ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ธนาคารโลกและกสศ.จะต่อยอดจากโครงการวิจัยร่วมในปัจจุบันเพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรให้กับโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารเป็นไปตามหลักความเสมอภาค (equity-based allocation) พร้อมทั้งขยายผลการสํารวจและพัฒนาทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงานในระดับประเทศไทย ไปสู่การสำรวจที่มุ่งเน้นใน 3 จังหวัดเป้าหมายที่เป็นโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของ กสศ. นอกจากนั้นยังมีโครงการการศึกษาและออกแบบการส่งเสริมการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมให้กับเยาวชนในสถานศึกษาอาชีวศึกษาที่จะพัฒนาต่อไปในกรอบการดําเนินงานระยะเวลา 3 ปี

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 4/4/2566

เผย 2 ปี กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เดือดร้อนช่วยแล้ว 260 ล้านบาท

2 เม.ย. 2566 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงาน หรือตาย หรือในกรณีอื่นตามที่กำหนดโดยมีคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเป็นผู้บริหาร ซึ่งเงินสงเคราะห์ของกองทุนดังกล่าวจะจ่ายให้กับลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย หรือนายจ้างไม่สามารถจ่ายค่าจ้าง หรือเงินอื่นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แต่ไม่รวมถึงทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายที่ได้ยื่นคำร้องทุกข์ไว้ โดยในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2563-31 ธ.ค. 2565 คณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติการจ่ายเงินสงเคราะห์ เป็นเงินทั้งหมด 261,241,791.04 บาท มีลูกจ้างที่รับเงินสงเคราะห์ 18,912 ราย แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.กรณีค่าชดเชย จำนวน 11,337 ราย เป็นเงิน 172,713,835.16 บาท และ 2.กรณีอื่นนอกจากค่าชดเชย 7,575 ราย เป็นเงิน 88,527,955.88 บาท สำหรับในส่วนการรับชดใช้เงินคืน/เงินรับคืนกองทุนฯ 59,839,406.18 บาท และดอกเบี้ยเงินสงเคราะห์ 4,477,061.53 บาท

ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า เงินสงเคราะห์ลูกจ้างจะได้รับการพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ซึ่งกองทุนฯ จะจ่ายเงินสงเคราะห์ 2 กรณี คือ 1.เงินสงเคราะห์ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย โดยจะจ่ายเงินสงเคราะห์ให้บางส่วน หรือไม่เต็มสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด คือจ่ายให้ ลูกจ้างผู้ขอรับเงินสงเคราะห์ในอัตรา 30 เท่า หรือ 60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่ลูกจ้างพึงได้รับ และ 2.เงินสงเคราะห์ในกรณีอื่นนอกจากค่าชดเชย เช่น ค่าจ้างค้างจ่าย ฯลฯ จะให้การสงเคราะห์เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนฯ สำหรับอัตราเงินที่จะจ่ายให้แก่ลูกจ้างจะจ่ายในอัตราไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันของลูกจ้างที่พึงได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครอง แรงงาน พ.ศ. 2541 ทั้งนี้ หากนายจ้าง ลูกจ้าง มีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0-2660-2059 กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กองคุ้มครองแรงงาน หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด

ที่มา: เดลินิวส์, 3/4/2566

จัดหางาน เผย 2 ปี ส่งออกแรงงานไทยกว่า 1 แสนคน กวาดเงินรายได้ร่วม 3 แสนล้านกลับประเทศ

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดคลี่คลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกกลับมาสู่สภาพปกติ ตลาดแรงงานในต่างประเทศ มีความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งแรงงานไทยโดยเฉพาะแรงงานประเภทฝีมือ และกึ่งฝีมือนับเป็นแรงงานคุณภาพที่นายจ้างในต่างประเทศต้องการตัว เนื่องจากแรงงานไทยมีทักษะฝีมือดี ขยัน มีน้ำใจ จนเป็นที่ยอมรับ โดยในปี 2565 และปี 2566 กรมการจัดหางานมีการอนุญาตให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ทั้งสิ้น 113,186 คน แยกเป็นปี 2565 จำนวน 88,164 คน และปี 2566 (ณ เดือนมีนาคม) จำนวน 25,022 คน ซึ่งรายได้ที่แรงงานไทยในต่างประเทศส่งกลับบ้าน ผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย มีมูลค่าถึง 299,077 ล้านบาท  

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรมการจัดหางานมีเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 50,000 คน โดยมุ่งเน้นรักษาตลาดแรงงานเดิม ด้วยการส่งเสริมการจ้างงานอย่างต่อเนื่องกับงานภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล งานภาคอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่น และงานภาคก่อสร้าง อุตสาหกรรม และการเกษตรในสาธารณรัฐเกาหลี ควบคู่การขยายตลาดแรงงานใหม่ที่มีแนวโน้มความต้องการแรงงานไทย เพื่อเพิ่มโอกาสการมีอาชีพ มีรายได้ ให้พี่น้องแรงงานไทย ลดปัญหาการว่างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ และนำเงินกลับเข้าประเทศไทย

สำหรับแรงงานไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 -10 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 หรือเว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ doe.go.th/overseas โดยขอย้ำให้แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศด้วยวิธีที่ถูกกฎหมายเท่านั้น เพราะจะทำให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ได้ค่าจ้างที่เหมาะสม และยังได้รับการดูแลที่ดีตามสิทธิที่พึงมีด้วย

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 2/4/2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท