Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ ปรีดา เตียสุวรรณ์ นักธุรกิจเพื่อสังคมและการขับเคลื่อนงานประชาธิปไตย ถึงภูมิหลัง มุมมองปัญหาความเหลื่อมล้ำ พัฒนาการประชาธิปไตย การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และธรรมาภิบาล

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อของ ปรีดา เตียสุวรรณ์ นักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จอันดับต้นๆ ของไทย ในฐานะนักพัฒนาธุรกิจจิวเวลรี่ระดับโลกด้านการออกแบบ หัตถศิลป์ และการผลิตเครื่องประดับที่ยั่งยืนและมีจริยธรรม แต่อีกด้านคุณปรีดา เป็นนักธุรกิจเพื่อสังคม ขับเคลื่อนงานประชาธิปไตยตัวยง ซึ่งเป็นมิติที่น่าสนใจ จนตั้งคำถามว่าเหตุใดนักธุรกิจระดับนี้ ต้องออกมาเคลื่อนไหวด้านการเมือง โดยไม่กลัวผลกระทบที่จะมีผลต่อธุรกิจ

นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ อดีตเคยใช้ชีวิตวัยเด็กในสลัม

ปรีดา เล่าชีวิตวัยเด็กในชุมชนสลัมในกรุงเทพมหานครว่า ถึงแม้ตนเองเป็นคนที่บ้านค่อนข้างมีฐานะในย่านสลัม แต่ก็ได้สัมผัสชีวิตของคนยากจน วันหนึ่งไปเยี่ยมบ้านเพื่อนคนหนึ่งที่อยู่ในสลัมเหมือนกัน จากหลังบ้านเห็นบ้านอีกหลัง มีกลิ่นพริกที่เผา มองไปที่หน้าต่างก็เห็นครอบครัวหนึ่ง ประกอบด้วย พ่อแม่ลูก ยืนมองที่เตา หั่นพริกวางลงไปในข้าวแล้วเอาน้ำปลาราด แล้วทุกคนก็ยืนกินกันอย่างอร่อย จึงได้เห็นถึงความหิวโหย และหลายๆ ภาพเหตุการณ์ตั้งแต่วัยเด็ก

ปรีดา เตียสุวรรณ์

ถึงไม่จน...แต่ความจน...ก็เกี่ยวข้องกับเราอยู่ดี

การใช้ชีวิตในสลัม ถึงแม้ตนเองจะมีฐานะดี และไม่เดือดร้อน แต่สุดท้าย “ความยากจน” ก็มีผลกับตนเอง เพราะโดนเพื่อนที่เล่นด้วยกันมาตั้งแต่ทำร้าย เหตุเพราะเข้ามาขโมยของในบ้าน

“…ผมยังจำชื่อเขาได้เลยเขาชื่อไล เขาก็เรียกผมฮั่ว ประมาณ 10 ขวบ เราก็จากกันเพราะว่าผมไปเรียนอัสสัมชัญ วันหนึ่งเขาก็เดินเข้ามาหยิบของในบ้าน ในร้านแล้วก็กิน ผมก็บอกเขาว่าไลทำไมทำอย่างนี้ นี่มันของซื้อของขาย เขาก็บอกผมว่าจะกินซะอย่างจะทำไม กินก็กินเท่านี้นะเอาอีกไม่ได้แล้วนะ เดี๋ยวพ่อแม่ผมกลับมาเขาจะต่อว่า ว่าผมไม่ดูแลร้าน ก็เท่านี้เขาก็มาเตะผม…”

ปรีดาเล่าต่อว่า ไม่ใช่เฉพาะไลคนเดียวที่ทำร้าย ยังมีคนอื่นด้วย ทั้งที่เรียนหนังสือด้วยกันมาเพราะฉะนั้นประสบการณ์ที่ผ่านมาก็เพียงพอ เพราะว่าผมอยู่ท่ามกลางสลัมที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพตอนนั้น

มองเห็นสังคมแห่ง “ความเหลื่อมล้ำ”

“คุณจะไปบอกว่านั่นเป็นความผิดของคนจนทั้งหมดหรือ มันไม่น่าใช่”

ปรีดาพูดถึงความยากจน ที่มองว่าไม่ใช่ความผิดของบุคคล แต่มองว่าเป็นเพราะระบบ ระบบเป็นตัวที่ทำให้เราไม่สามารถทำให้คนมีความสามารถที่จะดูแลตัวเอง หรือกำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้เพียงพอที่จะมีความเป็นอยู่ในระดับที่อย่างน้อยที่สุด จนเกิดสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำในที่สุด และถึงแม้ตนเองจะไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ แต่ต้องอยู่อย่างอดออม มัธยัสถ์เพราะถึงแม้ว่าเราจะมีฐานะดีในสลัม แต่เป็นคนชั้นกลางเมื่อเทียบกับคนอื่นในประเทศ คนที่สามารถจะส่งลูกหลานไปอยู่ที่อังกฤษได้ต้องเป็นคนชั้นสูง การไปอยู่อังกฤษจึงต้องพยามประหยัดทุกวิถีทาง

พัฒนาชีวิต “คน” เริ่มต้นจากองค์กรของตัวเอง

ปรีดาให้ความเห็นว่าที่ใช้ให้คนเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าจะทำธุรกิจอุตสาหกรรมที่ต้อใช้เครื่องจักร การหาวิธีการที่จะทำให้คนมีความภูมิใจในการที่จะทำสินค้าที่ทำ ให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นผู้สร้างสรรค์ ทำเครื่องประดับไปสู่สายตาชาวโลก ทำให้พนักงานมีจิตใจที่มีความกระปรี้กระเปร่าในการทำงาน ไม่ต้องห่วงครอบครัว รวมถึงการทำธุรกิจแบบสร้างความสัมพันธ์กับพนักงาน ทำให้พนักงานทุกคนสามารถทำงานอย่างมีความสุขได้

ยุคหนึ่งมีความเชื่อว่า “ทำธุรกิจต้องให้คนมีสีมาคุม”

“คนเหล่านี้เข้ามาไม่ได้เข้ามาบริหาร เข้ามาประดับบารมีเท่านั้นเอง ผมก็เห็นว่าทำไมเราจะต้องเอาคนเข้ามา จ้างเขาเข้ามาประดับบารมีเรา เราไม่ได้ต้องการบารมี”

ปรีดาพูดถึงหน้าที่ของนักธุรกิจ คือการจัดสรรสิ่งที่สังคมต้องการ มาให้ในราคาที่ดีที่สุดในคุณภาพที่ดีที่สุด คนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดการบริหาร ตนเองมองไม่เห็นถึงความจำเป็น บารมีไม่ได้สร้างคุณค่าเพิ่มในเรื่องของราคา หรือในเรื่องของคุณภาพ ซึ่งรับไม่ได้ว่าทำไมผมต้องทำอย่างนั้นด้วย

ประชาธิปไตยกับประเทศไทย

“คุณรู้ไหมตอนที่ผมไปอยู่อังกฤษ คำถามแรกตอนที่ผมเดินเข้าไปในมหาวิทยาลัย เขาถามอะไรผม ประเทศคุณเป็นอย่างไร ระบบประชาธิปไตยเป็นอย่างไร ผมบอกเขาว่า ของผมตอนนี้เป็นประชาธิปไตยครับ เรามีรัฐบาลทหาร รัฐบาลทหารสัญญากับเราว่าเขาจะเขียนรัฐธรรมนูญให้จบภายใน 10 ปี ทุกคนในห้องหัวเราะผมหมดเลย”

คำพูดของปรีดาที่เล่าถึงตอนที่ไปเรียนอังกฤษ ให้ได้รับรู้ถึงสิ่งที่นานาประเทศ มองการเมืองการปกครองของไทยว่า “ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” รัฐบาลตั้งแต่ พ.ศ.2475 เป็นรัฐบาลทหารมาตลอด การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เหมือนกับเอาอำนาจส่วนหนึ่งของกษัตริย์มาอยู่ในอำนาจของทหารกลุ่มหนึ่ง แต่พอได้อำนาจมา แทนที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการประเทศ แต่อำนาจดันตกเป็นของทหารมาโดยตลอด  เหตุการณ์ 14 ตุลาคือวันสำคัญที่ประชาชนออกมาปลดแอกตัวเอง ออกมาบอกกับอำนาจที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่ 2475 ว่าประเทศเป็นของทุกคน การเสียชีวิตของผู้คนที่ออกมาเรียกร้อง เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย

ปรีดา ร่วมเวทีอภิปรายสาธารณะ Social Democracy Think Tank เรื่อง "ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจทุนผูกขาดและสังคมที่ล้มเหลว ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์" จัดโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และสถาบันสังคมประชาธิปไตย ณ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2564 

 

เส้นทางประชาธิปไตย

ปรีดาเล่าถึงความรู้สึกอยากจะเรียกร้อง อยากเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตยตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา ถึงแม้จะอยู่ต่างประเทศ แต่ก็คอยฟังข่าวสาร และการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ตนเองไม่มีเงินที่จะบินกลับประเทศไทย จึงทำได้เพียงติดตามอยู่ที่ประเทศอังกฤษ พอเกิดเหตุครั้งที่สอง ที่ประชาชนลุกฮือในพฤษภาปี 2535 จึงได้เข้าร่วมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยมาตลอด 30 ปี “ผมไม่คิดว่าการที่ผมออกมาเพื่อที่จะวิ่งทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นเรื่องเล่นการเมืองเพราะรัฐธรรมนูญคือวิถีชีวิตของประชาชน ของประเทศ ถ้าเราไม่มีรัฐธรรมนูญ วิถีชีวิตของเราก็จะซ้ำรอย ทหารก็จะเข้ามาปฏิวัติอยู่เรื่อยๆ”

ต่อจากนี้

ปรีดาทิ้งท้ายบทสัมภาษณ์ถึงเส้นทางประชาธิปไตยต่อจากนี้ว่า ตนเองจะทำต่อไปเรื่อย ๆ เท่าที่กำลังจะมี หวังเพียงประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน ได้เห็นประเทศไทยเกิดประชาธิปไตย และอำนาจนั้นเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

“ธรรมาภิบาลสำหรับผม ถ้าคุณเป็นปัจเจกในประเทศ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักธุรกิจ เป็นคนทำงานในบริษัท เป็นข้าราชการ คุณมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยขึ้นมาในประเทศ นั่นคือธรรมาภิบาลของคุณ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net